นรินทร์ อินทร์ฉาย
ท่ามกลางพระราชกรณียกิจนานัปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปฏิบัติเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าตามกล่าวนั้น มีพระราชกรณียกิจหลากหลายประการที่ทรงปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้กับชาวไทยมุสลิม ดังเช่นใน พ.ศ.๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จออกเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านชาวไทยมุสลิม ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่มีฐานะยากจน พระองค์ทรงส่งเสริมอาชีพที่มีในจังหวัดนั้น และที่สำคัญให้เหมาะสมตามหลักศาสนา และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ โดยชาวไทยมุสลิมต่างได้รับพระมหากรุณาธิคุณโดยทั่วถึงที่ทรงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในด้านการหาเลี้ยงชีพ ทั้งยังพระราชทานโครงการตามพระราชดำริ โครงการส่งเสริมอาชีพ ทรงหาวิธีช่วยแก้ปัญหา แนะนำ และสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ตลอดรวมถึงทรงสนับสนุนให้มีโครงการศูนย์การศึกษาและพัฒนาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทำให้มีแหล่งอาชีพและได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ จนทำให้ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่สามารถยกฐานระดับฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้มั่นคงยิ่งขึ้นไป นอกจากนี้ ในด้านการสังคมสงเคราะห์ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินไปในงานสังคมของชาวไทยมุสลิม เช่น การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานการกุศลของสมาคมสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย และทรงรับมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าสตรีไทยมุสลิมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยในระหว่างวันที่ ๖ ถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ได้เสร็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ๑๔ จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้แถบจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู หากทว่าสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นอุปสรรคสำหรับพระองค์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามทรงปฏิบัติต่อผู้คนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเสมอเหมือนกับพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคพื้นที่โดยปราศจากความแตกต่าง ด้วยทรงตระหนักว่าทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในราชอาณาจักร จะมีเชื้อชาติใดและจะนับถือศาสนาใด ก็ล้วนเป็นพสกนิกรของพระองค์ที่ทรงต้องห่วงใยดูแลโดยทั่วกัน ดังคำกล่าวของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถที่ว่า “.....ถ้าทุกคนจำได้ดี ก็ตอน พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ตอนนั้นทรงขึ้นครองราชย์และเสด็จพระราชดำเนินออกไปทรงเยี่ยมด้วยกันทั้งสองพระองค์ ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมตามเรือนรับรองของจังหวัด ศาลากลางจังหวัด และที่เรียกกันว่าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ไปทุกภาคเลยนะคะ แล้วก็เวลาเสด็จพระราชดำเนินไป รถพระที่นั่งค่อนข้างโบราณ......เวลาเสด็จฯ ไป ประชาชนมาเฝ้าฯ เป็นจำนวนมาก ....เหมือนทรงมาทำความรู้จักคนของพระองค์ บางครั้งรถพระที่นั่งไปเสียกลางทางก็มี แล้วก็ฝุ่นตลบ เพราะถนนหนทางยังไม่ดี ส่วนทางภาคใต้ก็จะเห็นชาวไทยมุสลิมมาเฝ้ารับเสด็จฯ ซึ่งพระองค์ท่านก็จะมีพระราชปฏิสันถารทั่วถึงกันหมดใครมีอะไรก็เอามาถวาย อิหม่ามก็ออกมาถวายพระพรที่องค์พระประมุขเสด็จพระราชดำเนินมา....เท่าที่เห็นจากการตามเสด็จฯ มานะคะ ไม่ว่าภาคไหน พระองค์ท่านทรงถือปฏิบัติเหมือนกันหมด ไม่ได้แยกว่าคนนี้พุทธหรือมุสลิม ไม่ใช่คนไทยหรืออะไรก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นภาคไหน ๆ พระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อประชาชนจะเหมือนกันหมด”
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดปัตตานี
เมื่อ 11 ส.ค.57 เวลา 16.30 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ไปทรงวางพานพุ่ม และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานที่บริเวณลานศิลปวัฒนธรรม ถนนสายบุรี อำเภอเมือง โดยข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนร่วมบริจาคเงินสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย ด้วยทรงสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงแก่พระราชอาณาจักรเป็นอเนกประการ
