ผู้เขียน ; อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
“การแก้แค้นคือความจริง
ความสมานฉันท์คือเรื่องเพ้อฝัน
การให้อภัยคือคำเทศน์สั่งสอน
การล้างแค้นคือการปฏิบัติ
การเยียวยาคือความคิดหวัง
แต่การทำร้ายคือสิ่งที่กระทำกัน”
Rajmohan Gandhi , The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History, Toyota Foundation ,1999 , P 23
ปากีสถานกับการทำให้เป็นชุมชนรัฐอิสลาม (The Islamicisation of Pakistan)
ปากีสถานได้ก่อตั้งเป็นประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสันเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1947 ด้วยการปลดแอกจากการปกครองของอาณานิคมของอังกฤษได้สำเร็จ ซึ่งแยกเป็นปากีสถานตะวันตก (ปัจจุบันคือ ประเทศปากีสถาน)และปากีสถานตะวันออก(ปัจจุบันคือ ประเทศบังคลาเทศ) ดินแดนผืนนี้ได้รวมผู้คนหลายอัตลักษณ์ไว้ในที่เดียวกันผ่านอาณาเขตที่ได้รับการแบ่งสันปันส่วนจากประเทศล่าเมืองขึ้นซึ่ง มูฮัมหมัด อาลี ญินนะ (Muhammad Ali Jinnah) เป็นผู้นำในการแยกประเทศของปากีสถาน (Gerhard Bowering , 2013;404) สำหรับปากีสถานตะวันออกได้แยกอย่างขาดสะบั้นจากปากีสถานตะวันตกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1971 ซึ่งเช็ค มุญีบุรเราะฮฺมาน (Shaik Mujiburrahman) เป็นผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพดังกล่าวผ่านการสนับสนุนของรัฐบาลอินทิรา คานธี (Gerhard Bowering , 2013;62)
การพยายามทำให้เป็นปากีสถานเกิดจากแรงขับเคลื่อนของผู้นำคนสำคัญของชาวปากีสถานที่ได้รับการยอมรับให้เป็นวีรบุรุษ นั่นก็คือ อัลลามะ มูฮัมหมัด อิกบาล (Allamah Muhammad Igbal) ผู้เป็นทั้งนักคิด นักกวีและนักปรัชญาของอนุทวีป ซึ่งท่านได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ การปกครองตัวเองด้วยการลุกขึ้นพูดในที่ประชุมของพรรคการเมืองมุสลิมลีก (Muslim League) ในปี 1930
“ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเห็นเมืองปัญจาบ แผ่นดินตะวันตกเฉียงเหนือ เมืองซินด์และบาลูจิสถาน รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการปกครองตัวเองภายใต้อาณานิคมของอังกฤษหรือปลดตัวเองออกจากประเทศอาณานิคม เพราะเป้าหมายสูงสุดของมุสลิมคือต้องการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว” (Muhammad Ali Chaudari, 1986;23-24)
เพราะเป้าหมายของการทำให้เป็นปากีสถาน ไม่เพียงเฉพาะอัตลักษณ์และอุดมการณ์แห่งศาสนา แต่จะทำให้เป็นบ้านของชาวมุสลิมในอนุทวีป และเพื่อปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมในสังคมส่วนมากที่เป็นชาวฮินดู ด้วยเหตุนี้ปี 1940 อุดมการณ์หลักอย่างหนึ่งของพรรคมุสลิมลีก นั่นก็คือ การพยายามทำให้ปากีสถานเป็นรัฐอิสลาม และเป้าหมายของพวกเขาสำเร็จลุล่วงไปด้วยความโหดร้ายและการนองเลือดครั้งใหญ่ในอนุทวีปช่วงปี 1947
งานวรรณกรรมชิ้นสำคัญ ของกุชวัน ซิงห์ (Kushwan Singh) ผู้ล่วงลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้เขียนอธิบายไว้ตอนหนึ่งอย่างละเอียดผ่าน รถไฟไปปากีสถาน ( The Train to Pakistan) ว่า “เดือนสิงหาคมของปี 1947 อากาศร้อนปกติ ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา แต่ความร้อนของห้วงยามนี้ มันระอุและเดือดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันคือเดือนแห่งการนองเลือดครั้งใหญ่ของพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงในประเทศนี้ อายร้อนได้แผดคลุมไปยังทั่วทุกหัวระแหง การสาดหยดเลือดใส่กันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันจึงโมงยามที่ร้อนแบบบ้าคลั่งของแผ่นดินภารตะ”
