“อนาซีด” บรรเลงเพลงสันติภาพ ศิลปะ และวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากมายที่ควรค่าการอนุรักษ์ โดยหนึ่งในนั้นรวมไปถึง “อนาซีด” บทเพลงที่ขับขานก้องกังวานไปทั่ว ปลายด้ามขวาน
เสียงปรบมือจากผู้ชมราว ๗๐๐ คน ในห้องประชุม กึกก้องอึงอนดังอยู่ยาวนาน เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อกลุ่มหนุ่มน้อยมุสลิมบนเวที ในนาม“ฟิกคลิซ”ที่ช่วยกันขับกล่อมผ่านการประสานเสียงอันไพเราะและเปี่ยมด้วยเนื้อหาตามหลักคำสอนภายใต้ศาสนาอิสลาม
ที่สำคัญปฏิกิริยาจากผู้ชมหลังสิ้นสุดการแสดงในครั้งนี้ บรรดาเด็กหนุ่มจากวง“ฟิกคลิซ”แทบเก็บอาการปลาบปลื้ม และตื้นตันใจไว้ภายในความรู้สึกไม่อยู่ ดังปรากฏรอยยิ้มเปื้อนอยู่ บนใบหน้าพร้อมหยาดน้ำใส ๆ เอ่อจนแทบจะล้นเบ้าตา
ด้วยน้ำเสียงของเด็กหนุ่มอันสดใส ก้องกังวานตลอดการแสดงนานนับชั่วโมง ราวกับเป็นมนต์สะกดให้ผู้ชมจากปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตกอยู่ในภวังค์แห่งความสุข แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่อย่างน้อยผู้คนที่นี่ก็ได้ลืมเรื่องราวร้ายๆ ซึ่งเกิดขึ้นชนิดไม่เว้นวันบนดินแดนปลายด้ามขวานได้ไปชั่วขณะ
จึงไม่น่าแปลกใจเลย หากการร้องเพลงในแบบการประสานเสียง หรือ “อนาซีด” (anasyid) ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักคำสอนขององค์ศาสดา ได้กลายเป็นกิจกรรมสนทนาการที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างไม่น้อย
เห็นได้จากยามใดพลันเสียงกังวานอันไพเราะแว่วดังขึ้น ยามนั้นภาพใบหน้าผู้ได้ฟังที่หลับตาพริ้มพร้อมสีหน้าที่เบ่งบานด้วยรอยยิ้ม ย่อมบ่งบอกอารมณ์สุขใจได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ยินเสียงนี้
ดังนั้นจึงใช่เรื่องไกลเกินเลยความจริงที่จะบอกว่า“อานาซีด”หรือการประสานเสียงที่ เต็มเปี่ยมด้วยคำสอนในบทเพลงที่เสนาะหู คืออีกสิ่งหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ดุจเครื่องกล่อมเกลาจิตใจให้สงบควบคู่ไปกับการลดดีกรีความตึงเครียดจากปัญหานานัปการในพื้นที่ให้แก่ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ในทุกครั้งเมื่อยามได้รับฟัง
“อนาซีด” บทเพลงแห่งสันติ หากตัดภาพและเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ออกไปจากความรู้สึก เชื่อแน่ว่าสิ่งที่เข้ามาแทนที่ในห้วงคำนึงที่ต้องมโนถึงดินแดนปลายด้ามขวาน พลันจะปรากฏภาพเด็กชายสวมกะปิเยาะห์ หรือเด็กหญิงที่มีผ้าคลุมผม เดินจับกลุ่มย่ำเท้าพร้อมส่งเสียงเจื้อยแจ้วไปโรงเรียนสอนศาสนาตั้งแต่แสงแรกแห่งรุ่งอรุณมาเยือน หรือภาพหญิง ชายทุกวัย ที่มุ่งหน้าสู่มัสยิดใกล้บ้านเพื่อปฏิบัติศาสนากิจอย่างเคร่งครัดในทุกเช้าค่ำ
สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความโดดเด่นทางด้านสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สำคัญยากที่จะมีภูมิภาคใดเสมอเหมือนท้องถิ่นแห่งนี้
แต่หลังจากไฟแห่งความรุนแรงได้ถูกจุดและพวยพุ่งขึ้นบนดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง เสียงแผดคำรามที่ดังลั่นหนแล้วหนเล่าจากปลายกระบอกปืน และไม่เว้นวันดัวยเสียงก้องกัมปนาทจาก แรงระเบิดชนิดนับครั้งไม่ถ้วน ได้กลบเอาความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ของดินแดนแห่งนี้หายไปจากความรู้สึกผู้คนภายนอกไปโดยปริยาย
แม้นว่า วันนี้ม่านควันไฟแห่งความรุนแรงยังลอยปกคลุมอยู่เหนือผืนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถบดบัง“อัตลักษณ์”อันงดงามบนปลายด้ามขวาน ให้หม่นหมองลงได้
ในทางตรงข้ามสำหรับเยาวชน และคนรุ่นใหม่ในพื้นที่แห่งนี้ กลับมองเห็นว่า อัตลักษณ์ หรือ ดีเอ็นเอ ของความโดดเด่นทางศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ที่มีอยู่ในร่างกายของพี่น้องมุสลิมมลายูทุกคน จะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยไขประตูสู่สันติภาพได้
