Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)      
 
ในหัวข้อกล่าวนำที่ชื่อว่า “ทำความเข้าใจการเมืองการปกครองบนความแตกต่างทางอัตลักษณ์” ในระหว่างการสัมมนาวิชาการ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พยายามไล่เรียงประเด็นเพื่อชี้ให้เห็นว่าการถกเถียงและออกแบบระบบการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นต่อการจัดการความขัดแย้งเช่นไร พร้อมทั้งแจกแจง “เงื่อนไข” สำคัญที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันในอนาคตมีเสถียรภาพ ทว่าโจทย์คำถามที่เธอทิ้งไว้ก็แหลมคมและชวนขบคิด โดยเฉพาะการถ่วงดุลอำนาจของ “ประชาชน” และ “ความใจกว้าง” เธอยังเรียกร้อง Road Map ที่นำไปสู่ “ภาพอนาคต” ที่จำต้องกำหนดร่วมกันจากหลายฝ่ายอีกด้วย
 
00000
 
๐ ความกล้าและการเมือง
 
ฉันทนา เริ่มต้นตั้งข้อสังเกตว่า หากเราพูดถึงข้อเสนอทางการเมืองทำนองนี้เร็วกว่านี้สักหน่อยอาจยังผลให้สามารถรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้จำนวนมาก แต่กระนั้นก็ไม่ถึงกับว่าเป็นห้วงเวลาที่สายเกินไปสำหรับการถกเถียงในประเด็นนี้  การสัมมนาในครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญยิ่งยวด เพราะเป็นการพูดถึงสิ่งที่เคยเชื่อกันว่าไม่ควรพูดถึง เพราะต่างเกรงกันว่าจะกระทบต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” แต่ความหมายใหม่ของคำนี้ได้เปิดช่องให้เราสามารถพูดถึงได้ อันเนื่องมาจากการที่รัฐเองก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากซึ่ง “ความมั่นคงของประชาชน”
 
“การที่เรากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ไม่เคยพูดมาก่อนถือว่าเป็นจุดหักเหสำคัญ”
 
เธอกล่าวต่อว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคลี่คลาย “มายาคติ” ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ทั้งสิ่งที่เราถูกทำให้เชื่อว่า “เสถียรภาพของรัฐ” นั้น มาจากการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง เราเคยถูกทำให้เชื่อว่าอธิปไตยของประเทศเกี่ยวข้องกับดินแดน และสุดท้ายเราถูกทำให้เข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการบูรณาการของประเทศ และเชื่อว่าการถกเถียงกันในประเด็นเขตปกครองพิเศษจะทำให้เราหลุดออกจาก “มายาคติ” ดังกล่าวและเปิดกว้างสู่ความเป็นไปได้ของทางเลือกใหม่ๆ
 
“เพราะว่ารัฐจะต้องปฏิรูป รัฐจะอยู่อย่างมั่นคงถาวรคงเป็นไปไม่ได้ หลายกรณีในโลกนี้ รัฐปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อสามารถทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาวและอย่างยั่งยืน”
 
เธอเห็นว่า ข้อเสนอที่จะถูกกล่าวถึงในวันนี้คงไม่ได้เป็นของใครหรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ อีกทั้งการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ก็จำต้องเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทว่าอย่างไรก็ตาม เวทีในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่า “สันติวิธี” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นคงไม่จริงอีกแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่า “สันติวิธี” จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อพื้นที่ของประชาชนได้รับการยอมรับและรับรอง และมีหลักประกันว่าการพูดเรื่องการเมืองจะไม่เป็นภัยต่อตัวเขาเอง และจะไม่ถูกหวาดระแวงว่าไม่รักชาติอีกต่อไป
 
ฉันทนาตั้งประเด็นต่อไปด้วยโจทย์ที่ว่า เหตุใดเราถึงต้องพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครองในการที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธออธิบายว่าความรุนแรงทีเกิดขึ้นเป็นเพียง “อาการ” ของปัญหา หากเรามุ่งขจัดการก่อความไม่สงบโดยการใช้กำลังนั้นก็มีข้อพิสูจน์แล้วว่า 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้นแนวทางดังกล่าวคงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เราจึงจำต้องหาสมุฏฐานของโรคที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องระบุว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเกี่ยวข้องปัญหา “ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์”
 
