Skip to main content
เขียนโดย Jesus G. Durezaon 24 สิงหาคม 2557
แปลโดย Hara Shintaro, รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
 

000

เมืองดาเวา (Minda News 24 สิงหาคม) --- เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้นั่งร่วมโต๊ะกับเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ในขณะที่คุยพลางดื่ม SanMig Lites เพื่อนคนนั้นได้ถามคำถามแหลมคมบางอย่างเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพกับฝ่าย MILF ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ เช่น “ทำไมฝ่ายกองทัพไม่สามารถปราบปรามพวกนั้นได้? ทำไมฝ่ายรัฐจำเป็นต้องประนีประนอมหรือยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มกบฏติดอาวุธ ในขณะที่จริงๆ แล้วพวกเขาเองต่างหากที่ต้องอธิบายต่อการก่อกบฏ การใช้อาวุธและการกระทำผิดกฎหมาย? ทำไมฝ่ายรัฐอนุญาตให้พวกเขาจัดตั้งค่ายเพื่อต่อต้านรัฐบาล? ทำไมพวกเขาได้รับประโยชน์มากกว่าอีกหลายฝ่ายที่ตั้งมั่นในสันติวิธีหรือเคารพกฎหมาย? สถานการณ์เช่นนี้หมายความว่า ถ้าฝ่ายอื่นๆ ต้องการจะได้รับความสนใจและประโยชน์ พวกเขาก็ต้องถือปืนก่อนหรือเปล่า? และอีกอย่าง ทำไมพวกคุณจะต้องพูดคุยกับพวกเขาตั้งแต่แรก?ช่างเป็นคำถามที่น่าสนใจและท้าทายจริงๆ  

นโยบายสงครามเต็มรูปแบบของเอสตราด้า ผมเริ่มตอบคำถามของเพื่อนคนนั้นโดยใช้ความทรงจำถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ บางช่วงบางตอนในช่วงที่อดีตประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราดายังอยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศได้ ประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับ MILF และได้โจมตีค่ายต่างๆ ของฝ่ายต่อต้านใน ค.ศ. 2000  ความจริงแล้ว มีรายงานว่าการสนับสนุนต่อประธานาธิบดีเอสตราด้าได้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการปราบปรามกบฏที่เกาะมินดาเนาอย่างเด็ดขาด ผลก็คือ กองทัพฟิลิปปินส์สามารถเข้าควบคุมค่ายอาบูบากัร (Camp Abubakar) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไว้ได้ (เพราะเป็นค่ายหลักของฝ่าย MILF – ผู้แปล) กบฏหลายๆ คนถูกฆ่า ผู้บัญชาการฝ่ายกบฏต้องหนีออกจากพื้นที่ แต่เมื่อควันของการสู้รบจางลง ปรากฏว่า MILF ยังคงอยู่และสามารถรักษาความเป็นองค์กรไว้ได้ แม้ว่าจะได้รับความเสียหายอย่างมากก็ตาม พวกเขาเพียงแต่ย้ายไปค่ายอื่นๆ เพื่อจัดโครงสร้างกองกำลังใหม่  โดยยังคงรักษาฐานการสนับสนุนจากชาวบังซาโมโร (Bangsamoro) ไว้ได้ การก่อกบฏของพวกเขายังดำเนินการอยู่จนถึงบัดนี้  แม้ว่าการหยุดยิงและการเจรจาสันติภาพทำให้เสียงปืนแห่งสงครามเงียบลงไป   

