Skip to main content

 


          เดิมนั้นเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ริเริ่มผลักดันให้เกิด
"วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้/ปาตานี" ครั้งแรกในวันที่ 13 มีนาคม 2554 (2011) เพื่อเป็นการแสดงออกร่วมกันของเครือข่ายฯ ที่มีเป้าหมายสร้างพลังต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย และรวมตัวกันใช้สื่อทุกประเภทเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กระบวนการสื่อสารสาธารณะจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อทุกฝ่าย มีการจัดงานต่อเนื่องกันสามครั้ง (ครั้งแรกปี 2554 – 2555 และปี 2556 ตามลำดับ) นั้น ประสบความสำเร็จในแง่ของการ "สร้างพื้นที่การทำงาน" “สร้างตัวตน" และ "สร้าง(บทบาท)ความสำคัญ" ให้กับสื่อทางเลือกชายแดนใต้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ประเมินจากเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้สามารถสื่อสารประเด็นที่แหลมคมและกำหนดวาระการสื่อสารเกี่ยวกับสันติภาพในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถกำหนดทิศทางข่าวสารของความขัดแย้งได้ ไม่ว่าเครือข่ายต่างๆจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ก็ตาม 


วันสื่อสันติภาพ: ภาพจำและความหวังใหม่สังคมไทย

          ในวาระ 10 ปีแห่งความรุนแรงรอบใหม่ตั้งแต่ปี 2547 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรปักหมุดหมายใหม่ให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็น 'วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี' คือการสร้างภาพจำที่เป็นความหวังใหม่ให้แก่สังคมไทย เนื่องจากเป็นวันที่คู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่ายคือตัวแทนรัฐไทยและตัวแทนขบวนการ BRN ได้ทำข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ วันนี้ก็น่าจะเป็น 'วันแห่งเสียงสันติภาพ' อันเป็นจุดริเริ่มสำคัญให้ประชาชนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมีโอกาสพูดเรื่องอนาคตของชายแดนใต้ได้อย่างอิสระมากขึ้น ส่งผลให้ความรู้สึกและบทสนทนาของชาวบ้าน ชุมชน เปลี่ยนไปอย่างมีความหวัง เสรีภาพในการพูดเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและตัวตนของคู่ขัดแย้งก็เปลี่ยนไป วิธีคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาก็มุ่งเน้นแนวทางการเมืองมากขึ้น อัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมได้รับการยอมรับสูงขึ้น รวมทั้งภาคประชาสังคมชายแดนใต้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานของตนเองและกลุ่มมีทิศทางการทำงานอย่างมีเป้าหมายและมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นนัยยะที่สำคัญของ 1 ปีสนามสันติภาพที่เกิดขึ้น

          จึงจัดงาน มหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี วันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้คำรณรงค์ PPP101: 10 ปีความรุนแรง, 1 ปีสนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 

          วัตถุประสงค์การจัดงาน 3 ประการ คือ 

(1) เพื่อทบวนความรู้และการเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายสื่อและภาคประชาสังคมในห้วงเวลา 10 ปีของการใช้ความรุนแรง และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นใน 'สนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี' ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

(2) เพื่อสร้างพื้นที่/เกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกันของเครือข่ายสื่อและภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เพื่อเชื่อมร้อย เสริมพลังการทำงานของคนในแทร็ค 2 (ภาคประชาสังคม) กับคนในแทร็ค 3 (ชุมชนระดับฐานราก) ให้เป็นตาข่ายนิรภัย/ เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพให้มั่นคงและแข็งแรงมากขึ้น และ 

(3) เพื่อสื่อสารความต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพจาก "คนข้างล่าง" และ "คนใน" ให้คู่ขัดแย้งหลัก และผู้ใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย รวมทั้งสังคมไทยและนานาชาติได้ยิน

          รูปแบบการจัดงาน มีเวทีวิชาการกลางทบวนความรู้และการเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายสื่อและภาคประชาสังคมในห้วงเวลา 10 ปีของสนามความรุนแรง และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นใน 'สนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี' ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และมีตลาดนัด/เวทีคู่ขนานจากเครือข่ายสื่อและภาคประชาสังคม เพื่อแสดงให้เห็นการทำงานและพื้นที่ของสันติภาพที่ขยายตัวมากขึ้น โดยมีองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้มากถึง 59 องค์กร 

