จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเร่งด่วนในการจัดการกับผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็ก เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ
ลอนดอน, 10 มกราคม 2558
เด็กได้ถูกนำเข้าร่วมและใช้โดยขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงเด็กอายุเพียงแค่ 14 ปี ชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวในรายงานซึ่งเผยแพร่ในวันนี้
รายงานเรื่อง “ภาคใต้ของประเทศไทย : การนำเข้าร่วมและการใช้เด็กโดยกลุ่มติดอาวุธ” ซึ่งมีความยาว 17 หน้าได้อธิบายรายละเอียดถึงรูปแบบการนำเด็กเข้าไปสู่ขบวนการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น ซึ่งพวกเขาได้ทำหน้าที่หลายบทบาท ทั้งการหาข่าวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ การเข้าไปมีส่วนในการใช้อาวุธและปฏิบัติการโจมตี รวมไปถึงการสนับสนุนในด้านอื่นๆ ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเด็กที่ถูกนำเข้าร่วมและใช้โดยกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของไทยนั้นมีจำนวนเท่าใด แต่ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายได้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหว
เด็กเป็นเหยื่อของความรุนแรงอันโหดร้ายในหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการโจมตีโรงเรียน การลอบทำร้ายครูซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของการศึกษาในพื้นที่ บางครั้งเด็กซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธก็ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งใช้บังคับอยู่ในภาคใต้หรือถูกเรียกให้เข้าร่วมโครงการอบรมซึ่งดำเนินการโดยทหาร กฎหมายพิเศษเหล่านี้ ทั้งพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎอัยการศึก พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถูกใช้ในหลายพื้นที่ในภาคใต้ ภายใต้กฎหมายเหล่านี้ ประชาชน รวมถึงเด็ก สามารถถูกควบคุมตัวได้นานถึง 37 วันโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ที่ผ่านมามีการรายงานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวด้วยกฎหมายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
“เด็กๆ ในภาคใต้ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานที่ไม่ได้รับการบอกกล่าว พวกเขาต้องเห็นญาติมิตรถูกฆ่า โรงเรียนถูกโจมตีและถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง” นางชารู ลาตา ฮ็อก ผู้จัดการโครงการเอเชีย ของชาวด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “กลุ่มติดอาวุธเช่นบีอาร์เอ็นจะต้องหยุดใช้เด็กที่มีความเปราะบางเหล่านี้ในกองกำลังของพวกเขาซึ่งทำให้พวกเด็กๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรง”
การเข้าร่วมในกองกำลังของบีอาร์เอ็นของเด็กและเยาวชนนั้นเกิดขึ้นจากความอึดอัดคับข้องใจในทางประวัติศาสตร์ ความอยุติธรรมและความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ในทางศาสนาที่จะต้องต่อสู้กับคนที่เป็นตัวแทนหรือสนับสนุนรัฐไทย เด็กๆ เข้าไปร่วมกับกลุ่มติดอาวุธด้วยหลายเหตุผล บางคนเติบโตในครอบครัวที่เป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธ หรือว่ามีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่ถูกสังหารหรือจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง บางคนก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีเด็กที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ ความกดดันทางสังคมและการปลูกฝังในทางศาสนาทำให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่พวกเขาจะต้องเข้าร่วม แม้ว่าเด็กที่เข้าร่วมจะไม่ได้ขออนุญาตผู้ปกครองในทุกกรณีไป แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าผู้ปกครองต่อต้านการตัดสินใจของเด็กที่ต้องการจะเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ
ในทางประวัติศาสตร์แล้ว โรงเรียนปอเนาะดั้งเดิมหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งทั้งสองแบบมักจะถูกเรียกรวมๆ ว่าโรงเรียนปอเนาะนั้น ดูเหมือนจะเป็นสถานที่สำคัญที่ถูกใช้ในการชักนำเด็กเข้าร่วมขบวนการติดอาวุธ แต่อย่างไรก็ดี การวิจัยของชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่านอกเหนือจากโรงเรียนแล้ว เด็กและเยาวชนยังถูกชักชวนจากกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักในชุมชนของพวกเขาซึ่งอยู่นอกเขตโรงเรียนด้วย สมาชิกผู้ชาย 3 คนของกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งสองคนอายุ 16 และ 17 ปีในขณะที่สัมภาษณ์ ได้รับการติดต่อจากเพื่อนของเขาที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธ
สมาชิกใหม่จะต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนก่อนที่จะได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติการในฝ่ายการเมืองหรือการทหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ในฝ่ายการทหารจะต้องได้รับการอบรมทางการทหารเพิ่มเติมซึ่งรวมถึงการฝึกร่างกายให้แข็งแรง การฝึกอาวุธ เช่น การใช้ปืนเอ็ม 16 ปืนอาก้ารุ่นต่างๆ และระเบิดยิง M-79 รวมถึงเทคนิคการต่อสู้จรยุทธแบบต่างๆ ผู้เข้าอบรมที่มีศักยภาพจะได้รับการคัดเลือกให้ฝึกการทหารในขั้นสูงที่เรียกว่า“คอมมานโด” ซึ่งรวมถึงการอบรมในการต่อสู้ในป่าเขา การทำระเบิด และการเข้าปิดล้อมโจมตี
“รัฐบาลควรจะใช้วาระโอกาสวันเด็กแห่งชาตินี้ในการวางยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันการนำเข้าร่วมและการใช้เด็กในการก่อเหตุรุนแรงใดๆ ในภาคใต้” นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว "ถ้าหากว่าไม่มีการวางมาตรการแบบบูรณาการ เด็กๆ จะไม่สามารถปกป้องตนเองจากการละเมิดและความรุนแรง"
