นรชาติ เรืองสกุล
ในสถานการณ์บ้านเมืองเราปัจจุบันนี้ยังคงการประกาศใช้กฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อควบคุมสถานการณ์ในความขัดแย้งของกลุ่มคนภายในชาติ โดยการชี้นำหรือบ่งการของผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังของแต่ละกลุ่ม จนในที่สุดไม่สามารถตกลงกันได้ในการปรองดองสมานฉันท์ของทุกฝ่าย จนนำมาสู่การยึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และคณะนายทหารของกองบัญชาการกองทัพไทย/เหล่าทัพ รวมทั้ง ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผมคิดว่าทุกท่านคงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ หน.คสช.ได้กล่าวว่า ประเทศชาติจะต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินที่ติดขัดอยู่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถใช้อำนาจการบริหารแผ่นดินได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นทางออกของประเทศเราเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง บางเรื่องมีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกับหลายหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การปฏิรูปก่อนที่จะกลับไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีระบอบประชาธิปไตยในที่สุด
ผมเชื่อว่า แนวทางการปฏิบัติใน ๓ ขั้นตอนของ คสช.ที่ประกาศต่อสาธารณชนจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ โดยไม่มีเจตนาแอบแฝงหรือหวังเพื่อประโยชน์และอำนาจของกลุ่มนายทหารเอง ตอนนี้เราเริ่มเห็นธาตุแท้ของกลุ่มนักการเมืองบางพวก แล้วใช่มั๊ยครับว่า ทำเพื่อตนเองหรือเพื่อส่วนรวม/ประเทศชาติ หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ของ จชต. ก็เช่นเดียวกัน บางกลุ่มมักจะอ้างว่า สันติภาพใน จชต. ไม่เกิดขึ้นเพราะภาครัฐไม่ให้สิทธิเสรีภาพบ้างล่ะ กีดกันความเป็นคนไทยมุสลิมโดยไม่ให้ความเท่าเทียมบ้างล่ะ หรือทำไมต้องมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษบ้างล่ะ หรือแม้แต่ทำไมต้องมีกำลังทหารในพื้นที่ จชต. บ้างล่ะ คนเหล่านี้ก็คือคนที่มีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังล่ะ เขาเหล่านี้ทำเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อแผ่นดินที่เขาได้อยู่อาศัยอย่างสบายจริงหรือเปล่า ผมขอให้ทุกท่านลองคิดดูน่ะครับ
ผมขอนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนทั่วไปใน จชต.ของหน่วยงานหนึ่งที่เพิ่งสำรวจไปเมื่อ เม.ย.๕๗ ที่ผ่านมาและคิดว่ามีประโยชน์ รวมทั้งสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาใน จชต. ได้ดีดังนี้
๑) ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๕,๑๕๒ ตัวอย่างแบ่งตามเพศ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ ๕๕.๑๐) แบ่งตามอายุ ส่วนใหญ่ อายุ ๓๖ – ๔๕ ปี (ร้อยละ ๒๖.๙๐) ลำดับรองลงมา อายุระหว่าง ๔๖ – ๕๕ ปี (ร้อยละ ๒๖.๐๐) แบ่งตามการศึกษา ส่วนใหญ่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. (ร้อยละ ๓๕.๕๐) ลำดับรองลงมา ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (ร้อยละ ๒๘.๑๐) แบ่งตามศาสนา ส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ ๖๔.๑๐)ลำดับรองลงมา นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ ๓๕.๐๐) ได้เรียนในสายศาสนา (ร้อยละ ๕๓.๓๐) ในระดับ ๔ (ร้อยละ ๘.๙๐) ลำดับรองลงมา ระดับ ๗ (ร้อยละ ๖.๙๐) แบ่งตามภาษา ใช้ภาษาไทย (กลาง/อีสาน/ใต้) ในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ ๓๗.๖๐) ลำดับรองลงมา ภาษามลายู (ร้อยละ ๓๔.๗๐) แบ่งตามสถานภาพทางสังคม เช่น นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา นิสิต/นักศึกษา เจ้าของธุรกิจ/ผู้ประกอบการค้าขาย ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป
๒) สรุปผลการประเมิน
ก. ความคิดเห็นต่อการรับรู้ข่าวสารและความเข้าใจต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย ๓.๓๘) ระดับความคิดเห็นสูงสุด คือ
- การที่จะมุ่งให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาประชาชนต้องได้รับการแจ้งข่าวสารที่เพียงพอ อยู่ในระดับ มาก (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๕) ลำดับรองลงมา คือ
- ประชาชนคิดว่าปัญหาการก่อความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความร่วมมือจากประชาชนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อยู่ในระดับ มาก (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๓)
สำหรับการรับรู้ข่าวสาร จากที่ประชาชนได้รับทราบและพบเห็นนั้นมักได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากสื่อทางโทรทัศน์มากที่สุด อยู่ในระดับ มาก (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๖) รองลงมาคือวิทยุ (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๓๘ ) และสิ่งพิมพ์ และที่ต่ำสุดคือ การรับข่าวสารจากภาคประชาสังคม (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๑๑) และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ประชาชนทราบเป็นอย่างดีว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งในการก่อเหตุแล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ เช่น ทหาร ตำรวจ และทหารพราน เป็นประจำ อยู่ในระดับปานกลาง ( มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๒๕ )
