Skip to main content

ภารกิจไขปริศนา...อะไรทำให้ "อาเจะห์" ได้เป็นเขตปกครองพิเศษ ???

          ฉันเป็นนักศึกษาหลักสูตร "TOT (Training-of-Trainers )การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง" ของวิทยาลัยประชาชน และได้รับโอกาสเดินทางไปที่เขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นระยะเวลา 5 วัน (20 -24 มิ.ย. 57)   เพื่อศึกษากระบวนการสันติภาพและการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งจากกรณีที่เคยเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์( GAM : Gerakan Aceh Merdeka)ในอดีต สู่การทำสัญญาให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองพิเศษในปัจจุบัน

font-weight:normal">

            ฉันเดินทางไปพร้อมกับคำถามในใจว่า ทำไมอาเจะห์กับอินโดนีเซียต้องสู้กันด้วยทั้งที่เป็นคนมลายูเหมือนกันและนับถือศาสนาเดียวกัน ?

            คำถามนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดเปรียบเทียบกับความขัดแย้งที่ปาตานีด้วยเหตุสำคัญซึ่งเกิดความขัดแย้งเพราะคนไทยกับคนปาตานีมีความแตกต่างกันในเรื่องศาสนา (อิสลาม-พุทธ) และเชื้อสาย (ไทย-มลายู)

            และฉันก็ได้คำตอบว่า อาเจะห์เปรียบเหมือนเด็กกำพร้าที่ไม่มีใครสนใจแต่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้อย่างมีความสุขแต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ถูกชาวดัตช์(ฮอลันดา)รังแก ชาวดัตช์รังแกแม้แต่พ่อใหญ่อย่างอินโดนีเซีย คนอาเจะห์เล่าว่า สุดท้ายพ่อใหญ่อย่างอินโดนีเซียยอมแพ้ต่อชาวดัตช์ แต่อาเจะห์ไม่เคยยอมแพ้แต่ก็สู้ชาวดัตช์ไม่ได้ สุดท้ายอินโดนีเซียขอให้อาเจะห์ช่วยกันต่อสู้กับชาวดัตช์ และเมื่อสู้กันชนะแล้ว  กลายเป็นว่าชาวดัตช์ยกอาเจะห์ให้อินโดนีเซียโดยไม่ถามอาเจะห์เลยสักคำ เมื่ออินโดนีเซียได้อาเจะห์แล้ว  กลัวว่าอาเจะห์จะไม่พอใจก็เลยไปวาดวิมานในอากาศให้คนอาเจะห์ฝันว่าถ้าอาเจะห์อยู่กับอินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้นี้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ปกครองแบบอิสลามอย่างที่คนอาเจะห์ต้องการ แต่แล้วเมื่อ   อาเจะห์ตกลงปลงใจอยู่กับอินโดนีเซีย กลับกลายเป็นว่าอาเจะห์ถูกหลอก ถูกกดขี่ข่มเหง จนอาเจะห์ทน    ไม่ไหวจะออกจากบ้านของอินโดนีเซีย แต่อินโดนีเซียไม่ยอม ยิ่งรู้ว่าอาเจะห์มีแหล่งทรัพยากรน้ำมันมหาศาลก็ยิ่งไม่ยอม (ซะงั้น) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อาเจะห์ต้องสู้กับอินโดนีเซียเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระนั่นเอง

            บทเรียนนี้ทำให้ฉันคิดได้ว่าความขัดแย้งไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับคนสองคนที่มีความแตกต่างเลย  ในความเป็นจริงแล้วความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่ในตัวคนๆเดียวด้วยซ้ำไป

            ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ง่ายมาก แต่การคลี่คลายความขัดแย้งกลับไม่ง่ายเลยเป็นความท้าทายที่น่าสนใจว่าเราจะเปลี่ยนผ่าน หรือก้าวผ่านความขัดแย้งไปได้อย่างไร?

            ความขัดแย้งที่อาเจะห์มีระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปราว 33,000 คน บ้านเรือนถูกทำลายไปกว่า 5,000 หลัง ผู้คนเดือดร้อนนับไม่ถ้วน ถือเป็นกรณีความขัดแย้งที่รุนแรงไม่น้อย  แต่วันนี้ไม่มีการเข่นฆ่ากัน ไม่มีการทำลายล้างกันอย่างไร้เหตุผลเช่นในอดีตอีกแล้ว อาเจะห์กำลังเดินหน้าพัฒนาตัวเองแม้ว่าจะมีปัญหาภายในบ้างก็นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าช่วงสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน

แล้วความขัดแย้งยุติได้อย่างไร?

