ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนใต้ที่เริ่มปะทุ ณ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส มีการเก็บข้อมูลจากหลายฝ่ายซึ่งรวมเหตุการณ์ความรุนแรงทุกประเภทจำนวน 15,713 เหตุการณ์ กับอีกด้านของปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข วิถีชีวิตการทำงานของคนในพื้นที่ที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงปากท้องโดยมีหน่วยงานราชการที่พยายามแก้ปัญหาแบบบูรณาการ แต่สิ่งที่ประชาชนได้สะท้อนกลับมา กลับกลายเป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้มากขึ้น
มะนาวาวี ยะโกะ
นักศึกษา Wartani Grassroot Media
นางมือแย มะมิง มีอาชีพค้าขาย กล่าวว่า “ได้รับผลกระทบมากเนื่องจาก ผู้ที่ออกมาจับจ่ายสินค้ารู้สึกยุ่งยากในการเดินทางและไม่ปลอดภัย ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้า รายได้ลดลง”
นางมารีแย โตะอีแม ลูกค้าที่มาซื้อของ เปิดเผยว่า เพราะเจ้าหน้าที่เข้มงวดมากในการตรวจตรายานพาหนะและบุคคลเสียเวลาในการเดินทางการพูดจาท่าทางที่ขึงขัง ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตร ช่วงนี้เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น เลยตัดสินใจซื้อสินค้าใกล้บ้านแม้จะแพงกว่าแต่ก็รู้สึกปลอดภัย
ด้านนายยูโซ๊ะ กาเดร์ อาชีพทำสวน กล่าวว่า “การกรีดยางปกติจะออกไปตอนกลางคืนก็ต้องเปลี่ยนออกไปกรีดยางกลางวันทำให้ปริมาณน้ำยางลดลง และการกรีดยางกลางวันทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้ เพราะถ้าเมื่อก่อนกรีดยางกลางคืน เวลากลางวันจะมีเวลาทำการเกษตรอย่างอื่นอีกด้วย ตอนนี้อาชีพหลักคือกรีดยางอย่างเดียว อีกทั้งจากการที่เจ้าหน้าที่ทหาร,ตำรวจและอส.คอยตรวจคนเข้าออกในพื้นที่ตลอดเวลาทำให้มีปัญหาในการเดินทาง และปัญหาใหญ่ช่วงนี้ราคายางตกต่ำ ก็ยิ่งเพิ่มปัญหาหาเข้าไปอีก”
ทางด้านบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องทำงานในพื้นที่ เช่น นางสาวรัมหล๊ะ โส๊ะเอียด ครูโรงเรียนบ้านน้ำดำ กล่าวว่า “รู้สึกเครียดที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข จะออกไปไหนต้องระมัดระวังตัวและติดตามข่าวสารตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่มีความเข้มงวดตรวจค้นอย่างละเอียดทำให้รู้สึกเหมือนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิต”
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร กล่าวว่า “นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การเข้าถึงชาวบ้านจะประสบปัญหามาก เนื่องจากชาวบ้านจะมองเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหวาดระแวง เวลาออกพื้นที่เพื่อพบปะกับชาวบ้านบางครั้งชาวบ้านปิดประตูหนีเลย จึงปรับการทำงานโดยการเข้าถึงผู้นำหมู่บ้านคอยชี้แจงและป้องกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วย”
เสียงเหล่านี้อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่สะท้อนออกมาว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รัฐไม่เพียงแค่ไม่ยอมรับซึ่งปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่แล้ว แต่ยังเพิ่มเงื่อนไข ในการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความยืดหยุ่น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบกับวีถีชีวิตการทำงานของประชาชนโดยตรง
หมายเหตุ: ผลงานของนักศึกษา โครงการอบรมเชิงปฏิบัติงานนักผลิตสื่อเพื่อสันติภาพ รุ่นที่1 (Wartani Grassroot Media - WGM) จัดโดย สำนักสื่อWartani