ขอรวบรวม ความรัก ความเห็น คำอาลัย ที่หลายๆ ท่านมีต่อแบมะ
อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง พี่ชายอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้า มาลง ให้ทุกท่านได้อ่าน เพื่อร่วมรำลึก และดุอา ขอพร ให้แบมะ ของเราตลอดไป
รวบรวมโดย อัสรา รัฐการัณย์
23 กันยายน 2557
ปัตตานีร้องไห้
ร้องไห้เถิด ปัตตานี ร่ำไห้ไป
เพราะในวันนี้ เจ้าได้เสียบุรุษผู้ซึ่งรักและทุ่มเทมาตลอดทั้งชีวิตเพื่อเจ้า
บุรุษผู้เป็นแบบอย่าง บุรุษผู้มีเอกลักษณ์
บุรุษผู้ซึ่งมีจรรยามารยาทงดงาม
บุรุษซึ่งพร้อมจะใช้สองแขนโอบกอดและให้กำลังใจผู้คน
บุรุษซึ่งพร้อมและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกคน แม้ว่าคนๆนั้น จะอายุน้อย ด้อยประสบการณ์
บุรุษซึ่งมีรอยยิ้มที่จะมอบให้ทุกคนตลอดเวลา
บุรุษซึ่งพร้อมที่จะเสียสละทุกๆสิ่ง...เพื่อเจ้า...ปัตตานี
ร้องไห้เถิด ร้องไห้ไป ปัตตานี
ข้าจะไม่ว่าอะไรเจ้า
ข้าจะไม่ห้ามเจ้า
ข้าเห็นว่าสมควรแล้ว
ที่น้ำตาของเจ้าจะรดรินไหลลง เพื่อชายผู้นี้ บุรุษผู้รักเจ้า ...ปัตตานี...
ลาก่อนแบมะ ... แล้ววันหนึ่ง น้องชายคนนี้ ก็จะถูกอัลลอฮเรียกกลับไปเช่นกัน
สุดท้ายนี้ขอดุอาอฺจากอัลลอฮ ขอพระองค์ทรงตอบรับทุกกิจการการงานของแบมะและขอพระองค์ได้โปรดให้อภัยแก่ความผิดพลาดใดๆก็ตามของแบมะ และขอพระองค์ทรงทำให้อาลัมบัรซัคเป็นส่วนหนึ่งจากสวนสวรรค์แก่แบมะด้วยเถิด...آمين يارب العالمين
فخرالدين ابن عبدالعزيز يونس
ทราบข่าวการจากไปของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ตั้งแต่ช่วงเย็น ด้วยความเศร้าและทำให้หวนระลึกถึง...ปี 2541 คณะวิทยาการสื่อสารเพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ฉันเข้ามาทำงานเป็นปีแรก เริ่มภารกิจแบบหันรีหันขวางแบบไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี จนเพื่อนเก่า
Saronee Duereh มาชวนไปรู้จักกับอ.สมบูรณ์ ที่อยู่ใกล้กันแค่ช่วงตึก เราคุยกันถูกคอตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อรู้ว่าภูมิหลังฉันเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม อาจารย์เลยชวนไปนั่งคุยในรายการวิทยุที่อาจารย์จัดอยู่ที่สถานีวิทยุม.อ. นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันสัมผัสกับงานวิทยุกระจายเสียง และในช่วงนั้น เราพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อหาที่ยืนของคณะวิทยาการสื่อสาร
สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดได้ตอนนั้นคือเราต้องมีการเปิดตัวด้วยเวทีอะไรซักอย่างที่เกี่ยวข้องกับสื่อในพื้นที่ เราจึงจะจัดโครงการสัมมนาเกี่ยวกับบทบาทสื่อท้องถิ่น แต่ฉันไม่รู้จักใครซักคน ยังมองไม่เห็นว่าจะเชิญใคร ยังไง ใครจะมาพูด ใครจะมาฟัง อาจารย์สมบูรณ์อีกแหละที่ให้คำแนะนำและเชื่อมต่อฉันให้รู้จักกับ
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน นักข่าวท้องถิ่นผู้ทรงพลังในเวลานั้น รวมทั้งสื่อท้องถิ่นอื่น ๆ นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ฉันได้เริ่มสร้างเครือข่ายและขยายชื่อ "คณะวิทยาการสื่อสาร" เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของวงการสื่อในท้องถิ่น แม้ฉันจะไม่ได้ร่วมงานใกล้ชิดกับอาจารย์สมบูรณ์ แต่ก็ได้พบเจอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ รับความปรารถนาดีที่อาจารย์มีให้อยู่เป็นระยะ ๆ ครั้งสุดท้ายพบเจอพูดคุยกับอาจารย์ที่งาน CCPP อาจารย์ยังคงให้กำลังใจ และชื่นชมความเติบโตและการทำหน้าที่ของคณะวิทยาการสื่อสาร...ขอบคุณและจะระลึกถึงเสมอถึงพลังใจ พลังสร้างสรรค์ และคำแนะนำที่ช่วยเปิดโลกเปิดความคิดที่ได้รับจากอาจารย์ วันนี้แม้อาจารย์คืนกลับสู่ธรรมชาติ แต่คุณูปการที่อาจารย์สร้างไว้ยังคงจดจารงดงามอยู่ในใจคนข้างหลังเสมอค่ะ...
