Skip to main content

 กำลังใจท่ามกลางความสูญเสีย

โดย เลขา เกลี้ยงเกลา โซรยา จามจุรี
 
“โศกนาฏกรรม” ของชีวิตที่สูญเสีย บาดเจ็บ และพิการหลังเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 24 พ.ค.2557 ที่ผ่านมาในตัวเมือง จังหวัดปัตตานี ก่อเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่มิอาจประเมินค่าได้ โดยเฉพาะ “ชีวิต” ที่มิอาจหวนคืน บางครอบครัวสูญเสีย “แม่” บางครอบครัวสูญเสีย “ลูก” สมาชิกบางครอบครัวพิการและบาดเจ็บ ซึ่งมีทั้งชาวมลายูมุสลิมและชาวพุทธที่ประสบเหตุกว่า 60 ชีวิตในคืนเดียว
 
สามพี่น้องต้องกำพร้าพ่อและแม่
 
ครอบครัว “ลาเฮศักดิ์สิทธิ์” ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัวคือ นางสมพร ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นแม่ของสามพี่น้องคือ อลิฟ อามีน และ โรสมาลิน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานครอบครัวนี้เพิ่งสูญเสียพ่อไปด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สมพรจึงต้องดูแลลูกทั้งสามมาเพียงคนเดียว โดยอลิฟเรียนจบชั้นปวส.และมารับช่วงกิจการของบ้านต่อคือ ซ่อมและขายอะไหล่รถ
อามีนน้องชายคนรอง กำลังเรียนชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ตรัง และโรสมาลิน น้องสาวสุดท้อง เรียนชั้น ปวส.1 วิทยาลัยอาชีวศึกษา ปัตตานี
 
โรสมาลินเล่าถึงคืนเกิดเหตุว่า “ปกติเปิดร้านขายกิ๊ฟชอปที่ถนนเจริญประดิษฐ์ สายม.อ.ปัตตานี ใกล้กับร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ตอนเกิดเหตุช่วงที่ไฟดับตอนทุ่มกว่า แม่โทรศัพท์มาบอกให้ปิดร้านและแม่ขี่มอเตอร์ไซค์มาหาที่ร้าน โดยมีพี่ชายสองคนขี่ตามหลังกันมา เมื่อผ่านร้านเซเว่น  แม่ก็โดนสะเก็ดระเบิด ร่างของแม่กระเด็นไปกลางถนน พี่ชายที่ขี่ตามมาก็เห็นเหตุการณ์ เราเห็นแม่ในสภาพนั้นทั้งสามคน รู้ว่าเขาไม่ได้จงใจทำร้ายแม่ แต่แม่ต้องมาเจอและรับผลจากเหตุร้าย”
 
อาของสามพี่น้องที่มาช่วยดูแลและจัดการหลายเรื่องบอกว่า สมพรเป็นมุอัลลัฟ ชาวมุกดาหาร รับอิสลามมากว่ายี่สิบปี เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น เมื่อต้องเสียสามีไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้เธอต้องรับผิดชอบทุกอย่าง กิจการที่สามีทำอยู่ มีอลิฟลูกชายคนโตมารับช่วงต่อ แต่ความด้อยประสบการณ์ของลูกชายและความไว้วางใจจากลูกค้า ทำให้ลูกค้าเริ่มหายไป  ส่วนโรสมาลินเรียนตอนกลางวัน  เมื่อเลิกเรียนก็มาดูร้านต่อ รับช่วงต่อจากลูกจ้างที่เฝ้าร้านและขายของตอนกลางวัน  เราไม่มีรายได้ทางอื่น จึงเป็นห่วงอนาคตของหลานทั้งสองที่ยังเรียนไม่จบ
 
