(source ; http://4.bp.blogspot.com)
“(อย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้) ความขัดแย้ง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการลบความแตกต่างหรือความขัดแย้งออกไป
แต่เกิดจากการพยายามอยู่กับความต่าง ภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา ผลประโยชน์และจัดการกับเงื่อนไขนี้อย่างใจกว้าง"
- Rajmohan Gandhi-
ผู้เขียน ; อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
(source ; http://www.usip.org)
ทางออกของพลเมืองผ่านการก้าวข้ามวัฒนธรรม
ในมิติแห่งสังคมที่ความหลากหลายทางศาสนาได้กระจัดกระจายและปลิวว่อนไปในซอกตึกแห่งมนต์เมือง ความได้เปรียบอย่างหนึ่งของสังคมแบบนี้ นั่นก็คือ บทเรียนร่วมกันเพื่อก้าว (ให้)ผ่านความรุนแรงที่หยิบยื่นให้แก่กัน ปากีสถานก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในชาติเห็นไม่ต่างกันนั่นก็คือ ความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ส่วนหนึ่งของความไม่เข้าใจนำพาไปสู่ความรุนแรงดังกล่าว กระทรวงการศาสนาและสวัสดิการชนกลุ่มน้อย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการปัญหาดังกล่าวและปกป้องสิทธิของศาสนาและชนกลุ่มน้อยผ่านสิทธิตามหลักกฏหมายรัฐธรรมนูญปากีสถาน (Theodore Gabriel, 2007;14)
คำให้การทางประวัติศาสตร์ของ ผู้ก่อตั้งประเทศ คือ มูฮัมหมัด อาลี ญินนะ (Muhammad Ali Jinnah) ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1947 ว่า
“ปากีสถานจะเป็นประเทศที่ไม่เลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อย หากคุณมีความคิดไม่ต่างกันนั้นก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินนี้ แน่นอนมันจะเป็นพลังอันมหาศาลในการอยู่ร่วมกันสำหรับพวกท่านเองไม่ว่าพวกท่านจะมาจากความเชื่อพื้นฐานแบบใด แน่นอนไม่มีปัญหาสำหรับสีผิว ชาติพันธุ์และหลักคำสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองทั้งหมดถือเป็นวาระสำคัญอันดับพื้นฐาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเท่าเทียมและความเสมอภาคก็จะปรากฏรายล้อมพวกท่าน”
มูฮัมหมัด อาลี ญินนะ ได้กล่าวอีกว่า
“พลเมืองชาวปากีสถาน คุณมีอิสรเสรี เท้าของคุณสามารถก้าวย่างและทอดน่องไปยังส่วนต่าง ๆ ของลัทธิความเชื่อ พวกท่านสามารถสอยเท้าของพวกท่านไปยังวัด โบสถ์ หรือมัสยิด หรือสถานที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อของพวกท่านในแผ่นดินนี้เพื่อเคารพบูชา เพราะคุณสามารถสังกัดกลุ่มและก๊กแห่งลัทธิความเชื่อของศาสนาและชาติพันธุ์ใดก็ได้” (Kalim Bahadur,1998;318-319)
ตามความเห็นของบาทหลวงอาซารีอะนั้น มองว่า องค์กรดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของประเทศปากีสถาน ซึ่งกลายเป็นที่พึ่งของชนกลุ่มน้อยอย่างชาวคริสต์ ฮินดู ซิกห์ พุทธและเชน เพื่อหาทางรอดให้กับพวกเขาในการเป็นกลุ่มชนชายขอบของประเทศ
(source ; https://shariaunveiled.files.wordpress.com)