RIP อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
·
++ การเดินทางของ 'อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง' ++
"งานที่ลงแรงหลายสิบปีได้ก่อผลอยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน การกลับไปสู่ความเมตตาของเขาครั้งนี้ย้ำเตือนให้เห็นความเพียรพยายามและความอดทนเฝ้ารอ บางทีนี่อาจเป็นมรดกที่ อัฮหมัด สมบูรณ์ ได้ทิ้งไว้ให้สำหรับคนรุ่นหลัง นั่นคือการคิดถึงทางเลือกของการต่อสู้ต่อรองและการให้โอกาสกับวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด ดังที่ตัวเขาเองไดยืนยันสิ่งนี้ตลอดมา จวบจนลมหายใจสุดท้ายในโลกนี้"
·
อาลัย 'อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง' ผู้ชูงธงสันติภาพชายแดนใต้
- - - - - - - - - -
ฉันมีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานของ 'อ.อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง' ตั้งแต่ปี 2548 ช่วงเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนสันติวิธีของภาครัฐและภาคประชาสังคมด้วยกัน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)
และช่วงที่น่าประทับใจมากที่สุดคือ คือช่วงวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2556 อันเป็นช่วงเวลาที่ระเบิดลงเมืองปัตตานีหลายจุดหลังเหตุการณ์ "มะรอโซ" ไม่กี่วัน อ.อัฮหมัดสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่จัดกระบวนการเรียนรู้การสร้างสันติภาพชายแดนใต้และดูแลความปลอดภัยให้แก่ 'เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ (คศน.)' รุ่น 3
อาจารย์พาพวกเราลงพื้นที่ ณ ปอเนาะดาลอ เพื่อเข้าใจอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ และพาเราไปต่อยังค่ายทหารเพื่อพูดคุยกับรองแม่ทัพภาค 4 แม้จะต้องผ่านเส้นทางที่ใจหายใจคว่ำแต่พวกเราก็ปลอดภัยและเข้าใจ 'บรรยากาศของความขัดแย้งและความรุนแรงเชิงประจักษ์' ยิ่งนัก ในวันรุ่งขึ้น อาจารย์ยังช่วยนำกระบวนการสรุปการเรียนรู้และเล่าถึงเบื้องหลังและแรงบันดาลใจตั้งแต่ช่วงชีวิตที่ออกจากการเป็นนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย สู่การเป็นนักสร้างสันติภาพ
อาจารย์มีเจตจำนงที่แรงกล้าในการหาทางออกจากความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง อาจารย์เล่าถึงการต้องควักทุนทรัพย์ของตนเองในการเดินทางเพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี
อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ สอนเราด้วยการทำให้ดูว่าผู้ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องทุ่มเท มั่งมุ่น เป็นนักเรียนรู้และเป็นสะพานเชื่อมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้คนที่หลากหลายให้ได้ กล่าวอย่าง
Romadon Panjor
การเดินทางของ 'อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง' ++ "งานที่ลงแรงหลายสิบปีได้ก่อผลอยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน การกลับไปสู่ความเมตตาของเขาครั้งนี้ย้ำเตือนให้เห็นความเพียรพยายามและความอดทนเฝ้ารอ บางทีนี่อาจเป็นมรดกที่ อัฮหมัด สมบูรณ์ ได้ทิ้งไว้ให้สำหรับคนรุ่นหลัง นั่นคือการคิดถึงทางเลือกของการต่อสู้ต่อรองและการให้โอกาสกับวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด ดังที่ตัวเขาเองไดยืนยันสิ่งนี้ตลอดมา จวบจนลมหายใจสุดท้ายในโลกนี้"
ขอไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อ อ.อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักสร้างสันติภาพคนสำคัญและครอบครัวอย่างสุดซึ้งค่ะ
ไม่ต้องถามนะครับว่า ว่าทำไมกูโบร์ของเจ้าเมือง ราชา ถึงไม่มีใครดูแล เพราะในอิสลามเมื่อเสียไป ไม่มีอะไรแล้วนอกจากความดี ผลบุญเท่านั้นที่จะพาไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮ์ และที่สำคัญดินที่จะฝังศพไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเป็นดินจากที่ใด
คำพูดที่อาเยาะมะ บรรยาย เกี่บวกับกูโบร์ ราชา เจ้าเมืองปาตานี ให้กับพี่น้องต่างศาสนิกเข้าใจ ครั้งที่ท่านเป็นวิทยากร บรรยายประวัติศาสตร์ปาตานีให้กับชาวต่างชาติที่มาในงาน CCPP