แน่นอนว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ไม่เหมือนที่อื่น ที่สำคัญมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการเกิดขึ้นเป็นรัฐไทยที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ปาตานีอยู่ด้วย ยิ่งกว่านั้น ความแตกต่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความไปด้วยกันไม่ได้” ของระบบรัฐที่ดำรงอยู่ เราเริ่มมองเห็นว่าความแตกต่างนั้น แม้นว่าโดยตัวมันเองหาใช่ปัญหา แต่เริ่มเป็นอุปสรรคของคนในพื้นที่ที่จะเข้าถึงบริการและความยุติธรรม
 
“เราบอกว่าประเทศไทยไม่เคยปิดกั้น แต่เราลืมไปว่าโครงสร้างของรัฐนั้นก็เป็นวัฒนธรรมโดยตัวมันเอง โครงสร้างรัฐของไทยก็คือ ไทยพุทธ ภาษาไทยและศาสนาพุทธ ที่เป็นโครงสร้างหลักที่ครอบอยู่บนพื้นที่ของวัฒนธรรมมลายูมุสลิม ทำให้เกิดความไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลต่อการไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้”
 
อย่างไรก็ตาม ฉันทนาระบุว่า แทนที่จะใช้ความแตกต่างดังกล่าวลุกขึ้นมาประหัตประหารกัน เราควรกลับต้องใช้ความแตกต่างให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ซึ่งมีการใช้มาแล้วในที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการยอมรับให้เห็นถึงความแตกต่างและหาวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง ที่ผ่านมาสังคมไทยมีความพยายามน้อยเกินไปที่จะหาวิธีการที่จะอยู่ร่วมกัน ทว่ากลับใช้การปิดกั้น “ความแตกต่าง” และเน้นเฉพาะ “ความเหมือน” ซึ่งในระยะยาวทำให้ระบบไร้เสถียรภาพ
 
“การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการกำหนดกติกาที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ทุกคนเริ่มตระหนักที่จะมองเห็นปัญหา และพยายามเข้ามาช่วยกันแก้ไข นั่นคือการเมืองเข้าไปแล้ว ถ้าเกิดเราไม่สามารถกำหนดกติการ่วมกันได้ ทุกคนไม่ได้มีส่วนร่วมที่จะกำหนดว่าเราจะอยู่ร่วมกันในอนาคตต่อไป ทางออกที่จะเป็นทางออกที่ยั่งยืนคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ...แม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่เป็นเรื่องจำเป็น”
 
อาจารย์รัฐศาสตร์จากจุฬาฯ ผู้นี้ อธิบายถึงหลักคิดสำคัญเพื่อจะตอบโจทย์ว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรบนความแตกต่างหลากหลาย โดยทบทวนไปยังหลักคิดของสังคมไทยที่เดิมทีมีวิธีการหลากหลาย ทว่าส่วนใหญ่มักเน้นการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ซึ่งบทเรียนจากหลายพื้นที่ทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่าคงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปเพราะเป็น “การบังคับ” ให้คนต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัฒนธรรมหลัก และต้องละทิ้งอัตลักษณ์ของตนเองไป
 
“แต่สังคมไทยต้องก้าวไปให้ไกลกว่านั้น เราอาจประสบความสำเร็จกับการอยู่ร่วมกันกับคนจีนที่สามารถผสมกลมกลืนกันได้ แต่ก็คงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในปัญหาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์”
 
๐ หลักการของความแตกต่าง
 
ฉันทนาได้สำรวจหลักคิดจากต่างประเทศเพื่อปรับใช้กับสังคมไทย โดยยกหลักการคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยในวัฒนธรรมใหญ่ เมื่อเราพูดถึงสิทธิมนุษยชนเราไม่สามารถบอกได้ว่าการเป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยจะทำให้สิทธินั้นลดน้อยลง แม้ว่าโดยระบบแล้วจะทำให้ชนกลุ่มน้อยไม่ได้รับการคุ้มครองและถูกหลงลืมไป หลักการดังกล่าวนี้ถูกหยิบใช้โดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป
 
