นรินทร์ อินทร์ฉาย
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ๑๒ สิงหามหาราชินี เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งพวกเราปวงชนชาวไทยตระหนักถึงพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงงานเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ขอนำเรื่องที่ประชาชนได้แสดงออกถึงความรู้สึกต่อพระองค์ท่านดังนี้ครับ
ไม่มีผืนดินใดห่างไกล ไม่มีเส้นทางใดทุรกันดาร เกินกว่าที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินไปไม่ถึง เพราะพื้นที่แห่งนั้นมีประชาชนของพระองค์รอคอย หวังจะได้พบประไหมสุหรีแม่ของแผ่นดิน ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จหมู่บ้านดาฮง จังหวัดนราธิวาส “ในหลวงท่านทรงเป็นห่วง เพราะได้ยินข่าวมาว่าหมู่บ้านดาฮงเป็นพื้นที่ทุรกันดาร โต๊ะรายอท่านทรงเป็นห่วง โต๊ะรายอบีแม มีอะไรที่จะขอความช่วยเหลือก็บอกได้ เดี๋ยวจะบอกโต๊ะรายอท่านให้”
นายสันรูดิง เจ๊ะนะ อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านดาฮง จว.นราธิวาส เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 พระนางเจ้าฯ ได้ทรงเยี่ยมหมู่บ้านพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินีเป็นปีแรก ในปีนั้นทรงได้เห็นความเป็นอยู่ พระองค์ทรงโปรดให้ก่อตั้งโครงการศิลปาชีพขึ้นมา ในชุดแรกมีสมาชิก 72-73 คน ชาวบ้านดาฮงมีความรู้สึกที่ซาบซึ้งต่อโครงการฯ ที่พระองค์ให้ไว้ บ้านดาฮงก็กันดาร เราก็ได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ได้ถนน ได้ตัวฝาย ได้งานเสริมมา จากอดีตที่เรายากจน ตอนนี้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นมา ตามความรู้สึกของผมเอง และชาวบ้าน ยังไม่ลืมบุญคุณที่ให้ไว้ต่อพวกเรา พระองค์เจ้าตรัสว่า “ในหลวงเป็นห่วง เพราะได้ยินข่าวว่า บ้านดาฮงเป็นพื้นที่กันดาร พระนางเจ้าพูดมลายูด้วย ตอนผมเข้าเฝ้า บอกว่า โต๊ะรายอเป็นห่วง โต๊ะรายอบีแม” พระองค์ก็บอกว่า “มีอะไรจะขอ มีอะไรที่จะขอความช่วยเหลือก็บอกได้ เดี๋ยวจะบอกโต๊ะรายอให้”
นางเจ๊ะนารีป๊ะ มะหิและ เล่าว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เข้าเฝ้า เพราะคนที่เข้าเฝ้าได้จะต้องมีฝีมือ ปักสวย เพราะได้คัดเลือกก็ดีใจมาก พอได้เข้าพบพระองค์ท่าน พระองค์ก็ทรงพุดคุยกับพวกเรา เสียงก็ไพเราะ หน้าก็ยิ้มตลอด พระองค์ได้ทรงตรัสว่า “พวกเธอปักผ้าให้สวยๆ พยายามหัดฝีมือให้ดี แล้วก็พยายามปักให้สวย ขอให้พวกเธอทุกคนตั้งใจ รักกัน อย่าทิ้งกัน ที่มาอยากให้พวกเธอมีอาชีพเสริม มีรายได้ จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ต่อไปก็จะได้สอนลูกหลานให้เป็น จะได้ทำตลอดไป
นางซากีเราะ อาแซ เล่าว่า เมื่อก่อนลำบาก ลำบากจริงๆ เพราะพระองค์ท่านช่วยเหลือทุกอย่างในบ้าน ให้ของขาย ให้อุปกรณ์ซ่อมรถจักรยานยนต์ ให้ห้องน้ำ ดีใจที่พระองค์ท่านช่วยเหลือ ก๊ะไม่ได้ทำงานเพราะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ถูกตัดขา ต้องดูแลลูก ก็ขอให้พระองค์ท่าน ให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี
นางนูรฮารียานี นิกาจิ เล่าว่า รู้สึกว่าพระองค์ไม่ทอดทิ้งพวกเรา ถึงแม้พวกเราจะอยู่ในถิ่นที่ทุรกันดาร พระองค์ท่านไม่ทิ้ง เมื่อก่อนลำบาก หลังจากกรีดยาง อยู่เฉย ไม่มีงานทำ พอพระองค์ท่านให้งานพวกเราทำ อยู่ว่างๆก็ทำ 2-3 ชั่วโมง ไม่ใช่ทำตลอด เป็นอาชีพเสริมของพวกเรา รู้สึกรักพระองค์ท่าน ซาบซึ้งใจ
นางนูรีหัม สมจารี เล่าว่า พระองค์ท่านให้การศึกษาให้ลูก ถ้าพระองค์ท่านไม่ให้จุดนี้ ลูกก็คงเรียนไม่จบ ก็ดีใจมากจนพูดไม่ออก ดีใจที่ท่านช่วยเหลือมาทุกวันนี้ ท่านให้ทุนการศึกษาลูก จบปริญญาตรี สอนให้ลูกคิดถึงท่านตลอด ที่ช่วยเรามา ให้นึกถึงท่านที่ช่วยเรา
นางเจ๊ะนารีป๊ะ มะหิและ เล่าว่า ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่ได้เสด็จมาเยือนพวกเราแล้ว แต่พวกเรายังรัก และเป็นห่วงพระองค์ท่าน ทุกครั้งที่พวกเรานั่งปักผ้าก็คิดเสมือนว่าพระองค์อยู่ใกล้ๆ และอยู่ในใจของพวกเราตลอด พวกเราจะทำงานเพื่อพระองค์ท่านตลอดไป
