เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อันประกอบไปด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ที่ประทุขึ้นในปี พ.ศ. 2547 ได้สะท้อนรากเหง้าของปัญหาที่สั่งสมในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งลักษณะของปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ในหลายมิติ โดยสถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ รวมทั้งมีผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความอ่อนแอที่สุด
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ความเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย (คนพิการ) การตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกดำเนินคดีและคุมขัง การถูกพลัดพรากจากครอบครัวในกรณีที่คนในครอบครัวถูกกล่าวหาว่าเห็นต่างจากรัฐ และการต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัว โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรง จะมีผลกระทบทางจิตใจที่อาจจะนำไปสู่ภาวะความซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาอีกด้วย
จากการรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี ของคณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database- DSID) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า ใน ปี 2557 มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 806 เหตุการณ์ ซึ่งส่งผลให้เด็กผู้เสียชีวิต จำนวน 14 คน เป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 2 คน และ กลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 12 คน และเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จำนวน 31 คน เป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 11 คน และ กลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 20 คน สำหรับเดือนที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 4 คน และเดือนที่มีผู้บาดเจ็บสูงที่สุดคือ เดือนพฤษภาคม จำนวน 11 คน (ดังแสดงในกราฟเปรียบเทียบเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ประจำปี 2557 จำแนกรายเดือน)
สำหรับข้อมูลสถิติสะสม ของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างมกราคม 2547 – ธันวาคม 2557 ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่า มีเด็กและเยาวชน เสียชีวิตสะสม ทั้งสิ้น 81 คน เป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 20 คน และ กลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 60 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 445 คน เป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 156 คน และ กลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 287 คน โดยปีที่มีจำนวนการเสียชีวิตสูงสุด คือ ปี 2550 จำนวน 21 คน และ ปี 2547 เป็นปีที่ไม่มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิต ในปี 2550 มีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บสูงสุด จำนวน 55 คน และปีที่มีการบาดเจ็บน้อยที่สุดคือ ปี 2547 จำนวน 17 คน (ดังแสดงใน ตารางที่ 1 แสดงจำนวนเด็กที่เสียชีวิตและบาดเจ็บตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 – 31 ธันวาคม 2557
ตารางที่ 1 แสดงจำนวนเด็กที่เสียชีวิตและบาดเจ็บตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 – 31 ธันวาคม 2557
ปีที่เกิดเหตุ |
เสียชีวิต |
รวมเสียชีวิต |
บาดเจ็บ |
รวมบาดเจ็บ |
||||
ไม่ระบุ |
พุทธ |
มุสลิม |
ไม่ระบุ |
พุทธ |
มุสลิม |
|||
ปี 2547 |
0 |
0 |
0 |
0 |
0 |
14 |
3 |
17 |
ปี 2548 |
0 |
0 |
8 |
8 |
0 |
19 |
25 |
44 |
ปี 2549 |
0 |
3 |
4 |
7 |
0 |
14 |
18 |
32 |
ปี 2550 |
0 |
5 |
16 |
21 |
0 |
14 |
41 |
55 |
ปี 2551 |
0 |
1 |
3 |
4 |
0 |
8 |
29 |
37 |
ปี 2552 |
0 |
1 |
4 |
5 |
0 |
14 |
27 |
41 |
ปี 2553 |
0 |
3 |
3 |
6 |
0 |
11 |
24 |
35 |
ปี 2554 |
1 |
2 |
3 |
6 |
2 |
22 |
31 |
55 |
ปี 2555 |
0 |
1 |
4 |
5 |
0 |
21 |
36 |
57 |
ปี 2556 |
0 |
2 |
3 |
5 |
0 |
8 |
33 |
41 |
ปี 2557 |
0 |
2 |
12 |
14 |
0 |
11 |
20 |
31 |
รวม |
1 |
20 |
60 |
81 |
2 |
156 |
287 |
445 |
ที่มา : คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database- DSID) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
หากจำแนกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในระดับจังหวัด พบว่า พื้นที่ จังหวัดนราธิวาส มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด คือ เสียชีวิต 32 คน และบาดเจ็บ 163 คน รองลงมาคือ จังหวัดยะลา มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิต 28 คน และบาดเจ็บ 148 คน และจังหวัดปัตตานี มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 126 คน และจังหวัดสงขลา มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 8 คน
ผลกระทบทางอ้อมต่อเด็กและเยาวชนในชายสถานการณ์ชายแดนใต้[1]
1. ครูหนูถูกยิงเสียชีวิต
ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้เด็กได้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเท่านั้น แต่เด็กต้องเผชิญกับความรู้สึกตกใจ เสียใจ และ เสียขวัญ จากการที่ครูผู้สอนซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กถูกยิงเสียชีวิต จากรายงานข่าวของศูนย์ข่าวอิศราภาคใต้รายงานว่า ในรอบกว่า 10 ปีไฟใต้ หรือตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 นั้น มีครูเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงไปแล้ว 175 ราย ขณะที่ตัวเลขของสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 179 ราย นอกจากนี้ พบว่าเมื่อมีครูถูกยิงเสียชีวิต ทางโรงเรียนก็จะทำการปิดการสอนเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งทำให้เกิดการหยุดชะงักทางการศึกษาของกลุ่มเด็กในพื้นที่ด้วย
2. โรงเรียนถูกเผาและทำลาย
โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้และบ่มเพาะวิชาความรู้ที่สำคัญสำหรับเด็ก ๆ แต่ในสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา โรงเรียนกลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีของผู้เห็นต่างจากรัฐจากรายงานข่าวของข่าว 3 มิติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 พบว่าการโจมตีโรงเรียนเป็นการตอบโต้ของผู้เห็นต่างจากรัฐเมื่อถูกปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม หรือถูกวิสามัญฆาตกรรม และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐและเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอที่สุดในการเฝ้าระวัง ยุทธศาสตร์การเผาทำลายโรงเรียนถูกใช้มานานเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2536 ที่มีการเผาโรงเรียนพร้อมกัน 36 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้คือจังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ จังหวัดสงขลา จากรายงานของสำนักประสานงานและบูรณการการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 28 สิงหาคม 2557 และการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมของกลุ่มด้วยใจ พบว่า มีโรงเรียนที่ถูกเผาจำนวน 204 โรง ซึ่งเป็นโรงเรียนในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ) จำนวน 202 โรงและเป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน(กศน) จำนวน 2 โรง
ผลกระทบที่ส่งผลต่อเด็กโดยตรงคือ การขาดโอกาสทางการศึกษา เมื่อโรงเรียนถูกเผาเด็กก็ไม่มีที่เรียนหนังสือ และโรงเรียนจะทำการปิดการเรียนการสอน และต้องใช้สถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการเรียนและในฤดูฝนก็ไม่สามารถเรียนได้ นอกจากนี้ ยังเกิดบาดแผลทางด้านจิตใจต่อเด็ก ๆ ที่เรียนในโรงเรียนเด็กมักจะตั้งคำถามกับครู ว่า “เผาโรงเรียนหนูทำไม”