“พอพ่อเขาไม่อยู่ ครอบครัวก็แย่ แม่ก็มาเสียอีกคนด้วยเหตุแบบนี้ หลานๆ ก็ไม่มีที่พึ่งหลัก อาๆ ญาติๆ ก็พอช่วยได้ในระดับหนึ่ง ทั้งสามคนต้องดูแลกันเอง เป็นห่วงในเรื่องการเรียนของหลานคนรองและสุดท้อง อยากให้เขาได้เรียนจนจบและมีงานการทำ”
ครอบครัวลาเฮศักดิ์สิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจากทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้นำไปจ่ายหนี้สินที่มีอยู่ของครบครัวได้เบาบางไปจำนวนหนึ่ง ทุกคนบอกว่า การได้รับเงินเยียวยาก้อนนี้ ทำให้แบ่งเบาภาระหนี้สินไปได้มากทีเดียว และขอบคุณทุกหน่วยงานทุกคนที่ช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน ทำให้พวกเขามีกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไป
 
“ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจและการช่วยเหลือ จะตั้งใจเรียนให้จบและกลับมาทำงานที่บ้านเกิด” เป็นคำขอบคุณจากอามีนและโรสมาลิน ฝากไว้แก่ทุกน้ำใจที่มอบให้ครอบครัวพวกเขา
 
สองพ่อลูกโดนระเบิด ขณะกลับจากเรียนอัลกุรอาน
 
เหตุร้ายในครั้งนี้ยังได้คร่าชีวิตเด็กชายคนหนึ่งไปด้วยคือ ด.ช.มูฮำหมัดอิลฟาน สิเดะ  วัย 5 ขวบ จากเหตุเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ถูกแรงระเบิดล้มทับขณะที่กำลังนั่งรถจักรยานยนต์ อยู่บนถนนและมุ่งหน้ากลับบ้านที่ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี วันนั้นพ่อเป็นคนขับซ้อนสาม คือ เด็กน้อยมูฮำหมัดอิลฟาน ที่นั่งอยู่ข้างหน้าพ่อ และถัดจากพ่อ ก็เป็นน้องชาย และแม่ของเขา  ในเหตุการณ์นี้พ่อของมูฮำหมัดอิลฟาน ได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วยและยังคงต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู.โรงพยาบาลปัตตานี จนถึงทุกวันนี้
 
 
ณ ชุมชนบือตงตันหยง ถนนปากน้ำ ซอย 2 เป็นบ้านเดิมของ รอฮีหม๊ะ สิเดะ แม่ของมูฮำหมัดอิลฟาน เธอและลูกอีกสามคนมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่คืนเกิดเหตุเพราะสะดวกในการไปดูแลและให้กำลังใจสามีที่โรงพยาบาล โดยที่ยังไม่ได้บอกเรื่องลูกชายเสียชีวิตแก่สามี เธอบอกว่า ยังไม่กล้าบอกทั้งที่สามีก็ถามถึงลูก ได้แต่เลี่ยงไป โดยหมอจิตเวชบอกว่าจะบอกเรื่องนี้กับสามีเธอเอง
 
“ตอนนี้อาการเขาดีขึ้น รู้สึกตัวแล้ว ต้องผ่าตัดและเจาะปอด เพราะเลือดตกใน แต่ยังต้องนอนพักดูอาการในห้องไอ.ซี.ยู.เพื่อไม่ให้ติดเชื้อ คืนเกิดเหตุไปรับลูกจากเรียนอัลกุรอานเพื่อจะกลับบ้านที่ดอนรัก ขี่มอเตอร์ไซค์กันไปซ้อนสาม  ถึงที่เกิดเหตุไฟดับหมด เสาไฟล้มแต่ไม่เห็นว่าเป็นอะไรชัดๆ  ต่อมาได้ยินเสียงคนมาช่วย ตอนนั้นไม่รู้ว่าอาแบอยู่ไหน คลานหาลูกไปแตะตัวเขาเห็นว่าไม่รูสึกตัว ได้อ่านยาซีนและมูจั๊บให้เขาแล้ว ตัวเองก็ไม่รูสึกตัว มารู้อีกทีตอนอยู่ที่โรงพยาบาล  และรู้ว่าลูกชายสุดท้องเสียชีวิต ส่วนตนเองได้รับบาดเจ็บ ลูกชายอีกคนมือซ้ายกระดูกร้าว”
 