นับตั้งแต่ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นในเดือนมกราคม 2547 กลุ่มติดอาวุธได้โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง คนพุทธ และคนมุสลิมที่เชื่อว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ความรุนแรงนี้เริ่มต้นจากความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาระหว่างชาวมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่กับรัฐไทย ความรุนแรงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่าทศวรรษและไม่มีสัญญาณว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้ มีผู้เสียชีวิตในเหตุความรุนแรงไปแล้วมากกว่า 6,100 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 11,000 คน เหยื่อส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย
กลุ่มติดอาวุธและกองกำลังมีพันธะหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการหยุด ระงับและป้องกันการนำเด็กเข้าร่วมและใช้เด็กในการสู้รบ ประเทศไทยเป็นภาคีของบทบัญญัติว่าด้วยพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child - OPAC) ซึ่งห้ามกองกำลังของรัฐและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐนำเด็กเข้าไปร่วมในการสู้รบ
รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอเร่งด่วนไปยังกลุ่มติดอาวุธและรัฐบาลไทย ซึ่งรวมถึง
ข้อเสนอแนะต่อกลุ่มติดอาวุธ :
- หยุดการนำเข้าร่วมและใช้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 โดยทันทีและปล่อยตัวเด็กที่อายุต่ำกว่า18 จากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการแก้แค้นต่อเด็กหรือครอบครัว
- ตกลงต่อสาธารณชนในการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศในการปราบปรามและป้องกันการนำเข้าร่วมและใช้เด็กในการสู้รบ
- ออกคำสั่งและบังคับใช้คำสั่งกับผู้ปฏิบัติการในกลุ่มติดอาวุธให้ละเว้นการนำเข้าร่วมและใช้เด็กในการปฏิบัติการ และให้มีการเผยแพร่คำสั่งนี้ไปยังสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธและชุมชนที่กลุ่มติดอาวุธเคลื่อนไหวอยู่
- อนุญาตให้สหประชาชาติและองค์กรมนุษยธรรมอิสระเข้าตรวจสอบ ค้นหา ปล่อยตัวเด็กจากการปฏิบัติการและนำเด็กกลับคืนสู่สังคม
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย :
- จัดตั้งระบบเพื่อการเฝ้าระวังและรายงานการนำเข้าร่วมและการใช้เด็กโดยกลุ่มติดอาวุธ รวมถึงผลกระทบของความขัดแย้งในภาคใต้ต่อเด็ก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพกายและจิตใจและการศึกษาของเด็ก
- พัฒนายุทธศาสตร์ในหลายด้านและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาผลกระทบของความขัดแย้งที่มีต่อเด็กและป้องกันการนำเข้าร่วมและใช้เด็กโดยกลุ่มติดอาวุธ
- กำหนดอย่างเร่งด่วนให้การนำเข้าร่วมและใช้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ในกองทัพและกองกำลังติดอาวุธเป็นความผิดอาชญากรรม
- สร้างความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในภาคใต้ของประเทศไทยจะได้รับการอบรมในเรื่องสิทธิเด็ก ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติว่าด้วยพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ และตระหนักถึงบทบาทของเขาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปเข้าร่วมในการปฏิบัติการสู้รบ
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิกร
ชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ทำการวิจัยใน 9 อำเภอในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2556 ถึงเดือนเมษายน 2557 มีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธทั้งอดีตและปัจจุบัน 26 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 13 คนเข้าร่วมก่อนอายุ 18 ปี มี 5 คนที่เข้าร่วมในช่วงระหว่างปี 2554 ถึง 2555 ในจังหวัดนราธิวาสและยังคงปฏิบัติการกับบีอาร์เอ็นอยู่ในช่วงปลายปี 2556
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและการติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ
- ชารู ลาทา ฮ็อก กับโฆษกของชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ในประเทศอังกฤษ) โทร +44 (0) 2073674112, มือถือ: +44 (0) 7906261291;
- พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มือถือ + 66 86 709 3000
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ http://voicefromthais.wordpress.com/2015/01/09/child-soldiers-international-report-on-thailand_2015-thai-and-english/
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
Child Soldiers International and Justice for Peace Foundation, Priority to Protect: Preventing children’s association with village defence militias in southern Thailand, February 2011: http://www.child-soldiers.org/research_report_reader.php?id=291
Child Soldiers International, Thailand: OPAC Shadow report to the Committee on the Rights of the Child, September 2011, http://www.child-soldiers.org/research_report_reader.php?id=287
Committee on the Rights of the Child, Concluding Observations: Thailand (CRC/C/OPAC/THA/CO/1), 21 February 2012: http://tbinternet.ohchr.org/_layouts/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CRC/C/OPAC/THA/CO/1&Lang=En
For additional information on UN reports on underage recruitment and use in Southern Thailand, see the Report of the Secretary-General to the Security Council, A/68/878–S/2014/339, 15 May 2014, paragraphs 200-204