นอกจากนี้ยังมีหลักการสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งเป็นหลักการที่แม้แต่ในรัฐธรรมนูญของประเทศก็กล่าวถึง โดยที่ไม่ได้หมายความถึงการแบ่งแยกดินแดนเสมอไป ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งมายาคติที่มองว่าหลักการดังกล่าวเท่ากับการแบ่งแยกดินแดน
 
สิทธิของคนกลุ่มน้อยอาจมองได้ในระดับของปัจเจกคือแต่คนในฐานะที่เป็นคนที่แตกต่างกันจะได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในบางกรณีอาจจะต้องใช้วิธีการ “เลือกปฏิบัติในทางบวก” เพื่อให้คนกลุ่มน้อยมีโอกาสมากกว่าที่จะเข้าถึงบริการที่เขาเช้าไม่ถึงอันเนื่องมาจากความแตกต่างกับคนส่วนใหญ่ แต่กระนั้นเราอาจพูดถึงหลักการดังกล่าวนี้ในแง่ของกลุ่มก็ได้ ในกลุ่มที่มีความเหมือน มีความหนาแน่นในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงโจทย์เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กล่าวคือเป็นสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่จะมีตัวตนในระบบการเมือง
 
“เมื่อเราพูดถึงคนกลุ่มน้อยมากๆ เข้า มันก็กลายเป็นคนหลายกลุ่ม ระยะต่อมาจึงกลายเป็นการผสมของหลายๆ กลุ่ม เป็นพหุวัฒนธรรมอยู่ในสังคมเดียวกัน เมื่อโลกเปลี่ยนไป โลกาภิวัตน์ได้ทำให้การเคลื่อนย้ายคนไปในที่ต่างๆ มากมาย ทำให้เรามองว่าสังคมที่เป็นเนื้อแท้ของกลุ่มชาติพันธุ์เดียว คงเป็นไปไม่ได้แล้ว”
 
ดังนั้น เราจึงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือพหุวัฒนธรรม เงื่อนไขที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้จะต้องจรรโลงไว้ด้วย เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม แม้โดยตัวมันเองจะไม่ใช่ปัญหา แต่หากขาดการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ความแตกต่างนั้นอาจจะกลายเป็นปัญหาได้ การจะอยู่ร่วมกันจึงต้องการหลักการและเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งเธอเห็นว่ามีด้วยกัน 3 ประการ กล่าวคือ
 
ประการแรก ความเป็นตัวแทนทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เพราะพวกเขาต้องเป็นเจ้าของระบบด้วย ยิ่งเมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เน้นเสียงส่วนใหญ่นั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วเวลาตัดสินใจบางเรื่อง เสียงส่วนน้อยอาจไม่ปรากฏอยู่ก็ได้ สังคมก็จะถูกนำพาไปโดยคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีองค์ประกอบของคนที่แตกต่างกันอยู่ในนั้น อย่างไรก็ตาม เธอประเมินว่าสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีตัวแทนมุสลิมในระบบการเมือง มีองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีคนมุสลิมเป็นผู้บริหารเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าเวลาเราพูดถึงความเป็นตัวแทนในระบบนั้น หมายถึงในแง่ของโครงสร้างและในแง่ที่มีนัยสำคัญ กล่าวคือตัวแทนดังกล่าวต้องตอบสนองด้วย ดังนั้นคงไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนที่เข้าไปสู่ระบบ แต่ต้องเป็นเรื่องของกระบวนการและพฤติกรรมทางการเมืองที่ตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่
 
ประการที่สอง คือ การยอมรับเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีนัยยะต่อจิตใจและความรู้สึก ฉันทนา ยกตัวอย่างถึงเรื่องภาษา วัฒนธรรม ชื่อนาม สัญลักษณ์ต่างๆ ของเมือง หรือธง ซึ่งจะบ่งบอกถึงความมีตัวตนของกลุ่มต่างๆ ในระบบการเมือง แม้ว่าการยอมรับทางสัญลักษณ์จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินโดยตรง แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน
 