ราคาของสงคราม ผมบอกกับเพื่อนว่า คำถามที่ต้องตอบคือ ราคาของสงครามคืออะไร? และมันคุ้มค่าไหม ผมอธิบายให้เพื่อนเข้าใจด้วยว่า “ราคา” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงค่าใช้จ่ายในรูปแบบเม็ดเงินอย่างเดียว (กระสุน ลูกระเบิด อาวุธ การบริหารจัดการ  ฯลฯ) แต่รวมถึงสิ่งที่ไม่สามารถประเมินในเชิงปริมาณได้ ซึ่งก็คือ ราคาทางสังคม ชีวิตของประชาชนพลเรือนที่ต้องถูกทำลาย ถูกทำให้สะดุด ต้องสูญเสียอันเป็นผลจากความขัดแย้งและการต่อสู้กัน  คำตอบนี้ทำให้เพื่อนผมตกใจ สิ่งที่เพื่อนผมไม่ทราบคือความจริงที่ว่า ประชาชนบนเกาะมินดาเนาประมาณหนึ่งล้านคน (ใช่ 1,000,000) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายสงครามเต็มรูปแบบของเอสตราด้าหลายพันครอบครัวต้องอพยพหลบหนี ชีวิตประจำวันก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก และมีผู้เสียชีวิตทั้งทหาร  ฝ่ายต่อต้านและประชาชนที่ตกเข้าไปอยู่ท่ามกลางสมรภูมิการสู้รบ ยังไม่นับถึงความเสียหายไม่อาจบูรณะให้กลับคืนมาได้ที่เกิดขึ้นกับตเกาะแห่งนี้ ซึ่งในปัจจุบันสังคมภายนอกก็ยังคงมองว่าเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากสงครามและมีปัญหานานาประการ

ความเสียหายที่เกิดจากนโยบายสงครามของเอสตราดานั้นมหาศาลและส่งผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นตลอดช่วงเวลาเก้าปี (9) ที่ผมทำงานในทำเนียบ Malacanag (ทำเนียบประธานาธิบดี) ในสมัยประธานาธิบดีอาร์โรโย ผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวกับเกาะมินดาเนา ภารกิจที่สำคัญอันดันแรกๆในช่วงนั้นคือการเยียวยาความเสียหายและบาดแผลที่เกิดจากสงครามและการดูแลผู้ลี้ภัยเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้  แต่ในค.ศ. 2003 ในช่วงสมัยประธานาธิบดีอาร์โรโย กองทัพฟิลิปปินส์ (AFP) ก็ได้ใช้นโยบายเชิงรุกทางการทหารอีกครั้ง และประสบความสำเร็จในการขับไล่อาจารย์ ฮาชิม ซาลามัต (Hashim Salamat) ผู้นำ MILF และพรรคพวกออกจากที่หลบซ่อนใน Buliok, Pikit ซึ่เป็นพื้นที่ชายขอบของ Linguasan Marsh การโจมตีครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างหนักกับ MILF และทำให้พวกเขากระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง แต่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดก็คือพลเรือน เมื่อผมลาออกจากการทำงานกับรัฐบาลเมื่อ ค.ศ. 2010 หรือประมาณ 10 ปีหลังการรุกทางการทหารในครั้งแรก  ภารกิจในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสู้รบ หรือที่เรียกว่า collateral damage ยังไม่สิ้นสุด จนถึงวันนี้ เรายังตั้งคำถามว่า นโยบายสงครามสามารถปราบการกบฏได้จริงหรือเปล่า? แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะมีทุกอย่างเหนือกว่าฝ่ายกบฏ แต่ฝ่ายรัฐบาลชนะสงครามได้หรือไม่? ราคาที่ต้องจ่ายในเชิงสังคมของสงครามนั้นจะสมดุลกับผลที่ได้รับหรือเปล่า และ แนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทหารนั้นเป็นคำตอบจริงหรือ

ใช่ เราจำเป็นต้องมีกองทัพเพื่อส่งสัญญาณให้ฝ่ายกบฏรับรู้ว่า พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติการต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรับโทษ จริงๆ แล้ว การรุกเช่นนี้ก็เป็น “สิ่งกระตุ้น” ให้ฝ่ายขบวนการอยู่บนเส้นทางของกระบวนการสันติภาพ อีกทั้งยังสามารถจะเป็นสิ่งที่เตือนพวกเขาว่า การออกจากโต๊ะเจรจาจะนำไปสู่ความหายนะสำหรับพวกเขาเอง  รวมถึงอุดมการณ์ของพวกเขาด้วย แต่ นโยบายเช่นนี้จะสามารถนำไปสู่สันติภาพอันยั่งยืนได้หรือไม่ เรารู้คำตอบ

