สุขภาพจิตและการเยียวยา
ช่วงเวลานี้...เงยหน้าขึ้นจากภาระการงานหรือกิจวัตรในแต่ละวันคราใด เราคงพบเจอบรรยากาศหม่นๆ ของวันฝนตกกันโดยถ้วนทั่ว อีกทั้งข่าวคราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ล้วนนำพาความวุ่นวายและความหมองหม่นมาสู่จิตใจ อีกหนึ่งข่าวคราวที่อาจนำความหดหู่เศร้าสลดมาสู่พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนคนไทยผู้มีใจปรารถนาจะเห็นความสันติภาพและสันติสุขบังเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย คือ การจากไปของชายผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ และทุ่มเทเพื่อ “คืนสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้” มาอย่างยาวนาน อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อสมานฉันท์แห่งชาติ และอดีตผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขชายแดนภาคใต้ (4 ส.ใต้) ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคมในการพูดคุยสันติภาพกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐไทย ณ ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียบุคลากรที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดี ทุกความสูญเสียย่อมมีบทเรียนที่ดีเสมอ
แม้ฟ้าหม่น ฝนโปรย จิตใจอาจโรยรา แต่อย่าเผลอปล่อยให้ฤดูแห่งความเหงาและความเศร้าเข้ามาเกาะกินในใจเราเฉกเช่นบรรยากาศ เพราะแท้จริงแล้วมันก็เป็นเพียงฤดูกาลที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป และความรู้สึกทั้งหลายทั้งมวลก็เป็นเพียงเสี้ยวคำสั่งจากสมองและจิตใจของเราเอง แล้วเราจะปล่อยมันมาทำลายความสุขในชีวิตของเราไปทำไม เพราะเหนือสิ่งใดที่เราอยากมีอยากได้ในชีวิต คือ “ชีวิตที่เป็นสุข”
10 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักในปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข และร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถปรับตัวให้อยู่ได้อย่างมีความสุขในโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบดิจิตอล
ปกหลังของหนังสือเล่มหนึ่งที่เราจะแนะนำในครั้งนี้มีข้อความของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่กล่าวถึงความสำคัญของการเยียวยาทางจิตใจ “ในสภาพของความแตกสลายทางสังคม (social disintegration) อันปรากฏทั่วไปในโลก การเยียวยาด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะทำให้ผู้ที่ตกอยู่ใต้ความบีบคั้นแสนสาหัสสามารถพลิกฟื้นคืนกลับ และมีความศรัทธาในความเป็นมนุษย์ขึ้นมาบ้าง”
อย่างไรก็ดี การเยียวยาทางจิตใจมิได้หมายถึงการดูแลหรือเยียวยาเพียงเฉพาะแต่ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต แต่ปุถุชนอย่างเราๆ ก็ควรที่จะต้องเอาใจใส่ดูแลจิตใจของตนเองเช่นกัน วันนี้เราสามารถเตรียมความพร้อมของจิตใจและส่งต่อสุขภาพจิตที่ดีไปสู่คนที่รัก เพียงเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเอาใจใส่ตัวเอง หมั่นปรับสมดุลชีวิตด้วยหลัก 3 อ. (อากาศ อาหาร และอารมณ์) เพื่อทำร่างกายและจิตใจให้พร้อม ก่อนขยายความสุขไปสู่คนรอบข้างและสิ่งใกล้ตัว เพียงเท่านี้ก็สามารถเผื่อแผ่การเยียวยาจิตใจถึงผู้อื่นได้ เพราะความสุขเป็นของเราทุกคน ขณะที่การเยียวยาทางจิตใจให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นประเด็นสำคัญที่หลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ให้ความสนใจ
ทราบหรือไม่? เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เกิดอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาตั้งแต่อดีต และรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลากว่า 10 ปีมานี้ นับเป็นภัยพิบัติจากฝีมือมนุษย์ที่ต่อเนื่องและยาวนาน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาวะจิตใจของประชาชนและชุมชนเป็นอย่างมาก ความเสียหายและสูญเสียดังกล่าวมิอาจประเมินค่าเพื่อเยียวยาหรือชดเชยได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านจิตใจที่ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ความหวาดระแวง วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หวาดผวา ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลเยียวยาอย่างรวดเร็วและเหมาะสมอาจสั่งสมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ การช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจเพื่อให้สามารถปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบันได้จึงเป็นภารกิจที่เราท่านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต้องร่วมกันขับเคลื่อน
K4DS เปิดพิ้นที่ความคิด เชื่อมติดสังคม
“ละวางอัตตาของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ความขัดแย้งจะไม่รุนแรงเช่นนี้ ละวางอัตตา แล้วมาเริ่มต้นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เรารู้จัก เข้าใจอดีตจนปัจจุบัน เคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน...” และ “I know that I know nothing” ถ้อยความเริ่มต้น และปิดท้ายการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจ” ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจ” ภายใต้ชุดโครงการความรู้ เรื่อง “การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3)” ซึ่งเจ้าภาพสามฝ่าย คือ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 กันยายน 2557 ณ ห้องแกรนด์บอลล์รูม บี ชั้น 8 โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และทีมงาน K4DS มีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนา อาจไม่ใช่แนวความคิดใหม่ แต่กระจ่างชัดและสอดคล้องกับแนวคิดการจัดระบบความเข้าใจประวัติศาสตร์ในบริบทใหม่ของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
นอกจากการปาฐกถาพิเศษดังกล่าวแล้ว การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัย บทความทางวิชาการ และเปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระหว่างสยามและดินแดนปาตานีในอดีต รวมทั้งพลวัตรความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนพื้นฐานของหลักฐานข้อเท็จจริงและการมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันในสังคมไทยต่อไป
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการความรู้ฯ กล่าวสรุปก่อนปิดงาน ความตอนหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายถูกและผิด ไม่มีประวัติศาสตร์ใดถูกต้องสมบูรณ์และแก้ไขไม่ได้ การเรียนประวัติศาสตร์จะต้องเปิดทางให้ผู้อ่าน หรือผู้เรียน มีทางเลือกที่จะเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลือกจะไม่เชื่อก็ได้”
K4DS เปิดประตูความรู้ชายแดนใต้
ต่อเนื่องจากเรื่องราวที่ได้กล่าวในตอนต้น เกี่ยวกับประเด็น “สุขภาพจิตและการเยียวยา” K4DS Post ฉบับเดือนตุลาคม 2557 นี้ ขอเสิร์ฟอาหารสมองดี ๆ ที่เต็มเปี่ยมด้วยสาระในประเด็นเดียวกัน ให้แก่แฟนนักอ่าน อาหารจานแรก เราขอนำเสนอ
เยียวยาบาดแผลคืนวันอันโหดร้ายด้วยศรัทธา อาทร และห่วงใย ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี พ.ศ. 2549, โซรยา จามจุรี, 2550 หนังสือถอดความปาฐกถาประจำปี 2549 ของมูลนิธิโกมลคีมทอง องค์กรซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนให้การเสียสละและเป็นผู้นำในทางที่ถูกต้องเป็นอุดมคติของสังคม ... โซรยา จามจุรี สตรีผู้คลุกคลีและมุ่งมั่นกับการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกในครั้งนั้น เรื่องราวและประสบการณ์จริงจากการทำงานบนฐานคิดที่ข้ามผ่านอคติและความต่างทางวัฒนธรรม ถูกบอกเล่าผ่านถ้อยความของเธออย่างเข้าถึง ลึกซึ้ง ชัดเจน และไม่ลืมที่จะให้เกียรติบุคคลเบื้องหลังที่เธอทำงานด้วย ฐานคิดและแนวทางการทำงานดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังเพื่อนร่วมทาง ว่าครอบครัวหรือคนข้างหลังของผู้ที่(ต้องสงสัย) ก่อเหตุร้ายหาใช่ “ครอบครัวโจร” หรือ “ผู้สมรู้ร่วมคิด” หากแต่เขาเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์และควรได้รับความเข้าใจ การเยียวยา และความยุติธรรม แม้เธอเองจะเป็น “คนใน” ของวัฒนธรรมหลัก แต่เพราะการทำงานของเธอต้องการความร่วมมือบนพื้นฐานความเข้าใจ ซึ่งต้องใช้ความพยายามทำให้เพื่อนร่วมทางเหล่านั้นเข้าใจและยอมรับในความต่างทางวัฒนธรรมที่มีมากมายในพื้นที่นี้และสังคม เพื่อให้เกิดกระบวนการเยียวยาอย่างเที่ยงธรรมและเหมาะสม งานของเธอจึงควรค่าแก่สังคมและเพื่อนมนุษย์
ตามมาติดๆ เพื่อความต่อเนื่องและอรรถรสเดียวกัน หยดหนึ่งเยียวยาเพื่อเพื่อนมนุษย์, กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ, 2552เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อสรุปและรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2548 สิ้นสุดบทบาทและภารกิจหน้าที่ลง การดำเนินการของกองทุนฯ เปรียบเหมือนกับน้ำหยดหนึ่งในกระแสธารที่มีความหวังว่าจะสามารถดับไฟ ให้ความชุ่มเย็น และหล่อเลี้ยงชีวิตให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง แม้บทบาทของกองทุนฯ นี้ได้ยุติลงแต่งานเพื่อเยียวยาเพื่อนมนุษย์จะยังไม่สิ้นสุดลง ภารกิจนี้จะถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จากหน่วยงานหนึ่งสู่อีกหน่วยงานหนึ่ง จากกลุ่มคนชุดหนึ่งสู่อีกชุดหนึ่งจากมือเล็ก ๆ ข้างหนึ่งสู่อีกหลายมือ จนกว่าความสงบสุขและสันติจะกลับคืนสู่สังคมชายแดนใต้และจะไม่ถูกพรากจากไปไหนอีก ด้วยเชื่อมั่นว่า “กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาโดยชุมชน การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้คนและชุมชนในพื้นที่สามารถดูแลกันเองได้มากขึ้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างความสมานฉันท์ในระยะยาว”
หากยังไม่เต็มอิ่มกับอาหารที่เรานำมาเรียกน้ำย่อย คุณผู้อ่านสามารถเข้าไปเลือกรายการความรู้เพิ่มเติมได้จาก http://www.k4ds.org เพราะความน่าสนใจและรายละเอียดส่วนผสมของแต่ละเมนูยังรอให้คุณเข้าไปสืบเสาะ ค้นหา หรือคัดสรรมาปรุงใหม่ เพื่อนำมาเป็นอาหารสมอง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และ อยู่กับสถานการณ์ของสังคมได้อย่างรู้เท่าทัน หรือหากสุนทรียะและความสุขจากการอ่าน K4DS Post ในครั้งนี้ยังมีไม่เพียงพอ ลองติดตามอ่านเราต่อในฉบับหน้า แล้วคุณจะพบว่า K4DS เป็นพื้นที่ทางความคิดที่เชื่อมติดสังคมชายแดนใต้ และอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณไปโดยไม่รู้ตัว