ส่วนประการที่สาม คือ การเข้าถึงทรัพยากรและการพัฒนา กล่าวคือกลุ่มต่างๆ ในสังคมควรต้องมีโอกาสในการพัฒนาตนเองและเข้าถึงทรัพยากรได้ ตั้งแต่งบประมาณกระทั่งถึงทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องมีความสามารถในการควบคุมและกำกับทรัพยากรในเขตพื้นที่ของตนได้
 
หลักการในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอีกประการที่ฉันทนาเห็นว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง คือ หลักการประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล โดยที่เรามักจะมองว่ารูปแบบของประชาธิปไตยมีความเหมาะสมในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย แต่กระนั้นหากเรามองประชาธิปไตยเฉพาะรูปแบบหรือเพียงการเลือกตั้งเท่านั้นก็คงจะไม่สามารถเป็นคำตอบต่ออะไรได้ สิ่งสำคัญของประชาธิปไตยในแง่นี้ก็คือการมีส่วนร่วม ยิ่งเฉพาะในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้น เสียงส่วนใหญ่อาจไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง เราอาจต้องกล่าวถึงฉันทามติหรือความเห็นพ้องต้องกันในประเด็นสำคัญๆ ซึ่งความเห็นพ้องดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายเงื่อนไข นั่นคือ การใช้เสียงส่วนใหญ่จริงๆ ในทำนองฉันทามติที่ไม่ได้ชี้วัดกันเพียงไม่กี่เสียง เสียงส่วนใหญ่ที่ว่านี้จะต้องได้รับฉันทามติจากกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายที่จะออกแบบระบบประชาธิปไตยอย่างไร นอกจากนี้ยังอาจเป็นฉันทามติที่อาศัยธรรมเนียมปฏิบัติของหลักศาสนาหรือหลักธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นก็ได้ ประกอบกับรูปแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่
 
“หากปราศจากซึ่งประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนก็ไม่สามารถกำกับและควบคุมการเมืองที่เขาคิดขึ้นมาใหม่ได้ สุดท้ายก็ตกไปอยู่ในรูปแบบที่ตกอยู่ใต้อำนาจของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปไปสู่สิ่งใหม่ก็จะไม่มีความหมาย นอกจากเปลี่ยนอำนาจจากคนกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง”
 
เธอยังย้ำด้วยว่าความเป็นประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อมั่น กล่าวคือหากเราไม่มีความเชื่อมั่นในระบบ เราก็จะไม่ใส่ใจ และจะพยายามแสวงหาวิธีอื่นที่จะเป็นเครื่องมือตัดสินปัญหา ความเชื่อมั่นในระบบต้องการธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมืองแบบใดก็ตามก็จำเป็นต้องมีธรรมาภิบาล เพราะจะมีความโปร่งใส และมีสิ่งที่ประชาชนจะมองเห็นได้ว่าพวกเขาจะคาดหวังอะไรได้บ้างจากระบบการเมือง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาชน
 
๐ เงื่อนไขของเสถียรภาพ
 
ฉันทนากล่าวต่อว่า หลักการและรูปแบบที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้อาจไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการของการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะเป็นรูปแบบใดนั้นเธอเห็นว่าคงไม่สามารถคัดลอกมาได้ แต่น่าจะเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำกัน เพราะหากสำรวจรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นไปได้ตั้งแต่การปกครองตนเองทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งพบได้ในประเทศจีน หรือการปกครองตนเองในด้านการเมืองและการบริหารซึ่งเราอาจพูดถึงกรณีอาเจะห์ หรือบางประเทศในยุโรป หรือการกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์ซึ่งหมายถึงว่าท้องถิ่นนั้นมีอำนาจที่มีนัยสำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของคนในพื้นที่ได้
 
เธอกล่าวอีกว่า เวลาเราพูดถึงการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพิ่มขึ้น จะเป็นการปกครองตนเองหรือการกำหนดชีวิตตนเองนั้น ก็จำต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ กำกับด้วย หาใช่เพียงการเรียกร้องอำนาจให้ได้มาโดยไม่สนใจว่าเราจะอยู่ต่อไปอย่างไรและจะอยู่ร่วมกับสังคมส่วนใหญ่ที่เหลือของสังคมไทยอย่างไร? ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่สำคัญอันจะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อความมีเสถียรภาพของระบบการเมืองการปกครองที่เรากำลังจะพูดถึง ดังนั้น ในความเห็นของเธอเงื่อนไขที่ว่านี้จะได้แก่
 
ประการแรก ระบบจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้ การตอบสนองที่ว่านี้หาได้เป็นเพียงในเชิงอัตลักษณ์ที่เชิดชูความเป็นมลายูมุสลิมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นด้วย หาไม่แล้วระบบดังกล่าวนี้ก็จะไม่มีความชอบธรรม สิ่งสำคัญที่เธอค้นพบจากการกรณีศึกษารูปแบบการเมืองการปกครองในยุโรป คือ ความแตกต่างและเสถียรภาพของระบบคือความสามารถที่จะบูรณาการเข้ากับส่วนใหญ่ได้มากน้อยเพียงใด
 
“แต่เราเองก็ต้องเข้าใจว่าบูรณาการแบบไหน เราไม่ได้หมายถึงการยึดเหนี่ยวกันของคนในสังคมบนพื้นฐานของเพื่อนร่วมชาติหรือชาติ ศาสน์ กษัตริย์เพียงเท่านั้น เพราะคงไม่พอ”
 
ประการที่สอง ประสบการณ์จากที่อื่นทำให้ฉันทนามองเห็นว่า การยึดเหนี่ยวทางสังคมกลับอยู่ที่การได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หากผู้คนได้รับการดูแลอย่างเสมอภาค พวกเขาก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและรู้สึกถึงความเป็นมิตรกับคนกลุ่มอื่น เนื่องจากตนเองไม่ได้รับความเดือดร้อนจนเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่น ดังนั้นระบบสวัสดิการและการดูแลจากรัฐกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าอุดมการณ์ ความที่เป็นเรื่องจริงและเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตของพลเมืองนั่นเอง
 
ประการที่สาม การบูรณาการทางสังคมที่สำคัญอีกประการได้แก่การที่คนจะยึดเหนี่ยวกันได้ก็ต่อเมื่อมีความภาคภูมิใจต่อวัฒนธรรมของพวกเขาเอง ซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของระบบ เมื่อความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็ก่อเกิดความจงรักภักดีต่อสังคมใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นการบูรณาการที่ควรจะเกิดขึ้นได้ แทนที่จะเป็นการยัดเยียดอุดมการณ์ชาติอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน
 
ประการสุดท้ายที่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ระบบใหม่มีเสถียรภาพ คือ ระบบนั้นออกแบบให้มีกลไกแก้ไขความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ในบางประเทศผู้ว่าราชการจังหวัดถูกแปลงให้ทำหน้าที่ดูแลปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง โดยที่ไม่มีหน้าที่บริหารจังหวัด เพราะหน้าที่บริหารเป็นของผู้ที่ถูกเลือกตั้งขึ้นมา หรือแม้แต่กลไกที่เราตั้งขึ้นอย่าง ศอ.บต. ก็เคยเป็นกลไกในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น หากเราสามารถออกแบบให้กลไกเหล่านี้ทำงานในระยะยาวได้ ก็จะยิ่งทำให้ระบบมีเสถียรภาพมากขึ้น
 
๐ คำถามของอนาคต
 
ฉันทนาตั้งคำถามที่จะสะท้อนความเข้าใจต่อสภาพการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ก่อนที่จะนำไปสู่การขบคิดถึงระบบการเมืองแบบใหม่ จึงจำเป็นต้องถามว่าระบบที่มีอยู่ในขณะนี้เพียงพอหรือไม่? มีปัญหาอะไรที่ทำให้คนในท้องถิ่นไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โจทย์ที่สำคัญในความเห็นของเธอได้แก่ ประชาชนจะควบคุมระบบใหม่ได้อย่างไร?” ในเมื่อมองเห็นพื้นฐานที่ว่ามีระยะห่างระหว่างชนชั้นนำในพื้นที่กับประชาชนอยู่มาก ”ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร?” เพราะหากเริ่มต้นที่การปฏิรูปภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ระบบในอนาคตจะต้องดีกว่าเดิม นั่นคือ ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดและขึ้นมาจากข้างล่าง
 