สันติภาพเต็มรูปแบบ ผมได้ย้อนถึงความทรงจำอีกช่วงหนึ่งที่ทรงพลังมากให้เพื่อนฟัง ตั้งแต่ประธานาธิบดีอาร์โรโยรับตำแหน่งต่อจากเอสตราด้า ท่านก็ยกเลิกนโยบายสงครามเต็มรูปแบบของเอสตราด้า และริเริ่มนโยบายสันติภาพเต็มรูปแบบ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติภาพ ทันทีที่ได้รับตำแหน่งใหม่ ประธานาธิบดีอาร์โรโยก็ออกคำสั่งเพื่อวางกรอบการทำงานสำหรับการสร้างสันติภาพ โดยผ่านกระบวนการเจรจาเป็นหลัก ผมเป็นหัวหน้าทีมเจรจาของท่านประธานาธิบดีอาร์โรโยเพื่อสานต่อความพยายามของประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ในการริเริ่มกระบวนการสันติภาพกับฝ่าย MILF

การเริ่มต้นการพูดคุยใหม่ วันหนึ่งใน ค.ศ. 2001 ผมได้เข้าไปในเขตที่ MILF ควบคุมอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างเขตแดนจังหวัด Maguindanao กับ North Cotabato ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ในความทรงจำของผม หลังจากได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีอาร์โรโยเพื่อ “รีสตาร์ต” (เริ่มต้นใหม่) การพูดคุย ผมก็นำสิ่งของต่างๆไปมอบเพื่อช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของสมาชิก MILF แต่จริงๆ แล้ว การไปในครั้งนั้นก็เป็น “ฉากบังหน้า” สำหรับการการเริ่มต้นพบปะลับๆ อย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทนของนาย Hashim Salamat ซึ่งเป็นประธาน MILF ในขณะนั้น ผมยังจำได้ว่าการพบปะกันครั้งนั้นเกิดขึ้นที่กระท่อมแห่งหนึ่งซึ่งมืดและเล็กที่หน้าต่างทุกบานถูกปิด  ตัวแทนของประธานใส่หมวกแก๊ป ถ้าผมเจอเขาอีกครั้งก็คงจะจำเขาไม่ได้

นักธุรกิจคนหนึ่งที่ชื่อ Ebrahim “Toto” Paglas ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของผมและเป็นหลานคนโปรดของอุสตาซ Salamat ด้วย (ตอนนี้ทั้งสองท่านเสียชีวิตแล้ว) เป็นคนที่ช่วยทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง  อดีตเสนาธิการของกองทัพฟิลิปปินส์ พล.อ. Hermogenes “Jun” Esperon Jr. ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็นพันเอกและเป็นผู้บังคับกองพัน ไม่ยอมให้ผมไปคนเดียว  เขาอาสาที่จะอารักขาผม แต่เขาต้องถอดชุดเครื่องแบบออกเพื่อพรางตัวเป็นพลเรือนเพื่อเข้าไปสู่พื้นที่อันตราย   แต่การเสี่ยงในครั้งนั้นก็ได้ผลจริงๆ  

เพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา  นาย Eduardo Ermita เลขาธิการสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีเพื่อกระบวนการสันติภาพ (OPAPP)  ได้จับมือกับ Kagi Murad  ตัวแทนของ MILF เป็นการส่งสัญญาณว่าการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง  สามเดือนหลังจากนั้น ณ กรุงตรีโปลี ผมได้ลงนามใน “ข้อตกลงสันติภาพ” ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 อันเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบการทำงานและแผนที่นำทาง (โรดแมป) สำหรับการเจรจาสันติภาพที่จะมีขึ้นต่อไป โดยมีประเทศลิเบียเป็นตัวกลางหลักในการเจรจา  ในการเดินทางครั้งนั้น  ผมได้พบกับอดีตผู้นำ Moammar Khadafi ในเต็นท์ของท่านที่ Sirte ด้วย (พร้อมฉากหลังที่ช้างเลี้ยงของท่านกำลังถูกนำตัวมาโดยรถบรรทุกโดยสารซึ่งทำให้เป็นภาพที่น่าอัศจรรย์มาก)

ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผมยังทำงานให้กับรัฐบาลอาร์โรโยที่สะเทือนอารมณ์มาก  ซึ่งผมมองว่าสามารถจะช่วยในการตอบคำถามที่เพื่อนผมคนนี้ที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศตั้งขึ้นได้ดี   เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในการประชุมปิดลับ ณ ทำเนียบประฐานาธิบดี Malacanag ซึ่งเป็นวาระประชุมของฝ่ายความมั่นคง ตอนนั้น เรากำลังปรึกษาหารือกันเรื่องกลไกการหยุดยิงกับฝ่าย MILF มีนายพลท่านหนึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า การหยุดยิงเป็นการมัดมือบรรดาทหารกำลังรบกับฝ่ายกบฏอย่างไม่เป็นธรรม ผมรู้สึกได้ว่ามันคงเป็นความรู้สึกที่เจ้าหน้าที่ที่ใส่เครื่องแบบที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นมีร่วมกัน

แต่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงท่านหนึ่งยืนขึ้นคำถามอย่างมีโทสะว่า  “ท่านพลเอกครับ ท่านและกองทัพของท่านสามารถปราบปรามฝ่าย MILF  อย่างเด็ดขาดได้หรือเปล่า ถ้าคำตอบของท่านคือได้ เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับประชุมครั้งนี้” นายพลคนนั้นไม่ให้คำตอบ ทุกคนในห้องก็นั่งเงียบ และหลังจากนั้นสักพัก  เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนนั้นก็กล่าวว่า “ผมไม่ได้ยินอะไร  คำตอบชัดเจน  เราดำเนินการต่อไปครับ”

ผมพิจารณาความสำคัญของเหตุการณ์ในวันนั้น   ถึงแม้ว่าจะผ่านไปหลายปีแล้ว  แต่เหตุการณ์นั้นก็ยังอยู่ย้อนกลับมาในความทรงจำอยู่เสมอ  มันเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นจริง บทเรียนที่ผมได้จากเหตุการณ์นี้คือ การใช้กองกำลังไม่สามารถกำจัดความทุกข์ของชาวบังซาโมโรได้  เราจำเป็นต้องแก้ไขที่รากเหง้าของการต่อต้านและการเจรจาคือหนทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้

คำถามที่เพื่อนของผมต้องถามคือ ทำไมต้องมีการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่แรก  ผมขอนำเสนอความเห็นของผมที่ได้อธิบายให้เพื่อนเข้าใจ

ข้อที่ 1 รัฐบาลตระหนักว่ากลุ่มกบฏมีความอึดอัดคับข้องใจที่พึงรับฟังซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องจัดการและเยียวยา

ข้อที่ 2 รัฐบาลซึ่งยึดถือหลักจริยธรรม ต้องพร้อมที่จะประนีประนอมและยอมเสียบางอย่างเพื่อแก้ไขความอึดอัดคับข้องใจดังกล่าว

ข้อที่ 3 การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาวะยากจน เป็นเรื่องหลัก 

ข้อที่ 4  รัฐบาลไม่อาจได้รับชัยชนะทางการทหารเหนือฝ่ายกบฏติดอาวุธโดยไม่สร้างความสูญเสียทางสังคมอย่างมหาศาลกับประชาชนทั่วไปได้

