Skip to main content

กองบรรณาธิการ สำนักสื่อ WARTANI

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดงานประชุมเครือข่ายสื่อพลเมือง ประจำปี 2557 เพื่อเป็นพื้นที่ให้เครือข่ายสื่อฯ ที่ทำงานร่วมกันได้มาพบปะแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์การทำงานสื่อ ณ อาคาร D ไทยพีบีเอส ชั้น 2 ห้อง Convention hall 1,2  และห้องประชุมผู้บริหารชั้น 4 อาคาร A, กรุงเทพมหานคร

การประชุมเครือข่ายสื่อพลเมือง ประจำปี 2557 นี้ ทาง Thai PBS กำหนดวันในการร่วมประชุม 2 วันด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 26 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ซึ่งมาจากหลากหลายเครือข่ายสื่อด้วยกัน อาทิเช่น ตัวแทนเครือข่ายนักข่าวพลเมือง ผู้ผลิตสื่ออิสระ ผู้ผลิตสื่อในพื้นที่ และสื่อมวลชน ฯลฯ

ในการจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมมากมาย อาทิเช่น การฉาย  VTR “จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยี โอกาสและความท้าทายของสื่อสาธารณะชุมชน”, การกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตทีวีชุมชนกับสังคมไทย”, การลงนามบันทึกความร่วมมือเครือข่าย 7 สถาบันการศึกษา, วงเสวนาในหัวข้อ “ห้องเรียนทีวีชุมชน เรียนรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า สู่สื่อสาธารณะชุมชน”, การแสดงผลงานจากเครือข่ายทีวีชุมชน, กาแสดงนิทรรศการจากเครือข่ายผู้ผลิตสื่อต่างๆ, การประชุมย่อยระดับภูมิภาค (เหนือ/ใต้/กลาง/อีสาน) ข้อเสนอเชิงแผนการทำงาน และข้อเสนอเชิงนโยบาย เป็นต้น

แต่ไฮไลท์ในงานครั้งนี้ คงไม่พ้นเวทีเสวนาใน หัวข้อ“ห้องเรียนทีวีชุมชน เรียนรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า สู่สื่อสาธารณะชุมชน” โดยมีสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่, ชัยวัฒน์ จันทิมา ตัวแทนพะเยาทีวีชุมชน และผู้ประสานงานสถาบันปวงผญาพยาว, รศ.ดร.ชาลี ทองเรือง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยพะเยา, สุชัย เจริญมุขยนันท ตัวแทนทีวีชุมชนอุบลราชธานี และเลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข, และอาจารย์ทรงพล อินทเศียร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และกิจการภายใน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ซึ่งกันและกัน

ชัยวัฒน์ จันทิมา ตัวแทนพะเยาทีวีชุมชน กล่าวว่า “ที่ตนทำอยู่มี 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรก คือ “สื่อ” ตนเคยล้มเหลวหลายครั้งและหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ “หนังสือพิมพ์” ตนทำมาอย่างดี แต่สุดท้ายก็ต้องหยุดทำไป เพราะมันเข้าถึงชุมชนยาก ถึงแม้ว่าตนจะทำให้ดีที่สุดแค่ไหน แต่หากมันเข้าถึงชุมชนยาก มันก็ย่อมไม่มีประโยชน์

ต่อมาตนก็เริ่มมาจับสื่อในรูปแบบ “วิทยุ” แต่ก็ต้องหยุดทำไปอีก เพราะปัญหามันติดอยู่ที่คลื่นมันทับซ้อนกัน และตอนนี้ตนเริ่มมาทำ “ทีวีชุมชน หรือ บ้านนอกทีวี (Bannok TV)” ปรากฏว่ามันโอเคกว่าเยอะ ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ และยังสามารถทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ด้วย คือ ชาวบ้านเป็นคนนำเสนอและออกแบบ ต่อด้วยเด็กรับภารกิจในการถ่ายภาพและตัดต่อ เสร็จแล้วก็ส่งผลงานสู่ชุมชน ซึ่งกระบวนการนี้คนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมจริงๆ” ชัยวัฒน์ กล่าว

ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ส่วนรูปแบบที่สองนั้น ตนทำ “วิจัยวิชาการ” มีวิจัยอยู่ตัวหนึ่งที่ตนทำในหัวข้อ “ความขัดแย้งทางการเมือง” ปรากฏว่า สื่อสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สังคมไหนไม่มีสื่อ ถือว่าสังคมนั้นอยู่ในความมืด และสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือ สื่อ TV เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน ส่วนวิทยุอยู่ประมาณ 30% หนังสือพิมพ์ประมาณ 10% อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุด ที่เหลือคือ TV เป็นต้น” ชัยวัฒน์ กล่าว

รศ.ดร.ชาลี ทองเรือง รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทำ TV ของชุมชน เราสามารถร่วมกันทำได้ ที่ทำไปมันเริ่มจากปณิธานของมหาวิทยาลัย คือ สร้างปัญญา เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ฉะนั้นมันเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องรับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือ ความเข้มแข็งมหาวิทยาลัย และความเข้มแข็งของชุมชน

ซึ่งกระบวนการในการเริ่มต้นนั้น อันดับแรก คือ การสร้างความสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน ทั้ง NGOs นักวิชาการ คนในชุมชน และเยาวชน ต่อมาสร้างคนด้วยการให้ความรู้ สุดท้ายก็ส่งเข้าสู่ชุมชน” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

รศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อว่า “ส่วนอันดับที่สองคือ เราต้องทำให้ได้ในสามประเด็นด้วยกัน

1.    นโยบายต้องชัดเจน

2.    ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง

3.    คลังความรู้จากประสบการณ์จริง ความรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์ด้วยถึงจะโอเค”

ด้านสุชัย เจริญมุขยนันท ตัวแทนทีวีชุมชนอุบลราชธานี และเลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข กล่าวว่า “กระบวนการทำงาน เราเริ่มที่ชวนคนมาคุยกัน ถามเขาว่าอยากได้อะไร แล้วอยากให้ทำอะไร ต่อด้วยการให้ความรู้และหัดชาวบ้านทำงาน สุดท้ายก็เริ่มทำงานเองได้โดยมีเราไปช่วย ซึ่งหากการทำอย่างนี้ไปแล้วชุมชนได้ประโยชน์เราก็พร้อมจะสนับสนุน” สุชัย กล่าว

อาจารย์ทรงพล อินทเศียร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และกิจการภายใน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า “กระบวนการทำงานก็จะเป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน คือ มูลนิธิสื่อสร้างสุขเป็นแกนหลัก ส่วนทางมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการผลิตและติดตามงาน ซึ่งผมคิดว่าการทำ TV ชุมชนนั้นทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้” อาจารย์ทรงพล กล่าว