Skip to main content
ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)

 

                              http://www.smh.com.au/world/philippines-muslim-rebels-sign-peace-pact-to-end-45year-conflict-20140328-zqnz9.html

บรรดาองค์กรประชาสังคมในฟิลิปปินส์ถือเป็นตัวแสดงสำคัญต่อการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในมินดาเนามายาวนาน พวกเขาทำงานเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ยุคเผด็จการของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา (1998-2001)  โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนความยุติธรรมและสันติภาพที่ยั่งยืน (just and lasting peace) ในอดีตบทบาทของประชาสังคมของฟิลิปปินส์ในความขัดแย้งในมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ยังมีไม่มากนักในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ (Government of the Philippines)และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic liberation Front - MILF)  จนกระทั่งตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัลป์ อาร์โรโย  (2001-2010) กลุ่มประชาสังคมมีบทบาทในกระบวนการการเจรจาสันติภาพอย่างเห็นได้ชัด บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมมินดาเนาในกระบวนการเจรจาสันติภาพว่ามีแนวทางและวิธีการทำงานอย่างไรในการเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาลและ MILF  บทเรียนดังกล่าวอาจสามารถนำมาปรับใช้ได้กับกรณีปัญหาชายแดนใต้ในกระบวนการสู่การพูดคุยสันติภาพช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลและ BRN  (กุมภาพันธ์ 2013) ซึ่งพบว่าที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมชายแดนใต้พยายามสร้างบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพมากขึ้น

การมีส่วนร่วมของประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพ

ประชาสังคมในฟิลิปปินส์ เริ่มทำงานด้านการแทรกแซงเพื่อสันติภาพ (Peace Intervention) มาตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี เฟอดีนาน มากอส (1917-1989) ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกไปทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติประชาชน (EDSA revolution)  เพื่อขับไล่ระบอบเผด็จการ การทำงานของประชาสังคมหลังยุคสมัยนี้ถือเป็นงานด้านสันติภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวที่ประกอบไปด้วยองค์กรหรือกลุ่มทางสังคมต่างๆจากทุกภาคส่วนของฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับกลุ่มประชาสังคมมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์  มีความพยายามในการทำงานด้านสันติภาพตั้งแต่เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวมุสลิมโมโร (Jabidah Massacre)  โดยกองกำลังทหารฟิลิปปินส์ซึ่งนำไปสู่การนองเลือดในทศวรรษที่ 1970   แม้การณรงค์และการสั่งสมประสบการณ์การทำงานขององค์กรประชาสังคมยังไม่ส่งผลมากในช่วงสามทศวรรษแรก แต่ในช่วงต้นทศวรรษปี 2000 กลุ่มประชาสังคมเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (GPH-MILF)

ความขัดแย้งที่กล่าวถึงในที่นี้เน้นเฉพาะความขัดแย้งการแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของประเทศ ระหว่าง MNLF และรัฐบาล ที่ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และระหว่าง MILF และรัฐบาลฟิลิปปินส์กว่าสี่ทศวรรษหลังจากนั้น ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในสมัยการปกครองของประธานาธิบดีฟิเดล รามอส รัฐบาลมีความต้องการริเริ่มเจรจาสันติภาพทั้งกับพรรคฝ่ายซ้าย (National Democratic Front –NDF) MILF และ กลุ่มทหารที่ต้องการยึดอำนาจรัฐ (Reform the Arm forces Movement – RAM)   แต่ในห้วงเวลานั้นเหตุการณ์ที่มินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศยังคงประทุขึ้นจนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม ช่วงเวลานั้นองค์กรประชาสังคมที่นำโดยฝ่ายศาสนจักร เน้นการทำงานสานเสวนาระหว่างศาสนา การปรึกษาหารือจากประชาชนรากหญ้า เช่น โครงการที่ช่วยให้ชาวคริสต์มีความเข้าใจชาวมุสลิมในเดือนรอมฎอน หรือ Duyong Romadon  การสานเสวนา Sisilah (Chain) Peace Dialogue ที่เมืองซัมโบอังกาในเดือนพฤษภาคมปี 1984   การประชุมระหว่างผู้นำศาสนาคริสต์และมุสลิม (Bishop-Ulama conference) ในปี 1996 หลังจากรัฐบาลเจรจากับ MNLF  อย่างไรก็ตามการสานเสวนาดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ว่ากรอบในการเสวนาดังกล่าวว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์มากกว่าศาสนา