          งานนี้มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 700 คนต่อวัน มีสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ท้องถิ่น และสื่อต่างประเทศเข้ามารายงานข่าวจำนวนมาก มีการถ่ายทอดสดกิจกรรมผ่านเคเบิลทีวี และสถานีวิทยุชุมชนทั้งภาษาไทยและมลายูหลายแห่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตลอดงาน และมีตัวแทนจากสถานฑูตนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน และผู้แทนจาก UNDP UNICEFเข้าร่วมสังเกตการณ์ในงานด้วย ซึ่งแต่ละวันมีความสำคัญต่างกัน กล่าวคือ

          วันที่ 27 กุมภาพันธ์ เน้นสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องสื่อ (Media) มีการนำเสนอผลการวิจัย Peace Media Moniter เพื่อสะท้อนการนำเสนอข่าวสารกระบวนการสันติภาพผ่านสื่อประเภทต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ต่อด้วยเวทีวิชาการที่ดึงประสบการณ์การขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ขึ้นมาเป็นความรู้ใหม่ให้กับสังคมไทย ว่าด้วย "วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อสันติธรรม" (Peace Journalism for Civility) และช่วงบ่ายเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายสื่อต่างๆในพื้นที่ ได้ปรับองศาการมองและชี้้ทิศทาง "ก้าวต่อไปสื่อประชาคมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี"

          วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เน้นสาระสำคัญว่าด้วยกระบวนการสันติภาพ (Pa[t]tani Peace Process) ช่วงเช้าเริ่มต้นจากการปาฐกถาพิเศษ โดยดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยการความสะดวกของรับฐบาลมาเลเซียในคณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (JWG-PDP) ต่อด้วยเวทีสันติเสวนาพิเศษ "หนึ่งปีที่ผ่านมาและก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี" วิทยากรโดยคนที่สัมพันธ์กับโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งการแสดงข้อคิดเห็นจากศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ผู้เขียนหนังสือ "ฉีกแผ่นดิน" ช่วงบ่ายนั้น เปิดพื้นที่ให้ "คนใน" ที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอยู่ขณะนี้ ได้เป็นตัวอย่างบอกเล่าทิศทางการทำงานเพื่อเชื่อมร้อยงานของเครือข่ายในพื้นที่อย่างมั่นคงมากขึ้น ในเวทีเสวนาวิสัยทัศน์: "แทร็ค 3: เราทำอะไรไปบ้างและทำอะไรได้อีกในกระบวนการสันติภาพ" 

สื่อคือสนามและพื้นที่กลางเพื่อร่วมสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

          โดยคณะผู้จัดงานออกแบบให้พื้นที่งานเป็น "พื้นที่ร่วม" (common space) หรือพื้นที่การทำงานร่วมกันของเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ เช่น การจัดนิทรรศการ การออกบูท หรือจัดเวทีย่อยคู่ขนานเพื่อนำเสียงที่เกี่ยวข้องของเจ้าของปัญหาขึ้นมานำเสนอด้วย เช่น กลุ่มด้วยใจจะจัดประกวดคลิปวิดีโอความยาว 1-2 นาที เพื่อรณรงค์และส่งเสริมสิทธิเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้และมาตัดสินกันในช่วงท้ายก่อนปิดงาน, โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้จัดเวทีพบปะกับผู้อ่านหนังสือพิมพ์มลายูซีนารัน, UNICEF ร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กและการเยียวยาจัดเวทีประเมินสถานการณ์เด็กในพื้นที่ความรุนแรง เพื่อหาแนวทางการปกป้องและคุ้มครองเด็กให้มากขึ้น, สภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดเวทีประเมินและวิพากษ์การทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันต่อในอนาคต, เครือข่ายวิทยุเพื่อเด็กชายแดนใต้มีการจัดอบรมการเขียนสคริปต์และการจัดรายการวิทยุ, เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมร่วมกับสภาผู้ชม ThaiPBS และคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาบทบาทสื่อพลเมืองชายแดนใต้ เป็นต้น 

          โดยภาพรวมเครือข่าย 'สื่อสันติภาพชายแดนใต้' ต่างเชื่อในพลังของการสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกเล่าและอธิบายโดยเจ้าของพื้นที่ ซึ่งพวกเขามีหน้าที่ในการเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาใช้และนำเสนออย่างรอบด้านนางสาววณิชชา เปาะมะ ผู้ดำเนินรายการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน เชื่อว่าบทบาทสำคัญของคนทำสื่อในพื้นที่คือ นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวที่รอบด้านแล้ว ยังต้องสร้างพื้นที่แสดงความคิดเห็นให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยอีกด้วย

".....[...]..สื่อสันติภาพจะต้องมีพื้นที่ให้กับคนในพื้นที่มากที่สุด หากว่าสื่อพยายามสะท้อนแค่มุมเดียว ก็ยังไม่เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นสื่อเอง ก็จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนในการที่จะแสดงออก แสดงความคิดเห็น มีพื้นที่ให้ตัวเอง ได้พูดได้คุย เพราะคนในพื้นที่ ขาดพื้นที่ในการที่จะได้คุย ทำให้คนนอกอาจจะไม่ทราบปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น การสื่อสารที่ดีที่สุด คือการเปิดพื้นที่และแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด..."

