Skip to main content

 

ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
 
ประเด็นร้อนของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ เวลานี้ คงไม่มีอะไรที่ “ร้อนแรง” ไปยิ่งกว่าเรื่องของเครื่องตรวจจับระเบิด “จีที 200ที่กลายเป็น “วิวาทะ” แห่งความขัดแย้ง ระหว่าง “กองทัพ” กับ “นักวิชาการ”
 
          โดยประเด็นของปัญหาคือ ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นจากประชาชนและนักวิชาการที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มองว่าเครื่อง “จีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับวัตถุระเบิด และเรียกร้องให้มีการระงับการซื้อเครื่องมือชิ้นนี้ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
 
          ในขณะที่ “กองทัพ” ซึ่งกำลังตกเป็น “จำเลย” ของสังคมในเรื่องดังกล่าวได้ออกมาตอบโต้และได้ “พิสูจน์” ให้สังคมเห็นว่า “จีที 200 เป็นเครื่องมือที่ “ใช้ได้” และมีความ “จำเป็น” กับงานตรวจจับวัตถุระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะขณะนี้ “จีที 200 ถือเป็นเครื่องมือ ที่ดีที่สุดที่กองทัพมีอยู่
 
          การออกมา “วิวาทะ” ของ “กองทัพ” และของ “นักวิชาการ” ครั้งนี้ ยังมีทีท่าว่าจะเป็น “หนังชีวิต” ที่ยืดยาว เพราะมี คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผ.อ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ออกมาร่วม “คลุกฝุ่น” เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่า “จีที 200 เป็นเครื่องมือที่ ประสิทธิภาพไม่เหมาะสมกับราคา 1,100,000 บาทต่อหนึ่งเครื่อง หรือเป็นเครื่อง “ไฮเทค” ที่มีความจำเป็นยิ่งต่อการลดการสูญเสียของเจ้าหน้าที่และประชาชน
 
          โดยข้อเท็จจริง “จีที 200 ซึ่งมีใช้มากที่สุดใน “สนามรบ” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 500 กว่าเครื่อง ที่ผ่านมาเคยมีความผิดพลาดจนเป็นข่าว “อื้อฉาว” เพียง 2 ครั้ง คือตรวจแล้วไม่พบระเบิดที่คนร้ายทำ “คาร์บอมบ์” ที่หน้าโรงแรมเมอร์ลิน อ.สุไหงโก-ลก และใน “จยย.บอมบ์” ที่หน้าเขียงหมูตลาดพิมลชัย เทศบาลนครยะลา ซึ่งหลังจากที่ ข่าวของ “จีที 200” ล้มเหลวในการตรวจระเบิด กลายเป็นประเด็นให้เกิดความ “อ่อนไหว” ต่อสังคมใน 2 กรณี ด้วยกัน
 
          กรณีแรก สังคมสงสัยในความไม่ “โปร่งใส” ของกองทัพในการ “จัดซื้อ” เครื่องตรวจจับระเบิดยี่ห้อดังกล่าว และหลังจากมีข่าวถึงความไม่มีประสิทธิภาพ ยังไม่มีการ “พิสูจน์” และนำผลมาชี้แจงกับสังคม แต่ยังเตรียมที่จะ “สั่งซื้อ” สิ้นค้าล็อตใหม่เข้าใช้ในกองทัพอีก
 
          กรณีที่สอง หลังเกิดข่าวดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างมีความไม่มั่นใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้เครื่อง “จีที 200 ในการตรวจสอบวัตถุระเบิด เพราะประชาชนผู้ “เสพข่าว” เชื่อตามที่มีการนำเสนอข่าวว่า “จีที200” เป็นได้แค่เครื่องมือที่ใช้ “ขู่” คนร้าย มากกว่าที่จะ “จับ” วัตถุระเบิดที่คนร้ายนำมาก่อวินาศกรรมได้จริง ในขณะที่ “แนวร่วม” ในพื้นที่ ก็ใช้ “ข่าว” ที่เกิดขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการโฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชนให้เห็นถึงความไม่ “โปร่งใส” ของ กองทัพ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ยิ่งหนังเรื่อง “จีที 200 ยาวออกไปเท่าไหร่ ยิ่งเกิดความเสียหายต่อภารกิจการ “ดับไฟใต้” ของกองทัพมากขึ้น
 
          เช่นเดียวกับกรณีของ “เรือเหาะสกายดราก้อน” ที่ กองทัพจัดซื้อในราคาลำละ 350 ล้านบาทเพื่อใช้ในภารกิจดับไฟใต้ และขณะนี้ถูกนำมาทอดลองใช้ลาดตระเวน ตรวจสอบ ถ่ายภาพ ในพื้นที่ขัดแย้งใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งมีกลุ่มคนทั้งนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคม และแม้แต่ “นายทหาร” หลายคน ที่ออกมา “วิพากษ์” ว่า เรือเหาะชนิดนี้ ไม่เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์-ภูมิประเทศของภาคใต้ที่เป็นป่าดิบชื้อ เป็นสวนยาง สวนผลไม้ ไม่ใช่ทะเลทราย หรือภูเขาหิน และที่ราบ ซึ่งเหมาะกับภารกิจของ “เรือเหาะ” รวมทั้งกองกำลังของกลุ่ม “ก่อการ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธที่ตั้ง “ค่าย” หรือ เคลื่อนกำลังอยู่ในป่าเขา แต่เป็นลักษณะของ “แนวร่วม” ที่เคลื่อนไหวในหมู่ประชาชน อาศัยปะปนอยู่ในหมู่บ้านในชุมชนเมือง เพื่อฉวยโอกาสก่อความไม่สงบ ซึ่งกองทัพเองก็ปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ไม่ได้ออกมาให้ข้อเท็จจริงว่าผลจากการ “ทดสอบ” การใช้ “เรือเหาะ” ลำนี้ มีประโยชน์ต่อภารกิจ ในการ “ดับไฟใต้” มากน้อยแค่ไหน และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการหยิบเอาเรื่อง “เรือเหาะสกายดราก้อน” ลำนี้ มาเป็น “ประเด็น” ร้อนๆ ให้กับ กองทัพ เช่นเดียวกับเรื่องของ “จีที 200ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
 
          ดังนั้น กองทัพจะต้องมีความ “โปร่งใส” ในการพิสูจน์ “จีที 200 ให้เกิดความกระจ่างแก่ประชาชนโดยเร็ว และขณะนี้สังคมยังคลางแคลงใจ กองทัพจะต้องระงับการ “จัดซื้อ” เครื่อง “จีที 200เอาไว้ก่อน จนกว่าผลพิสูจน์จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เช่นเดียวกับประสิทธิภาพของ “เรือเหาะ” ที่ต้องมีคำตอบว่าประโยชน์อย่างไรต่อภารกิจในการสนับสนุนหน่วยรบในการดับไฟใต้ หรือนำมาเพื่อเพิ่มภารกิจและเพิ่มงบประมาณอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกต ถ้าเห็นว่า “เรือเหาะ” ลำนี้ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่-ภูมิศาสตร์ และ “ยุทธศาสตร์” ก็ไม่จำเป็นที่นำมาใช้ ส่งคืนไปทำหน้าที่ยังที่อื่น เพื่อที่จะได้ “ยุติ” ความเสียหายที่มาจากการ “วิพากษ์วิจารณ์” และกลายเป็น “เงื่อนไข” ให้ฝ่ายตรงข้าม ใช้เป็นเรื่องมือในการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ต่อ “รัฐไทย”
 
          ความเสียเปรียบของ “กองทัพ” ที่มีต่อทุกกรณีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ กองทัพ โดยเฉพาะ “กอ.รมน.ภาค4” อ่อนด้อยในการ “สื่อสารกับสังคม” ทั้งสังคมภายใน จังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมในประเทศ  ประเด็นเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งควรจะมีการชี้แจงโดยเร็วเพื่อลดปัญหากลับถูกทำให้ “พอกพูน” จนกลายเป็น ประเด็นใหญ่ และประเด็นร้อน เรื่องดีๆ มีอยู่มากมาย แต่ไม่มีการ “สื่อสาร” ให้สังคมได้รับทราบ แต่ไม่ได้ทำ จนในที่สุดถึงจะออกมาพูดเรื่องจริง ก็กลายเป็นเรื่อง “แก้ตัว” และแก้ข้อกล่าวหา สังคมไม่ให้ความเชื่อถือทั้งที่เป็นเรื่องจริง
 
          ดังนั้น สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ควรจะทำควบคู่กันระหว่างภารกิจการดับไฟใต้คือการออกมา “สื่อสารกับสังคม” อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ ข้อเท็จจริง ในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อการลด “เงื่อนไข” ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไขแห่งความไม่ “โปร่งใส” ที่เป็นประเด็นใหญ่ที่ “แนวร่วม” หยิบยกขึ้นมาเป็น “ดาบ” ใช้เชือดเฉือน ทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะ “กองทัพ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้