            ฉันนึกถึงอัลกรุอ่านอายะห์หนึ่งความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่เปลี่ยนแปลงหมู่ชนใดจนกว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง(ก่อน)... " (ซูเราะห์อัรเราะอฺดู : อายะห์ที่ 11) ฉันมองว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความพยายามของตัวเอง

 และการยุติความขัดแย้งสู่ข้อตกลงตั้งเขตปกครองพิเศษในอาเจะห์เช่นกัน ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย              หากคนอาเจะห์ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของพวกเขาเอง(ก่อน)

            คนอาเจะห์ที่ฉันได้มีโอกาสพบปะในครั้งนี้เป็นคนส่วนหนึ่งที่เคยมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพทั้งที่เคยเป็นนักรบGAM ,คนทำงานภาคประชาสังคมไร้อาวุธและเครือข่ายนอกพื้นที่รวมถึงเครือข่ายต่างประเทศที่คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ห่างๆ คนเหล่านี้ฉายแสงความเป็นนักสู้ที่น่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็มีความเป็นนักสู้ไม่แพ้กัน ทุกคนไม่ได้บอกว่าตัวเองมีความพยายามมากเท่าไหร่ หรือบอกว่าตัวเองเป็นนักสู้ที่น่าเกรงขามแค่ไหน พวกเขาไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศในสิ่งที่ตัวเองเป็นเปรียบเหมือนสิงโตที่ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นสิงโต ฉันใดก็ฉันนั้น

อาเจะห์เป็นเขตปกครองพิเศษได้อย่างไร?

            เมธัส อนุวัตรอุดม จากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ ในหนังสือ "กระบวนการสันติภาพอาเจะห์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย "สรุปได้ว่า

            1. ประธานาธิบดียูโดโยโน่และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดที่อาเจะห์ให้ได้ แม้ว่ากองทัพจะไม่เห็นด้วยในตอนแรกแต่ท้ายที่สุดก็สามารถโน้มน้าวได้สำเร็จ

            2. การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานซึ่งเกิดความสูญเสียกับทั้งสองฝ่ายและไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะเป็น         ฝ่ายชนะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้สองฝ่ายตกลงเจรจาหาข้อยุติอย่างถาวร

            3. อาเจะห์มี Connectors (ข้อต่อ) ในกระบวนการสื่อสารภายในสังคมที่เข็มแข็งและเชื่อมต่อถึงกันในทุกภาคส่วน ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาล รัฐสภา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มสตรี และผู้นำเยาวชน ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งในและนอกพื้นที่ที่ช่วยกันสร้างและรักษาความไว้วางใจต่อกัน ช่วยกันอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยกันร่างภาพอนาคตที่เป็นทางออกร่วมกันและช่วยกันสร้างภาพอนาคตนั้นให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา

            4. ภัยพิบัติครั้งใหญ่จากสึนามิ เป็นมหาวิกฤติที่กลับกลายเป็นโอกาสสร้างพื้นที่ร่วมและเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้สองฝ่ายทำงานร่วมกันได้และเดินหน้าสู่สันติภาพในที่สุด

            การศึกษาเรื่องราวของอาเจะห์ไม่ได้มีประโยชน์แค่รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่อาเจะห์เป็นเพียงเท่านั้น แต่เรื่องราวของอาเจะห์สามารถนำมาปรับใช้เพื่อหาทางออกให้ปาตานีได้พบเจอกับสันติภาพจริงๆได้ด้วย    ฉันเชื่อว่าสันติภาพที่ปาตานีเป็นความใฝ่ฝันของทั้งคนไทยและคนปาตานี แต่จะเกิดได้จริงเมื่อไหร่นั้น    วัลลอฮูอะอฺลัม !!! (อัลลอฮฺเท่านั้นที่รู้)

......................................................................................................................................................................

ผลงานของ " Civil Society Organization (CSO) อาเจะห์" ที่เห็นเป็นรูปธรรมและท้าท้ายต่อ CSO ปาตานี มีดังนี้

            1.  CSO หญิงอาเจะห์

            -  กลุ่มผู้หญิง          เป็นกลุ่มผู้หญิงที่เรียกร้องเพื่อการมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายอาเจะห์ แม้จะผ่านการทำประชาพิจารณ์แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มผู้หญิง จึงรวมตัวกันเสนอข้อเรียกร้อง 11 ข้อ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากคณะทำงานร่างกฎหมาย จึงเคลื่อนไหวในหนทางอื่นๆจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือได้รับการพิจารณาข้อเรียกร้องที่เสนอไป 5 ข้อ  ได้แก่