ด้วยเหตุนี้ การนำเอาหลักคำสอนทางศาสนา มานำเสนอในรูปแบบ“อนาซีด”จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแผ้วถางความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อเดินหน้าสู่สันติสุข นอกเหนือจากการเฝ้ารอการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์งานดับไฟใต้จากภาครัฐ และหน่วยงานด้านความมั่นคงเท่านั้น
“ฮูซีน อับดุลรามัน” ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในจังหวัดนราธิวาส ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการก่อกำเนิดวงอนาซีด นาม“ฟิกคลิซ” ซึ่งนาทีนี้ได้กลายเป็นวงที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากวงหนึ่งในพื้นที่ขณะนี้
เขาอธิบายความให้ฟังเพื่อทำความเข้าใจอย่างง่ายว่า“อนาซีด” คือ การขับกล่อมบทเพลงด้วยวิธีประสานเสียงที่มีเนื้อหามุ่งเน้นให้ผู้ฟังทุกคนมุ่งมั่นในการกระทำความดี ปฏิเสธการทำ ความชั่ว เชิญชวนให้สังคมเดินหน้าสู่กระบวนการสร้างความสันติสุข ที่สำคัญบทเพลงยังปราศจากเนื้อหาที่ขัดต่อหลักปฏิบัติในศาสนาอิสลาม
นอกจากนี้ “อนาซีด” ยังช่วยให้ระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮ (ซ.บ.)รำลึกถึงคุณงาม ความดีของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) อีกทั้งยังทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ภายใต้หลักคำสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาแห่ง “สันติ” ให้คนทั่วไปได้รับรู้
ฮูซีน บอกอีกว่า เมื่อศาสนาอิสลาม แปลว่า “สันติ” จึงไม่แปลกหาก บทเพลงอนาซีดจะเป็นกุญแจอีกดอกในการช่วยกันเปิดประตูสู่ “สันติภาพ” ท่ามกลางความคาดหวังและอาการ ถวิลหา “สันติสุข” ของคนในพื้นที่กว่า ๕ ปี ที่ผ่านมา
เมื่อท่วงทำนองและเนื้อหามุ่งเชิญชวนผู้คนไปสู่อัลอิสลามเสมือนหนึ่งการจูงมือเดินหน้าไปสู่ “สันติ” อย่างพร้อมเพรียงกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “อนาซีด” จะถูกผู้คนในพื้นที่เรียกขานว่าเป็น “บทเพลงเพื่อสันติภาพ”
สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงที่ผ่านมา มีการรวมตัวของเด็กหนุ่มมากมายในการรังสรรค์ผลงานเป็นบทเพลงอนาซีด จนได้รับความนิยมมากมายหลายวง หรือกระทั่งกลุ่มอนาชีดจากนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ซึ่งแต่ละหมู่คณะจะมีเอกลักษณ์ และรูปแบบในการนำเสนอผลงานแตกต่างกันไป แต่จะไม่หลุดไปจากกรอบของคำสอนทางศาสนา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ
วันนี้ “อนาซีด” จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้มีแรงตอบรับเป็นวงกว้างในพื้นที่ เห็นได้จากการจัดการแข่งขันและประกวดร้องอนาซีด ในรั้วสถานศึกษาหรือโรงเรียนสอนศาสนาหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากบทเพลงที่มีเนื้อหาสาระที่เหมาะสมและสอดรับกับประเพณี ดังนั้น จึงเป็นการผลักดันให้เยาวชนมุสลิมในการแสดงออกซึ่งความสามารถสู่สังคม และดึงให้คนรุ่นใหม่อยู่ใกล้ชิดกับศาสนาได้เป็นอย่างดี
“อนาซีด” ถือเป็นวัฒนธรรมการแสดงออกอันดีงาม เพราะไม่เพียงแค่หลักคำสอนศาสนาที่ปรากฏในเนื้อหาของเพลงทั้งภาษามลายู อาหรับ ไทย หรืออังกฤษแล้ว บางครั้งยังมีบทเพลงเกี่ยวกับสันติภาพ หรือการบ่งชี้ให้เห็นถึงโทษ และมหันตภัยจากยาเสพติด รวมไปถึงการชี้ให้เห็นถึงบทลงโทษอันก่อเกิดจากการกระทำผิด
“ฮูซีน” ระบุถึงข้อดีให้ฟัง “ผมเชื่อว่าเสียงเพลงจะช่วยยุติความรุนแรงได้ เพราะดนตรีคือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพอย่างหนึ่ง และในวันที่เราถ่ายทอดภาษาดนตรีที่แทรกด้วยคำสอนทางศาสนาที่มุ่งให้เกิดความสงบสุขแก่สังคม เชื่อว่าวันนั้นอุณหภูมิที่เคยร้อนแรงคงลดระดับลงได้บ้างแน่นอน”
“อัล-อิคลัส”