อินนาลิลาฮ วาอินนาอีลัยฮีรอญีอุน
ขอไว้อาลัยอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
เริ่มรู้จักอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงเมื่อลงทำข่าวในปัตตานีครั้งแรกๆให้กับบีบีซี หลังเหตุการณ์การปล้นปืน
มันเป็นการเดินทางของคนแดนไกลที่แสวงหาความเข้าใจในปัญหาภาคใต้ จากบริบทของคนนอก ที่บ้านไกลและเวลาน้อย คนที่มีความรู้เรื่องภาคใต้เพียงหยิบมือ อาจารย์อัฮหมัดเป็นคนที่ทำให้เราเริ่มเข้าใจพื้นที่มากขึ้น ให้ภาพของปัญหาและให้บริบทของคนใน เราได้ลงนั่งพูดคุยกันอย่างยาวนานที่ห้องทำงานเล็กๆห้องนั้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สิ่งที่จำได้คือเนื้อหาที่อาจารย์พูดถึงเรื่องของอัตลักษณ์ และเอาบทความที่เขียนออกมาให้นำติดไม้ติดมือกลับบ้าน
ถ้าจะเปรียบไปแล้ว อาจารย์อัฮหมัดก็คืออาจารย์เรื่องภาคใต้คนแรกๆของเรา และเชื่อว่าอาจารย์คงจะทำแบบนี้กับอีกหลายคนที่เหยียบย่างเข้ามาในพื้นทีนี้ อาจารย์ใช้เวลาอย่างยาวนานหลายชั่วโมงนั่งพูดคุยกับเราในแต่ละครั้งเพื่ออธิบายเรื่องราวต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านไปหลายปี ในยุคที่อาจารย์เป็นสมาชิกคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ หรือหลังจากอาจารย์เลิกทำงานอบต. เราก็ยังไปพูดคุยกับอาจารย์อีกยาวนานไม่แพ้ตอนแรกๆเพื่อขอให้อาจารย์ช่วยสะท้อนบทเรียนของการเข้าไปทำงานการเมืองท้องถิ่นว่ามันเวิร์คไหมสำหรับอาจารย์ ดูเหมือนว่านักเรียนยิ่งเรียนยิ่งมีคำถาม ครูก็ยิ่งต้องทำงานหนักเรื่อยๆ
ช่วงหลังได้รับรู้ว่าอาจารย์เดินหน้าทำงานสร้างสันติภาพ เดินทางมากมายเพื่อผลักดันสิ่งที่ต้องการให้เกิด อีเมลที่แลกเปลี่ยนกับอาจารย์เมื่อไม่นานมานี้ยืนยันว่าอาจารย์ยังทำงานอย่างเข้มข้น และเราก็รอดูงานของอาจารย์อีกเช่นเคย อาจารย์เคยบอกว่า งานที่ทำหลายอย่างเป็นการลงทุนลงแรงส่วนตัวที่ไม่มีใครมาขอให้ทำ ทำเองทั้งสิ้น มันช่างเป็นการลงทุนลงแรงอย่างหนักของคนคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ เป็นความมุมานะที่หาได้ยากยิ่ง เป็นตัวอย่างของคนทำงานที่เชื่อว่าคนที่อยู่ต่อไปคงจะสานต่อ มันเป็นเจตนารมย์ที่ควรค่าแก่การทำงานหนัก
หนหนึ่งเคยขอให้อาจารย์ร่วมเดินทางกับพวกเราไปพูดคุยกับชาวเชียงใหม่ในระหว่างที่ตระเวนฉายสารคดี "เขาชื่ออัสฮารี" วงนั้นเรามี อัสรา รัฐการัณย์ Mahamasabree Jehloh โดยมี Koy Somusa Gooyee Kuno Rachapol Riensiri ร่วมทีม อาจารย์ยังช่วยโทรชวนเพื่อนๆในเชียงใหม่มาร่วมงานกับพวกเราเพิ่มความคึกคัก ยังจำคำพูดหนึ่งได้ติดหู "ผมมาโดยไม่ได้ถามเลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะถ้าคนคนนี้ชวนแล้วไม่ต้องถาม มาทันที" มันเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ยินคำพูดอย่างนั้นจากปากอาจารย์อัฮหมัด
เราคงจะจดจำอาจารย์ตลอดไปในฐานะของคนที่ทำงานหนักเพื่อสันติภาพ จากงานลงรายละเอียดที่ดูเหมือนเล็กน้อยด้วยการเป็น "ครู" สร้างความเข้าใจถึงบริบทในปัญหาให้กับคนนอกอย่างเราไปจนถึงการทำงานในกรอบที่ใหญ่กว่า ขอบคุณอาจารย์กับสิ่งที่เคยบอกเล่า กับความช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้ กับความอดทนที่พยายามตอบคำถามมากมายอย่างไม่ย่อท้อ
ในการผลิตงานที่ผ่านมา จากงานข่าวภายใต้สำนักบีบีซี จนมาถึงงานสารคดีภายใต้ชื่อเอฟทีมีเดีย ต้องนับเนื่องว่าผลงานเหล่านั้นมีความรู้พื้นฐานมาจากความเข้าใจปัญหาภาคใต้ที่อาจารย์อัฮหมัดเคยวางไว้ให้ อาจารย์เป็นครูคนหนึ่งของเราแม้ว่าจะไม่เคยเข้าเรียนอย่างเป็นทางการกันมาเลยก็ตาม
ขอบพระคุณอาจารย์อย่างยิ่งยวด และขอไว้อาลัยอาจารย์มา ณ ที่นี้
ด้วยจิตคารวะ
Soraya Jamjuree คนที่แนะนำให้รู้จัก Ahmadsomboon Bualuang ขอcc Ismail Ishaq เพราะเพิ่งพบกันและเวลาพบอาจารย์อิสมาอิลก็นึกถึงอาจารย์อัฮหมัด และขอบคุณคุณหมอ เพชรดาว โต๊ะมีนา Anattata Naser ที่ชวนไปงานที่บ้านทำให้ได้พบอาจารย์อัฮหมัดเป็นครั้งสุดท้ายที่นั่น
·
อาจารย์ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง กลับคืนสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว...