            (1) สิทธิมนุษยชน  

            (2) เศรษฐกิจ

            (3) ศาสนา : ขอให้มีอูลามะห์หญิง แต่ปัจจุบันก็ยังมีน้อยมากคือมีไม่ถึง 10 %

            (4) การศึกษา

            (5) การเมือง     : ข้อเรียกร้องที่ได้รับพิจารณาคือพรรคการเมืองต้องมีผู้หญิงเป็นสมาชิก 50% แต่ใน      ความเป็นจริงมีแค่ 30 % เพราะหาผู้หญิงมาเป็นสมาชิกพรรคค่อนข้างยาก

            - คุณ Asiah Uzia      จากองค์กร LSM เป็น CSO หญิงของอาเจะห์ ที่น่าสนใจมากคนหนึ่งโดยเธอเคยเป็นนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและผันตัวเองสู่การทำงานภาคประชาสังคม ปัจจุบันเธออยู่ในแวดวงการเมืองระดับท้องถิ่น เธอบอกถึงเหตุผลของการลงสมัครเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นว่า เมื่อสมัยที่ทำงานในฐานะ CSO คนหนึ่ง เธอพยายามทำงานเต็มที่แต่สุดท้ายหากนักการเมืองไม่เห็นด้วย เธอก็ไม่สามารถทำอย่างที่ตั้งใจได้ เมื่อเห็นว่านักการเมืองเป็นอุปสรรค เธอจึงคิดที่จะเป็นนักการเมืองเอง

            2.  โรงเรียน Saree

            เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประชาชน มีหลักสูตรที่ครอบคลุมทั้งด้านให้ความรู้ที่เป็นอาหารของสติปัญญาและด้านความรู้ที่สามารถใช้หาอาหารให้ร่างกายได้ หลักสูตรที่เปิดสอนมีตั้งแต่ใช้เวลาในการเรียน 2 วัน ถึง 6 เดือน  เป็นสถานศึกษาที่สอนให้คนสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่มีค่าเล่าเรียน ไม่เก็บค่าที่พัก และมีบริการสถานที่สำหรับปลูกผัก หาปลามาประกอบอาหารเอง   

            3. สหกรณ์ Beng Mawah

            เป็นสหกรณ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาชนชั้นล่างไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และมีปัญหาการกว้านซื้อที่ดินในชนบททำให้คนจากชนบทย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำเป็นจำนวนมากแต่หลายคนประสบกับการไม่มีงานทำและเกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา จึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้และคำตอบคือ สหกรณ์ Beng Mawah โดยเริ่มจากกลุ่ม CSO อาเจะห์ ร่วมกับประชาชนกลุ่มเล็กๆ ลงหุ้นกัน ทำธุรกิจและได้รับความช่วยเหลือจากชนชั้นกลางส่วนหนึ่งจนปัจจุบันมีสมาชิก 161 คน

            4. สำนักข่าวท้องถิ่นมาตรฐานระดับประเทศ

            สำนักข่าวอาเจะห์ ซึ่งมีหนังสือพิมพ์หลายหัว คือ Serambi , Prohaba ,ZIKRA ,AMG Penerbit     เป็นสื่อที่มีช่องทางเผยแพร่ 3 ช่องทาง ได้แก่    

            1.หนังสือพิมพ์ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์

            2.หนังสือพิมพ์ในรูปแบบเว็บไซต์                 

            3.สถานีวิทยุ FM 90.2 MHz 

            สำนักข่าวแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยที่เกิดสงครามระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM               ในภาวะสงคราม พวกเขาต้องทำงานกันในรูปแบบใต้ดินและต้องระวังการเสนอข่าวเป็นอย่างมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความโกรธแค้นของทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันสำนักข่าวแห่งนี้มีบุคลากร 270 คน

            5. องค์กร PIKAR PANDAN

            เป็นองค์กรอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอาเจะห์เพราะเชื่อว่า "ศิลปะและวัฒนธรรมไม่ได้เป็นแค่สิ่งสวยงามที่น่าหลงใหลแต่เป็นทุกอย่างในระบบคิดของคน" จึงทำงานเผยแพร่ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอาเจะห์ผ่านงานเขียน ภาพวาด หนังสั้น การแสดง การรณรงค์ ในรูปแบบที่เน้นความบันเทิงและเข้าใจง่ายเพื่อให้คนอาเจะห์รุ่นใหม่ไม่ลืมรากเหง้าของตัวเองและภูมิใจกับอัตลักษณ์ของตัวเอง

            ความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานีตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำให้ CSO ปาตานี เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายหลายองค์กร จากกรณีศึกษาอาเจะห์ชวนให้ตั้งคำถามว่า CSO ปาตานีมีความโดนเด่นด้านใดบ้าง? จะสามารถสร้างผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมได้บ้าง? จะสามารถทำได้ดีแค่ไหน? และต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด?