Skip to main content

ประสบการณ์ของการค้นหาทางเลือกบนเส้นทางสันติวิธี

อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรเสริมสังคมสันติสุขจังหวัดชายภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า

ขอความสันติจงมีกับทุกท่าน ถ้าคุยเรื่องสันติภาพมันรู้สึกน่าเบื่อ ไม่สนุกเท่ากับเรื่องเช่นว่าเมื่อวานมีระเบิดกี่ครั้ง กี่ที่ เจ็บตายเท่าไร เมื่อวานซืนมีการชักธงชาติมาเลเซียกี่ร้อยผืน ฝ่ายความมั่นคงไม่รู้เรื่องเลย อะไรทำนองนั้น มันน่าจะสนุกกว่า สำหรับการคุยเรื่องของสันติภาพ ในขณะที่ประเทศชาติยังมองว่ากลุ่มที่เราจะไปพูดคุยด้วยมันเป็นโจร  เป็นขบวนการกู้เอกราช  มันเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน  เป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย แล้วจะทำบนพื้นดินได้อย่างไร เราจะทำโดยมีการเปิดพื้นที่สาธารณะได้อย่างไร

ฉะนั้น หากเราพูดถึงกระบวนการสันติภาพ โดยส่วนตัวของผมเองที่เดินทางมายี่สิบกว่าปี ผมเดินอยู่ใต้ดินครับ ใต้ดินระหว่างการพูดคุยระหว่างเพื่อนกับเพื่อน โดยไม่รู้ว่าเขาคือใคร แต่สิ่งที่เราจะสื่อ มีบางอย่างที่มีพัฒนาการในตัวของมันเอง

ผมอยากจะบอกว่ากระบวนการของภาคส่วนบุคคลในการเดินทางเพื่อแสวงหาแนวทางเลือกอื่นสำหรับการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้นั้นเป็นอย่างไร นั่นเป็นส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ที่ไม่มีทฤษฎี จนสามารถมานั่งฟังทฤษฎีของอาจารย์ศรีสมภพว่า เออจริง ๆ แล้วเราก็ทำหมดแล้ว ที่อาจารย์ศรีสมภพว่า เริ่มต้นจากตรงไหน เริ่มต้นจากที่ผมเองเดิมเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมา 27 ปี เห็นความอ่อนแอ เห็นความล้มลุกคลุกคลานของกระบวนการพัฒนาของภาครัฐที่ทำต่อประชาชน

ทีนี้เรามองเห็นว่าเราจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเข้มแข็งและสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ จึงใช้กระบวนการของการมีส่วนร่วมในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา เกือบ 30 ปีแล้ว เดินทางมาเรื่อยๆ มาถึงจุดหนึ่งมีความสนใจเรื่องของการเมือง แนวคิดทางการเมือง ก็มีความสนใจ เพราะตั้งแต่จำความได้อายุประมาณ 5-6 ขวบ ที่บ้านผมไม่เคยมีความสุขเลย โดยภาพรวม มีเผาโรงเรียน มีปะทะ ตำรวจจับ ตำรวจตาย ชาวบ้านถูกจับ ชาวบ้านถูกทรมาน เรื่องทำนองนี้ได้ยินมาตลอด 55 ปี ตอนนี้อายุ 60 กว่าแล้วนะครับ แต่ถามว่าได้ยินมาแค่ 55 ปีหรือเปล่า คนแก่คนเฒ่าก็บอกว่ามีมานานแล้ว ไม่รู้จักแก้ไขสักทีหรือ  กระบวนการแก้ไขปัญหามันมีเพียงอย่างเดียวหรือ คือ การใช้อำนาจ การใช้กฎหมาย การใช้ความรุนแรงเท่านั้นหรือ? นั่นคือสิ่งที่เป็นคำถาม คำถามที่หนึ่ง

ภาพที่เกิดขึ้นหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของการทำงานก็คือคนที่ถูกจับเข้าคุกในข้อหาต่างๆ พ่อแม่เขา ครอบครัวเขา เขามีความคิดอย่างไร เขาคิดอย่างไรที่ลูกๆ เขาถูกจับ ผมก็เลยติดต่อหาทางเข้าไปพบกับครอบครัว ‘หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ’ ผมไม่เคยรู้จักหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ เป็นการส่วนตัว และผมก็ไม่เคยรู้จักกับครอบครัวเขาเลย แต่อยากจะฟังความรู้สึกของเขา คำพูดๆ หนึ่งซึ่งเปาะจิซึ่งตอนนี้ได้เสียชีวิตไปแล้วบอกว่า ถ้าเขาเป็นคนหนุ่มเหมือนกับลูกๆ เขาก็คงจะถูกจับเหมือนกัน จะจับเพื่ออะไร ใครสนใจเนื้อหาในบทความ ซึ่งเขียนมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ออกเผยแพร่ในมติชนเมื่อปี 2545 (อัฮหมัด สมบูรณ์ 2545, 17)

ผมอยากจะบอกว่าจากความรู้สึกนั้นทำให้เกิดความเข้าใจว่าเราต้องเดินหน้าในการพูดคุยเพื่อที่จะรองรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เขาคิดกับกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบชาวบ้าน เขาคิดยังไง นั่นคือประการสำคัญที่ผมมอง ประการที่สอง คือว่าเราจะมีการขายความคิดให้กลุ่มอื่นๆ ได้เข้าใจว่า ขณะนี้ ณ วันนี้ กระบวนการพัฒนาของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหนอย่างไร ซึ่งบางทีในการเดินทางของผม ยังสามารถบอกว่าอยู่ใต้ดินแล้วไม่รู้ว่าจะพูดบนดินได้หรือไม่ แต่มีตั๋วโบนัสของสายการบินไทย 2 ปีครั้ง ผมก็ได้เดินทางไปไกลๆ และที่ผมชอบไปที่สุดคือยุโรป

ผมก็ไปเจอเพื่อนที่ยุโรป ตอนแรกเขาก็รับผมไม่ได้หรอก เขาหาว่าผมเป็น CIA เป็น กอ.รมน. มาได้ยังไง มาถึงยุโรปและใช้จ่ายเป็นแสนต่อครั้ง ครั้งแรกมานั่งคุยกันสองสามคน ถามเขาว่ามีทางออกอย่างอื่นหรือไม่ที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาบอกไม่มี ไม่มีหรอก! นอกจากว่าได้เอกราชอย่างเดียว ขอให้ได้อำนาจอย่างเดียว คำพูดเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางอื่นเลยเหรอที่จะเราจะคุยกัน ไม่มี! ต้องได้อำนาจอย่างเดียว เป็นอย่างนี้สองสามปี

พอตอนหลังเราก็คุยไปเรื่อยๆ ผมบอกว่าที่บ้านผมคนมีการศึกษาเมื่อปี 2535 เท่าที่ผมเช็คได้ พวกเขาเรียนปริญญาตรีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วเราจะทำอย่างไร แล้วถ้าสมมติว่ารัฐบาลไทยใจดีให้เอกราชไปแล้ว แล้วจะปกครองได้อย่างไรกับคนที่ 95 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เรียนหนังสือ เขาบอกว่าไม่ได้ซิ! ถ้าได้อำนาจแล้วผมจะทำได้เอง ผมจะดูแลเองถ้ามีอำนาจ! ผมก็เลยถามต่อว่าแล้วที่เดินทางมากับกระบวนการของการต่อสู้มากี่ปีแล้ว เขาก็นับนิ้วมือ 10 นิ้วก็ยังไม่ครบ นับนิ้วเท้าอีก 10 นิ้วก็ยังไม่ครบ ก็แสดงว่าหลายสิบปีแล้วเดินทางมา ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าน่าจะมีทางเลือกอย่างอื่นบ้างที่เราสามารถที่จะคุยได้ เสียงเขาค่อนข้างจะอ่อนลง ทุกครั้งเวลาไป พอไปครั้งที่สาม ผมถามเขาว่ายืนยันหรือไม่ว่าเป้าหมายของการต่อสู้คืออะไร เขาบอกว่ายืนยันเช่นเดิมคือการต่อสู้เพื่อเอกราช ผมบอกเป็นเรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของผม มีทางอื่นอีกหรือไม่ที่ผมสามารถทำงานได้ เพราะผมอยู่ในประเทศ อยู่ในพื้นที่ พอมีครับ เขาบอกว่ามี จะทำอย่างไรให้พื้นที่มีความสันติสุขอย่างถาวร เรื่องนี้เราพูดได้ พูดร่วมได้ อะไรบ้างเล่าที่เราจะคุยกัน เรื่องการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเป็นธรรม นี่คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการความคิด

ผมไม่เคยคิดว่ามันจะใหญ่โตถึงขนาดที่ผมต้องมานั่งคุยในระดับอย่างนี้ หรือจะต้องมามีส่วนร่วมกับมาโฮ (นากายาม่า) ในการทำงานกระบวนการสันติภาพ ผมไม่เคยนึกว่าจะต้องดูแลรับผิดชอบเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุขในสังคมของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อจะสร้างความเข้าใจร่วมกันในการที่จะอยู่ร่วมกัน การที่จะแสวงหาคำตอบในการแก้ปัญหาร่วมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นี่คือกระบวนการ 

ผมว่ากระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเย็นอะไรเลย หากเรามีใจตั้งแต่ต้น และที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการของประชาธิปไตยในประเทศไทยจะต้องทำให้กระบวนการสันติภาพมันเคลื่อนตัวได้เร็วมากขึ้น ที่ผมกล่าวได้อย่างนี้ก็เพราะมั่นใจว่ากระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ยากในสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เพราะกฎหมายพิเศษที่ขัดต่อกระบวนการประชาธิปไตย เช่น กฎอัยการศึก  พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการที่จะพัฒนาประชาธิปไตย และเป็นกระบวนการที่จะทำลายความเคลื่อนไหวและการขับเคลื่อนของกระบวนการสันติภาพอย่างมาก

แต่ในขณะเดียวกันในทัศนะของอิสลามเองนั้นถือว่าเมื่อมีอุปสรรค มันจะมี ‘ฮิกมะห์’ หรือ ‘วิทยปัญญา’ ที่เกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้นวิทยปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะที่มีข้อจำกัดของกระบวนการประชาธิปไตยในชายแดนใต้ เราก็พบว่ามันเกิด PPP ขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็เกิดศูนย์สันติวิธีอีกมากมายในประเทศไทยที่จะช่วยกันให้คลี่คลาย

เมื่อก่อนผมไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับสันติวิธี แต่เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนไทยส่วนใหญ่ในวงวิชาการได้เข้าใจว่าประเทศเรานั้นไม่ฉลาดเลยนะ แก้ปัญหาแต่ละครั้ง ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แก้ปัญหาได้อย่างเดียว คือ ยิงให้ตายให้หมด แค่นั้นเอง มันไม่ได้ต่างอะไรจากสามสี่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ข้อมูลบางอย่างบอกเอาไว้แต่เดิมว่า ในเมื่อมุสลิมมันไม่ยอมเข้าพุทธ ก็จับให้มันเข้าพุทธให้หมดเลย หรือไม่ก็ฆ่าให้หมดเลย มันก็มีข่าวแบบนี้มาตลอด เพราะฉะนั้นกระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากว่าคนเรายังคิดหาทางออกได้ทางเดียว

ผมพยายามจะบอกว่ารัฐต้องเปิดใจให้มาก กระบวนการสันติภาพมันถึงจะเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าขณะนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติจะออกนโยบายชัดเจนเรื่องการเปิดพื้นที่ แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ผมคิดว่ายังต้องรอเวลาอีกนาน ประการที่สอง แม้ว่าเราจะได้ยินสัญญาณหรือได้เห็นสัญญาณจากกองทัพว่าจะมีการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยและกระบวนการสันติเสวนาในเชิงของการเปิดพื้นที่ นั่นเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นในเชิงทฤษฎีและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนกระดาษ สิ่งที่ต้องปฏิบัติและสำคัญที่สุดในขณะนี้ เพื่อที่จะผลักให้กระบวนการสันติภาพมันเกิดขึ้นได้เร็ว ได้จริง และเป็นจริง แล้วประชาชนสามารถสัมผัสได้จริง คือ ภาคประชาสังคมต้องผลักไสพวกที่คิดที่อยากจะใช้อำนาจให้มันตกคูไปก่อน และเราเดินทางอยู่บนถนน พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ ขอบคุณครับ

หมายเหตุ : ถอดความจากเวทีพูดคุยนานาชาติว่าด้วย 'กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน PPP : Pa(t)tani Peace Process in ASEAN Context' ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555, ตีพิมพ์เป็นหนังสือโดยโครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์เมื่อปี 2556