ความพยายามขององค์กรดังกล่าวสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิวาทะระหว่างศาสนา (Christian-Muslim Dialogue) ด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมในประเทศปากีสถาน ผ่านการให้ความรู้ระหว่างกันของชาวคริสต์และชาวมุสลิม เพื่อการอยู่ร่วมกันที่เข้าใจ นักวิชาการของสองศาสนาได้ทำหน้าที่ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้สังคมเข้าใจความเปลี่ยนไปและการอยู่ร่วมกันตามขนบองค์รวม และหาทางออกในการอยู่ร่วมกันและชี้ชัดประเด็นที่ยังเข้าใจผิดสำหรับความต่างดังกล่าว
ศูนย์คริสต์เตียนศึกษา (The Christian study centre) ในเมืองราวัลปินดี (Rawalpindi) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1968 ด้วยการสนับสนุนและสร้างความเข้าใจระหว่างคริสต์และมุสลิม ซึ่งนักวิจัยหลายคนที่เป็นมุสลิมก็ได้ใช้ศูนย์แห่งนี้ในการศึกษาข้อมูล ศูนย์วิวาทะมุสลิม-คริสตเตียน ได้เกิดขึ้นด้วยการทำงานของนักวิชาการของสองศาสนาผ่านงานวิจัย ณ กรุงอิสลามาบัด นำเสนอข้อเขียน บทคัดย่อ บทความ และอื่น ๆ เพื่อเป็นประเด็นปลายเปิด และหาทางออกร่วมกันเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือให้องค์ความรู้กับสังคมพหุวัฒนธรรมชาวปากีสถาน ความร่วมมือดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ นิตยสาร อัลมูชีร (Al-Mushir) ซึ่งเป็นฉบับสองภาษาทั้งอุรดูและอังกฤษ
รวมทั้งหอประชุม Loyola Hall ในเมืองลาโฮร์ (Lahore)ได้กลายเป็นสถานที่สำคัญในการวิวาทะสำหรับชาวมุสลิมและชาวคริสต์ การพบปะครั้งดังกล่าวได้สร้างความเป็นกลุ่มก้อนชาวคริสต์และชาวมุสลิมเพื่อหาทางรอดในการอยู่ร่วมกัน สำหรับเมืองการาจีก็กลายเป็นพื้นที่อีกแห่งที่สร้างความเข้าใจระหว่างกันของสองศาสนานี้ การสร้างความเข้าใจครั้งดังกล่าวอย่างน้อยเป็นสัญญาณ เตือนอย่างหนึ่งให้เพื่อนร่วมประเทสตระหนักร่วมกันนั่นก็คือ ความสัมพันธ์และการให้เกียรติกันของผู้นับถือศาสนาที่ต่างกันและมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน (Theodore Gabriel, 2007;14-15.)
ความพยายามเหล่านี้ไม่ต่างจากชาวมุสลิม ชนกลุ่มน้อย และชาวพุทธ ชนกลุ่มใหญ่ ในลัดดาห์ก (Ladahk) รัฐจัมมูและแคชเมียร์ ของประเทศอินเดีย ที่ได้พยายามเล่าเรื่องราวและความเป็นมาของการวิวาทะของชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งองค์ดาไล ลามะ และอิหม่ามฆูลาม มูฮัมหมัด อัล-นัดวี ของเมืองเละ (Leh) ซึ่งเป็นผู้นำในการไดอาล็อคเหล่านี้
(source ; http://4.bp.blogspot.com)
โจทย์แรกที่พวกเขาตั้งขึ้นนั่นก็คือ “ในมิติสังคมที่นี่ เราต้อง ตระหนักเสมอว่า เราต้องอยู่ร่วมกัน เข็มและเบ้าแรกที่เราต้องคิดคือ สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม คำถามแรกที่เราคิดเสมอคือ เราจะต้องเรียนรู้และทำอย่างไรให้เราอยู่กันให้ได้ คำถาม ไม่ใช่อยู่ที่ว่า เขาเป็นพุทธ เราเป็นมุสลิม แต่คำถามและโจทย์ใหญ่ที่มากไปกว่านั้นคือ เราเป็นมนุษย์ร่วมโลก ทำอย่างไร เราจึงอยู่ร่วมกันได้”
อิหม่ามบอกต่อว่า
“โจทย์ของเรา วางหลักที่ “อย่างไร” (How To) เมื่อคนเริ่มคิดแบบนี้ คือ กระบวนการแชร์เกิดขึ้น เราหาทางออกเพื่ออยู่(ร่วม)กัน ไม่ใช่เราหาทาง(รอด)ที่จะไปจากกัน สังคมพหุวัฒนธรรมก็เลยน่าอยู่”
การสนทนาระหว่างมุสลิมและพุทธ (The Buddhist-Muslim Dialogue In June At The Mahabhodi International Mediation Centre)” ในปี 2002 The Buddhist-Muslim Dialogue in March At Columbia University in New York , ในปี 2006 The Buddhist-Muslim Dialogue in October At Beijing University”