          ขณะที่นางอัสรา รัฐการันต์ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และนักจัดรายการวิทยุ "we voice”: เสียงผู้หญิงเพื่อสันติภาพ มองเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนข่าวสารบนพื้นที่ความขัดแย้งร่วมกัน อย่างมีพลังของกลุ่มเครือข่ายสื่อทางเลือกในชายแดนใต้

"คิดว่าสื่อในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ถ้าทุกสื่อกระตุ้น เพราะการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนนอกพื้นที่จากสื่อนี่เองที่จะเป็นตัวกระตุ้นความรู้และความเข้าใจ และสื่อจากชายแดนใต้ของเรายิ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ได้"

          การรวมตัวของเครือข่ายคนทำสื่อในพื้นที่ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี หรือที่เรียกกันว่า ‘สื่อทางเลือกชายแดนใต้’ กับการนัดหมายมารวมตัวกัน นำเนื้อหาหรือรูปแบบการทำงานของแต่ละกลุ่มมาจัดแสดงและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ปีนี้พวกเขามีเป้าหมายร่วมกัน ในโอกาสที่ครบรอบหนึ่งปีการพูดคุยกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ จึงมีความพยายามยกระดับคุณค่าของการสื่อสารสู่การเป็น ‘สื่อสันติภาพชายแดนใต้’ ผลักดันการพูดคุยให้เดินต่อ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม มีการเปิดพื้นที่ถกเถียง ชวนส่งเสียง และให้คนในพื้นที่สื่อสารเรื่องราวจากมุม 'คนใน' รอมฏอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่าการเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา โดยอยู่บนหลักการและเหตุผลนั้น คือกระบวนการสร้างสันติภาพภายในตัวเองแล้ว1

"การพยายามจะสื่อสารบนความเข้าใจที่ว่า การสื่อสารมีพลังอำนาจ บางอย่างที่จะจัดการกับความขัดแย้งได้ และการมองมนุษย์ที่มีคุณค่า และการพยายามให้มีการส่งเสียง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกถียงกันได้มากที่สุด เพราะนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งทีใช้กำลังนั้น ลดน้อยลง แน่นอนว่าถ้าเรามองในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มันบานปลาย มันเร้าใจ มันอาจจะขายได้ ดูมีสีสัน แต่สื่อสันติภาพ มันอาจจะเป็นสื่อทางเลือกในแง่ที่ว่า เราพยายามให้คนเห็นทางเลือกที่ว่า เราน่าจะทะเลาะกันแบบนี้ได้ โดยที่ไม่ใช้ความรุนแรง"

          กล่าวได้ว่า งานสื่อสารสาธารณะในหลากหลายช่องทางไม่เพียงแต่ส่งสารของผู้คนอันหลากหลายเท่านั้น (ทั้งกลุ่มชาวไทยพุทธและนักกิจกรรมที่สนับสนุนเอกราชปาตานี) หากแต่ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในทางการเมืองของกลุ่มนั้นๆ ศักยภาพดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้เพื่อลดทอนความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงและมีส่วนหนุนเสริมในบทสนทนาเกี่ยวกับสันติภาพกลบเสียงเรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้ซึ่งกันและกัน

ทุกฝ่ายยืนยันวิกฤตการเมืองทำกระบวนการสันติภาพชะงัก: 
คู่ขัดแย้งไม่มีใครเดินออกจากการเจรจา

           นับจากเดือนรอมฏอน (กรกฏาคม 2556) สถานการณ์ความขัดแย้งและสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานีจนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ในสภาวะชะงักงันด้วยการพูดคุยสันติภาพในแทร็ก-1 อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ความล้มเหลวของการหยุดยิงชั่วคราวในเดือนรอมฎอนบ่มเพาะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคู่สนทนาให้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ข้อถกเถียงในกรณีข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการของบีอาร์เอ็นก็ยิ่งขยายภาพของความขัดแย้งสุดขั้วระหว่างคู่สนทนา นอกจากนี้ ในแต่ละฝ่ายยังเผชิญกับปัญหาความไม่ลงรอยภายในฝ่ายของตนเอง ชนิดที่เป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่งที่การผลักดันทิศทางของการพูดคุยสันติภาพจากในแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งเป็นไปได้ ในขณะที่ฝ่ายไทยเผชิญกับวิกฤตการเมืองอย่างต่อเนื่อง 

