Skip to main content

บทสรุปผู้บริหาร

สถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2557:

ปีที่มีทิศทางของเหตุการณ์น้อยที่สุดในรอบ 11 ปี

[อัพเดท: 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2557]

 

สุวรา แก้วนุ้ย
สุภาภรณ์ พนัสนาชี
คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSID)
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

 

คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database- DSID) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยทำการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลจาก 4 แหล่งข่าว ได้แก่ (1) ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) (2) งานการข่าว ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) (3) ศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดยะลา และ (4) หนังสือพิมพ์

จากผลการรวบรวมข้อมูล ใน ปี 2557 (1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2557) พบว่า มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 806 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 341 คน และบาดเจ็บ จำนวน 672 คน โดยเดือนที่เกิดเหตุการณ์สูงที่สุดคือ เดือนพฤษภาคม จำนวน 128 เหตุการณ์ และเดือนที่เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุดคือ เดือนเมษายน จำนวน 31 เหตุการณ์ สำหรับเดือนที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 48 คน และเดือนที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดคือ เดือนตุลาคมและธันวาคม จำนวน 18 คนเท่ากัน ซึ่งเดือนที่มีผู้บาดเจ็บสูงที่สุดคือ เดือนพฤษภาคม จำนวน 135 คน และเดือนที่มีผู้บาดเจ็บน้อยที่สุดคือ เดือนธันวาคม จำนวน 25 คน

หากจำแนกเหตุการณ์ความไม่สงบตามกลุ่มประเภทของเหตุการณ์ ในปี 2557 พบว่า เหตุการณ์ยิง มีจำนวนเหตุการณ์สูงที่สุด 372 เหตุการณ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุด จำนวน 268 คน และบาดเจ็บจำนวน 235 คน รองลงมาคือ เหตุการณ์วางระเบิด จำนวน 248 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 47 คน โดยการวางระเบิดส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บสูงสุดจำนวน 423 คน เหตุการณ์ก่อกวนสร้างสถานการณ์จำนวน 87 เหตุการณ์ ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 1 คน และเหตุการณ์วางเพลิง จำนวน 45 เหตุการณ์ ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และประเภทเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การพบศพ การปล้นชิงทรัพย์ จำนวน 55 เหตุการณ์  มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บ 14 คน

ในปี 2557 หากจำแนกพื้นที่การก่อเหตุในระดับจังหวัด พบว่า พื้นที่ที่มีจำนวนเหตุการณ์สูงที่สุด คือ จังหวัดปัตตานี จำนวน 294 เหตุการณ์ และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด คือ เสียชีวิต 155 คน และบาดเจ็บ 299 คน รองลงมาคือ จังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์จำนวน 277 เหตุการณ์ เสียชีวิต 90 คน และบาดเจ็บ 166 คน จังหวัดยะลา มีจำนวน 203 เหตุการณ์ เสียชีวิต 84 คน และบาดเจ็บ 167 คน และจังหวัดสงขลา จำนวน 33 เหตุการณ์ เสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บ 40 คน

หากจำแนกพื้นที่การก่อเหตุในระดับอำเภอ พบว่า 5 อำเภอที่มีเหตุการณ์สูงสุดได้แก่ อันดับ 1 อำเภอบันนังสตา จ.ยะลา จำนวน 55 เหตุการณ์ อันดับ 2 อำเภอระแงะ จ.นราธิวาส จำนวน 45 เหตุการณ์ อันดับที่ 3  อำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส จำนวน 44 เหตุการณ์ อันดับที่ 4 อำเภอเมืองยะลา จ.ยะลา จำนวน 43 เหตุการณ์ และอันดับที่ 5 อำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี จำนวน 41 เหตุการณ์

นอกจากนี้ หากจำแนกการก่อเหตุในระดับอำเภอที่ส่งผลต่อการเสียชีวิต พบว่า 5 อำเภอที่มีเหตุการณ์และส่งผลต่อการเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 อำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จำนวน 24 เหตุการณ์ เสียชีวิต 23 คน และบาดเจ็บ 42 คน อันดับที่ 2 อำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี จำนวน 40 เหตุการณ์ เสียชีวิต 23 คน และบาดเจ็บ 59 คน อันดับที่ 3 อำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส จำนวน 44 เหตุการณ์ เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บ 27 คน อันดับที่ 4 อำเภอระแงะ จ.นราธิวาส จำนวน 45 เหตุการณ์ เสียชีวิต 19 คน และบาดเจ็บ 18 คน และ อันดับที่ 5 ประกอบด้วย อำเภอยะหา จ.ยะลา จำนวน 28 เหตุการณ์ เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 9 คน , อำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 38 เหตุการณ์ เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 17 คน และอำเภอบันนังสตา จ.ยะลา จำนวน 55 เหตุการณ์ เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 30 คน

สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรอบปี 2557 จำแนกตามภูมิหลัง พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นราษฎรในพื้นที่ (เสียชีวิตจำนวน 162 คน และบาดเจ็บจำนวน 326 คน) รองลงมาของกลุ่มที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ คือ กลุ่มทหาร (เสียชีวิตจำนวน 40 คน และบาดเจ็บจำนวน 152 คน) และ ตำรวจ/ตชด./นปพ. (เสียชีวิตจำนวน 28 คน และบาดเจ็บจำนวน 70 คน)

สำหรับข้อมูลสถิติสะสม ของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนในจังหวัดสงขลา ระหว่างมกราคม 2547 – ธันวาคม 2557 พบว่า มีเหตุการณ์ทั้งสิ้น 14,701 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต ทั้งสิ้น 6,297 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 11,375 คน โดยปีที่มีจำนวนเหตุการณ์สูงที่สุด คือปี 2548 จำนวน 2,174 เหตุการณ์ และปีที่มีเหตุการณ์น้อยที่สุดคือ ปี 2557 จำนวน 806 เหตุการณ์ สำหรับปีที่มีการเสียชีวิตสูงสุด คือ ปี 2547 จำนวน 881 คน และ ปีที่มีการเสียชีวิตน้อยที่สุด คือ ปี 2557 จำนวน 341 คน ในปี 2550 มีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บสูงสุด จำนวน 1,485 คน และปีที่มีการบาดเจ็บน้อยที่สุดคือ ปี 2557 จำนวน 670 คน 

โดยสรุป เมื่อพิจารณาสถิติแนวโน้มความรุนแรงในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2557 มีสัญญาณเชิงบวกสะท้อนให้เห็น คือ จำนวนเหตุการณ์ การเสียชีวิต และบาดเจ็บมีแนวโน้มที่ลดลง โดยจำนวนเหตุการณ์ลดลงประมาณ 2.7 เท่า เมื่อเทียบจากปีที่มีเหตุการณ์สูงสุด (ปี 2548) นอกจากนี้ผู้เสียชีวิตรายวันก็ลดลง จากประมาณ 2-3 คนในระยะแรก เป็นการประมาณการลดลงเหลือประมาณ 1 คนต่อวัน และจากที่มีผู้บาดเจ็บรายวันประมาณ 4 คน ก็มีทิศทางประมาณการลดลงเหลือ 2 คนต่อวันด้วย

 

 

หมายเหตุ: ดูรายงานฉบับเต็ม (อัพเดทจนถึง 25 ธันวาคม 2557) ของ DSID ที่นี่ และดุฉบับอีบุ๊ค ที่นี่