อาจารย์ในความทรงจำของปอ คือ ผู้ใหญ่ที่ใจดี เมตตา และให้คำปรึกษาที่ดีเสมอ...เราได้มีโอกาสคุยกันมากขึ้นตอนทำวง IPP ทั้งเรื่องการทำงานในพื้นที่ จชต. และเรื่องเรียนต่อของปอ...อาจารย์ให้กำลังใจและเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ปอได้มาเรียนที่ Passau
อยากบอกอาจารย์ว่า เวลาเดินริมน้ำ เดินบนสะพานข้ามแม่น้ำ เดินเฉียดเส้นแบ่งเขตระหว่างเยอรมันกับออสเตรีย ปอนึกถึงตอนที่อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เมืองนี้น่าอยู่นะ อาจารย์เคยมาและได้วิ่งออกกำลังกายข้ามจากฝั่งเยอรมันและออสเตรีย...เรื่องเล่าดูเล็กๆ แต่ให้รอยยิ้มทั้งกับคนเล่าและคนฟัง
ปอเสียใจและระลึกถึงอาจารย์นะคะ
IPP 13 - 14 กย.57 เวทีสุดท้ายที่ได้คุยกัน
ขอแสดงความเสียใจ ต่อการจากไป ของนักเชื่อมต่อ สันติภาพ พุทธ - มุสลิม
อาจารย์ฮัอหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
Zakee Pitakumpol
ข่าวเศร้าของคนทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้คงไม่มีเรื่องใดเกินกว่าข่าวการเสียชีวิตของ "แบมะ" หรือ อ. อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ผู้ชายที่ชื่อแปลกๆ แบมะที่ผมรู้จักคือคนที่ "รับฟัง" ทุกคนไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีอายุหรือประสบการณ์ที่ด้อยกว่า ด้วยประสบการณ์และเครือข่ายแบมะ อุทิศตนให้กับการทำงานในพื้นที่มาตั้งแต่ผมยังไม่ประสีประสากับเรื่องราวของปาตานี วันสุดท้ายที่เราเจอกันคือวันที่ 15 ผมเดินทางไปส่งอาจารย์เอกรินทร์ ที่สนามบิน ได้เจอกับแก ผมได้ลากมือแกไปเลี้ยงกาแฟพร้อมกับ อาจารย์เอกรินทร์ ไม่คาดคิดว่านี้คือครั้งสุดท้ายที่เราได้เจอกัน หลับให้สบายครับแบมะ แท้จริงแล้วความตายเป็นแค่ม่านหมอกที่ปิดกั้นเราเท่านั้น วันหนึ่งเราคงได้ไปเจอกันที่นั่น ที่ซึ่งร่มเงาแห่งความเมตตาของพระองค์คอยเราอยู่ ขอพระองค์จงอภัยความผิดใดๆ แบมะของด้วยเทอญ
ใจหาย อาลัย และตกใจ อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง พี่เลี้ยงของมูลนิธิและอีกหลายองค์กร เพื่อนร่วมเดินสร้างสันติภาพ ที่ทรงความรู้และยืนหยัดแนวทางสันติวิธี ได้กลับสู่การดูแลขององค์อัลเลาะห์แล้ว ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของอาจารย์ เพื่อนมิตรที่รักใคร่ของท่านอย่างสุดซึ้ง วาระสุดท้ายมิได้กล่าวลา แต่ก็อยากขอบคุณอาจารย์ที่ได้ช่วยแนะนำการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ขออโหสิกรรมอาจารย์ด้วยค่ะ รูปนี้อาจารย์tag มาให้ สองผู้เฒ่านึกสนุกปีนรถจิ๊บ ในงานคืนความทรงจำญาบะ
ได้พบอาจารย์สมบูรณ์ครั้งสุดท้ายเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วในวง IPP ที่ปัตตานี คนที่ติดตามเรื่องการพูดคุยสันติภาพมาเจอกันเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ถกเถียงกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ได้แอบถามอาจารย์ที่ข้างๆ เวทีถึงเอกสารภาษามลายูบางอย่างที่อยากได้ ซึ่งอาจารย์ก็ได้กรุณาส่งมาให้อย่างรวดเร็ว
ชายแดนใต้จะขาดปัญญาชนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เป็นเสียงให้กับคนในพื้นที่ และการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพในภาคใต้ก็จะขาดกำลังสำคัญที่แข็งขันไปอีกหนึ่งคน อาจารย์ได้ทุ่มเทกับงานสร้างสันติภาพตราบจนลมหายใจสุดท้าย
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงและไว้อาลัยกับการจากไปของอาจารย์ค่ะ
ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของอาจารย์นักวิชาการชาวปัตตานีอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ พบกันสองครั้งล่าสุดคืองาน60ปีฮัจยีสุหลง และต่อมางานIPP จำได้ว่ามีคนช่วยถ่ายรูปคู่หย่อยกับอ.สมบูรณ์ไว้ไม่ทราบมือถือใคร ฝากส่งมาให้เป็นที่รำลึกด้วยค่ะ. อาจารย์ให้ความกรุณาอธิบายความเรื่องความเข้าใจเรื่องปตน.ได้ในหลายๆ แง่มุมโดยเฉพาะความสำคัญเรื่องระบบการศึกษาปอเนาะ ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
สำหรับมุสลิมแล้วชีวิตคือการเดิน และสิ่งที่เราเตือนใจตนเองเสมอในทุก ๆ โมงยามของชีวิตคือ "แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และยังพระองค์เท่านั้นที่เราจะต้องกลับไป"
เดินทางล่วงหน้าไปก่อนนะคะพี่ชาย "อะฮฺหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง" แบมะที่เคารพรักของน้อง ๆ
ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงตอบรับการงานที่ดีงามทั้งมวลและทรงโปรดอภัยโทษให้กับความผิดพลาดทั้งหลายของพี่ชายของเราด้วยเถิด อามีน
...
อินนาลิลลาฯ "ท่าน อ. อัฮหมัดสมบูรญ์ บัวหลวง(ซ้ายมือ)ได้กลับคืนสู่ความเมตตาอัลลอฮ์แล้ว ที่สวีเดน" ด้วยหัวใจล้มเหลว กำลังเตรียมส่งญานาซะห์กลับไทย / ภาพคราวไปเยี่ยมเยือนที่บ้านท่านเมื่อก่อนรอมฎอน ปีนี้.. ท่านเป็นลูกหลานมลายูบางกอก / พี่เก่าชมรมมุสลิม จุฬาฯ และ กรรมการบริหาร ส.น.ท. +ชาวค่าย ส.น.ท.
ระลึกถึงเสมอ... "แบมะ - อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง"
มีนักวิชาการที่ศึกษาและเข้าใจประวัติศาสตร์โลกมลายูไม่มากจำนวนนัก
หนึ่งในนั้นก็คือ แบมะ - อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
ผู้ซึ่งมีดวงตาทอประกายวาวแวว หัวใจกว้างขวางและลุ่มลึกดั่งมหาสมุทร
เขาคือคนที่เชื่อมหัวใจและความสัมพันธ์ของผู้คนได้อย่างแนบแน่น
คนที่ทุ่มเททำงานเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอย่างต่อเนื่อง
คนที่สะท้อนภาพและเล่าเรื่องวิถีมลายูผ่านภาพถ่ายได้อย่างสวยงาม
คนที่แต่งตัวได้ร่วมสมัย นุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ตลายสก๊อต รองเท้าหนัง
คนที่มีเสียงหัวเราะหวานชื่น ยามที่ได้สนทนากันอยู่ในหมู่มวลมิตร
เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่มีแต่มอบความรักให้กับทุกคน อย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ
ถัดจาก อ.อับดุลเลาะห์ ลออแมน (อ.บางนรา)
"แบมะ" คือคนที่ข้าพเจ้าให้ความรักและเคารพอย่างสูง
และทั้งคู่ก็ให้ความรักความเมตตาแก่ข้าพเจ้าเสมอมา
ทุกครั้งที่พบเจอ แบมะ จะเรียกชื่อ "อุสมาน ดุซงญอ" ด้วยเสียงดัง
และหลายครั้งก็เข้ามาโอบกอดข้าพเจ้าดั่งลูกหลานคนหนึ่ง
คอยถามไถ่ด้วยห่วงใย และวางแผนเดินทางร่วมกันในหลายสถานที่
บัดนี้ ผู้ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือยิ่ง ได้กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์แล้ว
ไปดีนะครับอาจารย์ฯ ขอบคุณทุกความเมตตาที่มีให้แก่กันเสมอมา
ด้วยจิตคารวะ
อุสมาน ดุซงญอ
๐๙.๒๗ น. อาทิตย์
๒๑ กันยายน ๒๕๕๗
ชื่อภาพ : แบมะ - อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
สถานที่ : อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
วัน-เวลา : ๑๑.๓๐ น. ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕
ภาพ/คำ : ปราณชลี
อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
สำหรับคนปาตานี/ปัตตานี อาจารย์เป็นอาเยาะมะ หรือ แบมะ แต่สำหรับแพร อาจารย์เป็นอาจารย์สมบูรณ์ตลอดมา นับตั้งแต่แพรได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์เมื่อปี 2541
กว่า 10 ปีที่ได้รู้จักกัน แม้ไม่ได้สนิทสนมเท่ากับคนอื่นๆ แม้ไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แต่อาจารย์ก็ได้สอนอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ได้ผ่านเพียงคำพูด หากการกระทำของอาจารย์ก็ชัดเจนในใจตราบจนทุกวันนี้......
