Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

หากจับความรู้สึกของสังคมสาธารณะทั่วไปโดยเฉพาะสังคมในแวดวงนักวิชาการและนักประชาสังคมด้านการรณรงค์เพื่อสันติภาพชายแดนใต้ของประเทศไทย ต่อปรากฏการณ์การพยายามให้มีการพูดคุยเพื่อสงบศึกอีกครั้งของทางรัฐไทยโดยการนำของพณฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน เมื่อวันที่1ธันวาคม 2557 ทำการเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกอย่างมีนัยยะสำคัญ  หลังการเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 นับเป็นเวลาครบรอบ1ปีถ้วนพอดีของภาวะสูญญากาศของโต๊ะการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ BRN

หลังจากการพูดคุยซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ยุติลงแบบชะงักงันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 โดยผ่านการอ่านแถลงการณ์ทางยูทูบประกาศย้ำว่าการพูดคุยจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทางรัฐไทยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข5ข้อและต้องผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาตลอดจนต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติโดยนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังนิยามความหมายของการต่อสู้คือเพื่อปาตานีเป็นเอกราชและลงท้ายด้วยประกาศว่าตนได้มีสถานะเป็นอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยของ BRN โดยปราศจากการอธิบายอย่างชัดเจนของรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย แต่เหมือนเป็นการอธิบายโดยตัวของมันเองก็คือได้มีความเข้มข้นของกิจกรรมการใช้อาวุธกันทั้งสองฝ่ายจนบางเหตุการณ์กระทบต่อพลเรือนทั้งเด็ก คนชราและสตรีกลายเป็นผู้สูญเสียชีวิต อาจจะมาจากความตั้งใจจะไม่อธิบายหรือมาจากความวุ่นวายเกือบจะโกลากลของการเมืองไทยที่กรุงเทพส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถอธิบายก็เป็นได้ แต่ก็ประจบเหมาะพอดีกับสังคมสาธารณะทั่วไปเองก็ให้ความสนใจกับการเมืองที่กรุงเทพฯมากกว่า

เห็นได้ชัดว่าแวดวงนักวิชาการและนักประชาสังคมมีความตื่นตัวตื่นใจเป็นพิเศษขึ้นมาอีกครั้ง ราวกับว่าสิ่งที่ตนคาดการณ์ไว้กำลังจะเป็นจริงในเวลาอันใกล้นี้อีกครั้ง หลังจากที่ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มกับการบำบัดฟื้นฟูจากการอกหักกับโต๊ะการพูดคุย 28 กุมภาพันธ์ 2556

น่าสนใจว่าในช่วงเช้าของวันเดียวกันที่พณฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปเยือนพณฯนาญิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ได้มีการขึ้นป้ายผ้าอย่างเงียบๆของฝ่ายที่ทุกภาคส่วนเข้าใจว่าน่าจะเป็นฝีมือของสมาชิกหรือแนวร่วมขบวนการ BRN ซึ่งมีข้อความที่น่าจะเจาะจงสื่อไปยังรัฐบาลมาเลเซียและฝ่ายขบวนการฯที่ไม่ใช่พวกตนโดยตรง อีกทั้งยังมีความพยายามจะให้ประชาคมไทยและประชาคมโลกได้รับรู้ด้วยเพราะในครั้งนี้ข้อความบนป้ายผ้าได้ใช้ภาษา 3 ภาษาด้วยกัน มลายู ไทยและอังกฤษ ดังนี้
“SESUAIKAH UNTUK BERUNDING DENGAN KERAJAAN KUDETA,NAK AMBIL APA UNTUK JAMINAN”

“เหมาะสมแล้วหรือที่จะเจรจากับรัฐบาลรัฐประหารเพราะไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันให้เชื่อว่าจริงใจ”

“IS A APPROPRIATE TO NEGOTIATE WITH THE COUP GOVERNMENT ? THERE IS NO GUARATEE FOR SINCERITY”

และในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุยษชนชาวมาเลเซียได้มีการเคลื่อนไหวที่หน้าสถานทูตไทยประจำประเทศมาเลเซีย โดยชูปายข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “RETURN DEMOCRACY”และ “NO MARTIAL LAW”

ท่ามกลางสังคมสาธารณะกำลังตั้งหน้าตั้งตารอดูหน้าตาของกระบวนการพูดคุยอันใหม่ที่ชื่อว่า “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข”ซึ่งถูกนิยามตีกรอบความหมายโดยฝ่ายความมั่นคงอย่างชัดเจนว่า “เป็นการพูดคุยที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองและไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลไกการเมืองระหว่างประเทศ” อยู่ๆทางรัฐบาลก็ได้อนุมัติเพิ่มปืนสั้นจำนวน 2,700 กระบอกและเพิ่มกำลังพลตำรวจ 2,000 อัตรา ตลอดจนอนุมัติงบประมาณไตรมาสแรกจำนนวน 7,786 ล้านบาท และปิดท้ายด้วยการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการจนได้ในวันที่1ธันวาคม 2557 หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างครึกโครมว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะโยกบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขให้กับทางรัฐบาลอินโดนีเซีย

แนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไปสำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุขในยุคของพณฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากนี้นั้น คงไม่สำคัญเท่าความสงสัยของสังคมสาธารณะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีว่า ทำไมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐไทยเรียกการพูดคุยครั้งนั้นว่าเป็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทำไมถึงไม่เรียกว่าเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข หรือรัฐไทยช่วงเวลานั้นไม่นึกว่าทาง BRN จะมีเงื่อนไข 5 ข้อ ต่อรองกลับมาหรือไม่