เวทีเสวนา CSOs รุ่นใหม่ในหลักสูตรโรงเรียนประชาธิปไตยของวิทยาลัยประชาชน มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน แนะทำงานชุมชนต้องมียุทธศาสตร์ อยากเห็นประชาสังคมรุ่นใหม่กล้าที่จะคิดแตกต่าง หาทางเลือกใหม่ๆ และไม่ใช้กำลัง ด้านเวทีเสวนาพลังคนหนุ่มสาวกับการขับเคลื่อนสังคมชี้คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ทักษะและทุ่มเท
วิทยาลัยประชาชนจัดเวทีเสวนาสาธารณะและนำเสนอผลงานนักศึกษา หลักสูตรโรงเรียนประชาธิปไตยและการจัดการองค์กรสาธารณะประโยชน์ ณ ห้องประชุมศรีวังสา ชั้น 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มีการนำเสนอผลงานของนักศึกษาหลักสูตรโรงเรียนประชาธิปไตยและการจัดการองค์กรสาธารณะประโยชน์ตามจำนวนกลุ่มของนักศึกษาที่ได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล และให้ผู้เข้าร่วมเดินไปชมผลงาน
หลังจากนั้นมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความหวังกับ CSOs รุ่นใหม่” โดย นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถารการณ์ภาคใต้ และที่ปรึกษาวิทยาลัยประชาชน
CSOs คือใคร CSOs รุ่นใหม่จะวัดกันตรงไหน
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ถึงตายและยืดเยื้อเรื้อรัง ซึ่งจากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยกำลังทางทหารได้ ซึ่งในพื้นที่ความขัดแย้งเหล่านั้นจะมีภาคประชาสังคมที่มีบทบาทต่างๆ ในทุกพื้นที่ จึงเป็นประเด็นคำถามว่าแท้จริงแล้วองค์กรภาคประชาสังคมคือใคร
“สำหรับผมแล้ว CSOs คือ ไม่ใช่รัฐ และไม่ถือปืน” มูฮำหมัดอายุบกล่าว
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวถึงอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ว่าอาจารย์อัฮหมัดเป็นคนที่ตนเรียนรู้เรื่องการทำงานชุมชนตั้งแต่การทำฐานข้อมูล โดยชี้ว่าอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์มีเครื่องมือในการทำงานโดยเฉพาะทำงานกับชุมชน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างชุมชนกับองค์ต่างๆ สามารถประเมินการทำงานของภาคประชาชนได้ นอกจากนั้นยังมีงานวจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ด้วย
มูฮำหมัดอายุบตั้งคำถามต่อที่ประชุมด้วยว่าองค์กรภาคประชาสังคมรุ่นใหม่จะเชื่อมกับชุมชนอย่างไร มีเครื่องมือและองค์ความรู้เพียงพอหรือไม่ในการทำงานกับชุมชน โดยตั้งข้อสังเกตถึงการเติบโตของภาคประชาสังคมในพื้นที่ซึ่งเติบโตขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกันเป็นการเติบโตที่มีอำนาจต่อรองหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ต้องแสวงหาคำตอบ
“โจทย์คือที่ผ่านมาคนที่ศึกษาประเด็น CSOs รวมถึงพลวัตรของ CSOs ยังมีน้อย แต่การที่วิทยาลัยประชาชนสามารถทำเรื่องอย่างวันนี้ซึ่งเป็นการให้ความรู้ ถือก้าวหน้ามาก”
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวถึงความชอบธรรมของภาคประชาสังคมซึ่งถือว่ามีความชอบธรรมมากในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพราะฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมักจะอ้างถึงภาคประชาสังคมเสมอ จึงจำเป็นที่ต้องมาร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อหาความรู้ เพราะถึงจะทำงานสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม ทุกอย่างก็คือความรู้ที่ได้จากการทำงาน จำเป็นที่แต่ละองค์กรต้องช่วยกันเติมเต็มและทำฐานข้อมูลต่างๆ ให้เป็นความรู้ จากนั้นถึงจะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงาน ไม่ใช่ทำโครงการโดยไม่มียุทธศาสตร์