อาจารย์เปิดโลกปัตตานีให้แพรได้รู้จักในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การเมือง ชาติพันธุ์ และอื่นๆ อีกมากมาย
อาจารย์สอนให้รู้ว่าการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด โดยการตั้งใจค้นคว้า หาความรู้จากแหล่งต่างๆ ของอาจารย์ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อาจารย์สอนเรื่องกริยามารยาท ไม่ว่าจะเป็นความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยการปฏิบัติของอาจารย์ต่อคนทุกคนเสมอเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวบ้านหรือชาวเมือง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนจนหรือคนรวย
อาจารย์สอนเรื่องการเคารพและให้เกียรติผู้อื่น ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอย่างตั้งใจ แลกเปลี่ยนด้วยความจริงใจ ไม่ว่าเขาจะอายุมากอายุน้อยกว่าอาจารย์ ไม่ว่าเขาจะมีความรู้มากหรือน้อยกว่าอาจารย์ ไม่ว่าเขาจะคิดต่างและกระทำการที่แตกต่างจากแนวทางที่อาจารย์ยึดถือปฏิบัติก็ตาม
อาจารย์สอนว่าเป็นครูต้องเป็นได้ทั้งคำพูดและการปฏิบัติ อาจารย์จึงไม่ได้เพียงสอนด้วยคำพูด แต่ปฏิบัติให้ดูในทุกๆ วัน
อาจารย์สอนว่าการทำงานกับผู้คนและสังคมจะต้องทุ่มเท เสียสละ และจริงใจ ดังที่อาจารย์ได้ทำงานเพื่อผู้คนและแผ่นดินอันเป็นที่รักของอาจารย์จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
แพรขอคารวะและขอบคุณอาจารย์สำหรับทุกสิ่งที่อาจารย์สั่งสอน
ขอให้อาจารย์ได้พักผ่อนอย่างสุขสงบและเฝ้าดูเมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์บ่มเพาะเพื่อปาตานี/ปัตตานีของอาจารย์ แพรเชื่อว่าคนข้างหลังที่อาจารย์อบรมสั่งสอนไว้จะสานฝันของอาจารย์ให้เป็นจริงในวันข้างหน้าค่ะ
อินนาลิ้ลลาฮ์ฯ ได้ข่าวเรื่องการเสียชีวิต ของอาจารย์ จากญาติผู้ใหญ่ ตอนประมาณ ห้าโมงเย็นกว่าๆ วันนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริง เช็คไปกับหลานๆ ที่ปัตตานี จึงยืนยัน รู้สึกตกใจมากค่ะ ยี่สิบ กว่าปี ที่รู้จัก อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ พวกเราทุกคน รู้ว่า อาจารย์จะอยู่ทุกวง ในทุกเวที ของการพูดคุย ประชุม สัมมนา เสวนา เรื่องภาคใต้ ในทุกประเด็น ตั้งแต่ สันติภาพ ความยุติธรรม ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ฯลฯ ทำให้พวกเราคุ้นเคยทั้งกับน้ำเสียง ท่าทาง แนวคิด จุดยืน ของอาจารย์ ในแต่ละประเด็น เป็นข้อมูลความรู้ ที่มีสาระในเชิงวิชาการ เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ที่สามารถนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้ได้อย่างแหลมคม และน่าสนใจมาโดยตลอด
วันนี้ไม่เพียงแต่ผู้ที่ติดตามปัญหาภาคใต้ที่ต้องมาสูญเสียบุคคลสำคัญ อีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้มีหัวใจใฝ่หาสันติภาพ และความยุติธรรม ให้กับมวลมนุษยชาติ บนหน้าแผ่นดิน ต้องน้อมรับในสิทธิ และอำนาจ ที่ยิ่งใหญ่ ของพระองค์อัลลอฮ์ ที่ทรงเรียกคืนชีวิตของอาจารย์กลับสู่พระองค์ ดังที่พระองค์ ทรงตรัสไว้ว่า แท้จริงเรามาจากพระองค์และจะคืนกลับไปสู่พระองค์ อินนาลิ้ลลาฮิ วาอินนาอิลัยฮิรอญิอูน ขอพระองค์ทรงเมตตา และทรงอภัยอาจารย์ด้วยเทอญ อามีน ญาร็อบบัลอาลามีน ด้วยดุอา และอาลัยยิ่ง
ภาพเมื่อครั้งที่อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง หรืออาเยาะห์มะสำหรับคนรุ่นลูกอย่างผมกำลังอธิบายประวัติศาสตร์มัสยิดกรือเซะ
