Skip to main content

อิมรอน  ซาเหาะ[1]

        หลายคนอาจตั้งคำถามถึง ความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามและการเมืองในยุคสังคมการเมืองแบบสมัยใหม่ ตำแหน่งแห่งที่ของอิสลามจะอยู่ที่ไหนในขอบเขตของการเมือง เมื่อระบบการปกครองของอิสลามนั้นอยู่ภายใต้ระบอบคิลาฟะหฺ ซึ่งมีผู้นำที่มาจากระบบชูรอ ใช้กฎหมายอิสลามหรือชารีอะหฺเป็น กรอบกฎหมาย หากแต่สังคมยุคปัจจุบันยังไม่สามารถสถาปนารัฐในรูปแบบอิสลามที่ถูกต้องตามหลักชารีอะหฺให้เกิดขึ้นได้

        อิสลามครอบคลุมทุกกรอบของการดำเนินชีวิต ที่รวมไปถึงด้านการเมือง ซึ่งการเมืองเองก็เป็นสิ่งที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นมุสลิมในสังคมสมัยใหม่จึงมีการปรับวิธีการเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากยิ่งขึ้น

        อิสลามการเมือง หรือ Political Islam ถือเป็นแนวคิดที่ใหม่ซึ่งโดยทั่วไปมักยังไม่ได้รับการอธิบายที่ตกผลึกชัดเจนนัก และยังมีการถกเถียงเพื่ออธิบายแนวคิดนี้ อิสลามการเมืองได้รับการจำกัดความและอธิบายโดยนักวิชาการร่วมสมัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่ใช้เพื่ออธิบายเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมุสลิมในยุคสมัยใหม่

        ในแง่หนึ่งสามารถอธิบายได้ว่า แนวคิดอิสลามการเมือง ก็คือการอธิบายปรากฏการณ์สมัยใหม่ที่ใช้ศาสนามากำหนดกรอบการเมือง หลังจากที่แนวคิดเซคิวล่าร์(การแยกศาสนาออกจากการเมือง)ภายใต้กรอบคิดชาตินิยมและสังคมนิยมดูเหมือนจะมีความล้มเหลวในการตอบโจทย์ต่อการปกครองสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสังคมมุสลิม เมื่อความเชื่อที่ผูกติดกับมนุษย์ถูกจำกัดในการแสดงออก ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการปฏิวัติระบบการเมืองที่มีอยู่ ส่วนหนึ่งได้ใช้ระบบเช่นเดียวกับตะวันตก ซึ่งเป็นระบบรัฐชาติที่ปรากฏและมีระบบการปกครองโดยการตัดสินใจของประชาชน อิสลามการเมืองจึงอาศัยกรอบนี้บนฐานคำสอนศาสนาและใช้เป็นแนวคิดทางเลือกต่อแนวคิดทางการเมืองที่มีอยู่ เป็นปฏิกิริยาที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐเซคิวล่าร์แบบเดิมเพื่อปกป้องอัตลักษณ์และคุณค่าทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเองหรือแผ่นดินที่อยู่ ตลอดจนเพื่อท้าทายต่ออำนาจที่ล้มเหลวของนโยบายในระดับผู้นำของชาติ  

        ภายใต้แนวคิดนี้อาจมีกลุ่มแนวคิดที่เรียกว่าอิสลามนิยม (Islamism) ที่มีเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐอิสลามหรือการประกาศใช้กฎหมายอิสลามภายใต้อาณาเขตของรัฐนั้นๆ โดยมีผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดนี้ที่มีวิธีการที่ต่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ดีรัฐอิสลามภายใต้กรอบแนวคิดนี้จะมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเองให้สอดคล้องกับข้อท้าทายใหม่ๆ ของแต่ละยุคสมัย ซึ่งแนวคิดนี้ต้องเผชิญกับการถูกวิพากษ์จากกลุ่มแนวคิดอิสลามแบบดั้งเดิมที่มองว่าการสถาปนารัฐอิสลามนั้นอธิปไตยย่อมต้องเป็นของพระเจ้า และมีความเป็นสากล หากแต่กรอบอิสลามการเมืองกลับมีลักษณะของกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับขอบเขตของรัฐ และใช้เครื่องมือของรัฐที่เป็นระบบที่มนุษย์วางไว้ จากนั้นจึงปฏิรูปสิ่งที่มีอยู่ภายใต้ระบบการปกครองประชาธิปไตยเพื่อวางแนวทางสู่หนทางและนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางของอิสลาม กล่าวง่ายๆ ได้ว่า เป็นการเข้าไปในระบบและเปลี่ยนระบบนั้นนั่นเอง

        อิสลามการเมือง จึงอาจสรุปได้ว่า เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายกิจกรรมทางการเมืองที่ปรับใช้แนวทางอิสลามเข้ามาภายใต้พื้นที่รัฐชาติปัจจุบัน ที่ไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองด้วยอิสลามในรูปแบบดั้งเดิมได้ จึงใช้รูปแบบที่ผูกยึดกับความเป็นรัฐสมัยใหม่หรือแนวทางประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามกรอบศาสนาที่ได้กำหนดไว้แล้วนั่นเอง

 

References:

   Akbarzadeh, S. (2012). The paradox of political Islam. in Routledge handbook of political Islam, Akbarzadeh, S. (Ed.),

                  New York: Routledge.

Hirschkind, C. (2011). What is Political Islam?. in Political Islam: A Critical Reader,  Frederic Volpi (Ed.), New York: Routledge.

 



[1] บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากโครงร่างวิทยานิพนธ์ เรื่อง แนวคิดอิสลามการเมืองและสันติภาพของพรรคการเมืองแนวทางอิสลามในประเทศไทย