อีกทั้งองค์กรประชาสังคมท้องถิ่นมีความพยายามรณรงค์ให้มีการปลดอาวุธของกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปี 1980 ไม่ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ และกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ ตั้งแต่ทางเหนือจนสู่มินดาเนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทศวรรษที่ 1990 ที่มีการประกาศพื้นที่สันติภาพ (Peace Zone) ในมินดาเนาตามข้อตกลงในปี 1996  เงินทุนต่างๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศถูกนำมาใช้ในการรณรงค์การไม่ใช้อาวุธ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับเทศบาล  มีการก่อตัวของพื้นที่สันติภาพ ไม่ว่าจะถูกเรียกโดยฝ่ายรัฐบาลหรือกลุ่มประชาสังคม (Sanctuaries of peace หรือ Peace and development communities)  กระนั้นแนวความคิดดังกล่าวก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะยังมีการใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสมัยประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดาซึ่งประกาศใช้มาตรการ All Out War  ที่เน้นการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธอย่างหนักหน่วง มีบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ที่จังหวัด Napalaan นั้น ที่ถือเป็นตัวแบบพื้นที่สันติภาพได้ แต่โดยรวมถือว่าเขตสันติภาพต่างๆ ยังมีผลในระยะอันสั้น

เป้าหมายหนึ่งของกลุ่มประชาสังคมคือมีอิทธิพลต่อคู่ขัดแย้ง (Track 1) ในการเจรจาสันติภาพ โดยเรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้ริเริ่มหรือกลับมาทำให้การพูดคุยสันติภาพมีความสมบูรณ์ ไม่ว่าจะโดยรณรงค์หาเสียงสนับสนุนการเป็นผู้สังเกตการณ์และผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจา นอกจากจัดประชุมหรือเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสันติภาพดังที่เกิดขึ้นในอดีต  การที่กลุ่มประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพนั้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักใช้ช่องทางการเจรจาที่กลุ่มประชาสังคมนั้นเข้าไม่ถึง ซึ่งพวกเขาเข้าใจข้อจำกัดเหล่านี้ดี และต้องการเรียกร้องไปยังคู่ขัดแย้งทั้งสองให้เจรจาด้วยความโปร่งใส บทบาทสำคัญที่ผ่านมาของภาคประชาสังคมมินดาเนามีดังนี้

การผลักดันกรอบนโยบายเพื่อสันติภาพ

ในปี 1993 มีความต้องการรัฐบาลประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ในการนิรโทษกรรมกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะคอมมิวนิสส์และ MILF กลุ่มประชาสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายผู้นำศาสนาต่างๆ ได้ให้คำปรึกษาอย่างเงียบๆ ต่อประธานาธิบดี ให้ผลักดันกระบวนการนิรโทษกรรมเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่ม  ดังนั้น จึงเกิดคณะทำงานเพื่อความเป็นหนึ่งของชาติ (National Unification Commission – NUC)   ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรประชาสังคมเพื่อก่อร่างให้เกิดหลักการพื้นฐานเพื่อสันติภาพหกประการ (Six paths to peace) อันได้แก่ ประการแรก การแก้ไขปัญหารากเหง้าของความไม่สงบนั้นจะต้องมีการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ประการที่สอง มีฉันทามติร่วมกันในการปรึกษาหารือการแก้ไขปัญหาในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ประการที่สาม ผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธ ประการที่สี่ สร้างความสมานฉันท์ในระหว่างกลุ่มติดอาวุธและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ ประการที่ห้า จัดการกับความขัดแย้งและการปกป้องพลเรือน ประการที่หก สร้างบรรยากาศสันติภาพในเชิงบวก หลักทั้งหกประการต่อมาเป็นพื้นฐานในการก่อตั้งสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ (Office of the Presidential Adviser on the Peace Process - OPAPP) หรือที่เรียกกันว่า “โอพัป” ในปี 2001 ซึ่งมีผู้นำภาคประชาสังคมคนอย่าง เทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ (Teresita  Quintos Deles) คณะกรรมการมารดาสันติภาพแห่งมินดาเนา เข้าไปในฐานะที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้วย  กล่าวได้ว่าในปัจจุบันOPAPP ทำหน้าที่หลักในการผลักดันกระบวนการสันติภาพตามแนวทาง Six paths to peace ที่ครอบคลุมไปถึงการเจรจาสันติภาพ ซึ่งดำเนินมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันด้วย

การเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลและ MILF

เมื่อนางกลอเรีย อาโรโย ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคมปี 2001 และออกนโยบาย All Out Peace  ซึ่งเปิดให้ตัวแทนประชาสังคมโดยเฉพาะภาคธุรกิจและนักการศาสนาเข้ามาแก้ปัญหาแบบสันติร่วมกับรัฐบาล ผ่านยุทธศาสตร์ของรัฐบาล (Kusong Mindanaw - ความเข้มแข็งของมินดาเนา) ในการกลับมาเจรจากับ MILF อีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักเนื่องจากความรุนแรงในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลมีความต้องการให้ผู้อพยพหนีภัยสงครามกว่าหลายแสนคนได้กลับบ้าน และให้มีตัวแทนชาวมินดาเนาอยู่ในคณะรัฐบาล อีกทั้งต้องการลดกองกำลังทหารในพื้นที่ นอกจากนี้ก่อนการเจรจาสันติภาพในรอบแรกที่เมืองทริโปลิ ประเทศลิเบีย ในเดือนมิถุนายนเมื่อ 2001 เครือข่ายกลุ่มประชาสังคมร่วมกับรัฐบาลก็จัดเวทีคู่ขนานกับการเจรจาสันติภาพ โดยมีตัวแทนของประชาสังคมที่โดดเด่นเข้าร่วมอย่าง ไอรีน ซานดิเอโก (Irene Santiago) คณะกรรมการมารดาสันติภาพแห่งมินดาเนา (Mindanao Commission on Mother for Peace) กระนั้นเวทีสันติภาพของรัฐบาลที่เน้นการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมในการสร้างโอกาสในการเข้าไปร่วมกับการเจรจาสันติภาพ ค่อนข้างจะเป็นไปอย่างเร่งรีบและขาดการมีส่วนร่วมที่มาจากในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มคนจน คนชนบท คนเมือง คนพิการหรือกลุ่มอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะนำเสนอในเรื่องของวาระที่เป็นของตัวเองได้ มีเพียงผู้นำประชาสังคมสองสามคนเท่านั้นที่สามารถที่จะเข้าไปนำเสนอคำปรึกษาแก่ได้ ทว่าเสียงของพวกเขานั้นไม่มีอิทธิพลมากนัก

 

การทำหน้าที่สังเกตการณ์การเจรจา   

การจัดเวทีคู่ขนาน (Peace Panel) ส่งผลอยู่บ้างเมื่อในการเจรจาสันติภาพรอบสองที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ ปี 2003 ในรัฐบาลอาโรโย่ เครือข่ายภาคประชาชนมินดาเนา (Mindanao People Caucus-MPC) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมเอาภาคประชาสังคมหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วยกลุ่มสนับสนุนผลักดันสันติภาพกว่า 20 กลุ่ม มีทั้งชาวมุสลิม คริสเตียนและ Lumad  (ชนพื้นเมือง) โดยทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องของงานพูดคุยสันติภาพ ได้ส่งคณะตัวแทนไปสังเกตการณ์โดยพยายามเข้าไปพูดคุยกับสมาชิกคณะเจรจาและคณะกรรมการด้านเทคนิคระหว่างอาหารหรือระหว่างพักการประชุมในประเด็นการให้สิทธิชนพื้นเมืองให้เข้ามาเป็นตัวแทนในคณะทำงานของเขตแดนบรรพบุรุษ (Technical Working Group on Ancestral domain) ผลของการเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลยอมรับการคำแนะนำของตัวแทนประชาสังคม  ความพยายามของ MPC นี้เป็นการริเริ่มความพยายามการพูดคุยสามฝ่ายโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและพัฒนาวาระที่เป็นวาระร่วมกันท่ามกลางความรุนแรงที่ยังคงดำเนินไป

ความรุนแรงในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้การพูดคุยที่เป็นทางการต้องหยุดชะงักลง แต่การทำงานรักษาพื้นที่สันติภาพขององค์กรประชาสังคมยังคงมีความจำเป็น คือการเฝ้าระวังการหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและ MILF หรือ Bantay ceasefire ในปี 2003  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของคณะทำงานร่วมเพื่อยุติการเป็นศัตรู (Joint Committee on the Cessation of Hostilities – JCCH) ที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ตามข้อตกลงเดือนสิงหาคมในปี 2001  นอกจากนี้ความพยายามในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐยังคงดำเนินต่อไป ในประเด็น เขตสันติภาพและการพัฒนาพิเศษหลังจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับ MILF ในปี 1996 ว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ดังนั้นองค์กรประชาสังคมจึงพยายามหาทางเลือกเพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่ ไม่ใช่แค่การพูดคุยกันในฟอรั่มหรือการปรึกษาเท่านั้น แต่การเจรจาทางการเมืองถือเป็นสิ่งที่ เริ่มสร้างข้อยุติ ความขัดแย้งและมีการแสวงหาสันติภาพ

การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาโดยตรง

บทบาทของกลุ่มประชาสังคมในการเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลยังคงมีความสำคัญในการสานต่อกระบวนการสันติภาพ มีตัวแทนประชาสังคมที่โดดเด่นเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการมากขึ้น เช่น ซิลเวีย ปารากูยา (Sylvia Paraguya) ประธานสภาการพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนของมินดาเนา (Mindanao Caucus of Development NGOs - MinCODE) ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปเป็นตัวแทนผู้หญิงและชนพื้นเมืองหนึ่งเดียวในคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายรัฐบาล ในปี 2004 เมื่อรัฐบาลและ MILF กลับมาเจรจากันอีกครั้งเกี่ยวกับข้อสัญญาดินแดนในการขยายเขตปกครองมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region in Muslim Mindanao-ARMM)  แม้การเจรจาล่มหลายครั้ง แต่เธอก็ยังคงไม่หยุดทำงานด้านสันติภาพต่อไปในการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาจริงจังโดยมองผ่าน ปัญหาความรุนแรง ความไม่เป็นธรรม ความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้คน

การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลและ MILF ยังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมากระทั่งสมัยประธานาธิบดีเบนนิก โนอากิโน ที่ 3  เขาเข้าได้พบปะกับประธาน MILF เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2011 ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงมีการเจรจาสันติภาพกันแบบเร่งด่วน หรือ fast track ในช่วงเวลานั้น การเจรจาสันติภาพมีสัญญาณที่ดีขึ้นเนื่องจากแรงสนับสนุนที่ได้รับจากประชนอย่างกว้างขวางในการแก้ไขปัญหาแบบสันติ ในการนี้ สื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ มีส่วนสำคัญในการให้เกิดพื้นที่ของการพูดคุยถกเถียงไปสู่สาธารณะ มีการเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ นักวิชาการ กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ให้เข้ามาร่วมกันในการใช้แนวทางที่สันตินับตั้งแต่รัฐบาลเอสตราดาออกนโยบาย  All  Out War  ในปี 2000  โดยทำสัญญาประชาคมร่วมกันว่า “นี่คือมินดาเนาของพวกเรา” [ “This is OUR Mindanao”]

การอำนวยความสะดวกในการเจรจา 

ปี 2010  รัฐบาลอากิโน เดินหน้ากระบวนการเจรจาสันติภาพที่เป็นทางการทันที หลังจากที่มีการส่งสัญญาณจากกลุ่ม MILF ว่าพวกเขาไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป แต่ต้องการการปกครองตัวเองอย่างจริงจังที่ไม่เหมือนกับการจัดตั้งเป็นเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมมินดาเนา (ARMM)  ช่วงก่อนที่รัฐบาลและ MILF ได้เซ็นกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement on the Bangsamoro-FAB) ในวันที่ 15 ตุลาคม 2012 พลังกลุ่มประชาสังคมปรากฏเด่นชัดขึ้นด้วย โดยเฉพาะพลังของผู้หญิงประชาสังคม ศาสตราจารย์มีเรียม โคโรเนล-เฟอเรอร์ (Professor Miriam Coronel-Ferrer) ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานการประชุมในเวทีสันติภาพฝั่งรัฐบาลเพื่อการพูดคุยกับขบวนการ MILF  เธอได้รับความเชื่อถือเนื่องจากมีผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพในมินดาเนามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990

การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อนำหลักการของข้อตกลงไปปฏิบัติ

สิ่งที่แตกต่างจากข้อตกลงในอดีต คือในกรอบข้อตกลง FAB ฉบับนี้ได้ให้อำนาจในการมีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน (Transition Commission - TC) โดยมีลักษณะความร่วมมือในแบบประชาธิปไตย ประชาสังคมสามารถเสนอกฎหมายจากภาคประชาชนได้เองจากตัวแทนซึ่งมีความหลากหลายในบังซาโมโรที่ได้รับเลือกมาทั้งจากรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF ในการร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Basic Law - BBL) เพื่อทดแทนกฎหมายเดิมที่ใช้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา โดยมีแนวร่วมเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มและเครือข่ายอย่างน้อย 150 กลุ่ม ทั้งมุสลิม คริสต์เตียน และชนพื้นเมืองที่ต้องการสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรร่วมกัน

บทสะท้อนองค์กรประชาสังคมในกระบวนการเจรจาสันติภาพ

1. สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ขัดแย้งให้กลับมาเจรจาสันติภาพ  องค์กรประชาสังคมช่วยจัดโครงสร้างทางการเมืองและทางสังคมใหม่ เพื่อยุติความรุนแรงและมุ่งไปสู่กระบวนการสันติภาพ ในการเจรจาสันติภาพ กลุ่มประชาสังคมต่างได้รับบทเรียนจากการถูกกัดกันทำไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาตั้งแต่มีข้อตกลงในปี 1996  และแม้ยังเกิดความรุนแรงที่เรื่อยมา องค์กรประชาสังคมที่แตกต่างหลากหลายต่างรวมตัวกันในการเวทีสาธารณะเพื่อสันติภาพนับครั้งไม่ถ้วน โดยถกเถียงในประเด็นต่างๆ เพื่อให้รากเหง้าของปัญหาเป็นที่รับรู้ ตลอดจนหาทางเลือกเพื่อสันติภาพและมีการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการส่งเสียงสนับสนุนทางการเมือง 

จนกระทั่งในปี 2001 องค์กรประชาสังคมต่างๆ สามารถจัดตั้งคณะติดตามและประเมินสถานการณ์ความรุนแรงในระดับท้องถิ่น (Monitoring Teams) และได้รับการชื่นชมจากทั้งรัฐบาลและ MILF ในการทำให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง (Bantay Ceasefire) เพื่อยับยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงต่อมาที่เกิดขึ้นในปี 2003  การพยายามยุติเหตุการณ์ความรุนแรงช่วยสร้างความชอบธรรมในการเจรจา ทำให้คู่ขัดแย้งมีความเชื่อมั่นในการฟื้นกระบวนการเจรจาที่เป็นทางการกลับคืนมา โดยสามารถหาเสียงสนับสนุนทางการเมืองเพื่อต้านทานนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นเรื่องของการเอาชนะกัน ทั้งๆ ที่ตัวเองมีบทบาทจำกัด

2. สามารถเป็นพื้นที่กลางในกระบวนการสันติภาพ ผลกระทบต่อการตัดสินในของรัฐบาลในสนามการเมืองที่มีการแข่งขันกันของแต่ละรัฐบาลมักมีความแตกต่างกัน เช่น ในสมัยประธานาธิบดี กลอเรีย อาโรโยนั้น มีสมาชิสภาหลายคนมาจากประชาสังคม แต่อิทธิพลของพวกเขายังไม่เพียงพอที่จะสามารถกดดันรัฐบาลได้โดยตรง กระนั้นแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากองค์กรประชาสังคมสามารถสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลระดับชาติ ท้องถิ่น กองกำลังทหาร และ MILF  เพราะองค์กรประชาสังคมใช้ข่าวสารอย่างมีประสิทธิผลในการรักษาการเจรจาและกระบวนการสันติภาพร่วมกับพันธมิตรต่างๆเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย ในการสร้างสันติภาพและเพื่อลบล้างความเข้าใจผิดว่าองค์กรประชาสังคมให้การสนับสนุนฝ่ายก่อความรุนแรง เพราะองค์กรประชาสังคมนั้นไม่ได้สนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ประชาสังคมมีความต้องการให้หลายฝ่ายพูดคุยกันโดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องเอกราชในดินแดนหรือพื้นที่ของชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ แม้รัฐบาลมองเรื่องนี้ด้วยความคิดมีความระแวงสงสัย  แต่ก็เป็นหน้าที่ของประชาสังคมในการสร้างความสมดุลในการสร้างพื้นที่สันติภาพที่อยู่ระหว่างรัฐบาลและ MILF

