เครือข่ายครูโรงเรียนตาดีกา (JARUM)
ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2557 เวลาประมาณ 02.30 น. มีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะหวนเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้มันผุดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง และ อำเภอมายอ นั้นคือ เหตุลอบวางเพลิงอาคารเรียนพร้อมกัน 6 โรงเรียน ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนเป็นจำนวนมาก
เหตุใดสถานศึกษาจึงเป็นเป้าหมายในการลอบวางเพลิง และอะไรเป็นเหตุจูงใจในการก่อเหตุดังกล่าว ?
มุมมองของนักวิชาการ บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้ที่เกาะติดเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปาตานี นั้น ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นและความห่วงใย กับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในครั้งนี้
เฉกเช่นเดียวกับบุคลากรทางการศึกษาอิสลามขึ้นพื้นฐาน หรือที่รู้จักกันในนาม “โรงเรียนตาดีกา” ในนามคณะทำงานเครือข่ายครูโรงเรียนตาดีกา (JARUM) ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่สถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุระหว่างสองฝ่าย
จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การคุ้มครองบุคลากรทางการศึกษา หรือ สถานศึกษาถูกระบุไว้ใน “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL)” อย่างชัดเจน “ว่าด้วยเรื่องการวางแผน หรือปฏิบัติการโจมตีจะต้องมีการแบ่งแยกระหว่างพลเรือนและพลรบ รวมทั้งระหว่างวัตถุของพลเรือนและเป้าหมายทางทหารด้วย เช่น ห้ามโจมตี หรือ ทำร้ายวัตถุของพลเรือน บ้านเรือน โรพยาบาล โรงเรียน สถานที่อันเป็นที่สักการบูชา อนุสาวรีย์ทางวัฒนธรรม หรือทางประวัติศาสตร์”
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูสอนวิชาสามัญ หรือ ครูสอนวิชาศาสนา ครูในโรงเรียนของรัฐ หรือ ครูในโรงเรียนเอกชน โรงเรียนในระบบ หรือ นอกระบบ เป็นต้น ผู้เขียนเชื่อว่า ครูทุกคนต่างก็มีความหวาดระแวง และหวาดกลัวถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองทั้งสิ้น
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2557 เวลาประมาณ 20.30 น. ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนและชนิดอาวุธปืนยิงนายฮาหมัด อะยีกะจิ จำนวน 2 นัด กระสุนถูกบริเวณคอ และสะบักขวา เสียชีวิต ซึ่งบุคคลคนนี้เขา คือ บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนตาดีกาในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
ซึ่งถ้าหากเราลองนึกย้อนไปก่อนหน้านี้ การเสียชีวิตของบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูสอนโรงเรียนตาดีกาที่ผ่านมากลับไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีนโยบาย หรือ มาตรการป้องกันใดๆ ในการดูแลและปกป้องจากฝ่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
หากเรากลับไปดูสถานะในสังคมตามความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเองก็มีบทบาทไม่น้อยกว่าบุคคลากรทางการศึกษาอื่นๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปาตานี ผืนแผ่นดินที่อุดมไปด้วยความรู้ที่หลากหลาย
บุคลากรทางการศึกษากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่สำคัญกลุ่มหนึ่งต่อวงจรของระบบการศึกษาในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า โดยเฉลี่ยร้อยละ 90 ของเด็กมลายูมุสลิมในพื้นที่ จะต้องผ่านช่วงชั้นการเรียนรู้ศาสนาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนตาดีกา เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำคัญของศาสนาก่อนที่จะเข้าไปสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นต่อไป