Skip to main content

วันประถมศึกษาแห่งชาติกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้

เพราะ

...เยาวชน คือ อนาคตของชาติ

...การศึกษา คือ การสร้างฐานรากทางปัญญา และการพัฒนาทรัพยากร “คน”

...การสร้างการเรียนรู้เพื่อรู้จัก เข้าใจ และรักษ์ท้องถิ่น คือ ส่วนสำคัญของการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต

...“บริบทของจังหวัดชายแดนใต้” คือ รากเหง้า ทุนสังคม และ หัวใจ ของปัญหาและการพัฒนาพื้นที่

ช่วงวัยเด็ก อาจเป็นช่วงวัยและวันเวลาแห่งความสุขที่ใครหลายคนไม่เคยปล่อยให้รางเลือนไปจากความทรงจำ เพียงเสี้ยวนาทีของชีวิตที่คิดถึงก็เผลอนั่งอมยิ้มอิ่มสุข ยิ่งนึกถึงช่วงเวลาที่ได้วิ่งเล่น ทำกิจกรรม และเรียนรู้ ร่วมกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ความสุขยิ่งล้นปรี่...แต่แปลก!!! ที่เราแทบไม่เคยมีภาพความประทับใจในห้องเรียนโผล่ผุดขึ้นมาในนาทีความสุขของความทรงจำ...ทั้งที่เป็นช่วงวัยและเวลาเดียวกัน

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งคนที่ก้าวผ่านช่วงวัยเด็กมาเนิ่นนาน แต่ความทรงจำยังชัดเจนและกรุ่นสุขเสมอ เช่นเดียวกัน ไม่บ่อยครั้งนักที่นั่งระลึกถึงวันเวลาเหล่านั้นแล้วจะคิดถึงความสุขในห้องเรียน นอกจากวาระที่เกิดการพูดคุยในประเด็นเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวผู้เขียนเป็นนักเรียนชั้นดีที่ตั้งใจเรียนและมีผลการศึกษาในเกณฑ์ดีเยี่ยมเสมอมา ด้วยเพราะถูกปลูกฝังให้เชื่อมั่นเสมอมาว่าการศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของเราทุกคน เพราะการศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเจริญงอกงามและก้าวหน้า อีกทั้งสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ตลอดจนช่วยวางรากฐานพัฒนาการของชีวิตให้เกิดศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างสมบูรณ์ รวมถึงการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ และคาดหวังจะเห็นประชากรของประเทศได้รับการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคงได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป ประสบการณ์และการเรียนรู้เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่น ขณะที่ภาพความทรงจำในวัยเรียนที่ระลึกได้ยิ่งตอกย้ำและสั่นคลอนต่อความรู้สึก แต่ส่วนลึกในใจยังคงฝากความหวังในการพัฒนาสังคมและพัฒนาลูกหลาน ด้วยการศึกษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และเหมาะกับบริบทของสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

เนิ่นนานมาแล้วที่ระบบการจัดการศึกษาเกิดขึ้นในสังคมไทย เปลี่ยนแปลงและพัฒนามาเรื่อยๆ ทุกยุคทุกสมัยต่างมีวาทกรรมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ยุคหนึ่งรัฐเคยกำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำ ยุคต่อมายังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องแต่ขยับปรับเปลี่ยนเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน แทนและยึดถือกันมาตั้งแต่นั้นจนปัจจุบัน แม้มีการกำหนด “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” เป็นวันสำคัญชัดเจน แต่คุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาของไทยอาจยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง กระทั่งการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ยังมีความแตกต่างกัน ประเทศเราอาจเดินหลงทิศผิดทางไปตามกระแสสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบด้าน จนละเลยเป้าหมายเบื้องต้นของการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาให้คนมีทักษะความรู้ ทักษะชีวิต เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ถึงวันนี้อาจยังไม่สายเกินไปที่จะผ่าตัดการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น แต่คำถามหลัก คือ ประเทศไทยจะวางยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปการศึกษาอย่างไรที่ทำให้เกิดผลดีที่สุด และกระทบกระเทือนทางลบน้อยที่สุด? คงต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน

จังหวัดชายแดนใต้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ความแตกต่างกลายเป็นที่มาของปัญหาการศึกษาและปัญหาอื่นๆ ที่สั่งสมและกัดกินเกราะภูมิคุ้มกันที่ดีของท้องถิ่นให้ค่อยๆ ลบเลือนและจางหายไปกับสถานการณ์ที่ถูกประดิษฐ์สร้างและให้ความสำคัญจากบางคนบางกลุ่ม สำหรับพื้นที่นี้ “การศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม” ที่อยู่บนพื้นฐานการทำความรู้จัก เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับในความต่าง อาจเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิด “พหุปัญญา” เพราะ“บริบทของจังหวัดชายแดนใต้” คือ รากเหง้า ทุนสังคม และหัวใจสำคัญของปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ การศึกษาที่ดีจึงควรสร้างการเรียนรู้เพื่อรู้จัก เข้าใจ และรักษ์ท้องถิ่น ตอบสนองต่อการสร้างฐานรากทางปัญญา พัฒนาชีวิต พัฒนาคน เพื่อรักษาอัตลักษณ์และเอกภาพของประเทศต่อไป

“ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” เวทีถอดบทเรียนรำลึก 10 ปี ตากใบ

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานีจัดเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” เนื่องในงาน “รำลึก 10 ปี ตากใบ” ณ หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมรำลึกถึงวันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหนึ่ง

