กราย ณ สายบุรี
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานี ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ประชาชน และนักศึกษา
ได้จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบ”ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี” ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เมื่อ 25 ต.ค. 57 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน
การจัดเสวนาผู้เข้าร่วมเสวนา“ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี” ประกอบด้วย นายอัชฮา ลูเละ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ, นางสาวรุชดา สะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ, นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW), นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา, นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน, และนายสุไฮมิง ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียน และเยาวชนปาตานี
ประเด็นความคิดเห็นของ นายอิสมาแอ เตะ ประธานเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ในฐานะประธานจัดงาน ระบุว่าเหตุสลายการชุมนุมที่ตากใบจนนำไปสู่การเสียชีวิตนั้น สะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน การใช้ความรุนแรงปราบปราม ผู้ชุมนุมไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือหยุดยั้งความรุนแรงได้ แต่จะเกิดการตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงจากอีกฝ่าย การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงการรับรู้ แต่รวมถึงการรับมือเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอย จากประเด็นดังกล่าวนี้จะเห็นว่าทางหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐไม่อยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอนซึ่งนายสุไฮมิง ดูละสะ ก็เห็นด้วยกับการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เราสามารถที่จะหยุดยั้งได้โดยวิธีการพูดคุย ในการตอบโต้ซึ่งกันและกันนั้นจะมีแต่จะทำให้สูญเสียด้วยกันทั้งนั้น แต่ในสถานการณ์จริงเกิดจากกลุ่มผู้ไมหวังดีที่ต้องการทำให้สถานการณ์เลวร้ายโดยมีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้าตามภาพจะสามารถบรรยายเหตุการณ์ได้ดี ซึ่งทางรัฐก็ได้เข้าไปช่วยเหลือเยี่ยวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่อาจจะยังไม่เพียงพอหากแต่ผู้ได้ผลกระทบต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รัฐสามารถจะช่วยเหลือได้อีกบ้าง รัฐก็คงช่วยเหลือแก้ไขให้ได้
ประเด็นนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPER) อ้างว่าผู้ร่วมชุมนุมที่ตากใบเป็นการใช้สิทธิทางการเมืองแบบสันติวิธี แต่เจ้าหน้าที่กลับให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง และฝ่ายความมั่นคงมองว่าผู้ร่วมชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อเปิดทางให้ตนเองมีความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม
ในประเด็นนี้หากเราท่านได้รับข้อมูลข่าวสารซึ่งได้รับจากทางรัฐหรือแหล่งข่าวต่างๆก็จะพบว่า ในการชุมนุมโดยเสรีหรือใช้สิทธิการแสดงออกทางการเมืองใดๆ ก็ตามโดยที่ผู้ชุมนุมมาชุมนุมโดยปราศจากอาวุธแล้ว ทางรัฐได้ให้เสรีในส่วนนี้อยู่แล้ว ในการที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ว่ามีความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมที่ได้กล่าวมานั้น ด้านเจ้าหน้าที่รัฐคงได้ทราบว่าผู้ชุมนุมที่มานั้นมีอาวุธและจะนำมาใช้ในที่ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ก็ได้ประกาศให้หยุดการกระทำแล้วเพื่อที่จะให้การชุมนุมสลายโดยไม่ใช้ความรุนแรงแต่ก็ไม่เป็นผล จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้นซึ่งทุกคนก็เสียใจกับเหตุการณ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้พึ่งประสงค์อยู่แล้ว ดังนั้นเราท่านลองหวนคิดดูสิว่าเพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องทำเช่นนั้น
และส่วนประด็นที่ นางแยนะ สะแลแม อดีตแกนนำชาวบ้านตากใบ ระบุต้องการให้คนรุ่นหลังจดจำเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐครั้งสำคัญ ปัญหาใหญ่จากเหตุการณ์ไม่ใช่เพียงเรื่องผู้เสียชีวิต แต่ขณะนี้ยังมีหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็ง บางคนไม่สามารถอยู่ในไทยได้นั้น จากประเด็นดังกล่าวกรณีนี้นั้น ก็ขอให้จดจำในสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคือเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมรวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมซึ่งได้กระทำต่อกันว่าสิ่งไหนดีและสิ่งไหนไม่ควรกระทำอย่าโทษซึ่งกันและกัน แต่ควรที่จะจดจำกับสิ่งที่เกิดนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใด? และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าถูกเจ้าหน้าที่เพ็งเล็งเหล่านั้นก็อย่าไปคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าตัวเราถูกเพ็งเล็ง ควรที่เข้ามาพูดคุยกัน เพื่อหาหนทางแก้ไขกันจะดีกว่า สำหรับกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบ เท่าที่ทราบครอบครัวส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการช่วยเหลือเยี่ยวยาของทางรัฐ
ถึงเหตุการณ์กรณีตากใบจะผ่านพ้นมา 10 ปีแล้ว อยากจะให้พวกเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายได้ตระหนักถึงความสูญเสียแม้ว่าการเกิดเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเนื่องแต่เหตุใดก็ตาม ไม่ว่าจะทางรัฐและประชาชนในพื้นที่ตากใบ ควร หันหน้ามาพูดคุยกันเรื่องที่จะต้องพัฒนากันในพื้นที่ต่อไปในอนาคตจะดีกว่า เพื่อให้เกิดความสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายการพูดคุยสันติภาพ ซึ่ง นายมะยูโซ๊ะ มะ โต๊ะอิหม่ามบ้านตาบา อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส วอนสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเลิกรื้อฟื้นเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เพื่อสะกิดแผลในใจของประชาชนในพื้นที่ และญาติผู้ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากทางภาครัฐก็ได้ให้ทั้งเงินเยียวยา และเข้าไปฟื้นฟูจิตใจจนผู้ได้รับผลกระทบมีความรู้สึกที่ดีขึ้นแล้ว
แต่จากตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อใกล้ครบรอบเหตุการณ์ทุกครั้ง พบว่าสื่อมวลชนพยายามรื้อฟื้น และเข้ามาเจาะลึกกับประเด็นเหตุการณ์ตากใบจนทำให้ความทรงจำที่เจ็บปวดซึ่งเลือนหายไปแล้วกลับเข้ามาทำร้ายจิตใจซ้ำอีก ดังนั้นอยากขอให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะมีการพูดถึงประเด็นนี้ ไม่ว่าจะในแง่ใดเพราะหมดเวลาที่ขุดคุ้ยเรื่องเก่าหรือการนำเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษาอีกแล้ว
ในวันนี้สิ่งที่สื่อมวลชน และทุกคนควรจะทำคือ เดินหน้านำความสงบสุขกลับคืนมาเพื่อให้ประชาชนได้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะสำหรับประชาชนในพื้นที่อำเภอตากใบสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนอยู่ในระดับที่ดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะฝ่ายตน ทุกคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สำหรับตนเองขอให้คะแนนเจ้าหน้าที่รัฐต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอตากใบ 70 คะแนน จาก 100 คะแนน ซึ่งถือว่าผ่านในเกณฑ์ที่ดี และคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานเพื่อนำความสงบสุขมาให้ชาวตากใบต่อไป