ซึ่งไม่ต่างกับ Rajmohan Gandhi ได้กล่าวใน The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History ว่า “ปี 1947 เป็นห้วงยามรอยต่อของการมอบของกำนัลให้แก่กันด้วยหยดเลือด เพื่อนที่คุณเคยร่วมดื่มกินและไปมาหาสู่กัน ได้หยิบยื่นความตายให้แก่กัน”
ปากีสถานเป็นชื่อประเทศที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซียซึ่ง ปากีสถาน (Pakistan) คือ “แผ่นดินบริสุทธ์” (Land of the Pure)หรือ”แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์”(Holy land) ในมุมมองของคนปากีสถาน แต่ในพื้นที่เหล่านั้น กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง กระทั่งการหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ผ่านฤดูกาลแห่งการเหยียดอัตลักษณ์ระหว่างกัน
กระแสการตื่นตัวของอิสลามในปากีสถานและการทำให้เป็นรัฐอิสลามนั้นเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนในยุดสมัยของ รัฐบาลทหาร อย่างนายพลซัยอุล ฮัก (Zia ul Hagg) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซัย ได้พยายามว่า
“รัฐปากีสถานก็ไม่ต่างจากรัฐอุดมการณ์ของชาวยิวที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาได้นำแนวคิดของยิวออกจากรัฐ ก็จะทำให้รัฐของพวกเขาไร้เสถียรภาพ ซึ่งไม่ต่างจากปากีสถาน เมื่อนำเอาอิสลามออกไป ผลที่ตามมาคือ การล่มสลายแห่งรัฐ เช่นกัน”
แนวคิดนี้กลายเป็นแนวคิดแห่งรัฐของรัฐในอุดมคติ เพราะมันก่อตั้งด้วยพื้นฐานแห่งอุดมคติ เพราะในมุมมองของซัย การนำรัฐอิสลามออกจากปากีสถานก็จะทำให้รัฐไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งซัยมองว่า ทางเดียวที่จะทำให้รัฐไม่ป่วยไข้ นั่น คือ การทำให้รัฐเป็นรัฐแห่งอุดมคติ ซึ่งซัยเป็นผู้นำคนสำคัญที่พยายามทำให้รัฐอิสลามเป็นรัฐแห่งสังคมปากีสถานอย่างจริงจัง แม้หลายคนจะมาเอาด้วยกับแนวความคิดนี้ แต่ ซัยเองก็มองในมุมที่ว่า
“เมื่ออุดมการณ์แรกเริ่มของรัฐปากีสถานที่แยกออกมาจากอินเดียซึ่งว่าด้วย รัฐที่มีหลักการอิสลามเป็นฐานที่มั่น แล้วทำไมที่ผู้คนในรัฐถึงไม่มองให้อิสลามเป็นสำหลักแห่งการดำเนินชีวิต เมื่อคุณมองรัฐด้วยเป้าหมายแรกแห่งการเป็นอิสลาม คุณก็ต้องมองต่อไปอีกว่า ระบบอิสลามคือ อิริยะวัตรเบื้องต้นของสังคมมุสลิม ซึ่งหลักการอิสลามก็คือ รากฐานที่สำคัญของประเทศ ภายใต้ความเชื่อของคนที่เชื่อมั่นไม่ต่างจากวันแรกที่ก่อตั้งรัฐ” (Surendra Chopra and Kusum Lata Chadda, 2009;28-29)
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1978 เอ.เค. โบรฮี (A.K. Brohi) ที่ปรึกษาของนายพลซัยอุลฮัก ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ซัยต้องทำการปฏิวัติสังคมปากีสถานด้วยการยึดอำนาจจากซุลฟิการ์ อาลี บุตโต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1977 ว่า นายพลมีแนวคิดที่จะสร้างรัฐอิสลามแห่งอุดมการณ์ของปากีสถานให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน (to put the country on the Islamic system)
หลักการพื้นฐานที่นายพลได้วางจังหวะในการก้าวไปสู่รัฐอิสลามของปากีสถานนั่นก็คือ การตั้งสภาที่ปรึกษาของประเทศใต้อุดมการณ์พื้นฐานแห่งอิสลามในการตีความและนำหลักการอิสลามมาใช้
ประการถัดมา คือ การนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ โดยเฉพาะการก่ออาชญากรรม การลักขโมยและการผิดประเวณี