3. มีบทบาทหลากหลายในกระบวนการเจรจาสันติภาพ  เป้าหมายหนึ่งของประชาสังคมคือมีอิทธิพลเหนือ Track  1 ในกระบวนการเจรจาสันติภาพ นอกจากการจัดเวทีหรือ การทำงานรณรงค์สันติภาพในแบบต่างๆ ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นการดำเนินงานตั้งแต่อดีต ซึ่งนับแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ ปี 2001  เป็นต้นมา มีความตื่นตัวของประชาสังคมอย่างมาก พวกเขามีบทบาทที่หลากหลายในกระบวนการเจรจาสันติภาพ แม้มีข้อจำกัดและอุปสรรคมาก เมื่อมีการเจรจาอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF  ประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆ  องค์กรประชาสังคม และองค์กรของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ต่างมีความผิดหวังที่พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมในโต๊ะเจรจา ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจว่าการเจรจาขาดความโปร่งใสและความรับผิดชอบ กระนั้นองค์กรประชาสังคมส่วนใหญ่ได้พยายามทำให้เกิดเวทีสันติภาพคู่ขนานไปในการช่วยให้กระบวนการเจรจาดังกล่าวดำเนินไปได้อย่างดีในระหว่างกระบวนการเจรจา  และเปิดทางให้ประชาสังคมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจรจาสันติภาพ เช่น การสังเกตการณ์หรือเข้ามาร่วมโดยตรง (ซึ่งมีข้อจำกัด) การเข้าร่วมเวทีสันติภาพในหลายครั้งมีทั้งการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเจรจา และมีทั้งการสนับสนุนการเจรจา เช่น การที่กลุ่มประชาสังคมแสดงความเป็นกังวลต่อการเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันชนกลุ่มน้อยและผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วม มีความกังวลต่อการเจรจาที่ล้าช้าและใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ บ่อยครั้งที่องค์กรประชาสังคมต่างๆ  มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นขององค์กรประชาสังคมต่างๆ ที่เข้ามาร่วมในพิธีเปิดงานการเจรจาสันติภาพกว่า 10 องค์กรของดังกล่าวตั้งแต่ปี 2004-2005  เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้แก่ประชาสังคมในกระบวนการเจรจา

เอกสารอ้างอิง

 Arguillas, C. Enlarging spaces and strengthening voices for peace: Civil society initiatives in Mindanao [Online]: http://www.c-r.org/accord-article/enlarging-spaces-and-strengthening-voices-peace-civil-society-initiatives-mindanao-0, 2003.

Coronel-Ferrer, M. Philippines National Unification Commission: National consultations and the ‘Six Paths to Peace’. [Online]: Available from http://www.c-r.org/accord-article/philippines-national-unification-commission-national-consultations-and-%E2%80%98six-paths, 2002.

Paffenholz, T. Civil society and peace negotiations: Beyond the  inclusion-exclusion dichotomy. Negotiation journal (January 2014).

Rood,S.  Forging sustainable peace in Mindanao : the role of civil society. Washington, D.C.: East-West Center  Washington, 2005.

Rood,S. Women to chair Philippine government peace panel. [Online]: Available from  http://asiafoundation.org/in-asia/2012/12/12/woman-to-chair-philippine-government-peace-panel/, 2012.

Zozobrado, E.  Sylvia okinlay-paraguya-Epitome of women power. [Online]: Available fromhttp://worldpulse.com/node/32053,2010.