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยสร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๕๑๖ ทั้งนี้เพื่อจะได้เสร็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานเยี่ยมเยียนและพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ที่ห่างไกลอย่างทั่วถึงสม่ำเสมอกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔ ถึง พ.ศ.๒๕๒๙ ได้ปรากฏโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ ให้กับราษฎรเป็นจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งได้เสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร และศึกษาติดตามด้วยพระองค์เองเป็นประจำอย่างใกล้ชิด พระองค์ได้ทรงงานด้านต่างๆ บนหลักการสำคัญที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนามาโดยตลอด ดังคำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาที่ว่า
“.....คำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พระองค์จะทรงใช้กับคนทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาค และสิ่งที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำมากคือ ต้องอยู่บนฐานของความเข้าใจ “ภูมิสังคม” ซึ่งประกอบด้วย ๒ คำ คือ “ภูมิประเทศ” ซึ่งต้องดูว่าลักษณะอย่างไร พื้นที่บนภูเขาต้องพัฒนาแบบหนึ่ง พื้นที่ในหุบเขา ก็ต้องพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ภาคอีสานเป็นพื้นที่ราบสูงก็ต้องพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่ลุ่มและมีน้ำท่วมตลอดก็ต้องไปอีกแบบหนึ่ง ในภาคใต้มีปัญหาเรื่องของสภาพดินก็ต้องพัฒนาอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น
ดังนั้น สรุปได้ว่า “ภูมิประเทศ” คือ “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ซึ่งไม่เหมือนกันเลยในแต่ละภาค และอีกสิ่งที่พระองค์ท่านทรงเน้น คือ เรื่องของ “สังคม” ซึ่งก็คือ “มนุษย์” พระองค์ท่านห่วงใยมาก ประชาชนทางภาคเหนือก็ต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับรูปแบบหนึ่ง การพัฒนาที่ใช้ได้กับภาคใต้เมื่อไปภาคเหนืออาจจะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ค่านิยมของเขาก็ได้ประชาชนทางอีสานก็เป็นอีกแบบหนึ่งจะให้เหมือนกับภาคกลางได้อย่างไร ดังนั้น วิถีชีวิตของคนแต่ละท้องถิ่น แต่ละเผ่าพันธุ์ ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ทำให้คนเหล่านั้นแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งต้องใส่ใจในสิ่งเหล่านี้ นี่ก็คือ คำว่า “ภูมิสังคม”
.......และสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำอยู่เสมอ คือจะทรงถามประชาชนก่อนว่าต้องการหรือไม่ ซึ่งถือเป็นต้นตำรับของกระบวนการประชาพิจารณ์หรือการเปิดรับฟังจากประชาชน (public hearing) ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าให้ประชาชนเข้าไปในห้องประชุม แล้วเสนออะไรมาจากไหนไม่ทราบให้ไปลองปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น แต่ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก.....”
อย่างไรก็ดีแม้ว่าในระยะหลังนับจาก พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา พระองค์จะมิได้เสร็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศมากนัก แต่ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ตรวจประเมินผล และติดตามความก้าวหน้าในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญยังทรงทราบถึงความทุกข์ยากของราษฎรในเรื่องต่างๆ โดยทรงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พร้อมทั้งพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือและนำความกราบบังคมทูล ซึ่งในบางครั้งก็จะทรงมีพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมในบางเรื่อง เพราะมีราชประสงค์ให้พสกนิกรของพระองค์ได้รับการบำบัดทุกข์และได้รับประโยชน์สุขอย่างแท้จริง