วันพรุ่งนี้แล้ว วันที่ 18 กย. สกอตแลนด์จะลงประชามติว่าจะแยกหรือจะอยู่กับอังกฤษหรือ United Kingdom
ทุกฝ่ายจะจับตาการลงประชามติหนนี้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หนทางการเปลี่ยนแปลงด้วยการสู้กันที่การรณรงค์และออกเสียงนั้นสำหรับพวกเขามันเป็นเรื่องแทบจะเหลือเชื่อ และคำถามสำหรับผู้คนจำนวนมากก็คือ ทำไมอังกฤษถึงได้ยอมให้ทำ
คำถามนี้เคยมีคนระบุไว้ว่า อังกฤษยอมให้ทำเพราะว่าไม่คิดว่าชาวสกอตจะออกเสียงแยกตัวจากอังกฤษ คิดว่าอย่างไรเสียก็คงจะอยู่กันต่อไปภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อีกอย่าง การรณรงค์ของกลุ่มออกเสียงแยกตัวในตอนแรกๆก็ดูไม่ค่อยเข้าท่า ยิ่งทำให้กลุ่มที่รณรงค์ให้ออกเสียงไม่แยก ยิ่งแน่ใจว่าการแยกตัวจะไม่เกิด
แต่พอนานวันเข้า ปรากฏว่ากระแสให้แยกตัวดันมาแรง คนตอบรับมากขึ้น และเริ่มตีคู่มากับพวกจะออกเสียงโน ทำให้ตอนนี้อังกฤษเริ่มรู้สึกเดือดร้อนกับผลการตัดสินใจอันนั้น
ข่าวชิ้นนี้ของนสพ.เดอะเทเลกราฟ ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นนสพ.ค่ายอนุรักษ์ของอังกฤษสะท้อนภาพอาการเดือดเนื้อร้อนใจของอังกฤษได้เป็นอย่างดี เพราะว่าในข่าวบอกว่าบรรดาสส.อังกฤษเริ่มแสดงอาการไม่พอใจนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนอย่างมาก มากจนถึงขั้นบอกว่า ถ้าสกอตแลนด์ออกเสียงแยกตัวจากอังกฤษจริง นายกฯควรจะต้องลาออก นสพ.บอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่นายคาเมรอนเจอเสียงเรียกร้องเช่นนี้
ตอนนี้อังกฤษเข็นสิ่งที่นสพ.เรียกว่าเป็นการ "ติดสินบน" สกอตแลนด์ออกมามากมายเพื่อจะให้ลงประชามติอยู่ด้วยกันต่อไป
ความไม่พอใจของบรรดาสส.อังกฤษส่วนหนึ่งน่าจะอยูที่ว่า นายคาเมรอนน่าจะเสนอทางเลือกอีกทางให้สกอตแลนด์แทนที่จะแค่ลงประชามติโหวตเยสหรือโนเท่านั้น แต่น่าจะมีหนทางที่สาม คือเสนอให้สกอตแลนด์มีอำนาจในการปกครองตัวเองมากขึ้น
ส่วนนายคาเมรอนก็บอกว่า เขาตัดสินใจถูกแล้ว คาเมรอนบอกว่า ตอนนั้นเขามีทางเลือกสองทาง คือยอมให้ทำประชามติ ยอมให้กำหนดทางเลือกที่เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่อย่างนั้น อีกอย่างที่เขาทำได้ก็คือ ปฏิเสธไป แต่ถ้าเขาไม่ยอมและบอกว่าไม่ให้ลงประชามติเขาก็เชื่อว่าหนทางในการหาทางแยกตัวของสกอตแลนด์อาจจะสั้นขึ้น แต่เขาบอกว่าการที่เขายอมให้ทำประชามติ มันคือการหาทางออกอย่างเป็นธรรม เด็ดขาด และเป็นทางออกที่เป็นไปได้ มีกฏหมายรองรับ
http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/scottish-independence/11100847/David-Cameron-says-he-has-no-regrets-over-handling-of-Scottish-referendum.html
ก็แน่นอนว่า นายคาเมรอนอาจจะย่ำแย่ถ้าผลการลงประชามติออกมาว่าสกอตแลนด์จะแยกตัว แต่อีกทางก็คงจะมีคนมองเห็นข้อดีของสิ่งที่เขาทำซึ่งนับเป็นความกล้าหาญทางการเมืองที่หลายคนคงบอกว่าหาไม่ได้ง่ายๆ
สิ่งที่พูดถึงกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ แรงสะเทือนจากการลงประชามติสกอตแลนด์
ว่ากันว่า ผลของการได้ลงประชามติในสกอตแลนด์จะเพิ่มความคึกคักให้กับคนที่อยากแยกตัวจากโครงสร้างการเมืองเดิมจำนวนไม่น้อย ที่กำลังจะไล่มาติดๆกันคือคาตาโลเนียที่จะลงประชามติกันด้วยเช่นกันในเดือนพย.นี้
ในบรรดาผู้คนที่อยากแยก หรืออยากมีอำนาจปกครองตนเองโดยแยกตัวเป็นอิสระนั้น อันที่จริงคงจะมีมากหลาย แต่จำนวนคร่าวๆที่มีคนรวบรวมและทำเป็นกราฟฟิคไว้ ก็คือ คาตาโลเนียกับแคว้น Basque ทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเสปน Veneto ในอิตาลี Flanders และ Wallonia ในเบลเยี่ยม ซินเจี๋ยงของจีน เคิร์ดในอิรัก Novorosiya ในยูเครน ควิเบคของแคนาดา
http://news.nationalpost.com/2014/09/16/graphic-as-scotlands-referendum-nears-a-selection-of-other-possible-successions/
ดังนั้นว่ากันว่ากระแสแยกตัวจะมาแรงหลังการลงประชามติหนนี้ เขาว่างั้น