“ในปี 2009 The Conflict Resolution In The World Parliament Of Religion in December At Melboune ; Australia, หรือ ในปี 2010 The Buddhist-Muslim Dialogue In June At The Mahabhodi International Mediation Centre ,Leh,Ladakh,India” ในมุมมองของ อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม ผ่านชิ้นงานที่ชื่อ ไดอาล็อคบน “ลาดักห์” ความต่างบนความสูง 3250 เมตร (นิตยสารนิสา วาไรตี้ , 2555 ; 42-47 หรือ http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42019)
ความพยายามของการวิวาทะของชาวปากีสถาน ได้กลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับการข้ามผ่านวัฒนธรรม บาทหลวงมาลิกได้บอกว่า การวิวาทะนับเป็นปรากฏการณ์ที่ร้อนแรงในประเทศปากีสถาน เพราะกิจกรรมดังกล่าวนับเป็นสิ่งจำเป็นลำดับต้น ๆ และสำคัญ ในมุมมองของมาลิกได้สะท้อนว่า ชาวคริสต์พยายามทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการไดอาล็อกมากกว่าชาวมุสลิม อาจเป็นเพราะ การต้องการหาพื้นที่และ ความอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว อย่างน้อยเพื่อแบ่งสันปันส่วนในสิ่งที่ควรจะได้รับจากคนกระแสหลักในสังคม ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม (Theodore Gabriel, 2007;91)
ศูนย์คริสต์เตียนศึกษา มีเป้าหมายในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นองค์กรช่วยเหลือชาวคริสต์ในประเทศปากีสถานเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเอง ทำความเข้าใจการตื่นตัวของอิสลามและรับรู้การวางตัวที่มีผลต่อสตรีและชนกลุ่มน้อย
ประการที่สอง คือ สร้างฐานข้อมูลทางวิชาการในการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิม-คริสต์และเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลาม
ประการที่สาม เพื่อพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวโยงกับการวิวาทะ สร้างความเข้าใจและสนับสนุนความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวคริสต์ในปากีสถาน
ประการสุดท้ายเพื่อสร้างความร่วมมือและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาวคริสต์ที่มีส่วนในการสร้างชาติของปากีสถาน (Nation Building in Pakistan) (Theodore Gabriel, 2007;92)
(source ; http://1.bp.blogspot.com)
โลกร่วมสมัยกับปัญหาที่ยังล้าสมัยของสังคมโลก
อย่าพยายามแปลกใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นใต้โครงแห่งอาณานิคมและรัฐชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาสมัยใหม่แต่อย่างใด กระนั้น สิ่งเหล่านี้ได้จัดระบบมาแล้วเมื่อปีคริสต์ศักราช 622 ผ่านกฏหมายรัฐธรรมนูญที่มาดินะห์ของท่านศาสดาที่ได้กลายเป็นแบบฉบับทีดีที่สุดของสังคมมุสลิม ในการอยู่ร่วมกับมิตรสหายที่มีอัตลักษณ์แห่งศาสนาไม่เหมือนกัน
สิ่งที่เราเดินผิดมาโดยตลอด นั่นก็คือ
การนิยามความเป็นไปของสังคมที่ผิดพลาด ว่า สังคมของเราต้องมีคนในแบบที่เราเป็น
เราไม่เข้าใจสภาพและอัตลักษณ์องค์รวมของสังคมที่แท้จริง
เราไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า คนต่างศาสนิกจะอยู่ร่วมกับเราได้อย่างไรหรือเราจะอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างไรกัน