ครั้งนั้น ผมพาชาวกลันตันและ ชาว ปาเลมบัง อินโดนีเซีย รวม 7 คน มาทัศนศึกษา และทำความรู้จักกับ ปาตานี ผมโทรไปหาอาเยาะห์มะ ก่อนหน้า 1 วัน เพื่อให้แกช่วยเป็นไกด์อธิบาย ประวัติศาสตร์ปาตานี ดารุสสาลามแก่คณะนี้ ( ชาวอินโดต้องการอยากทราบประวัติช่วงนี้จริงๆ เพราะอยากหาร่องรอย ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรปาตานี กับอาณาจักร ศรีวิจายา ) แกตอบรับอย่างยินดี ที่จะเป็นไกด์ให้. ในวันนั้น แกไปรอรับเราที่มัสยิดกรือเซะก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย เราเริ่มฟังแกอธิบายเรื่องราวของมัสยิดกรือเซะ จากนั้นเราขับรถออกไปที่สถานที่ฝังศพของ สุลต่านเเละราชินี ของ ปาตานี ที่บ้าน ปาเระและริมทะเลที่ตั้งที่ฝังศพของลิ้มกอเหนี่ยว ด้วยเวลาสั้นๆ ราว 2 ชม ครึ่ง อาเยาะห์มะ ทำหน้าที่นี้ด้วยความสุขยิ้มแย้มตลอดเวลา
... อย่างที่ทราบข่าวกัน วันนี้แกไม่อยู่เเล้ว เคยคิดอยากให้แกพาทัวร์ประวัติศาสตร์ปาตานี แบบเข้มข้น แต่วันนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ได้เเค่คิด ขอให้การจากไปของแก ได้เกิดบัวดอกใหม่มาทดแทนรับหน้าที่นี้ที่แกภูมิใจได้ทำมาตลอด ขอดุอาให้อาเยาะมะ ได้รับการคุ้มครองจากอัลลอฮ ด้วยเถิดอามีน
จากศิษย์นอกห้องเรียน ของอาเยาะห์มะ คนหนึ่ง
สุไลมาน เจ๊ะเเม
ตกใจมากมายกับข่าวการจากไปอย่างกระทันหันของอาจารย์ที่เคารพรักยิ่งท่านหนึ่ง ข่าวว่าท่านหัวใจล้มเหลวที่สวีเดน กำลังนำมายัต(ศพ)กลับมาเมืองไทย ท่านเพิ่งเข้ามาคุยด้วยในเฟสเมื่อวานนี่เอง ปกติท่านจะเข้ามา like มาคุยด้วยตลอด รู้จักท่านมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ท่านมีแต่สิ่งดีๆ และประสบการณ์ความรู้ให้พวกเราตลอดมา ตอนนี้จบมานานแล้วก็ยังติดต่อขอวิชาอาจารย์ตลอด บ่อยครั้งที่ท่านส่งบทความที่ท่านเขียนเกี่ยวกับปัตตานีและชายแดนใต้มาให้อ่านอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่ไปปัตตานี ถ้าท่านไม่ไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ท่านจะโทรมา หรือไม่เราก็โทรไป ชวนกินมื้อเที่ยงกัน ท่านจะมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ และประวัติศาสตร์ปัตตานีมาจุดประกายความคิดให้ได้นั่ง discuss กันแบบสร้างสรรค์อยู่เสมอ ยังคุยวางแผนกับอาจารย์ว่าเราจะร่วมกันค้นคว้าวิจัยเรื่องราวบางเรื่องให้โลกตะลึงกันสักเรื่องและอาจารย์ยังรอลุ้นเรื่องบางเรื่องๆ ที่ลูกศิษย์คนนี้กำลังทำ ต่อแต่นี้ไปไม่มีอาจารย์แล้ว ลูกศิษย์นอกห้องเรียนหัวรั้นของอาจารย์คนนี้จะคุยเรื่องราวนอกบทเรียนกับใคร ??
· 'อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง' ผู้ปลูกสันติภาพในใจผู้คน
- - - - - - - - - - - -
ภาพแห่งความหลัง ครั้งอ.อัฮหมัด สมบูรณ์ ปลูกต้นชบาสัญลักษณ์สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ในวันสื่อสันติภาพฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวาระครบรอบ 1 ปี การริเริ่มการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ขบวนภาคประชาสังคมชายแดนใต้ปลูกดอกชบานี้ ภายหลังจากที่อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ได้เป็นตัวแทนพวกเราอ่านเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย 'เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร?'
