Skip to main content

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

 

โตขึ้นหนูอยากจะเป็น…?:

 

รายงานสถานการณ์เด็กในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ ประจำปี 2557

 

จัดทำโดย กลุ่มด้วยใจ

รายงานนี้ศึกษาสถานการณ์เด็กในพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธในสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา  โดยรวบรวมเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางตรง และได้รับผลกระทบทางอ้อม จากสื่อต่าง ๆ ทั้ง หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อกระแสหลัก  รวมไปถึงการรวบรวมรายงานการประชุมขององค์กรภาคประชาชน รายงานการประชุมของเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเด็กในปี 2557  ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางร่างกายและจิตใจกับเด็ก เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการทำงานเพื่อปกป้องเด็กในพื้นที่ขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและองค์กรพัฒนาเอกชน และเพื่อการค้นหาแนวทางการป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง  

จากสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ดำเนินมากว่า 10 ปี มีเพียงปีแรกหรือปี 2547 เท่านั้นที่ไม่พบข้อมูลว่ามีเด็กเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบเลย แต่หลังจากนั้นความสูญเสียหรือผลกระทบของความรุนแรงโดยตรงจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งๆ ที่เด็กควรได้รับการปกป้องจากความขัดแย้งด้วยอาวุธที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม ในปี 2557 ที่ผ่านมา เราพบว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

ผลกระทบโดยตรง

1)    เด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บ

      แนวโน้มจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีอัตราการเพิ่มอย่างช้าๆ แต่แนวโน้มจำนวนเด็กที่บาดเจ็บมีอัตราการเพิ่มที่สูงมาก โดยเฉพาะในปี 2557  สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น พบว่า มีเด็กเสียชีวิต 17 คน ได้รับบาดเจ็บ 44 คน ข้อมูลที่น่ากังวลคือพบว่าในปีนี้มีเหตุการณ์ที่เชื่อกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุด้วย

2)    เด็กพิการ   

      ในปี 2557 มีเหตุการณ์สะเทือนใจทำให้เด็กพิการจากสถานการณ์โดยเฉพาะกรณีที่เด็กตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ระเบิด ทำให้เด็กบางคนต้องตัดขาทิ้งเพื่อความอยู่รอดของชีวิต อย่างกรณีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีระเบิดหลายจุดในเมืองปัตตานี ทำให้เด็กวัย 5 ขวบต้องสูญเสียขาขวาหนึ่งข้าง และยังมีหลายกรณีที่เด็กเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงและไม่สามารถมีร่างกายที่ปกติได้

3)    เด็กกำพร้า

      เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัด รายงานว่ามีเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบรวมทั้งหมด 6,000 กว่าคน

4)    เด็กถูกพรากจากบุคคลในครอบครัวในกรณีครอบครัวที่ถูกกล่าวหาว่าคิดต่างจากรัฐ

      รายงานข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ พบว่า ในปี 2557 เด็กในครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขัง ครอบครัวที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ครอบครัวผู้สูญหาย ครอบครัวผู้ที่หลบหนี และครอบครัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ซึ่งมักถูกพรากจากผู้เป็นพ่อและแม่ มักมีอาการซึมเศร้า หรือหวาดกลัว และมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง เพราะเด็กอาจพบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับคนในครอบครัวนอกจากนี้เด็กขาดโอกาสในการเข้ารับการศึกษาจากการที่ครอบครัวมีรายได้ลดลงหรือมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

5)    เด็กตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกคุมขัง

      จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ามีการควบคุมตัวเด็กภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน พบว่าในปีที่สอง ของการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน (2549)  มีการควบคุมตัวเด็กสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คือ 33 คน และค่อย ๆ ลดลงมาตามลำดับ ทั้งนี้ในช่วงที่มีการควบคุมตัวเด็กจำนวนมากนั้นพบว่ามีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมานเด็กอีกด้วย ต่อมาตัวเลขเด็กที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษได้ลดลงมาเรื่อยๆ เพราะทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้มีความพยายามในการนำหลักการควบคุมตัวเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก

ผลกระทบทางอ้อม

6)    ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ครูถูกยิงเสียชีวิต

      ศูนย์ข่าวอิศราภาคใต้รายงานว่า ในรอบกว่า 10 ปีไฟใต้ มีครูเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงไปแล้ว 175 ราย ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้เด็กต้องเผชิญกับความรู้สึกตกใจ เสียใจ และ เสียขวัญกำลังใจ

7)    โรงเรียนซึ่งเป็นสถานศึกษาของเด็กๆ ถูกทำลาย

      จากรายงานของสำนักประสานงานและบูรณการการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี  28 สิงหาคม 2557 และจากการเก็บข้อมูลของกลุ่มด้วยใจเพิ่มเติม พบว่า มีโรงเรียนของรัฐถูกเผาทั้งหมดจำนวน 204   โรง ซึ่งเป็นโรงเรียนในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 202 โรงและเป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จำนวน 2 โรง

8)    ความทรงจำต่อเหตุการณ์ความรุนแรงอันเลวร้าย

      เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นเหตุการณ์ระเบิด ยิง หรือการปิดล้อมตรวจค้น ความทรงจำดังกล่าวสร้างรอยแผลให้กับเด็ก หรืออาจทำให้เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ข้อเสนอแนะ

การละเมิดสิทธิเด็กในพื้นที่ความขัดแย้ง ทุกฝ่ายควรแสดงความรับผิดชอบร่วมกันและร่วมดำเนินการหาแนวทางหรือมาตรการปกป้องเด็ก ดังนี้

รัฐบาล

1. ในการปฏิบัติการทางทหารควรมียุทธวิธีที่รัดกุม รอบคอบ และมีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์

2. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดแนวทาง มาตรการ การป้องกันเหตุรุนแรง อาทิเช่น การควบคุมการใช้หรือพกพาอาวุธปืน และ การป้องกันมิให้เกิดระเบิดในเขต ชุมชน เศรษฐกิจ ที่มีประชาชนพลุกพล่าน

3. ขอให้มีการนำผู้กระทำผิดกรณีละเมิดสิทธิเด็กมาลงโทษเพื่อเป็นการป้องกันเหตุในระยะยาว

4. การปฏิรูปกฎหมายที่มีความเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิเด็ก

5. การอบรมและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องเด็กให้กับผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่

ขบวนการปลดปล่อยปาตานี

1. ขอให้คำนึงถึงและเคารพในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และ อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องเด็ก

2. การเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะการใช้แนวทางสันติวิธี

ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน

1. การสร้างระบบการประเมินและตรวจสอบกลไกการปกป้องเด็กในพื้นที่ขัดแย้งเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์เด็กมิให้ถูกละเมิด

2. การรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางในการปกป้องคุ้มครองเด็ก

3. การวางแผนการดำเนินการการปกป้องและคุ้มครองเด็กสิทธิเด็กอย่างคลอบคลุมทุกด้าน

4. การส่งเสริมการอบรม ภาคประชาสังคม ประชาชน ในการสร้างศักยภาพ การตระหนัก และ มีองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มด้วยใจเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องเด็กคือการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้การปกป้องและพิทักษ์เด็ก ถือเป็นวาระแรกในการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาตานี

 

 

แผนภาพสรุปสถิติ (อัพเดท)

หมายเหตุ: อ่านรายงานฉบับเต็มได้ ที่นี่