ข้อที่ 5 การดำเนินกระบวนการสันติภาพกับฝ่ายกบฏซึ่งพร้อมที่จะเจรจาสามารถที่จะโดดเดี่ยวพวกสุดโต่งและหัวรุนแรงได้

ข้อที่ 6 รัฐบาลที่มีความเหนือกว่า อาจจะชนะการสู้รบได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถชนะสงครามนี้ได้ ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถเอาชนะใจของผู้ที่ประสบความไม่ยุติธรรมและถูกกีดกันได้   

ข้อที่ 7 ความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติบนเกาะมินดาเนา และการเคารพและการยอมรับความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้สามารถช่วยสร้างสันติภาพได้

และข้อสุดท้าย  แม้ว่ากระบวนการสันติภาพจะยากกว่าการเหนี่ยวไกปืนเพื่อทำสงคราม แต่ผลของสันติภาพที่ได้มาจากการเจรจาเพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกันนั้นจะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนามากกว่า และยั่งยืนมากกว่า

การพูดคุยไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทางไปสู่สันติภาพโดยผ่านการเจรจานั้นไม่ง่ายเมือน “การเดินเล่นในสวน”   การต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้ละทิ้งกระบวนการปกติในการแก้ไขปัญหาไปแล้วกับฝ่ายรัฐที่จะต้องยึดถือกระบวนการนั้น (เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์ที่ฝ่ายกบฏไม่ยอมรับ) ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย

คำถามคือ ในเมื่อการตกลงกันยากขนาดนี้ การดำเนินการตามข้อตกลงจะยากกว่าขนาดไหน ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ลงนามกันไปแล้วและการตอบสนองต่อความคาดหวังที่สูงมากของทุกฝ่าย  ผมได้เห็นกรณีตัวอย่างในข้อตกลงสันติภาพกับฝ่าย MNLF ภายใต้การนำของนาย Nur Misuari ซึ่งยังคงประสบปัญหาในการปฏิบัติตามข้อตกลงจนถึงทุกวันนี้

สำหรับข้อตกลงกับฝ่าย MILF เรายังไปไม่ถึงขั้นตอนนั้น  จนถึงวันนี้ เรายังคงรอร่างกฎหมายจากทำเนียบประธานาธิบดี Malacanang  ซึ่งหากรัฐสภาลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ เราก็สามารถจะเดินหน้าต่อไปได้

ผมอธิบายกับเพื่อนผมว่าเส้นทางของพวกเรายังอีกยาว  เขายื่นขวดเครื่องดื่ม SanMig Lite เสมือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเขาพอใจกับสิ่งที่ผมได้พูด  ตอนนั้น ผมก็เพิ่งรู้สึกว่า ผมพร้อมที่จะดื่มอีกซักขวดหนึ่ง

000

หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ของ MindaNews ซึ่งเป็นสื่อทางเลือกที่ตั้งอยู่ที่เกาะมินดาเนาซึ่งรายงานเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์และกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมักจะถูกละเลยจากสื่อกระแสหลัก โดยเผยแพร่ในเซคชั่น MindaViews ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่ MindaNews เตรียมจัดเตรียมไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนทัศนะ บทความชิ้นเดียวกันนี้เคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อมูลนิธิ Advocacy MindaNOW ซึ่งผู้เขียนนาม Jesus “Jess” Dureza ดำรงตำแหน่งประธานและผู้บริหาร (คลิกที่นี่) การแปลบทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว

สำหรับเจสเองนั้น เขาเคยทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในทำเนียบประธานาธิบดี Malacanang มาก่อน ปัจจุบันนี้ เขาเป็นประธานสถาบันสื่อมวลชนแห่งประเทศฟิลิปปินส์  ซึ่งเป็นสมาคมนักข่าวและหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ ทุกท่านสามารถติดต่อกับเขาทางอีเมล์ได้ที่  [email protected]