วงสัมมนาของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวานนี้(3 เม.ย.) ทั้งนักวิชาการ , ข้าราชการ , อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และตัวแทนจากภาคประชาชน ล้วนเล็งเห็นตรงกันว่า การเผชิญหน้ากันระหว่างผู้คนต่างศาสนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเป็นปรากฎการณ์ที่น่าหวั่นวิตกและการเลือกวิธีแก้ไขปัญหาของภาครัฐจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ชี้ขาดวิกฤตในครั้งนี้
ต้นเหตุคือปฎิเสธอัตลักษณ์
ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานีชี้ว่า สาเหตุปัญหาหนึ่งคือการที่รัฐไทยไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของชาวมลายู จากปัญหาที่รัฐไทยไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของชาวมลายู ซึ่งอัตลักษณ์ดังกล่าวผูกพันอย่างแยกไม่ออกกับศาสนาอิสลาม
"สิ่งที่ชาวมลายูมุสลิมสอนลูกหลานตั้งแต่ยังกินนมแม่ ก็คือคำกล่าวที่ว่า เชื้อชาติหาย ภาษาหาย ประเทศหาย ศาสนาหายสะท้อนให้เห็นถึงความหวงแหนความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา และภาษาอย่างเหนียวแน่น และนั่นก็คืออัตลักษณ์ที่พวกเขาต้องการรักษาเอาไว้"
ปิยะ ชี้ว่า ที่ผ่านมารัฐไทยแก้ไขปัญหาโดยการพยายามเอาใจชาวมลายูทุกอย่าง แต่กลับละเลยสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการมากที่สุดนั่นคืออัตลักษณ์ของมลายู ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง คือรัฐบาลต้องสร้างองค์ความรู้ให้คนทั้งประเทศเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
หน่วยเสี้ยมพุทธ-มุสลิม
อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาในดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่มีประวัติศาสตร์ยืดยาวมานับร้อยปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ความขัดแย้งจะมีเพียงมิติเดียวหรือเชิงชั้นเดี่ยว แต่ปมขัดแย้งย่อมมีความซับซ้อนสูงมิหนำซ้ำยังมีพัฒนาการการจนหนักข้อมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีต กอส.ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู จังหวัดยะลา กล่าวว่า พฤติกรรมการติดตามล้างแค้นระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิมเมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกทำให้เสียชีวิตนั้น เป็นวิธีการที่บางพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เคยใช้กันมาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งเรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ยืนยันได้ ถือเป็นการคานกันเพื่อสร้างสมดุลโดยไม่ต้องพึ่งพากฎหมาย
กระนั้น สถานการณ์ Iณ ปัจจุบันกลับรุนแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะพบร่องรอยที่น่าเชื่อว่า มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามก่อเหตุประทุษร้ายประชาชนทั้ง2ฝ่าย คือทั้งฝ่ายพุทธและมุสลิม เพื่อตอกลิ่มให้คน2ศาสนาทะเลาะเบาะแว้งกันเอง
"ตัวอย่างที่อธิบายได้ชัดก็คือ เหตุการณ์ยิงถล่มโรงเรียนปอเนาะที่บ้านควนหรัน (ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา) จากนั้นอีกวันหนึ่งก็เกิดเหตุยิงคนไทยพุทธที่ร่องควน(อ.สะบ้าย้อย) หรืออย่างเหตุการณ์ยิงรถตู้จนชาวไทยพุทธเสีชีวิต8ศพในตอนเช้า พอตกค่ำก็กราดยิงมัสยิดในอำเภอเดียวกัน อย่างนี้มันชัดเจนว่ามีคนกลุ่มหนึ่งหรือเครือข่ายหนึ่งพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อเสี้ยมคนในพื้นที่ให้ขัดแย้งกันเองให้ได้"
ประสิทธิ์ ฟันธงว่า กลุ่มคนที่เขาพูดถึงคือหน่วยติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต
"ถ้าจะพูดกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงมารยาท ต้องยอมรับความจริงว่าในพื้นที่ไม่มีความไว้วางใจกันอีกแล้วระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการให้เกิดการจราจลและต่อสู้กันระหว่างเชื้อชาติ เพื่อหวังให้องค์กรระหว่างประเทศยื่นมือเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโอไอซี(องค์การการประชุมอิสลาม) หรือยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) นี่คือรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในติมอร์ตะวันออก" อดีตกอส.ระบุ
ทวีเส้นทางความเกลียดชัง