ประการสุดท้าย คือ การเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้หรือปราชญ์เข้ามีมีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบการเมืองเพื่อให้คนเหล่านั้นได้นำหลักการศาสนามาปรับปรุงระบบการบริหารของรัฐบาล
ความพยายามของนายพลเพื่อสร้างรัฐอิสลามในประเทศปากีสถาน ด้วยการนำหลักการอัลกุรอ่านและอัลฮาดิษมาเป็นตัวบทหลักในการพิจารณาของขบวนการศาลและการไต่สวนคดีความต่าง ๆ ซึ่งในปี 1979 ได้การก่อตั้งศาลฏีกาและศาลสูง
นายพลได้นำหลักการอิสลามมาอธิบายให้สังคมเข้าใจด้วยการให้ผู้คนในรัฐตระหนักเรื่องการละหมาด 5 เวลาและการรวมตัวกันเพื่อละหมาดวันศุกร์ในสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานที่ราชการได้มีการรวมตัวกันละหมาดในแต่ละวัน ซึ่งหัวหน้าของแต่ละหน่วยงานต้องเป็นผู้นำละหมาด
การกำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการของหน่วยงานราชการในประเทศ ส่วนภาคธุรกิจมีอิสระในการกำหนดและหาวันหยุดของตัวเอง แต่นายพลพยายามเรียกร้องและขอความร่วมมือจากหน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ จัดสถานที่ละหมาดตอนกลางวันในสำนักงานและรวมตัวกันเพื่อละหมาดวันศุกร์(Surendra Chopra and Kusum Lata Chadda, 2009;29-30)
สถาบันศาสนาได้รับการสนับโดยตรงจากมลรัฐต่าง ๆ การโฆษณาเกี่ยวกับกิจการทางด้านศาสนาและการสอนศาสนา ตลอดจนการเรียกร้องให้เคารพศาสนาต่าง ๆ ได้รับการตระหนัก จน กิจกรรมพื้นฐานของศาสนาได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ใต้รัฐบาลนายพล
การพื้นฟูอิสลามได้กลายเป็นหน้าที่ของมุสลิมในสังคมที่ต้องตระหนัก จนกฎหมายทหารได้ควบคุมและเน้นย้ำให้สถานประกอบการให้ความสะดวกกับแรงงานในการละหมาดแต่ละเวลาด้วยความราบรื่น การดื่มและกินอย่างโจ่งแจ้งในเดือนรอมฏอนถือเป็นความผิดร้ายแรง รัฐบาลควบคุมสื่อเพื่อนำเสนอกิจกรรมและข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับศาสนาให้พลเมือง
แนวคิดอิสลามถูกนำเสนอผ่านหนังสือเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ พร้อมกำหนดให้ภาษาอุรดูเป็นภาษาราชการของประเทศ (Urdu as a national language) การศึกษาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามได้กลายเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนมุสลิมที่ต้องได้รับการศึกษา และมีการสร้างมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาหญิงโดยเฉพาะ(Surendra Chopra and Kusum Lata Chadda, 2009;30-31)
บทเรียนจากรัฐอิสลามแบบปากีสถานกับการจัดการเรื่องชนกลุ่มน้อย
ความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์-อิสลาม ตามหมึกพิมพ์แห่งประวัติศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักคิดและนักปรัชญาคนสำคัญของคริสต์ได้หันมาศึกษาอิสลามอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 13 ผ่านการแปลงานภาษาอาหรับและการเรียนการสอนภาษาอาหรับในสถาบันต่าง ๆ ทั่วยุโรป หนึ่งในนักปรัชญาชาวคริสต์ที่โด่งดังในสมัยนั้น คือ นักบุญ โทมัส อเควนัส (St. Thomas Aquinas) ได้เป็นหนึ่งในผู้ศึกษางานเขียนของอิหม่ามฆอซาลี (Al-Ghazali 1058-1111) อย่างเข้มข้นเพื่อปรับทัศนคติและศึกษาปรัชญาแบบอิสลาม (Gerhard Bowering , 2013;94)
ชาวคริสต์ได้เริ่มเข้ามาอาศัยในพื้นปากีสถานตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 1 กฎหมายรัฐธรรมนูญของปากีสถานปี 1973 ได้ให้การดูแลจัดการและรับรองกับชนกลุ่มน้อยอย่างเท่าเทียมในความต่างแห่งอัตลักษณ์และชาติพันธุ์ เพราะในประเทศนี้มีประชากรที่เป็นมุสลิมและศาสนาอื่น ๆ รวมกัน