สามีของรอฮีหม๊ะมีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเช่ารถยนต์ไปรับ-ส่งคนงาน ส่วนเธอเป็นแม่บ้านดูแลลูก 4 คน เมื่อมาประสบเหตุนี้ทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้ เงินเยียวยาที่ได้รับมาจำนวนหนึ่งก็คงพอใช้ไปสักระยะหนึ่ง เธออยากมีอาชีพ ที่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ตลอด และแม้ว่าสามีออกจากโรงพยาบาลได้ ก็คงยังทำงานไม่ได้และทำได้ไม่เท่าเดิม เธอจึงต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใจให้สามีและลูกโดยใช้หลักศาสนาเยียวยาจิตใจ
“เรารักสามีและลูกแต่อัลลอฮ์รักมากกว่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องไป เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์วางไว้แล้ว เพียงแต่เหตุการณ์นี้มีเด็กเสียชีวิต พิการและบาดเจ็บมากกว่า เหตุการณ์อื่นๆ”
 
 
เด็กน้อย 5 ขวบ ที่ต้องใช้ขาเทียมไปตลอดชีวิต
 
ณ ห้องพิเศษตึกชูเกียรติ รพ.ปัตตานี มีเด็กน้อยที่ถูกสะเก็ดระเบิดหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น  ทำให้เธอต้องสูญเสียขาขวาไปในวัยเพียง 5 ขวบ คือ ด.ญ.แวซิตีอัยจะ  แวหลง หรือน้องซะห์   ที่จริงแล้วเธอควรมีชีวิตที่สดใสเหมือนเด็กวัยเดียวกัน แต่เด็กน้อยต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงโรงพยาบาลอีกนานนับเดือน  และแม้เมื่อหาย ออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ชีวิตเธอก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
รอบเตียงของแวซิตีอัยจะ มีตุ๊กตาและของเล่นที่มีคนนำไปฝาก เพื่อให้เธอได้ผ่อนคลายและสบายใจ ลืมเรื่องราวที่เจ็บปวด หากเมื่อใครไปแตะหรือจับขา เธอก็จะส่งเสียงร้องเพราะเจ็บแผล แม่ของเธอ นะดา สาวิชัย  ซึ่งดูแลลูกสาวอยู่ตลอดเวลาบอกว่า ลูกสาวกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว และปรับอารมณ์กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายของเธอ
 
“ลูกยังเล็กอยู่ ยังปรับตัวปรับใจได้ไม่มาก ยังนอนสะดุ้ง ผวา เจ็บขาข้างที่ไม่ถูกตัดเพราะโดนสะเก็ดระเบิดเช่นกัน ตรงกลางหน้าแข้งเนื้อหลุดไปหมด หนังตรงเท้าก็ไม่มี ต้องรอเนื้อกำพร้าขึ้นถึงจะเอามาแทนได้ ต้องดามเหล็กไว้และทำแผลทุกวัน ส่วนขาที่ถูกตัดก็เข้าเฝือกถึงโคนขา ลูกยกขา ขยับเองได้ ต้องยกบ่อยๆ เพราะหมอเอากระดูกออกไปหมด ระวังเรื่องติดเชื้อ หมอบอกว่าต้องอยู่โรงพยาบาลอีกเป็นเดือน”
 
ครอบครัวของนะดาเช่าบ้านอยู่ทื่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปัตตานีและใกล้กับบ้านเดิมของสามีที่เป็น อส.และเป็นคนหารายได้เข้าบ้านพียงคนเดียว ส่วนเธอเป็นแม่บ้านดูแลลูกสามคน เหตุการณ์นี้ทำให้เธอได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานและหลายๆ คน รวมทั้ง นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีต สว.ปัตตานี ที่ช่วยอนุเคราะห์ค่าห้องพิเศษให้ครอบครัวของเธอตลอดการรักษา และส่งอาหารเย็นจากโรงแรมมาให้ทุกวัน
“มีอีกหลายหน่วยงานและหลายกลุ่มมาเยี่ยม มอบของและให้กำลังใจ  ขอขอบคุณมากๆ ทำให้ครอบครัวเรามีกำลังใจมากขึ้น”
ส่วนเงินเยียวยาที่ได้รับ นะดาบอกว่าจะใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นและเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาของลูก สำหรับสิ่งที่ต้องทำในอนาคตอันใกล้คือ การให้ลูกสาวคุ้นชินกับการใช้ขาเทียมให้เร็วที่สุดเพื่อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
 
