"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"
สภาประชาสังคมชายแดนใต้ขับเคลือการกระจายอำนาจในรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษชายแดนใต้โดยมีการลงเวทีให้ความรู้และถอดบทเรียน 100 กว่าเวที ในสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาพบว่าได้รับการต่อต้านจากฝ่ายรัฐ ราชการแต่เมื่อดูผลสรุปการจัดเวทีประชาชนและกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆพบว่ารูปแบบที่สำรวจในการปกครองที่นี่เลือกการบริหารในรูปแบบศอ.บต.คิดเป็น ร้อยละ32.2 ในขณะที่การเลือกตั้งในโมเดลต่างๆไม่ว่ามหานครและสามนคร หากแยกกันจะได้ร้อยละน้อยกว่าการบริหารในรูปแบบ ศอ.บต. แต่ถ้าเอารูปแบบเลือกตั้งในรูปแบบมหานครและสามนครจะได้ร้อยละ 51.8 ที่เหลือจะเป็นรูปแบบทบวงกับทางเลือกอื่นๆ
แต่ไม่ว่ารูปแบบใดประชาชนอยากได้ผู้นำที่มาจากการกำหนดหรือเลือกตั้งของพวกเขาถึงแม้จะมีความกังวลในเรื่องการใช้เงินซื้อเสียงเพราะเหตุผลดังนี้
1) สะท้อนการเคารพต่ออัตลักษณ์และวิถีชีวิตของผู้คนในทุกชาติพันธุ์และศาสนา ตลอดจนความภาคภูมิใจในตัวเอง ทั้งในแง่วัฒนธรรมภาษาและประวัติศาสตร์
2) สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งฝ่ายบริหารปกครองและนิติบัญญัติในท้องถิ่น (สภา)ซึ่งต้องมีความเกาะเกี่ยวยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ผ่านการเลือกตั้ง
3) สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งพอจะให้หลักประกันได้ว่ารัฐจะสนับสนุนทั้งต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและการหนุนเสริมให้การบริหารปกครองโดยท้องถิ่นมีความยั่งยืนในอนาคต
4) สะท้อนถึงการเปิดโอกาสทางการเมืองและให้ที่ยืนแก่ผู้คน ทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ซึ่งเป็นชาวไทยพุทธและชาวจีนรวมไปถึงการเสริมบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการทางการเมืองดังกล่าวทั้งนี้เพื่อให้มีหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่หลากหลาย (โปรดดู รอมฎอน ปันจอร์. 2556. ชายแดนจัดการตนเอง สืบค้นจาก http://www.reform.or.th/2014/wp-content/uploads/ตัวเลือกชายแดนใต้-561113.pdf)
จากผลสรุปดังกล่าว มติสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในปี 2557 จึงได้ปรับแผนการกระจายอำนาจในรูปแบบการปกครองพิเศษเป็นการสร้างการจัดการตนเองที่ชุมชนเป็นหลักและรูปธรรมก่อนเพื่อความยั่งยืนหากเกิดการปฎิรูปทางการเมืองในเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่ซ้ำซ้อนระหว่างส่วนภูมิภาคและการปกครองส่วนท้องถิ่น
ทัศนะนี้สอดคล้องกับทัศนะหมอประเวศ วะสี ซึ่งท่านกล่าวว่า “การปฏิรูปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ทางออกประเทศไทย รากฐานแข็งแรงนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ การปรับโครงสร้างลดอำนาจรัฐ-คืนอำนาจให้ประชาชน...ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศไทย ถ้าฐานแข็งแรง ประเทศไทยจะมั่นคง เป็นการอภิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งมีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้มาก่อนที่กระแสปฏิรูปประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างปัจจุบัน เพราะมองเห็นว่าการปฏิรูปประเทศคือ การปรับรูปโฉมใหม่ โดยการสร้างรากฐานที่แข็งแรง เมื่อคนในชุมชนทำงานเรื่องดีๆ มากขึ้น ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแน่นอน
ท่านยังกล่าวเสริมอีกว่า "ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นประวัติศาสตร์ว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศ คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ทั้งในรูปชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ได้จัดการตนเอง ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองทั่วประเทศ รวมทั้งมีการจัดทำธรรมนูญจัดการตนเองในแต่ละจังหวัด ซึ่งฐานผู้นำชุมชนเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในฐานการพัฒนาของประเทศ ซึ่งอนาคตผู้ที่จะทำงานการเมืองระดับประเทศ จะต้องผ่านการเมืองระดับท้องถิ่นมาก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าทุ่มเททำงานอย่างแท้จริง" (คัดลอกจาก http://www.thairath.co.th/content/407254)
สำหรับการดำเนินงาน 3 ปี 2557-2559 ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้คัดเลือก 10 ชุมชน ก่อนเบื้องต้นคือสงขลา 2 ชุมชน บ้านพลี อำเภอนาทวี และสะกอม อำเภอนจะนะ ปัตตานี 2 ชุมชนคือ บ้านละแวง อำเภอไม้แก่นและ บ้านเขาตูม อำเภอยะรัง นราธิวาส 2 ชุมชนคือบ้านบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ และ บ้านกะลุวอ อำแภอเมือง และสุดท้ายจังหวัดยะลามีสามชุมชน คือบ้านยุโป บ้านท่าสาบ อำเภอเมืองและบ้านจารังตาดง อำเภอรามันโดยขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
1. สำรวจข้อมูลพื้นฐานชุมชน
2. นำผู้นำแต่ละชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เบื้องต้น
3. สร้างหลักสูตร
4. อบรมวิทยากรกระบวนการแต่ละชุมชน ชุมชนละ 7 คน
5. ลงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองโดยคาดหวัง ดังนี้
- จำนวนชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการตนเองด้านต่างๆ อาทิ ด้านความมั่นคงทางอาชีพ ความมั่นคงทางการปกครอง ด้านการจัดการศึกษา การจัดการความขัดแย้ง การจัดสวัสดิการชุมชน เป็นต้น
- จำนวนประชาชนที่มีส่วนร่วมในเวทีประชาคมหมู่บ้าน หรือเวทีอื่นๆ ของชุมชน
- จำนวนชุมชนที่สามารถนำหลักการถ่วงดุลอำนาจ และหลักธรรมมาภิบาล ( หลักความสุจริต ความรับผิดชอบ หลักการตรวจสอบ หลักการมีส่วนร่วม หลักนิติธรรม และหลักความคุ้มค่า) มาใช้ในการจัดการชุมชน
- จำนวนทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้รับการดูแลและจัดการโดยชุมชน
- จำนวนผู้นำที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและมีความสามารถในการบริหารจัดการชุมชน
6. ความสามารถในการจัดการข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ของชุมชน