           แต่ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายและกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่นั้นมีพลวัตสูงมาก และนี่คือคุณูปการของกระบวนการสันติภาพที่เดินหน้าอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะมาตั้งแต่ต้นปี 2556 แรงเหวี่ยงของกระบวนการสันติภาพในระดับบนส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มและเคลื่อนไหวจากหลากหลายทิศทาง การส่งเสียงแสดงความคาดหวังและกังวลต่อกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยการความสะดวกของรับฐบาลมาเลเซียในคณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ก็ได้ระบุระหว่างปาฐกถาว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายคนสรุปว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN ล้มเหลว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด 

“การพูดคุยสันติภาพที่หยุดชั่วคราวในตอนนี้ เนื่องจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับรัฐบาลอยู่ในฐานะรักษาการ จึงไม่สามารถดำเนินการพูดคุยสันติภาพที่เป็นทางการได้ และมองในแง่ดีว่า เมื่อรัฐบาลไทยสามารถแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานครได้ การพูดคุยสันติภาพก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้” 

            รวมทั้งยืนยันวาระของมาเลเซียคือต้องการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างรัฐกับขบวนการ BRN และเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มีความครอบคลุมและเที่ยงธรรม ซึ่งข้อตกลงสันติภาพที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในปาตานี ร่วมถึงมาเลเซียด้วย และเปิดเผยว่าองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีหรือขบวนการพูโล (PULO) ทั้ง 3 กลุ่มได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อที่จะเข้าร่วมการการพูดคุยสันติภาพนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปาตานี หรือขบวนการบีไอพีพีก็มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการเจรจาด้วย (อ่านรายละเอียดปาฐกถาที่นี่ และต้นฉบับปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษที่นี่)

           ยิ่งกว่านั้นในเวทีสันติเสวนาพิเศษ "หนึ่งปีที่ผ่านมาและก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี" วิทยากรโดยคนที่สัมพันธ์กับโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งการแสดงข้อคิดเห็นจากศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โกแล้ว 

          สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเวทีนี้คือ การปรากฎตัวและเสียงของตัวแทนกลุ่ม/ขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ นาย Abu Hafez Al-Hakim สมาชิกอาวุโสของขบวนการ BIPP และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาต่อคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้ส่งเสียงแง่มุมจากขบวนการต่อสู้เป็นคลิปทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู พร้อมทั้งอัพโหลดบทความที่เป็นถ้อยแถลงของเขาทั้งสองภาษามาให้เผยแพร่ มุมมองของเขาทำให้วงเสวนาสมดุลและถือเป็นการอภิปรายกับ “คู่สนทนา” ต่อหน้าสาธารณะ ซึ่งในแง่หนึ่งคือการเพิ่มการมีส่วนร่วม (engagement) เข้าสู่กระบวนการสันติภาพที่กว้างขวางขึ้นกว่าก่อนอย่างมีนัยสำคัญ และเขาเป็นอีกเสียงที่ยืนยันกระบวนการสันติภาพกัวลาลัมเปอร์ยังไม่ล้มเหลวแล้ว แต่เพราะมีความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีจุดจบ 

"....เราไม่ควรลืมว่ากระบวนการดังกล่าวนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะถอนตัวออกจากกระบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐไทย ฝ่ายนักต่อสู้ (บีอาร์เอ็น) หรือมาเลเซียเองก็ตาม ด้วยเหตุนี้ กระบวนการสันติภาพจึงถือว่า “ยุติลงชั่วคราว” ตามสาเหตุบางอย่างที่ทุกคนทราบกัน แต่จะมีการเริ่มใหม่ในเมื่อทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคทั้งหมดลงไปได้

ฝ่ายนักต่อสู้ยังคงมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในกระบวนการสันติภาพดังกล่าวผ่านคณะพูดคุยชุดปัจจุบัน ในอนาคต คณะผู้แทนจากฝ่ายนักต่อสู้ค่อยๆ ได้รับการยกระดับด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวปาตานีทุกกลุ่ม ซึ่งจะเป็นที่รู้จักในฐานะประชาคมเชื้อชาติมลายูปาตานี...”