พัฒนาการของชาวคริสต์ในปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการสำรวจเมื่อปี 1981 ประชากรชาวฮินดูประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งประมาณ 99 เปอร์เซ็นอาศัยในเมืองซินด์ ส่วนชาวคริสต์ประมาณ 1.36 ล้านคน ประมาณ 1 ล้านคนในเมืองปัญจาบและ 2 แสนคนในเมืองซินด์ ส่วนประชากรที่เหลือก็อาศัยอยู่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศ (Kalim Bahadur, 1998;319-321) ปัจจุบันชาวปากีสถานประมาณ 196,174,380 คน มุสลิมประมาณเกือบ 97 เปอร์เซ็น ศาสนารองลงมาคือ คริสต์ 1.8 เปอร์เซ็น หรือ ประมาณ 2,700,000 คน และฮินดู 1.6 เปอร์เซ็น หรือ ประมาณ 1,800,000 คนตามลำดับ
ส่วนศาสนาอื่น ๆ คือ พุทธ ประมาณ 106,989 คน ซิกห์ ประมาณ 30,000 คน และโซโรแอสเตอร์ ประมาณ 25,000 คน ยิว ประมาณ 200 คน ส่วนที่เหลือ คือ นับถือบรรพบุรุษ บาไฮและอื่น ๆ (Library of Congress, 2005 ; 2-8)
ชาวคริสต์ในปากีสถานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการสร้างสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลของบุตโต ผู้เป็นพ่อ ในปี 1972ได้สนับสนุนให้ระบบการศึกษาของประเทศและให้ชนกลุ่มน้อยได้เข้าถึงการศึกษา เช่น Forman Christian College ,Lahore Gordon College, Rawalpindi and Murray College (Kalim Bahadur,1998;319-321) โรงเรียนของชาวคริสต์ในปากีสถานก็นับเป็นอีกหนึ่งความเด่นชัดในการสนับสนุนของรับอิสลาม จนกระทั่ง โรงเรียนของชาวคริสต์กลายเป็นโรงเรียนอันดับต้น ๆ ของประเทศ หนำซ้ำผู้นำคนสำคัญของประเทศก็ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนดังกล่าว (Theodore Gabriel, 2007;13.)
ในมุมมองของชาวคริสต์ปากีสถานมองว่า
ปัญหาที่ชาวคริสต์ได้รับไม่ต่างกันนั่นก็คือ คู่มือตำราเรียนที่นักเรียนชาวคริสต์สามารถเรียนได้ตั้งแต่ระดับปฐมศึกษาถึงชั้นระดับ 8 และตั้งแต่ชั้นระดับ 9 นักเรียนชาวคริสต์จะต้องเลือกวิชาเรียนนั่นก็คือ วิชาอิสลามศึกษา (Islamic) หรือ หน้าที่ของพลเมือง (Civics) แต่การเลือกเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองมักทำให้คนะแนนของพวกเขาอยู่ในเกณฑ์ต่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากครูผู้สอนที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับนักศึกษามุสลิมที่จะได้รับการเลือกปฏิบัติจากครูมุสลิม (Theodore Gabriel, 2007;13.)
บาทหลวงมาลิก ได้กล่าวว่า "เขาพยายามสนับสนุนให้เด็ก ๆ ชาวคริสต์ศึกษาอิสลาม ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจอิสลามและได้คะแนนมากขึ้น ซึ่งการที่เด็กชาวคริสต์เข้าใจอิสลาม ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้พวกเขาเข้าใจความต่างของศาสนาได้มากขึ้น"
ในมุมมองของชาวคริสต์ได้บอกว่า "ในคู่มือตำราเรียนได้เขียนระบุว่า ประชากรของปากีสถานทั้งหมดเป็นมุสลิม ซึ่งตำราเรียนเหล่านี้รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ บาทหลวงอาซารีอะ (Azariah) ได้ยกตัวอย่างถึงข้อกังขาอย่างหนึ่งที่ว่า “ใครอาศัยอยู่ในปากีสถาน” คำตอบคือ “มุสลิม” ซึ่งส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ได้เขียนขึ้นมาจากตำราของชาวมุสลิมในปากีสถานนั่นก็คือ ชาวมุสลิมเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ พยายามนำเสนอชาวคริสต์ไปในทางเชิงลบผ่านปรากฏการณ์สงครามคูเสด ซึ่งชาวคริสต์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเขียนตำราเรียนดังกล่าว" (Theodore Gabriel, 2007;13.)