นะดาบอกว่า “เมื่อกลับบ้านต้องให้เขาชินกับการใช้ขาเทียมให้เร็วที่สุด ให้เขารู้ว่าใส่แล้วสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติ ให้มีเวลาปรับตัว โดยเราต้องเป็นมือเป็นเท้าให้เขาไปก่อน ถ้าแม่อ่อนแอ ลูกจะแย่กว่านี้ ต้องเข้มแข็งมากๆ และไม่เป็นภาระหนักใจแก่สามี คืนนั้นถ้าลูกคนเล็กยังไม่หลับ ก็จะพาเขามาซื้อของด้วย ไม่อยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากต้องสูญเสียลูกคนเล็กไปอีกคน”
 
เด็กหนุ่มที่ชีวิตและความฝันต้องดับสลายไป
 
เหตุร้ายครั้งนี้ยังได้คร่าชีวิตและอนาคตเด็กหนุ่มไทยพุทธอีกคนคือ อธิสิทธิ์  มุ่งหมายธนารักษ์ วัย 19 ปี จากบ้านป่าสี ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เขาเป็นลูกคนโตที่พ่อแม่แยกทางกัน มีแม่กับยายช่วยกันเลี้ยงดู เพิ่งเรียนจบชั้นม.6 จาก ร.ร.เดชะปัตตนยานูกูล ในปีนี้ และกำลังเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมงคล นครศรีธรรมราช
 
ด้วยความเป็นเด็กดี ขยันเรียนและกตัญญู เป็นที่รักของเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องในโรงเรียน เป็นความหวังของครอบครัว ทุกวันเขาจะตื่นตั้งแต่ตีสี่ ช่วยแม่และยายกรีดยางจนเช้าแล้วนั่งรถรับจ้างมาเรียนในตัวเมือง ช่วงปิดภาคฤดูร้อนนี้ เขาได้ไปฝึกงานที่บริษัทแกรนด์ออโต้เซลส์ใน อำเภอเมือง เขาอยากเป็นตำรวจ จึงสมัครสอบตำรวจไว้ แต่ว่ายน้ำไม่เป็น จึงไปสมัครเรียนว่ายน้ำไว้ด้วย เขาขับรถจักรยานยนต์ไปกลับจากบ้านถึงที่ฝึกงานทุกวัน ด้วยความเป็นห่วง ยายของเขาจึงให้เขามาเช่าบ้านในเมือง ซึ่งเขาเช่าบ้านอยู่ได้เพียงห้าวัน ก็มาเกิดเหตุร้ายกับชีวิต
 
ในคืนเกิดเหตุอธิสิทธิ์และเพื่อนๆ ได้ไปจอดรถจักรยานยนต์หน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่น หน้าวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี เมื่อเกิดไฟดับและเสียงระเบิดหน้าร้าน เขาได้ตะโกนให้เพื่อนกลับ เขาสตาร์ทรถแต่มิทันได้ออกรถ แรงระเบิดจากร้านทำให้กระจกกระเด็นมาบาดลำคอตัดเส้นเลือดใหญ่ ทำให้เขาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ในขณะที่ยายของเขาพร่ำโทษตัวเองถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับหลานชาย  จากการให้ไปเช่าบ้านในเมือง แล้วต้องมาเจอเรื่องร้ายเช่นนี้
 
