ตูแวดานียา ตูแวแมแง
ในที่สุดวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพก็เดินทางมาถึงสถานีที่ชื่อว่า"รัฐประหาร" ตามความคาดหมายของประชาชนธรรมดาทั่วไป ที่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยซึ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งหาทางออกในวิถีประชาธิปไตยแบบปกติไม่ได้ สุดท้ายก็จะลงเอยด้วยการทำรัฐประหารโดยทหารหาญแทบทุกครั้ง
จะเห็นได้ว่าต้นเหตุความขัดแย้งเชิงปรากฏการณ์จริงๆแล้วนั้น เริ่มต้นตั้งแต่พรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจโดยการถูกรัฐประหารในปี2549 โดยที่ใจกลางปัญหาความขัดแย้งอยู่ที่อำนาจฝ่ายบริหารกับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติควรอยู่ภายใต้เสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ที่มาจากการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงตลอดไปหรือไม่อย่างไร
โดยที่ฝ่ายตรงข้ามของพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) มีจุดยืนชัดเจนว่าเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอะไรตามอำเภอใจได้ทุกอย่าง จนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองเรียกฝ่ายตรงข้ามกับพวกตนว่า "เผด็จการเสียงข้างมากหรือเผด็จการรัฐสภา"
ส่วนฝ่ายตรงข้ามของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงประมุข(กปปส.) มีจุดยืนชัดเจนเหมือนกันว่าเสียงข้างน้อยที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิที่ชอบธรรมจะห้ามไม่ให้เสียงข้างมากทำอะไรที่มาจากมติครม.และความเห็นชอบของรัฐสภา จนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองเรียกฝ่ายตรงข้ามกับพวกตนว่า “อำมาตย์หรือเผด็จการเสียงข้างน้อยอิงอำนาจนอกระบบ”
เมื่อกรุงเทพซึ่งหมายถึงศูนย์กลางอำนาจการปกครองและการบริหารประเทศไทยแบบรัฐเดี่ยวในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ในภาวะการณ์ปกครองและบริหารโดยคณะบุคคลซึ่งมาจากกองทัพทำการรัฐประหาร แน่นอนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในทางโครงสร้างการปกครองการบริหารที่เคยอยู่ในอำนาจของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและมีความยืดหยุ่นในการบังคับบัญชาและการกำกับดูแลก็จะกระชับและตึงเครียดมากขึ้น
ภาวะการณ์ที่กรุงเทพถูกกระชับโครงสร้างอำนาจโดยทหารนั้น สำหรับบริบทของปาตานีนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน โดยเฉพาะในมิติของงานการเมืองที่มีไคลแมกซ์อยู่ที่การพูดคุยหรือการเจรจาเพื่อสันติภาพต้องถูกปรับเข็มทิศเป็น360องศาแน่ สอดรับพอดีกับทิศทางของท่าทีทางขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช ซึ่งBRNได้รับสถานะการนำและมีอิทธิพลมากที่สุดจากทางรัฐไทยและรัฐมาเลเซียเมื่อการพูดคุยที่กัวลาลุมโปร์ วันที่28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ยื่นเงื่อนไขการเจรจาซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติของรัฐไทยท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งของกรุงเทพ อาทิเช่นให้ผ่านมติความเห็นชอบของรัฐสภาและคำประกาศของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นวาระแห่งชาติ
จนสุดท้าย ฮาซัน ตอยิบ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยของBRN ออกแถลงการณ์ถอดถอนตัวเองจากการพูดคุยหรือเจรจากับรัฐไทยในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2556 โดยผ่านการใช้คำเรียกตัวเองว่าอดีตตัวแทนคณะพูดคุย
นับจากการถอนตัวของ ฮาซัน ตอยิบ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมกราคม2557 พื้นที่ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงจัดว่าเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่จัดตั้งของขบวนการปลดปล่อยปาตานีฯและบุคคลที่เคยมีหมายจับเพราะสู้คดีจนได้รับการยกฟ้องตลอดจนบุคคลที่กำลังมีหมายจับ ได้ตกเป็นเป้าหมายของกิจกรรมการใช้อาวุธของกองกำลังที่มีเอี่ยวกับบุคลากรของงานความมั่นคง โดยเฉพาะชุดอาสาสมัครต่างๆ
อีกทั้งบุคคลที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่ใช่มลายูก็ถูกเป็นเป้าหมายการตอบโต้จากฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีฯ จนบานปลายกลายเป็นการโต้กันไปโต้กันมาและลำเส้นมนุษยธรรมไปยังเป้าหมายที่เป็นเด็ก คนชรา โต๊ะอีหม่าม พระ และสตรี ได้ตกเป็นเหยื่อของกิจกรรมการใช้อาวุธของทั้งรัฐไทยและขบวนการฯกันถ้วนหน้า
โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะถูกตัดสินสิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีเหตุการณ์ระเบิดขนาดใหญ่ในตัวเมืองยะลา หาดใหญ่ สุไหงโกลก และล่าสุดในตัวเมืองปัตตานี ซึ่งเป้าหมายของการก่อเหตุระเบิดส่วนใหญ่นั้น โฟกัสไปที่แหล่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางโครงสร้างอำนาจรัฐและสัญลักษณ์ทางแหล่งเศรษฐกิจ
สภาพโดยรวมหลังจากการถอนตัวของBRNจากโต๊ะเจรจาที่มาเลเซียช่วงปลายปีที่แล้วเพราะรัฐไทยทำตามเงื่อนไขการเจรจาไม่ได้ บวกกับปรากฏการณ์การรัฐประหารที่กรุงเทพ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการฯต่างก็เปิดยุทธการเพิ่มระดับความเข้มข้นของงานกิจกรรมด้านอาวุธ ที่เห็นคล้ายกับเหมือนเป็นการช่วงชิงการนิยามสภาพการสู้รบใน ปาตานีว่าเป็นสถานการณ์ของ “สงครามก่อการร้ายหรือสงครามประชาชน”
ก่อนที่กรุงเทพจะถูกรัฐประหารนั้นในมิติของการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี โดยเฉพาะความเคลื่อนไหว ของการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ของทางขบวนการที่ใช้ทัองถนน ป้ายริมถนน และป้ายผ้า เป็นพื้นที่การสื่อสารสาธารณะโดยผ่านข้อความที่ว่า "สยามยังปกครองกันเองไม่ได้ นับประสาอะไรจะปกครองชาวปาตานี" จากนัยยะข้อความดังกล่าวพอที่จะตีความได้ว่า ทางขบวนการฯเหมือนกำลังลุ้นให้ทางกรุงเทพเกิดกลียุคจนกลายเป็นสภาพรัฐที่ล้มเหลวทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเพื่อจะได้ช่วงชิงโอกาสรุกฆาตให้ได้ชัยชนะซึ่งหมายถึงการได้รับเอกราชสำเร็จและไม่ใช่แค่ลุ้นอย่างเดียว แต่เหมือนว่าพยายามเร่งให้บรรยากาศการเกิดกลียุคเกิดขึ้นโดยผ่านการก่อเหตุด้วยกิจกรรมทางอาวุธอย่างเข้มข้น
แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ขบวนการคาดการณ์และลุ้นไว้เพราะกองทัพไทยโดยการนำของกองทัพบกได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมารวบไว้แบบกระชับแน่นไว้ก่อน จนไม่เหลือซึ่งพื้นที่ทางการเมืองแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย เปิดทางให้กับกิจกรรมการใช้อาวุธห้ำหั่นกันเพื่อลุ้นสถานะใหม่ของงานการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากยุทธการพิทักษ์พื้นที่และพิชิตศัตรูของซึ่งกันและกันอีกครั้ง
รัฐประหารที่กรุงเทพคือสัญญาณต่อปาตานีอย่างชัดเจนว่า “ถ้ามึงไม่ยอม กูก็ไม่ยอม เป็นไงเป็นกัน กูจะสั่งสอนให้ดู” ตามสไตล์ภาษาทางการทหาร