ข. ความคิดเห็นต่อการพึงพอใจต่อข่าวสารที่ได้รับทราบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มี ค่าเฉลี่ยที่ ๓.๕๐ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าประชาชนได้ให้ความคิดเห็นสูงสุด คือ
- ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการชี้แจงข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มากที่สุด อยู่ในระดับ มาก (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๑) ลำดับรองลงมา คือ ความพึงพอใจต่อข่าวสารที่ได้รับเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในระดับมาก ( ค่าเฉลี่ย ๓.๕๓ )
ค. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในประเด็น “สาเหตุและปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต.” ประชาชนได้ให้ความคิดเห็นที่สำคัญตามลำดับ ประกอบด้วย
๑) สาเหตุและปัญหาจากยาเสพติด (ร้อยละ ๖๙.๔)
๒) สาเหตุและปัญหาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐ (ร้อยละ ๕๔.๑)
๓) สาเหตุและปัญหาจากกลุ่มก่อความไม่สงบต้องการแบ่งแยกดินแดน (ร้อยละ ๕๒.๖)
๔) สาเหตุและปัญหาจากการศึกษา (ร้อยละ ๔๕.๔)
๕) สาเหตุและปัญหาจากผู้มีอิทธิพล (ร้อยละ ๔๒.๓)
๖) สาเหตุและปัญหาจากเศรษฐกิจ (ร้อยละ ๓๗.๒)
๗) สาเหตุและปัญหาจากความแตกต่างของศาสนาและวัฒนธรรม (ร้อยละ ๒๕.๑)
๘) สาเหตุและปัญหาอื่นๆ (ร้อยละ ๑.๒)
ง. ความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะในการดำเนินการเพื่อให้สถานการณ์ยุติหรือเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนได้ให้ความคิดเห็นที่สำคัญตามลำดับ ประกอบด้วย
๑) รัฐต้องมีนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ ๗๐.๔)
๒) มีกำลังทหารตำรวจเพื่อพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (ร้อยละ ๔๘.๖)
๓) เสริมสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งให้พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่ลูกให้มากขึ้น (ร้อยละ ๔๕.๑)
๔) ควรใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ก่อเหตุอย่างจริงจัง (ร้อยละ ๓๗.๙)
๕) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (ร้อยละ ๓๔.๕)
๖) แก้ไขระบบการศึกษาโดยใช้หลักสูตรสามัญควบคู่กับศาสนา (ร้อยละ ๓๓.๕)
๗) ถอนกำลังทหารออกจาก ๓ จชต. (ร้อยละ ๒๕.๓)
๘) อื่นๆ (ร้อยละ ๑.๒)
จะเห็นว่า ปชช.ให้ข้อสรุปที่ดีว่า ปัญหา/สาเหตุของเหตุการณ์ความไม่สงบส่วนใหญ่เกิดจากปัญหายาเสพติด ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ค้า ผู้ส่ง ผู้เสพ และผู้ที่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศด้วย เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นท่อน้ำเลี้ยงที่ดีให้กับแกนนำ แนวร่วม ขบวนการอย่างดีทีเดียว
ส่วนปัญหาเรื่องความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก แสดงให้เห็นว่า ปชช.ส่วนใหญ่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสงบสุข ระหว่างไทยพุทธ-มุสลิม-จีน แบบพหุสังคม-วัฒนธรรมร่วม ดังคำว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก แต่แนวโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายตรงข้ามยังพยายามแบ่งแยกในเรื่องอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ประวัติศาสตร์และศาสนาอยู่เรื่อยไป แสดงให้เห็นถึง มีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง ขณะที่หน่วยงานรัฐพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต, ความเป็นอยู่ของ ปชช.ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขเช่นพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
ในเรื่องข้อเสนอแนะเพื่อให้สถานการณ์ยุติ ปชช.ส่วนใหญ่มีความเห็นที่ต้องการถอนทหารออกจากพื้นที่ในระดับเกือบต่ำที่สุด แสดงให้เห็นว่า ปชช.ยังคงต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่จึงอยากให้ จนท.ยังคงรักษาพื้นที่ในหมู่บ้าน ชุมชน เมือง แต่แนวโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายตรงข้ามยังพยายามความไม่ต้องการ จนท.ทหาร มักอ้างว่า ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง สร้างปัญหาต่างๆ ให้ชุมชนบ้าง ปชช.หวาดระแวงบ้าง ไม่รู้ขนบธรรมเนียม-ประเพณีของคนมุสลิมบ้าง ผมว่าหากถอนทหารออกจากพื้นที่จริงๆ แล้วล่ะก็ ฝ่ายขบวนการก็สะดวก ปลอดภัย ที่จะทำอะไรอย่างสะดวก เช่น การจัดตั้งแนวร่วมในหมู่บ้านอาเยาะห์ให้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำธุรกิจผิด กม.ในเรื่องยาเสพติด, น้ำมันเถื่อน, สินค้าหนีภาษี, ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ, ป่าไม้ เป็นต้น