ในแง่จังหวะก้าวในการเคลื่อนไหวผลักดัน ฉันทนา เห็นว่า ข้อเสนอใดๆ ก็ตามที่ถูกนำเสนอจากกลุ่มต่างๆ โดยไม่มีการถกเถียง ก็คงจะไปไม่ได้ไกล หากแต่จำต้องมาจากการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย และต้องมาจากการใช้ปัญญา ในการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายนี่เองที่จะต้องทดสอบ “ความใจกว้าง” ของผู้ผลักดันเอง
 
“เราถามถึงความใจกว้างต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศว่ายอมรับแนวคิดเรื่องนครรัฐปัตตานีได้หรือเปล่า? เราก็ต้องถามความใจกว้างของคนในพื้นที่เหมือนกันว่า ถ้าเขาสงสัยว่าระบบใหม่จะทำงานได้อย่างไร? เราจะตอบเขาได้หรือเปล่า? เพราะฉะนั้นจึงเป็นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ระหว่างคนส่วนใหญ่กับคนในพื้นที่”
 
นอกจากนี้ ในแง่กระบวนการทางการเมืองเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความรุนแรงในพื้นที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าเราจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าอะไรคือมูลเหตุเบื้องหลังความรุนแรงนั้น การขบคิดเพื่อแสวงหาทางออกนั้นจะต้องดึงเอากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐเข้ามาด้วย
 
“ต้องพยายามเข้าใจให้ได้ว่าข้อเรียกร้องและความต้องการของเขานั่นคืออะไร? อะไรคือความข่มขื่นและความเจ็บปวดที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขายอมรับรัฐไม่ได้”
 
เธอย้ำว่า การแสวงหาทางออกนั้นควรจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ หมายความว่าคงไม่ใช่เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวที่ควรจะต้องพูดถึง แต่จะต้องพูดถึงอีกหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปรัฐทั้งหมดในส่วนที่เป็นระบบราชการ การเมืองและประชาธิปไตย และต้องมองให้ทะลุไปถึงอนาคตด้วย เราอาจต้องมองไปไกลว่าเราควรจะต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง ที่เราจะเดินก้าวไปด้วยกัน หากเราไม่มี “ภาพในอนาคต” แล้ว เราจึงควรจะต้องมองให้เห็นทั้งกระบวนว่าเราจะเปลี่ยนผ่านอะไร อะไรจะเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นก่อนหลัง ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาในการทำงานทางวิชาการพอสมควรเพื่อออกแบบ Road Map ของปัตตานี
 
“เป็นความจำเป็นที่คนกลุ่มต่างๆ จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะก้าวเดินไปอย่างไรในระยะ 5 ปี หรือ 10 ปี หรือ 15 ปี”
 
อีกประเด็น คือ กระบวนการในการเสนอกฎหมาย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก และควรจะใช้เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ เพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมในระบบการเมือง หากเราต้องการเสนอทางเลือกใหม่ แต่ไปทำลายความชอบธรรมของระบบการเมืองบนพื้นฐานของประชาธิปไตย ข้อเสนอก็จะไม่มีน้ำหนัก
 
“สุดท้าย เราจำเป็นที่จะต้องบริหารความคาดหวังด้วย เพราะจะมีความผิดหวังเกิดขึ้นแน่นอน แต่ความผิดหวังไม่ใช่เป็นความเลวร้าย แต่มาจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนจำนวนมากจนทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเราต้องทบทวน หรือสิ่งที่คนอื่นคิดนั้นก็จำต้องทบทวนด้วยเหมือนกัน เราจึงจำเป็นต้องเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ระบบที่เรากำลังพูดถึงนั้นหากเราไม่เปิดกว้าง เราก็จะไม่ได้ทางออกที่สุขุมรอบคอบ และเราจะไม่ได้ความตระหนักร่วมกันของคนทั้งสังคม”