 
กำลังใจแด่ครอบครัวผู้สูญเสีย
สมาชิกเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women)  ได้เยี่ยมเยียนบ้าน และเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ทั้งสามครอบครัว  คำนึง  ชำนาญกิจ หรือ “ก๊ะยะห์”  แกนนำเครือข่าย  ที่รับผิดชอบการลงพื้นที่เยี่ยมเยียน สะท้อนความรู้สึกว่า
 
“รู้สึกหดหู่ใจ และรับรู้ถึงความเจ็บปวดและความสูญเสียที่ทุกคนได้รับ โดยเฉพาะที่เกิดกับเด็กเล็กๆ ผู้หญิง  ที่จริงแล้วทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ และมุสลิมเรา  ทุกคนเป็นมนุษย์ เป็นมัคลูก(สิ่งถูกสร้าง) ของอัลลอฮ์ ที่อัลลอฮ์สร้างมา  ความรู้สึกเจ็บปวด  หวาดกลัว  สูญเสียมีเหมือนกัน เด็กที่ยังรอดชีวิต ก็ต้องเป็นผู้พิการ พ่อแม่ต้องสูญเสียลูก ลูกต้องสูญเสียพ่อแม่ พี่น้องต้องดูแลกันเอง ครอบครัวไม่เป็นครอบครัวอีกต่อไป”
 
เธอบอกด้วยว่า เมื่อเห็นน้องซะห์ ที่ถูกตัดขา ทำให้นึกถึงหลานที่รุ่นราวเดียวกัน เธอทนเห็นสภาพไม่ไหว จึงต้องเดินออกมานอกห้อง มาร้องไห้ ส่วนตอนที่ไปเยี่ยมครอบครัวของสมพร รู้สึกเห็นใจมาก เพราะครอบครัวนี้สูญเสียพ่อมาก่อน เธอได้แต่ให้กำลังใจลูกทั้งสามของสมพรที่โดนระเบิดว่า อย่าท้อ ตั้งใจเรียนให้จบ แม้ไม่มีพ่อแม่แล้ว  เพราะการเรียน เป็นอนาคตของพวกเขา
 
คำนึงบอกว่า  ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงฯ เน้นการเยี่ยมบ้าน และเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก ทำให้ผู้รับผลกระทบรู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือพุทธ เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ชีวิตที่เหลืออยู่หลังการสูญเสีย ย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก   การไปเยี่ยม แสดงให้เห็นว่า ยังมีคนที่เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมที่เขาประสบ ไม่ได้นิ่งดูดายกับความเป็นความตายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องที่นี่  และพร้อมจะเป็นเพื่อนให้กำลังใจ ทำให้ผู้รับผลกระทบกลับมาเข้มแข็งขึ้นอีกครั้ง
 
คำนึงบอกด้วยว่า หากมีสิทธิด้านการเยียวยา ความต้องการใด ที่ผู้รับผลกระทบยังไม่ได้รับ หรือปัญหา ข้อกังวลใด ที่ผู้รับผลกระทบต้องการสะท้อน  สมาชิกในเครือข่ายฯ ก็จะรับฟัง และเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อประสานส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไป  นอกจากนั้น หากครอบครัวใดมีความพร้อม อยากเข้าร่วมกิจกรรมด้านการเยียวยา การสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพ  และกิจกรรมเชิงสังคมกับเครือข่ายฯ  เครือข่ายฯก็จะเชิญเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเครือข่ายฯในอนาคต
 
สิ้งเสียงระเบิด หรือเสียงปืน คือชีวิตที่เหลืออยู่ ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย และผลกระทบ  ที่หากแม้จะได้รับการเยียวยาอย่างดี  แต่ก็ยากที่ชีวิตผู้รับผลกระทบ  จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้
“กำลังใจ การรู้สึกว่าเขาไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ผู้รับผลกระทบก้าวข้ามความเจ็บปวด  ความสูญเสีย และวิกฤติของชีวิตไปได้ แม้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ”  คำนึงพูดทิ้งท้าย
 
color:#0070C0">“การสื่อสารสาธารณะ ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง เพื่อการเสวนาสันติภาพที่เป็นประชาธิปไตย”
 
color:#0070C0">