เวทีเสวนา “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” เป็นหนึ่งในเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาทางออกในทางการเมือง และให้โอกาสกับกระบวนการสันติภาพในการเปิดพื้นที่ทางความคิดที่สามารถถกเถียงอภิปราย เพื่อจะได้เข้าถึงกระบวนการสันติภาพ โดยมีนายสุไฮมิง ดุละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นตัวแทนจากแวดวงคนทำงานในพื้นที่และผู้สูญเสีย ได้แก่นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน นายอัซฮัร ลูเละ หนึ่งในเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ และนางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERWANI)

ผู้ร่วมเสวนาต่างย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์และถอดบทเรียนโดยเทียบเคียงกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ซึ่งมีบริบทและผลที่เกิดตามมาทั้งแตกต่างหรือใกล้เคียงกัน แต่สามารถเชื่อมโยงภาพให้เห็นระบบคิดและพัฒนาการทางการเมืองผ่านการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม กันโดยใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่ปลอดภัย และใช้รูปแบบสันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การไล่เรียงลำดับเหตุการณ์และความเชื่อมโยงของวันวิปโยคในตากใบที่กลายเป็นบทเรียนราคาแพงของทั้งภาครัฐ ประชาชน และผู้สูญเสียนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากความรุนแรงในปี 2547 ที่เชื่อมโยงสู่สถานการณ์บนความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกัน และผลประโยนช์ทับซ้อนมหาศาลในพื้นที่แห่งนี้ พร้อมทั้งสะท้อนบทเรียนจากการทำงานของภาครัฐ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดสันติภาพและความสงบสุข หากแต่ในขณะเดียวกันอาจยิ่งผลักดันให้มีศัตรู(เงียบ) เพิ่มมากขึ้น

บทสรุปของเหตุการณ์และคดีความต่างๆ ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร เราอาจไม่ต้องคาดเดา แต่บทเรียนสำหรับเราคือต้องมองเชื่อมโยงทุกสถานการณ์อย่างเป็นระบบ และตระหนักว่ากระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนเปิดใจ เข้าใจ เรียนรู้ และร่วมมือกันอย่างแท้จริง ...อย่าให้ทุกเหตุการณ์และความสูญเสีย กลายเป็นเพียงซากความทรงจำ เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ขอบคุณภาพข่าวและข้อมูลดีๆ จาก http://www.deepsouthwatch.org/dsj/6324)

 

K4DS เปิดประตูความรู้ชายแดนใต้

เพื่อร่วมย้อนรำลึกถึงช่วงวัยเด็ก และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในช่วงชั้นประถมศึกษา K4DS Post ฉบับนี้เรามีหนังสือแนะนำ ที่จะทำให้ใครหลายคนอมยิ้มไปกับเรื่องราวความซุกซนที่อาจเคยเกิดขึ้นจริงในกาลครั้งหนึ่งของชีวิต หนังสืออ่านประกอบการเรียนชุด ความสุขของฉันในวันสุขภาพดี หน่วยที่ 3 สุขภาพจิตดีได้ด้วยตนเอง เรื่อง ทุกข์เขา...ทุกข์เราชุลีพร อรุณแสงสุรีย์ และคณะ, 2553 หนึ่งในจำนวน 11 เล่ม ของหนังสืออ่านประกอบการเรียนชุด “ความสุขของฉันในวันสุขภาพดี” ภายใต้โครงการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการอยู่ดีมีสุข สำหรับโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นอีกความพยายามในการคัดสรรเรื่องราวใกล้ตัวมาบูรณาการเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใช้สอนเด็กๆ ตามช่วงวัย ให้รู้จักรักและดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง “ทุกข์เขา...ทุกเรา” สะท้อนเรื่องราวความคึกคะนองด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในวัยเด็กของเด็กชายคู่หนึ่ง ที่ความซุกซนนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้ถูกกระทำ และกระทบต่อความรู้สึกของตนเองอย่างไม่คาดคิด โชคยังดีที่เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นบทเรียนให้เด็กน้อยคู่นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโต วิกฤตการณ์ได้เปลี่ยนสู่โอกาสแห่งการเรียนรู้ที่จะรักและมีความรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง การนำเสนอโดยใช้หนังสือภาพประกอบเรื่องเล่า แล้วเชื่อมโยงปิดท้ายด้วยสาระความรู้ ทำให้เด็กเพลิดเพลิน จดจำ และเรียนรู้โดยไม่เบื่อหน่าย ท่านสามารถติดตามอ่านหนังสือเรื่องนี้ได้ที่ http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/showDetail.php?i... รวมทั้งติดตามอ่านหนังสือในชุดเดียวกันได้ครบทุกเล่ม ที่ฐานข้อมูล K4DS Search 

เล่มต่อมา รายงานผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการวิจัยสุขภาวะและพหุวัฒนธรรมศึกษา, วัฒนะ พรหมเพชร, 2556 ชุดโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มนักวิจัยในพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ให้ดำเนินการสร้างนักวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และเผยแพร่งานวิจัยทางพหุวัฒนธรรมศึกษาและการสร้างเสริมสุขภาวะในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และตอบสนองต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเสริมสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็งและอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข ซึ่งดำเนินงานระหว่างปี 2552-2555 และได้งานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้จำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการวิจัย แต่ละโครงการล้วนน่าสนใจ และควรค่าแก่การพัฒนาต่อเนื่องรวมทั้งประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาแนวพหุวัฒนธรรมศึกษาให้เกิดขึ้นจริง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/showDetailProjec...