เวลา 16.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังมัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี เพื่อพระราชทานรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับประเทศ ประจำปี 2557 โอกาสนี้ นายมูฮำมัด หะยีมูซอ ผู้ชนะเลิศการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับประเทศ ประจำปี 2556 อัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี และสมาคมกอรีแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 10 มีนาคมศกนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวไทยมุสลิมเรียนรู้หลักธรรมคำสอนในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานอย่างถ่องแท้ และปฎิบัติให้ถูกต้องตรงต่อพระคัมภีร์ ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องมุสลิมและต่างศาสนิก โดยปีนี้ผู้ชนะเลิศฝ่ายชาย ได้แก่ นายวัฒนา อาบีดิน ผู้ชนะเลิศฝ่ายหญิง ได้แก่ นางนาตีปะ มะนาสียะ
จากนั้น ทรงรับการสวดดูอาร์ถวายพระพร จากผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี และผู้นำศาสนาอิสลาม พร้อมกับมีพระราชปฎิสันถารกับผู้นำศาสนาอิสลาม และทอดพระเนตรสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับ 14 จังหวัดภาคใต้ และระดับประเทศจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งผู้ชนะจะเป็นผู้แทนเข้าร่วมงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เพื่อหาผู้แทนไปทดสอบและแข่งขันกอรีระหว่างประเทศต่อไป
เวลา 17.35 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี จังหวัดปัตตานี ในการพระราชทานโล่เกียรติคุณ และเงินรางวัลแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่ามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ประจำปี 2556 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แบ่งการคัดเลือกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทจังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดขนาดกลาง และจังหวัดขนาดเล็ก โดยในปี 2556 มีคณะกรรมการประจำจังหวัดได้รับคัดเลือกให้ได้รับพระราชทานรางวัล 5 จังหวัด รวม 5 รางวัล และรางวัลดีเด่นกิตติมศักดิ์ สำหรับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับรางวัลดีเด่นติดต่อกัน 3 ปี 1 รางวัล รวมทั้งอิหม่ามที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นจากทุกมัสยิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับพระราชทานรางวัลจังหวัดละ 5 คน รวม 25 คน
จากนั้น พระราชทานรางวัลแก่ผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนครู และนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ ประจำปี 2556 ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2504 กระทรวงศึกษาธิการ ได้พัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยส่งเสริมสนับสนุน และอุดหนุนทั้งด้านวิชาการ อาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน อย่างต่อเนื่องรวมทั้งจัดตั้งกองทุนวิทยาคารสงเคราะห์ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ยืมไปก่อสร้างอาคารเรียนโดยไม่เสียดอกเบี้ย การจัดส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น
ในการนี้ พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดภาคใต้ ความว่า "งานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น มีความสำคัญมากเพราะเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่ชีวิตคน ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ บุคคลใดได้รับการศึกษาอบรม ทั้งในด้านวิชาสามัญและวิชาศาสนาอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตลอดจนมีผู้คอยให้คำแนะนำสั่งสอน ทั้งในด้านหลักธรรม และการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดีโดยตลอดบุคคลนั้นย่อมมีพื้นฐานกว้างขวางหนักแน่น ที่จะเกื้อกูลให้สามารถสร้างความผาสุก มั่นคงให้แก่ตนเองและชาติบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์ ท่านทั้งหลายผู้ทำหน้าที่แนะนำสั่งสอนอิสลมิกบริษัท และให้การศึกษาอบรมเยาวชน จึงนับเป็นผู้ทำงานเพื่อส่วนรวมโดยแท้และผลของงานที่ทำ ก็คือประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง หวังว่าทุกท่านจะได้ภูมิใจยินดีในภารกิจที่ได้ปฏิบัติมา แล้วตั้งใจพยายามปรับปรุงพัฒนางานให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นเพื่อปลูกฝังสร้างเสริมบุคคลให้ถึงพร้อม ด้วยความรู้และความดี เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมผู้สามารถสร้างสรรค์ความสุขและความเจริญมั่นคงให้แก่ชาติบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืนสืบไป"