บทสะท้อนจากกระแสเหตุการณ์ Charlie Hebdo[1]
ยาสมิน ซัตตาร์
เชื่อว่าในเวลานี้ หากกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เป็นที่จับตามองและถูกวิพากษ์มากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 58 ณ สำนักพิมพ์ Charlie Hebdo[2] ในฝรั่งเศส ที่มีมือปืนสองคนได้บุกยิงเข้าไปยังสำนักพิมพ์ส่งผลให้มีทั้งนักเขียนและประชาชน รวมถึงตำรวจได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ การกระทำในครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อโลกมากขึ้นเมื่อสื่อได้เริ่มนำเสนอข่าว จนกระแสความหวาดหวั่นและวิพากษ์วิจารณ์ตามมา แน่นอนว่า คำถามแรกคือ ใครคือมือปืนในครั้งนี้ กระทั่งสื่อได้นำเสนอต่อว่ามือปืนสองคนที่ก่อการในครั้งนี้เป็นมุสลิมสายอิสลามมิสต์ที่อาจเป็นเครือข่ายขององค์กรที่ส่งคนเข้าไปร่วมรบกับกลุ่มไอซิซในซีเรีย รวมถึงบ้างก็ว่าเป็นคนของอัล-เคดาหฺ และอ้างว่าการก่อการในครั้งนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อการวาดการ์ตูนล้อเลียนท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ซ.ล.) เหตุการณ์ยังคงต่อเนื่องเมื่อมีการจับกุมตัวประกันเกิดขึ้นอีกครั้งในห้างชุมชนชาวยิวจนส่งผลให้มีตัวประกันที่ต้องเสียชีวิตเพิ่มเติม แต่ทางการฝรั่งเศสสามารถจับตายบุคคลที่อ้างว่ากระทำการดังกล่าวไปได้ 3 คน พร้อมกับจับกุมผู้ต้องสงสัยที่ถูกอ้างว่าให้ความช่วยเหลือ 1 คน รวมถึงอีก 1 คนที่หลบหนีออกไปได้
การกระทำทั้งหมดในกรณีผู้ร้ายนี้ ล้วนแล้วปฏิบัติการณ์บนเพียง “ข้อสันนิษฐาน” ของความเป็นไปได้ในการที่กลุ่มคนเหล่านี้จะกระทำการ และยังมีพยานยืนยันว่าผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมนั้นอยู่กับพยานในช่วงที่เกิดเหตุและไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ และเมื่อคนร้ายถูกจับตาย การแก้ต่างก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ว่าความเชื่อมโยงต่อข้ออ้างที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมุสลิมนั้นจริงหรือ? หรือแม้แต่ว่าปฏิบัติการณ์นี้จริงหรือไม่ เมื่อมีการให้สัมภาษณ์ปฏิเสธของผู้ที่ถูกอ้างออกสื่อก่อนที่จะถูกจับตาย ว่าไม่ได้ปฏิบัติการณ์ครั้งนี้และไม่มีความแค้นอันใดต่อสำนักพิมพ์ และจากข้อมูลบางส่วนที่ออกมาของผู้ที่ถูกอ้างว่าปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ก็ให้ความเห็นว่าผู้ที่ถูกอ้างว่ากระทำการนั้นเป็นเด็กกำพร้า และมีฐานะยากจน รวมทั้งไม่ได้เป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนาแต่อย่างใด หากเป็นผู้ที่อ้างจริงก็อาจมีมูลเหตุจากความคับแค้นจากสภาพทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ผู้ถูกอ้างจะเป็นคนที่ถูกกลายเป็นเครื่องมือต่อการสร้างภาพความรุนแรงของอิสลามอย่างต่อเนื่องให้เกิดในช่วงที่กระแสการต้านอิสลามในเยอรมันเกิดขึ้นพร้อมกับการยอมรับสถานะของปาเลสไตน์ของฝรั่งเศสเอง หรือแม้แต่ความเป็นไปได้ที่จะเป็นเพียงละครอีกฉากเพื่อจุดฉนวนกระแสต่อต้านอิสลาม และสร้างข้ออ้างในการใช้เหตุการณ์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงทางเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์เอง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อตัวอย่างสันนิษฐานที่เป็นไปได้ที่ต่างจากกระแสหลักที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
แน่นอนว่า กระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ ที่อาจมองคร่าวๆ เป็นสามชุดความคิดหลัก (ซึ่งอาจไม่สามารถสะท้อนภาพความเห็นต่อเหตุการณ์ทั้งหมดได้ แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งของความคิดหลักที่ปรากฏให้เห็น)
ชุดความคิดบางมุมมองบนฐานของความชอบธรรมของสำนักพิมพ์ ที่มาพร้อมกับการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อที่จะแสดงความเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดหรือถูก และบางส่วนก็มองกระจายออกไปกระทั่งถึงกระแสการมองมุสลิมในฐานะผู้ก่อการร้าย หรือ กระแสอิสลาโมโฟเบีย เริ่มกลับเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของชาวตะวันตกและทั่วโลกอีกครั้ง แม้ว่ายังไม่ทราบเป้าประสงค์ที่แน่นอนของการกระทำนี้เลยก็ตามที เมื่อสื่อที่ออกมาต่างมองว่ามูลเหตุของเหตุการณ์มาจากการที่หนังสือพิมพ์นั้นได้ล้อเลียนท่านศาสทูตมูฮัมมัด (ซ.ล.) และมุสลิมก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรง ภาพของมุสลิมที่ถือปืนพร้อมกับการเหมารวมว่าศาสนาอิสลามสนับสนุนความรุนแรงได้กลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง ต่อเนื่องกับเหตุการณ์ก่อนหน้าในเยอรมันที่มีการออกมาต่อต้านมุสลิมเพราะความกังวลถึงจำนวนการย้ายถิ่นฐานของมุสลิมเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้น จนกลายเป็นกระแสของความกลัวอิสลามที่เริ่มมีบทบาทที่เห็นชัดเจนในยุโรปอีกครั้ง ด้วยกับคำถามของผู้รับสื่อว่า มุสลิมอีกแล้วหรือ? ที่ทำให้เกิดความรุนแรง ทำไมเหตุการณ์ที่รุนแรงถึงเกิดขึ้นในที่ที่มุสลิมอยู่ คำถามเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นสะท้อนต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้
ชุดความคิดบางส่วนก็มองว่า กระแสของการต่อต้านการใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขตและกระทบต่อความเชื่อของบุคคลอื่นและขาดการเคารพต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาของผู้อื่น ซึ่งเป็นการก้าวล้ำเข้าไปในขอบเขตแห่งเสรีภาพของผู้อื่นนั่นเอง นอกจากนั้นก็ตั้งคำถามถึงอคติในการนำเสนอข่าวและความไม่เท่าเทียมหรือเลือกปฏิบัติต่อปฏิกิริยาต่อการใช้ความรุนแรงที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เหตุใดที่การที่มีมุสลิมในอีกหลายที่ หรือถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อื่นที่ไม่ใช่ตะวันตก เหตุการณ์จึงไม่ได้สะเทือนต่อสังคมโลกและเกิดการเพิกเฉยของคนทั่วโลก ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เหล่านั้นมีคนที่ต้องรับผลกระทบจากปฏิบัติการณ์ของตะวันตกมากเสียยิ่งกว่าเหตุการณ์นี้เสียอีก เหตุใดคนที่ต้องมองเพียงแค่มุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย เหตุใดกลับกันเมื่อเกิดการฆ่าในที่อื่นกลับมองว่าเป็นการกระทำของเพียงคนบางกลุ่มที่อาจมีความผิดปกติทางจิต ถึงขั้นที่ว่าบางครั้งสร้างความชอบธรรมของการฆ่านั้นโดยปราศจากการมองเหมารวมถึงการกระทำของคนทั้งกลุ่ม
นอกจากนั้น บางชุดความคิดก็พยายามสะท้อนกระแสที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งมองว่าในแง่หนึ่งสื่อควรมีเสรีภาพที่ต้องเคารพและไม่ก้าวล้ำเสรีภาพของผู้อื่น เช่นเดียวกันที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรง และไม่มองอย่างเหมารวมว่าการกระทำครั้งนี้คือการกระทำของมุสลิมทั้งหมดและเป็นแนวคิดหลักของอิสลามที่มีการสอนถึงความรุนแรง แต่มองว่ามุสลิมกับอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่แยกกัน มุสลิมคือคำที่เรียกคนที่นับถือศาสนา แต่อิสลามคือศาสนา หลายครั้งศาสนาได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงโดยที่แท้จริงแล้วอิสลามนั้นไม่ได้สอนถึงความรุนแรง แต่เป็นศาสนาแห่งสันติ ที่การอนุมัติในเรื่องการใช้ความรุนแรงนั้นมีในกรณีที่ถูกรุกราน และการตอบโต้ของท่านศาสนทูตต่อการถูกกล่าวร้ายในช่วงเวลาของท่านก็คือการอดกลั้นและอดทน มากกว่าการใช้คมดาบอย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันโดยปราศจากการทำความเข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังมีตำรวจมุสลิมที่เสียชีวิตและก็มีชาวมุสลิมที่ได้ช่วยตัวประกันด้วยเช่นกัน การสนับสนุนแนวคิดนี้ได้ออกมาจากผู้นำของหลายประเทศในประเทศมุสลิมเอง และอีกหลายประเทศในตะวันตก รวมทั้งฝรั่งเศสเอง ที่มองว่าให้มองการก่อการร้ายและศาสนาเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน
เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการรวมตัวชุมนุมเดินประท้วงของชาวฝรั่งเศส และจากผู้นำของหลายประเทศในยุโรป แอฟริกา รวมถึง ปาเลสไตน์และตุรกี ที่ออกมาร่วม แม้จะถูกวิพากษ์ว่า การออกไปครั้งนี้เหมือนกับว่าสนับสนุนการเรียกร้องเสรีภาพของสื่อที่ใส่ร้ายท่านศาสนทูต (ซ.ล.) หากแต่จุดยืนของประเทศอย่างตุรกี กลับมองว่าเป็นการเข้าร่วมครั้งนี้เป็นไปในฐานะของการแสดงว่ามุสลิมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการก่อการร้าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีดาวุดโอวฺลูวฺ ของตุรกีได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้คือการต่อต้านการก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดและไม่ควรใช้อิสลามเป็นข้ออ้างในการกระทำนับตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการรักษาความสัมพันธ์ต่อประเทศในยุโรปก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในกรณีของตุรกีที่อยู่ในพื้นที่ยุโรปและกรณีปาเลสไตน์ที่ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่ยอมรับสถานะการมีอยู่ของปาเลสไตน์นั่นเอง แต่ประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในการเข้าร่วมการเดินขบวนครั้งนี้เห็นจะหนีไม่พ้นประเทศอิสราเอลที่ประธานาธิบดีแอรฺโดอานของตุรกีออกมาวิพากษ์ว่า ‘ประธานาธิบดีเนทันยาฮู ไปร่วมขบวนที่นี่ได้อย่างไร เมื่อการต่อต้านครั้งนี้เป็นการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งๆ ที่อิสราเอลยังคงไม่หยุดก่อการร้ายปาเลสไตน์’ และข้อตั้งคำถามที่ตามมาคือประเทศที่เริ่มวาทกรรมการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างสหรัฐอเมริกา เหตุใดจึงไม่ร่วมการเดินขบวนครั้งนี้ แม้ว่าภายหลังตัวแทนจากสหรัฐจะออกมาออกสื่อว่าน่าจะไปร่วมการแสดงเจตนารมณ์ครั้งนี้ก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีการออกมาแสดงเจตนารมณ์เช่นเดียวกันในอีกหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน
บทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ (โดยความเห็นส่วนตัวเบื้องต้นต่อเหตุการณ์เท่าที่ปรากฏที่อาจไม่ใช่คำอธิบายทั้งหมดของเหตุการณ์) เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เสรีภาพที่ไร้ขอบเขตและปราศจากความเคารพซึ่งกันและกันของสื่อ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง แม้ว่าในครั้งนี้เหตุการณ์การล้อเลียนของสำนักพิมพ์ Charlie Hebdo อาจไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงของการปฏิบัติการณ์ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในที่สุด นอกจากนั้นก็ยังสะท้อนถึงภาวะของการขาดความอดกลั้นและอดทนของคนในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเหมารวมและตัดสินจากทั้งสองฝ่ายเอง ฝ่ายหนึ่งตัดสินว่าเป็นการกระทำของมุสลิมและมุสลิมคือหัวรุนแรง อีกฝ่ายก็ตัดสินว่าเรื่องราวครั้งนี้เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว ขณะเดียวกันการกระทำที่ต่อต้านหากเป็นฝีมือของการกระทำของผู้ที่ถูกอ้างด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเพราะการที่สำนักพิมพ์วาดรูปการ์ตูนล้อเลียนแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่มุสลิมจะคัดค้านในสิ่งนี้แต่ก็ไม่ควรจะถึงขั้นของการใช้ความรุนแรง
ในบริบทโลกปัจจุบันที่มีภาวะความหลากหลายทางวัฒนธรรมสิ่งที่สำคัญสองสิ่งนั่นคือ ความเคารพซึ่งกันและกัน (Respect) และความอดทนอดกลั้นที่จะยอมรับเข้าใจกัน (Tolerance) หายไปจนเกิดภาวะของการเพิกเฉย(Ignorance) ต่อความต่างที่ต้องยอมรับว่าปรากฏให้เห็นในสังคมและการใช้คำพูดเกลียดชัง (Hate Speech) ระหว่างกัน เหล่านี้ล้วนแล้วจะส่งผลที่เอื้อต่อการปะทะทางความคิดที่จะส่งผลถึงความรุนแรงได้
บทเรียนสุดท้ายที่เห็นชัดที่สุด เห็นจะเป็นอิทธิพลของสื่อ ที่เล่นกับเรื่องนี้จนกระทั่งกลายเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นกระแสขึ้นมาทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และกระแสหลักของความเป็นตะวันตกที่ยังคงยึดครองพื้นที่หลักของ “การส่งเสียงแล้วดัง” ในครั้งนี้เช่นเดียวกับแนวคิดที่กล่าวบางส่วนที่ระบุไว้ในกระแสการส่งเสียงข้างต้น ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในฝรั่งเศส มันจะเป็นกระแสเช่นนี้หรือไม่? และหากเป็นการกระทำของคนที่ไม่ใช่ถูกอ้างว่าเป็นมุสลิม เหตุการณ์จะมาถึงจุดนี้หรือไม่? ท้ายสุดแล้วหากโลกยังยึดติดกับการเกิดเหตุแล้วใช้อคติตัดสิน รวมถึงเส้นเขตที่ชัดเจนในการแสดงเสรีภาพก็ยังคงหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ ก็อาจเป็นหนึ่งในอีกหลากหลายเหตุผลที่ให้มนุษย์อยู่ในวังวนของความขัดแย้งก็อาจเป็นได้
สิ่งที่สำคัญจากบทเรียนเหล่านี้ก็นำไปสู่คำถามที่สะท้อนกลับสู่ตัวเองในฐานะมุสลิมคนหนึ่งและมนุษย์คนหนึ่งที่คิดว่าสามารถไปด้วยกันได้เมื่ออิสลามไม่ได้เพิกเฉยถึงความสำคัญของชีวิตของมนุษย์ที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้นมาที่มนุษย์คนหนึ่งอาจไม่สามารถพิพากษาอีกคนด้วยกับ การฆ่า โดยปราศจากเหตุผลที่เห็นควรจริงๆ ที่ต้องโทษถึงขั้นที่ต้องใช้วิธีนี้ เมื่อยังคงมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่ดูหมิ่นท่านศาสทูต (ซ.ล.) อันเป็นที่รัก คำถามก็คือ เราจะวางจุดยืนอย่างไรต่อเหตุการณ์? คำตอบของคำถามนั้นอาจจะยังไม่ชัดเจนเสียทั้งหมดแต่แน่นอนว่าหนึ่งในคำตอบที่สำคัญก็คือ วางแนวทางคิดและโต้ตอบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้และครั้งต่อๆไปที่จะเกิดขึ้นอีกให้อยู่บนฐานของอิสลามและมรรยาทที่มุสลิมที่แท้จริงถูกสอนมาให้ปฏิบัติ นั่นคือ การโต้ตอบด้วยปัญญาและสิ่งที่ดีงาม และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของอิสลามต่อสาธารณะอย่างสันติ หากแต่คำถามต่อมาก็อาจเป็นว่า แล้วสังคมเล่า พร้อมหรือยังที่จะเคารพในความเชื่อของมนุษย์ พร้อมหรือยังที่จะอดกลั้นและรับฟังอย่างไม่เหมารวมและไม่อคติ?
[1] จากการติดตามแหล่งข่าวต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะ Al-Jazeera, BBC และ Anadolu Agency ซึ่งสะท้อนมาสู่บทสรุปความเห็นของผู้เขียนเอง
[2] สำนักพิมพ์ในฝรั่งเศสที่มีการออกมาแสดงภาพล้อเลียนของหลายศาสนาและความเชื่อหลายครั้ง ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกโจมตีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2011