บิสมิลละห์ ด้วยความคิดถึงที่ห่างหายไม่ได้สัมผัสสลามของท่าน ด้วยความตั้งใจที่ยังมีภารกิจที่ค้างคาด้วยกันอยู่ ด้วยความคาดหวังที่จะได้ร่วมงานกับผู้อาวุโสอีกครั้ง นายสุกรีรีบตอบนัดที่นัดไว้กับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ทันที และเพื่อเป็นเกียรติกับการเริ่มต้นกระบวนการทำงานอีกรอบอย่างตั้งใจของนายสุกรีและนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นายสุกรีก็ขอนัดเจอที่ร้านกาแฟเล็ก Cofee@PEACE (กาแฟดารุสลาม) ในวันที่ 1 ตุลา ยามเย็นหลังจากที่นายสุกรีไปรายงานตัวกลับเข้าทำงานหลังจากหายห่างไปจากวงการสองปีเต็ม เราสัญญามั่นเหมาะ ว่า...จะเล่าไรต่อกันกันฟังย้อนหลังสองปีที่เราได้หายห่างจากกัน
แต่แบมะครับ วันนั้นของสุกรีจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้านี้...แต่วันนั้นของแบมะสิครับ ไม่มีร่างเงาของแบมะให้เห็นแล้ว จะอย่างไรก็ตาม เราจะเจอกันนะครับ และเราจะคุยกันตามที่ได้สัญญา...ผมสัญญา ห้าโมงเย็นที่ร้านกาแฟดารุสลาม ณ ชุดโซฟา 80 ปี ที่แบมะเคยบอกผมว่าแบมะชอบนั่ง อินชาอัลลอฮ์
ขอน้อมส่งอาจารย์สู่สันติภาพนิรันดร์
สิ่งที่อาจารย์ได้ทำมา ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น
ภารกิจของอาจารย์ด้านการหาทางให้คนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมในพื้นที่หลุดพ้นจากความตายรายวันและความหวาดกลัวทั้งปวง สามารถเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันเอื้ออาทรกัน เข้าอกเข้าใจในความต่างและให้เกียรติต่อวิถีชีวิตทางศาสนาและวัฒนธรรมของตน ผมจะพยายามทำต่อให้ครับผม
เมื่อ ๑๗ ปีก่อน เราแยกกันทำงาน อะหมัดเก็บภาพ,แบเลาะฮฺ เก็บเรื่อง ผมเรียงอักษร ว.บูกัส วิพากษ์ คนที่ยืนข้างซ้ายขวาได้กลับไปสู่อัลลอฮฺแล้ว คงเหลือแต่ผมกับ อ.ว.บูกัส ที่ยังต้องเดินทางต่อไป ใครช่วยส่งข่าวการสูญเสียนี้ให้บูกัสด้วย
เมื่อเราต้องสูญเสีย นักสันติวิธี คนสำคัญ ขอบคุณ Thai PBS ที่นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างสันติภาพภาคใต้ เป็นหนึ่งในนโยบายหลัก ในการนำเสนอ ของ Thai PBS
หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า หลายๆ คน ที่ได้เติบโตมาทำงานร่วมกันสร้างสรรค์ พื้นที่ชายแดนใต้ จนมีผลงานและเป็นที่รู้จัก คนเหล่านี้ เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่เดินตามแบมะ ติดตามแบมะเวลาลงพื้นที่ ฟังแบมะเล่าเรื่องราวชุมชน สังคม เห็นสิ่งที่แบมะทำ กลุ่มเราที่เติบโตกันมา ไม่ว่าจะเป็น
Soraya Jamjuree Tuwaedaniya Meringing Sariya BinsalehSakiroh Y. Benharoon Jamal Jitmoud นักข่าวอย่างรอซิด๊ะ ปูซู ที่วันนี้ เป็นประธานกองทุนสตรี ปัตตานี และอีกหลายๆ คน พวกเราเรียนจบจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ได้แบมะคอยเติมเต็มประสบการณ์ และความคิด จนวันนี้ทุกคนเติบโต ในสายงานที่ตัวเองทำ
ขอบคุณแบมะ สำหรับ อุดมการณ์ ความคิด ความรู้ ที่มอบให้ ตลอดมา ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงตอบแทนชั่วนิจนิรันดร์
The Family , The Royal Thai Embassay Stockholm and our beloving friend in Sweden are now cooperate together for the Best way to Transportation Ahmadsomboon Bualuang to Thailand and also to his beloved land Pattani Darusalam InshaAllah
The Family together with all of Ahmadsomboon Bualuang friend and colleague are please to ask for Du'a to make a smoothest way.
InshaAllah the process would be
- The preparation of the body
- The Janazah Pray at Grand Mosque Malmo, Sweden
- The transportation by Thai Airways to Suvarnabhumi airport and would transport by Thai Airways to Hatyai and finally to Pattani Daruslam
InshaAllah final information would be release by TODAY, so let we make Du'a and please kindly inform this information to whom who may concern
…..
อัสรา รัฐการัณย์
รวบรวม