ปฎิเสธไม่ได้ว่าสัญญาณจลาจลกำลังปรากฎชัดขึ้นทุกที ไม่ต่างอะไรกับเสียงเดินของนาฬิกาที่ตั้งเวลาระเบิดเอาไว้ โดยเฉพาะภาพของผู้ชุมนุม 2 ศาสนา ที่เผชิญหน้ากันบนถนนบ่อยครั้งในระยะหลัง รวมถึงม็อบที่เกิดจากความไม่เชื่อถือเจ้าหน้าที่รัฐ และปักใจว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงเสียเอง เหล่านี้ทำให้ มันโซ สา และตัวแทนจากภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวั่นว่าจะนำสู่การปะทะกันระหว่างคนสองวัฒนธรรมในที่สุด
"เส้นทางความเกลียดชังจะทวีขึ้นเรื่อยๆและสถานการณ์จะเดินสู่จุดที่ควบคุมไม่ได้ เพราะใครๆต่างก็มีปืนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโจรใต้ดิน กลุ่มโจร หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเริ่มแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง และผมเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกนาน ไม่ใช่แค่ปีสองปีแน่นอน"
ส่วนประเด็นที่ ประสิทธิ์ พูดถึงหน่วยติดอาวุธที่คอยปฎิบัติการตอกลิ่มพุทธ-มุสลิม มันโซมองในมุมที่แตกต่างว่า แม้เขาจะเชื่อว่ามีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ลักษณะนี้จริง แต่เบื้องหลังอาจไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
"มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอย่าง ซีไอเอ (สำนักข่าวกรองกลาง สหรัฐ) อยู่เบื้องหลังเรื่องเหล่านี้ เพื่อสร้างภาพอันเลวร้าย ทำลายการต่อสู้ของชาวมุสลิมบริสุทธิ์ และทำให้ประชาคมโลกมองว่า อิสลามคือความรุนแรง"มันโซ กล่าว
ตั้งทีมค้นหาความจริง
มันโซ วิเคราะห์อีกว่า หากนับย้อนหลังไปเป็นร้อยปี จะพบความจริงว่าปัญหาในดินแดนแห่งนี้เป็นความขัดแย้งในแนวดิ่งเท่านั้น กล่าวคือ เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนมลายู แต่ปัจจุบันสภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นความขัดแย้งในแนวราบคือ ระหว่งชาวบ้านไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิม โดยที่ชาวพุทธมีกลไกรัฐสนับสนุนอยู่
"น่าแปลกที่รัฐไม่พยายามเคลียร์เรื่องพวกนี้ อย่างเช่นกรณีที่มีการประท้วงกันในหลายพื้นที่ และกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐยิงคนมุสลิมตาย รัฐกลับไม่เคยสร้างความกระจ่างใดๆ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องตั้งทีมค้นหาความจริง(Fact Finding) ซึ่งมีองค์ประกอบของกรรมการที่คนในพื้นที่ยอมรับ เพื่อคลี่คลายข้อกังขามากมายที่เป็นปมสงสัยกันตลอดมา"
เปิดเวทีสานเสวนา
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล นักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นด้วยกับมันโซที่ว่ารัฐควรตั้งทีมขึ้นมาค้นหาความจริงในเหตุการณ์น่ากังขาครั้งแล้วครั้งเล่าในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาความไม่ไว้วางใจที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกระบวนการสื่อสารในแนวราบให้มากขึ้นกว่าเดิม
"รัฐควรเปิดเวทีให้มีการพูดคุยกัน อาจจะเริ่มจากผู้นำชุมชนก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่ชาวบ้านในระดับหมู่บ้าน เพราะการได้พูดคุยกัน จะลดความหวาดระแวงลงได้ แต่ปัญหาที่ผมเป็นห่วงก็คือ ถ้ารัฐแสดงบทบาทป็นผู้ริเริ่มในเรื่องนี้ จะไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นของประชาชนแทบไม่มีอยู่เลย ฉะนั้นบทบาทตรงนี้ควรมอบให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนมากกว่า" ซากีย์ ระบุ
ตั้งสติก่อนติดอาวุธ
ขณะที่ โซรยา จามจุรี ตัวแทนกลุ่มผู้หญิงอาสาสมัครครอบครัวผู้สูญเสีย กล่าวเสริมว่า นิติวิทยาศาสตร์ และข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว จะเป็นเครื่องมือให้รัฐทำความจริงให้ปรากฎต่อประชาชนได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยไม่ให้ชาวบ้านตกเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะของฝ่ายใดก็ตาม
เธอยังแสดงความเป็นห่วงว่า ในสถานการณ์เผชิญหน้าแบบนี้ รัฐไม่ควรคิดแค่จะติดอาวุธให้กับชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาป้องกันตัวเองได้เท่านั้น เพราะเป็นวิธีการที่มีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างสูง
"ดิฉันคิดว่ายังมีทางเลือกอื่นอีกมากมายในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของตนเองอย่างสันติ แต่รัฐเคยคิดที่จะส่งเสริมหรือไม่ ดังนั้นรัฐจะต้องมีสติ เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อคนถูกใช้ความรุนแรง มักจะหน้ามืด และคิดจะใช้ความรุนแรงโต้ตอบทันที"