กีดัม การิง และซัมรี สาวี
นักศึกษา Wartani Grassroots Media (WGM)
เมื่อวันเสาร์ ที่ 25 ตุลาคม 2557 ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เนื่องในโอกาส ครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของรัฐ ที่ สภ.อ.ตากใบ อันมีผลทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต รวมจำนวนเกือบร้อยคน และมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง
อิสมาแอ เตะ ประธานโครงการรำลึก 10 ปี ตากใบ และเป็นประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี กล่าวว่า “การจัดงานรำลึกครบรอบ10 ปี ตากใบ เพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุย และเป็นบทเรียนในอนาคตว่า การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนนั้นไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีก
วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตื่นตัวในประเด็นเนื้อหาทางการเมือง สร้างจิตสำนึกกับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นที่ตากใบและเพื่อแสดงท่าทีการปฏิเสธการใช้ความรุนแรง” นายอิสมาแอ กล่าว
อัสมาดี บือเฮง เลขานุการ โครงการรำลึก 10 ปี ตากใบ และเป็นรองประธาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “เพื่อรำลึกเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ”
ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนถึงความคิดเห็นต่อบทเรียนสิบปีตากใบ ดังนี้
นายอัซฮัร ลูเละ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า "เราไม่อยากเห็นการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เหมือนในอดีต เพราะบทเรียนครั้งนั้นเป็นบทเรียนราคาแพง" นายอัซฮัร กล่าว
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กล่าวว่า “การใช้สิทธิทางการเมืองแบบสันติวิธีของผู้ร่วมชุมนุมที่ตากใบ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับให้ข้อมูลไปอีกแบบหนึ่ง โดยฝ่ายความมั่นคงมองว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อเปิดทางให้ตนเองชอบธรรมในการสลายการชุมนุม” นายตูแวดานียา กล่าว
นางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายก สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ กล่าวว่า “ความหมายของการเยียวยา คืออะไร !!!!! คือ การชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากที่มีอยู่เดิมอย่างนั้นหรือ ? แต่ ณ ตากใบ สิ่งที่ขาดหายไปมัน คือ สิทธิความเป็นเป็นมนุษย์ ชีวิตของความครัว พ่อ สามี ผู้นำ หรือผู้ที่เป็นเสาหลักของบ้านหายไปทั้งคน” นางสาวรุซดา กล่าว
นางสาวรุซดา สะเด็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากเหตุการณในวันนั้นเรายังไม่เคยลืม ผู้ชุมนุมถูกกระทำ ถูกจับมือไคว้หลัง แล้วถูกโยนทับซ้อนกันหลายๆชั้น ในที่สุดพวกเขาก็ทนความเจ็บปวดและความหิวโหยไม่ไหวจนต้องขาดลมหายใจ
หากเรามาร่วมตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องมาร่วมรำลึกตากใบอยู่ทุกๆปี ? รำลึกแล้ว รำลึกอีก คนในพื้นที่ก็ตื่นตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากรัฐอย่างชัดเจน คำตอบที่ได้ทุกครั้ง คือ พวกเขาตายเพราะขาดอากาศหายใจเช่นเดิม” นางสาวรุซดา กล่าว
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า “25 ตุลา ที่ตากใบยังไม่มีนโยบาย แต่ 6 ตุลา ที่กรุงเทพ มีนโยบายขึ้นมาแล้ว กรณีตากใบเราน่าจะมีข้อเสนออะไรที่เราต้องการ และเหตุการณ์อื่นๆที่เราจะนำเสนอขึ้นมาคืออะไร
รัฐไทยบอกว่ารัฐเสียงบประมาณมากในช่วง 25 ตุลา กรณีเหตุการณ์ตากใบ จะคล้ายกันกับกรณี 6 ตุลา ว่า “อากาศเป็นคนฆ่าให้ตาย” ถามต่อว่าแล้วใครล่ะเป็นคนทำ” นางชลิดา กล่าว
นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า “รัฐควรที่จะเรียนรู้ในการรับมือการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการชุมนุมทางการเมืองในลักษณะแบบนี้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร อันนี้เป็นบทเรียนสำคัญ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ มันชี้ให้เห็นหรือพิสูจน์แล้วว่า กระบวนการยุติธรรมมีข้อจำกัดอยู่จริงในความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการใช้ความรุนแรงในลักษณะแบบนี้
ซึ่งมันไม่สามารถทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ได้รับความเป็นธรรมมากพอที่จะลืม หรือเข้าใจว่า ความขัดแย้งนี้ มันหาทางออกได้" รอมฎอน กล่าว
กิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะมีการเสนาในช่วงเช้าแล้ว ยังมีกิจกรรม อื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงบ่าย แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มาขอสั่งให้ยกเลิกการจัดงานในวันนี้ ทางผู้จัดงานจึงได้ต่อรองกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อจะจัดงานตามกำหนดการเดิม สุดท้ายได้ข้อตกลงว่า ต้องจัดงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลาบ่ายสอง