ไม่ต่างกันมากในประเด็นเหล่านี้ ที่นักบูรพาคดี (ชาวต่างศาสนิกที่ศึกษาอิสลาม หรือ เราเรียกว่า Orientalists)ได้สำแดงให้เห็น เมื่อพวกเขาเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์เอง
อิสลามก็ได้กลายเป็นศาสนาที่แปลกแยกและน่าขยะแขยงเต็มในสายตาของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้มองอิสลามในแบบของพวกเขาที่ว่า มูฮัมหมัดก็ไม่ใช่คนอื่น นอกจากศาสดาจอมปลอมที่กุตัวเองขึ้นมาในการเป็นศาสนาเพื่อลวงโลก หรือ กุรอ่านเป็นแค่เพียงหนังสือที่ปลอมแปลงขึ้นมาด้วยการคัดลอกเลียนแบบมาจากคัมภีร์ก่อนหน้าของศาสดามูซา หรือ อิสลามไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นศาสนาแห่งความรุนแรงซึ่งพวกเขาได้นำเสนอเกี่ยวกับสงครามศักดิ์สิทธิ์ และประการสุดท้ายคือ คนมุสลิมมีรสนิยมทางเพศค่อนข้างสูงและรุนแรงด้วยการมีภรรยาได้ถึง 4 คน
ความโหดร้ายของผู้เขียนประวัติศาสตร์ชาวคริสต์ในประเทศมุสลิมอย่างปากีสถาน หรือ ความบิดเบี้ยวของการนำเสนอประวัติศาสตร์อิสลามจากผู้เขียนที่ชื่อว่า นักบูรพาคดี ผ่านงานเขียนชื่อ มองอิสลามผ่านแว่นขยายของนักบูรพาคดี (Islam in the eye of Orientalists) ของ อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม (The Effort ; 2556 ; 36-47) นับเป็นประเด็นปกติอย่างมากของผู้เขียนประวัติศาสตร์ ที่มักนำเสนอ โลกในสายตาของตัวเอง
กระนั้น ประวัติศาสตร์ที่รอการเขียนของพลเมือง นับเป็นคำให้การที่สำคัญ เพราะนั่นคือ ประวัติศาสตร์ที่เอาวิถีของเราที่ต้องอยู่ร่วมกัน ด้วยการให้ที่ยืน ที่ย่างและทางไปกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
(ติดตาม ตอนสุดท้าย เร็ว ๆ นี้ )
อ่านตอนที่ 1
http://www.deepsouthwatch.org/node/6061
อ่านเพิ่มเติม
Bahadur, Kalim, Democracy in Pakistan crises and conflict, New Delhi ; Har-Anand Publication, 1998.
Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ; Princeton University Press, 2013.
Chopra Surendra and Kusum Lata Chadda, Islamic Fundamentalism, Pakistan and The Muslim World, New Delhi ; Kanishka Publisher, 2009.
Gabriel, Theodore, Christian Citizens in an Islamic State ; The Pakistan Experience, Hampshire ; Ashgate, 2007.
Gandhi, Rajmohan, The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History, Toyota Foundation ,1999
Gibb, H.A.R. และ Kramers, J.H. , Shorter Encyclopaedia of Islam (The Royal Netherlands Academy), New Delhi ; Pentagon Press,2008.
Jacobson Jassica , Islam in transition ; religion and identity among British Pakistan Youth, London ; Routledge, 1998.
Naqavi, Syed Ali Muhammad, Human Right in Islam and in the Sirah of Prophet Muhammad (P.B.U.H.), New Delhi ; Iran Culture House, 2008.
ยูสุฟ อัล-ก็อรฏอวีย์, มูฮัมหมัด ศิรอญุดดีน (แปล), ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามกับการท้าทายของยุคสมัย , กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์อิสลามิค อะเคเดมี,2546.
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, ไดอาล็อคบน “ลาดักห์” ความต่างบนความสูง 3250 เมตร, ใน นิตยสารนิสา วาไรตี้ ปีที่ 13 ฉบับที่ 132 เดือนสิงหาคม 2555 หน้า 42-47
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม , มองอิสลามผ่านแว่นขยายของนักบูรพาคดี (Islam in the eye of Orientalists) ,ใน สมาคมนักเรียนไทยในประเทศอินเดีย, The Effort , 2556 ; 36-47
ผู้เขียน ;
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม บ้านเกิดริมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานีอยู่ 4 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์ การปกครอง ก็ได้ย้ายรกรากมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร แห่งประเทศดินเดีย ชอบการอ่านและการเขียน แต่ด้วยความเป็นแค่นักฝึกเขียน จึงไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์รวมเล่มเป็นของตัวเอง ปัจจุบัน ยังใช้ชีวิตอยู่ประเทศอินเดียด้วยการศึกษา มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ ประเทศอินเดีย (เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2557 ณ หอสมุดเมาลาอาซัด, เมืองอาลิการ์, ประเทศอินเดีย)