          นอกจากนี้ คลิปวีดีโอถ้อยแถลงของ "อาบูฮาฟิช อัลฮากีม” ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้ เรามาพร้อมดอกชบาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ โดยไม่พกพาอาวุธใดๆ สงครามได้ปะทุขึ้นที่ปาตานี และที่ปาตานีนี่เองที่สันติภาพจะก่อเกิดขึ้น สมฉายานามปาตานี ดารุสลาม คือ ปาตานี ดินแดนแห่งสันติภาพ” ซึ่งจะเป็นบรรยากาศอันดีหนุนเสริมต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ และด้านหนึ่งก็เป็นการสถาปนาให้ "ดอกชบา" เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพปาตานี/ปัตตานีนั่นเอง

 

          การมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมจนกลายเป็นเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพนั้นเป็นหลักประกันสำคัญว่า กระบวนการพูดคุย/เจรจาสันติภาพจะได้รับการสนับสนุนจากมวลชนกลุ่มต่างๆ และทำให้เส้นทางของกระบวนการสันติภาพนั้นมั่นคงไม่เปราะบาง ดังนั้น ก่อนการปิดงานจึงมีการนำเสนอเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน "เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร?” และการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสื่อในพื้นที่จำนวน 59 องค์กร รวมทั้งกิจกรรมปลูกต้นชบาเพื่อสันติภาพร่วมกัน

เราเห็นปรากฏการณ์อะไรใน “1 ปีสนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี”

          ในสาระสำคัญจากการกล่าวปิดงานนี้ โดย ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) พบ 3 ข้อสังเกต 3 ความท้าทาย และ 7 อันเป็นข้อสรุปจาก 1 สนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี โดยมีรายละเอียดดังนี้: 

          3 ข้อสังเกต ที่พบคือ (1) มวลชนสนับสนุนสันติภาพปัตตานี/ปาตานีกำลังเติบโตและสื่อท้องถิ่นกำลังงอกงาม (2) พื้นที่สาธารณะกำลังขยายตัวสำหรับการแลกเปลี่ยนประเด็นการเมืองที่ขัดแย้งกัน (3) ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยอย่างเป็นทางการตระหนักถึงบทบาทสำคัญของมวลชนในพื้นที่ 

          3 ความท้ายทาย ได้แก่ 

(1) จะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองในกรุงเทพฯ มั่นใจว่า ขณะนี้ความขัดแย้งในภาคใต้ต้องใช้แนวทางที่ให้สองพรรคร่วมมือกัน? โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่มีบทบาทอย่างสูงในวิกฤตการเมืองไทย

(2) จะทำอย่างไรให้คนปัตตานี/ปาตานีขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่กำลังเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเองและการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ? และ 

(3) เราจะสามารถขยายแนวคิด "วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อสันติธรรม" ไปยังสือท้องถิ่นและสื่อบางแห่งในกรุงเทพฯได้อย่างไร?

           และด้วยการพูดคุยสันติภาพในแทร็ค 1 ได้สร้างโอกาสสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งแบบเก่าที่ดำเนินมาหลายศตวรรษ แต่ตอนนี้มันกำลังหยุดชะงัก นี่จะเป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานของกระบวนการในอนาคตและเป็นโอกาสในการเรียนรู้บทเรียนจากข้อบกพร่องด้วย ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีตาข่ายนิรภัยหนุนเสริมกระบวนการและขยายมวลชนสนับสนุนสันติภาพอย่างแข็งขัน 

          7 ข้อสรุปหรือสิ่งที่ควรทำต่อจากนี้ ที่ ดร.โรเปอร์สเสนอ คือ 

(1) ให้โอกาสคนในพื้นที่ได้ส่งเสียงบอกถึงผลประโยชน์ ความต้องการ และข้อกังวลของตนเอง

(2) เปิดโอกาสให้มีการปรึกษากันระหว่างคนที่อยู่บนโต๊ะการพูดคุย/เจรจาและคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทน

(3) รับรู้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและสร้างโอกาสให้มีการพูดคุยระหว่างชุมชนที่มีความแตกต่างกันในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อกังวลที่มีร่วมกัน

(4) ใช้โอกาสจากพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดมากขึ้นในการพูดคุยถกเถียงประเด็นการจัดสรรอำนาจ, การกำหนดชะตากรรมของตนเอง และรูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบอื่นๆ

(5) ทำงานเพื่อสร้างวัฒนธรรมการจัดการความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ - จะคาดหวังให้มีการจัดการความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐอย่างไร?

(6) ทำงานด้านความรู้ในประเด็นความขัดแย้งซึ่งมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง เช่น สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองแบบไหนที่เหมาะที่สุด

(7) ควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงเพื่อทำให้กระบวนการสันติภาพยั่งยืน (โปรดดูในข้อเสนอแนะในเอกสารเชิงนโยบาย "จะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้อย่างไร?”)