ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะหลังมักจะเกิดขึ้นโดยมีความพยายามที่จะนำเอามวลชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเปิดเผย ทั้งนี้เป็นเพราะความรุนแรงหรือการก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นรูปแบบพิเศษของการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ อาจจะกล่าวในอีกแง่หนึ่งได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสงครามแห่งสัญลักษณ์นั่นเอง
แม้ว่าการรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ผ่านมาเป็นเวลา 5 เดือนกว่าแล้ว แต่สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังมีแนวโน้มไปในทางรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั้งๆที่นโยบายรัฐบาลในปัจจุบันมุ่งเน้นการส่งสัญญาณเชิงสมานฉันท์ไปสู่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ประชาชนโดยทั่วไป และพยายามใช้ความประนีประนอมในการแก้ปัญหาด้านชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ แต่ปัญหาก็ยังคงรุนแรงมากยิ่งขึ้นซึ่งแสดงออกให้เห็นในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงด้วยความถี่สูงขึ้นและด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมมากยิ่งขึ้น
นอกจากวิธีการใช้ความรุนแรงแล้ว สัญญะของความรุนแรงก็ยังถูกแสดงออกในรูปอื่นๆเพื่อเสริมความเข้มแข็งของปฏิบัติการทางวาทกรรมในการต่อสู้เพื่อต่อต้านและลดทอนอำนาจอันชอบธรรมของรัฐ ทั้งในรูปของการแจกใบปลิวและข่าวลือในหมู่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการแสดงออกด้วยการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ นโยบายและการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของรัฐต่อการเคลื่อนไหวมวลชนจึงมีผลต่อการสกัดกั้นและยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ประชาชนในวงกว้างอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
จากสถิติที่ผ่านมาในรอบ 3 ปีกว่าของความรุนแรงในพื้นที่ มีเหตุการณ์ที่เรียกว่าการชุมนุมประท้วงโดยมวลชนรวม 26 ครั้ง ครั้งล่าสุดก็คือในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา (20 มีนาคม 2550) จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลา 38 เดือนดังกล่าวมีการประท้วงเกิดขึ้นที่จังหวัดยะลา 12 ครั้ง จังหวัดปัตตานี 7 ครั้ง นราธิวาส 4 ครั้ง และสงขลา 3 ครั้ง เหตุประท้วงเกิดขึ้นมากที่สุดที่จังหวัดยะลาซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นมากทั้งในปี พ.ศ. 2549 และ 2550 ประเด็นที่น่าสนใจคือลักษณะข้อเรียกร้องในการชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่จะเป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีการก่อความไม่สงบ (13 ครั้ง) รองลงมาคือการเรียกร้องขับไล่กองกำลังทหารหรือตำรวจออกจากพื้นที่ (5 ครั้ง)
เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา |
13 ครั้ง |
ขับไล่กองกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ |
5 ครั้ง |
ประท้วงเจ้าหน้าที่การยิงผู้ต้องสงสัย |
1 ครั้ง |
ประท้วงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ก่อสถานการณ์ |
3 ครั้ง |
เสนอข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รักษาความสงบ |
3 ครั้ง |
การชุมนุมประท้วงส่วนมากจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2549 และปี 2550 กล่าวคือเกิดการประท้วง 8 ครั้งในปี พ.ศ. 2549 และในปี 2550 เกิดการประท้วงมากถึง 16 ครั้ง ทั้งๆที่ปีนี้เพิ่งจะผ่านมาเพียงแค่สองเดือนกว่าเท่านั้น จึงเป็นสัญญานบอกเหตุว่าแนวโน้มการเคลื่อนไหวมวลชนในลักษณะเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นมากขึ้นในปีนี้ องค์ประกอบของผู้ชุมนุมประท้วงในระยะแรกมักจะเป็นชายฉกรรจ์หรือรวมกันทั้งผู้ชายกับผู้หญิง จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 50 คนจนถึงสูงสุดประมาณ 300-500 คน
แต่เมื่อดูจากจำนวนผู้ชุมนุมประท้วงแต่ละครั้ง มีผู้ร่วมชุมนุมประท้วงระหว่าง 50-100 คนเป็นจำนวน 15 ครั้ง (ร้อยละ 58) 200-300 คน 8 ครั้ง (ร้อยละ 31) 400-500 คน เพียงแค่ 3 ครั้ง (ร้อยละ 11) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ส่วนมากจะเป็นการรวมตัวชุมนุมขนาดเล็กโดยมีผู้ประท้วงจำนวน 50-100 คน
ประเด็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือนับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 องค์ประกอบของผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงจะเป็นกลุ่มผู้หญิงมุสลิมและเด็กเป็นส่วนใหญ่ รวมแล้วการชุมนุมประท้วงของผู้หญิงและเด็กมีจำนวน 15 ครั้ง หรือร้อยละ 58 ของเหตุประท้วงทั้งหมด ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงของผู้หญิงที่มีคนเข้าร่วมไม่เกิน 100 คนแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นผู้หญิงมักจะเป็นการจัดตั้งในกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนักก็แต่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการรวมตัวหรือสลายตัว
ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ก็คือการชุมนุมประท้วงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่มีพลังมากในการเคลื่อนไหวและสามารถก่อผลกระทบได้เป็นอย่างสูงโดยเฉพาะต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ทั้งในและนอกพื้นที่ ควรสนใจด้วยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นยังขึ้นอยู่กับวิธีการในการจัดการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา การชุมนุมครั้งแรกในพื้นที่ก็คือกรณีอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งรัฐต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงใหญ่เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 1,300 คน การจัดการที่ไม่มีความพร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การเจรจาไม่ประสบผล
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจกับมวลชน เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นมีคนตายในที่เกิดเหตุ 7 คนและมีการควบคุมตัวผู้ประท้วง 1,292 คน หลังจากนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการลำเลียงคนไปค่ายอิงคยุทธบริหารอีก 78 คน ผลสะเทือนของความล้มเหลวในการจัดการเจรจากับผู้ชุมนุมประท้วงที่ตากใบทำให้เหตุการณ์นองเลือดเป็นข่าวไปทั่วโลก และก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธแค้นในหมู่ประชาชนในพื้นที่
ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุประท้วงเป็นครั้งที่สอง คราวนี้มีการประท้วงและจับตัวประกันนาวิกโยธิน 2 นายที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีชาวบ้านทั้งชายและหญิงเข้าร่วมประมาณ 100 กว่าคน การเจรจาล้มเหลวอีก ทำให้นาวิกโยธิน 2 นายที่ถูกจับเป็นตัวประกันเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
เหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงครั้งที่สามเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกัน ในเหตุการณ์ดังกล่าวชาวบ้านทั้งผู้ชายและผู้หญิงจับครูผู้หญิงคนพุทธ 2 คนเป็นตัวประกัน หนึ่งในนั้นคือครูจู หลิง ปงคำมูล ผลการเจรจาที่ล้มเหลวทำให้มีการทำร้ายครูทั้งสองอย่างทารุณ ครูจูหลิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ตากใบ ตันหยงลิมอ และกูจิงลือปะ เป็นกรณีความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงสามครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 และมีผลกระทบอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ประเด็นที่สำคัญก็คือทั้งสามกรณี รัฐล้มเหลวในการจัดการและเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง
แต่สิ่งที่ควรบันทึกไว้ด้วยก็คือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงรัฐในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ที่เหลืออีก 23 ครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2550 ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงและการนองเลือด แม้ว่าหลายครั้งจะมีความตึงเครียดและแนวโน้มของการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐกับประชาชนในระหว่างการชุมนุมประท้วง แนวทางและยุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งในสถานการณ์ประท้วงจึงน่าจะมีนัยสำคัญต่อการลดความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเหตุการณ์หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเจรจาโดยอาศัยผู้นำท้องถิ่นเช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และผู้นำทางศาสนาเช่นอิหม่ามและกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติ
กรณีที่มีการเรียกร้องมากที่สุดในระยะหลังก็คือการเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจับกุมผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดคดีความมั่นคง เนื่องจากความหวาดระแวงที่มีต่อรัฐและความไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ทำให้ครอบครัวและญาติพี่น้องไม่พอใจต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่
เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายต่อความวิตกกังวลดังกล่าว มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการประนีประนอม ด้วยการจัดการให้ญาติเข้าเยี่ยมตัวผู้ต้องสงสัยและเปิดโอกาสให้มีการประกันตัวหรือปล่อยผู้ต้องหาบางคนที่หลักฐานไม่เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจจะขยายตัว เนื่องจากในระยะหลัง เกิดจากการชุมนุมของสตรีและเด็กมากขึ้น ในลักษณะคล้ายโล่มนุษย์ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการใช้ทหารพรานหญิงเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งและการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
การใช้ทหารพรานหญิงทำให้ลดความรุนแรงและมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ดังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง 2 ครั้งที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลาและอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นต้น นอกจากนั้น ประเด็นที่น่าสังเกตด้วยก็คือการชุมนุมประท้วงในระยะหลัง มีบางครั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันและไม่สามารถแสดงข้อเรียกร้องของตนเองให้ชัดเจน ผู้ประท้วงจะพากันสลายตัวไปเองเมื่อเวลาพลบค่ำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย
อย่างไรก็ดี การที่รัฐหันมาใช้วิธีการประนีประนอมในการชุมนุมประท้วงของชุมชนในกรณีที่เกิดการจับกุมผู้ต้องสงสัย ทำให้เกิดปัญหาในอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของรัฐเสียไปในแง่ที่ว่าทำให้เสียกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและอ่อนเกินไปในการจัดการปัญหาความขัดแย้งโดยเฉพาะต่อความรุนแรงที่มีต่อชุมชนชาวพุทธในพื้นที่
ดังจะเห็นได้จากใน 26 ครั้งของการเกิดเหตุประท้วงทั้งหมดนั้น 3 ครั้งเป็นการประท้วงของกลุ่มชาวพุทธในพื้นที่ เหตุการณ์ปลายเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2549 ที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องของคนพุทธเป็นครั้งแรก โดยชาวบ้านชุมชนพุทธกว่า 200 คนรวมตัวกันปิดถนนสาย 410 ยะลา-เบตงเพื่อยื่นข้อเสนอให้ทหาร ตำรวจเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัยของคนพุทธและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธ์
ต่อมามีการชุมนุมของชุมชนชาวพุทธอีกที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิด ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมของชุมชนชาวพุทธอีกครั้งที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีชาวบ้าน 500 คนจาก 3 ตำบลคือตำบลเขาแดง ตำบลคูหาและตำบลทุ่งพอยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลมีความเด็ดขาดกับผู้ก่อความไม่สงบและช่วยเหลือเยียวยากับผู้ถูกกระทำอย่างเท่าเทียมกัน
การชุมนุมของชาวพุทธในพื้นที่สะท้อนให้เห็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่งที่รัฐต้องเผชิญในการจัดการปัญหาด้วยความสมานฉันท์คือความรู้สึกไม่พอใจของชุมชนพุทธในพื้นที่และความรู้สึกไม่เข้าใจกันระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิมที่เพิ่มระดับมากขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า นโยบายและแนวการปฏิบัติของรัฐต่อการเคลื่อนไหวโดยอาศัยมวลชนมาต่อต้านรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลต่อการสกัดกั้นและยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐทำได้ดีในการจัดการความขัดแย้งด้วยการใช้วิธีประนีประนอมในการจัดการการชุมนุมประท้วงของมวลชนมิให้เกิดปัญหาดังเช่นกรณีตากใบ ตันหยงลิมอและกูจิงลือปะ
แต่ในอีกด้านหนึ่งการที่ผู้ก่อความรุนแรงหันไปพุ่งเป้าการโจมตีอย่างโหดร้ายต่อคนพุทธในพื้นที่และชุมชนหลายแห่งก็กระตุ้นความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิมให้เพิ่มมากขึ้นทำให้ประเด็นความรู้สึกต่อความปลอดภัยของคนพุทธกลายเป็นตัวแปรที่อ่อนไหวมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการปะทะกันระหว่างชุมชนระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาที่ต่างกันดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ
ในสถานการณ์เช่นนี้ จะเห็นได้ว่าในขณะที่รัฐเพิ่มปัจจัยในเรื่องความสมานฉันท์เข้าไปในนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้เพื่อลดพื้นที่การเคลื่อนไหวสร้างเงื่อนไขของฝ่ายขบวนการก่อการร้ายและกลุ่มก่อความไม่สงบ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็สามารถลดพื้นที่ทางการเมืองของรัฐด้วยการเพิ่มปัจจัยความแตกแยกในหมู่คนมุสลิมและคนพุทธเข้าไปในสมการความรุนแรง เร่งกระแสสาธารณะที่ปฏิเสธนโยบายสมานฉันท์และสันติวิธีและในที่สุดก็เพื่อที่จะลดความน่าเชื่อถือความชอบธรรมของรัฐในการปกครอง
ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะต้องยอมรับก็คือนโยบายสมานฉันท์และสันติวิธีในการจัดการการชุมนุมประท้วงของประชาชนในรอบสองปีที่ผ่านมาของรัฐบาลมีผลทำให้ลดความรุนแรงหรือผลกระทบด้านลบที่มีต่อประชาชนในเหตุการณ์แต่ละครั้งได้อย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าหลังจาก 3 กรณีแรกที่การเจรจาต่อรองล้มเหลว ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเรียกร้องไม่ว่าจะโดยมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์ยุติลงโดยสงบแม้จะมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาต่อรองและการเผชิญหน้า
สิ่งที่รัฐจะต้องทำเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายสมานฉันท์ก็คือ พยายามรักษาความปลอดภัยในชีวิตของชุมชนพุทธให้ได้โดยการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ในขณะเดียวกันฟื้นความมั่นคงปลอดภัยให้กลับคืนมาให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในเขตที่มีอันตรายสูงเช่นเขตแดง
ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งชุมชนมุสลิมและชุมชนพุทธต้องได้รับการปกป้องและปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน การปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันไม่มีอคติของรัฐเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายสมานฉันท์และสันติ ท่าทีการปฏิบัติของรัฐที่ให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันจะช่วยลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาได้ ในอีกด้านหนึ่งการสร้างความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมายก็มีความสำคัญ การดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องทำโดยอาศัยความร่วมมือขององค์กรชุมชน ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำทางศาสนาในทุกขั้นตอนกระบวนการ รัฐจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจผู้นำท้องถิ่นและพลังชุมชนเพื่อจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อฟื้นอำนาจของสังคมให้กลับมา