เราต่างมีบทเรียนมาไม่ต่างกัน นั่นก็คือ ในประเทศยุโรป เรากลายเป็นคนกลุ่มน้อย (อ่านต่อใน “มุสลิมยุโรปกับการตื่นรู้ที่ไม่เคยจบสิ้น”) ซึ่งในประเทศเอเชียเรากลายเป็นประชากรส่วนใหญ่
สิ่งเหล่านี้ คือ ประสบการณ์ที่เรารับรู้มาไม่ต่างกัน ถึงพหุสังคมที่เราต่างหลีกหนีไม่ได้
ไม่ต่างกับมุสลิมที่อยู่ร่วมกับคนกลุ่มน้อยของคริสต์ศาสนาและฮินดูในประเทศปากีสถาน ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องเรียนรู้อย่างมากเพื่อให้ “อยู่ได้”และ “ได้อยู่” ร่วมกัน
อ่านตอนก่อนหน้า ที่
http://www.deepsouthwatch.org/node/6157
อ่านเพิ่มเติม
Bahadur, Kalim, Democracy in Pakistan crises and conflict, New Delhi ; Har-Anand Publication, 1998.
Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ; Princeton University Press, 2013.
Chopra Surendra and Kusum Lata Chadda, Islamic Fundamentalism, Pakistan and The Muslim World, New Delhi ; Kanishka Publisher, 2009.
Gabriel, Theodore, Christian Citizens in an Islamic State ; The Pakistan Experience, Hampshire ; Ashgate, 2007.
Gandhi, Rajmohan, The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History, Toyota Foundation ,1999
Gibb, H.A.R. และ Kramers, J.H. , Shorter Encyclopaedia of Islam (The Royal Netherlands Academy), New Delhi ; Pentagon Press,2008.
Jacobson Jassica , Islam in transition ; religion and identity among British Pakistan Youth, London ; Routledge, 1998.
Naqavi, Syed Ali Muhammad, Human Right in Islam and in the Sirah of Prophet Muhammad (P.B.U.H.), New Delhi ; Iran Culture House, 2008.
ยูสุฟ อัล-ก็อรฏอวีย์, มูฮัมหมัด ศิรอญุดดีน (แปล), ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามกับการท้าทายของยุคสมัย , กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์อิสลามิค อะเคเดมี,2546.
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, ไดอาล็อคบน “ลาดักห์” ความต่างบนความสูง 3250 เมตร, ใน นิตยสารนิสา วาไรตี้ ปีที่ 13 ฉบับที่ 132 เดือนสิงหาคม 2555 หน้า 42-47
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม , มองอิสลามผ่านแว่นขยายของนักบูรพาคดี (Islam in the eye of Orientalists) ,ใน สมาคมนักเรียนไทยในประเทศอินเดีย, The Effort , 2556 ; 36-47
ผู้เขียน ;
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม บ้านเกิดริมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานีอยู่ 4 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์ การปกครอง ก็ได้ย้ายรกรากมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร แห่งประเทศดินเดีย ชอบการอ่านและการเขียน แต่ด้วยความเป็นแค่นักฝึกเขียน จึงไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์รวมเล่มเป็นของตัวเอง ปัจจุบัน ยังใช้ชีวิตอยู่ประเทศอินเดียด้วยการศึกษา มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ ประเทศอินเดีย (เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2557 ณ หอสมุดเมาลาอาซัด, เมืองอาลิการ์, ประเทศอินเดีย)