“ที่อยากเห็นก็คือ งานความรู้ งานสื่อสาร งานภาคประสังคม ซึ่งงานวันนี้ถือว่าดีมาก แต่ยังไม่พอ จะต้องทำต่อ โดยที่ CSOs รุ่นใหม่จะต้องมีก็คือ 1. มีความมุ่งมั่นที่จะยุติความรุนแรงและเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งดังกล่าวอย่างจริงจัง 2. ต้องสะท้อนเสียงของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับขัดแย้งให้ได้ 3. ต้องมีเครือข่ายการทำงานที่สามารถขยายผลการทำงานต่อไปได้ 4. ต้องเป็นคนที่มีจิตใจเปิดกว้างที่พร้อมจะทำงานกับคนที่เห็นต่างหรือมีภูมิหลังที่ต่างกันได้ 5. ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 6. ต้องกล้าหาญ กล้าที่จะคิดแตกต่าง กล้าที่จะแสวงหาทางเลือก กล้าที่จะอยู่ข้างหลัง และที่สำคัญกล้าที่จะไม่ใช้กำลัง”
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวทิ้งท้ายว่า CSOs รุ่นใหม่จะต้องเป็นตัวเชื่อม และเกาะเกี่ยวระหว่างประชาชนกับคู่ขัแย้งทั้งสองฝ่าย และสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อหนุนเสริมการพูดคุยสันติภาพ นอกจากนั้นแล้ว CSOs รุ่นใหม่จะต้องกระตุ้น ผลักดัน เชิญชวน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไป
พลังของคนหนุ่มสาวกับการขับเคลื่อนสังคม
หลังจากนั้นมีการเสวนา เวทีเสวนา หัวข้อ “พลังของคนหนุ่มสาวกับการขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ความขัดแย้ง”วิทยากรได้แก่ ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานเครือข่ายนูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และนางสาวบาดารีย๊ะ บุยะลา เลขานุการสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ดำเนินรายการโดย วาสนา สาเม๊าะ
ทำงานสังคมต้องมียุทธศาสตร์ ต้องสร้างคนรุ่นใหม่
อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า จากที่ทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งมาหลายปีทำให้รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ในอิสลามความขัดแย้งคือฮิกมะฮฺหรือวิทยปัญญา ฮิกมะฮฺของความขัดแย้งคือการเรียนรู้ เรียนรู้ในความหมายที่ไม่ใช่แค่เรียนในระบบ แต่มาจากการพิจารณาหรือจากสถานการณ์บางอย่าง โดยที่เราจะต้องทำความรู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น รู้จักสังคม รู้จักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ตนเรียนจบนิติศาสตร์ จบเนติบัณฑิต แต่เพิ่งมาเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนจริงๆ ก็ตอนมาทำงานศูนย์ทนายความมุสลิม
อับดุลกอฮาร์ กล่าวต่อว่า เวลาทำงานสังคมจะต้องมียุทธศาสตร์ จะเสร็จใน 1 หรือ 2 ปี เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อย่างที่ทำงานในศูนย์ทนายความมุสลิมมา 10 ปีแต่ถ้าไม่สร้างคนใหม่ๆ ต่อไปก็จะไม่มีคนที่จะมาทำงานแทน ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดในคนรุ่นหลัง ซึ่งหากอยากให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องมี 2 อย่าง คือ ความบริสุทธิ์ใจ และต้องมีความรู้ เราใช้อีมาน(ศรัทธา)ในการขับเคลื่อน แต่ก็ต้องมีทักษะในการทำงานด้วย
“ดังนั้น เราจะต้องสร้างพื้นที่กลางให้คนที่เรียนทางศาสนากับคนที่เรียนด้านสามัญให้สามารถมาทำงานร่วมกันให้ได้ เพราะอิสลามไม่ได้แยกกิจกรรมทางสังคมออกจากศาสนา” อับดุลกอฮาร์ กล่าว
อับดุลกอฮาร์ ตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้ความรู้ของเราเข้าไปสู่ร้านน้ำชา ไม่ใช่พอกลับไปยังชุมชนความรู้หายไปหมด และผู้ใหญ่เองก็ควรที่จะทำงานกับวัยหนุ่มสาวให้ได้ ไม่ใช่คิดว่าพอเป็นผู่ใหญ่แล้วจะทำอะไรถูกไปหมด
คนรุ่นใหม่ต้องทำงานอย่างมียุทธศาสตร์
มูฮำหมัดอาลาดี กล่าวว่า การทำงานทางสังคมหรือช่วยเหลือสังคมนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ที่เน้นคนหนุ่มสาว เพราะในช่วงวัยหนุ่มสาวมีพละกำลังเยอะและยังมีภาระน้อยอยู่ถ้าเทียบกับคนมีครอบครัวแล้ว นั้นคือในภาวะสังคมปกติ แต่ในภาวะที่สังคมอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งที่เราจะต้องทำงานช่วยเหลือสังคม
มูฮำหมัดอาลาดี กล่าวต่อว่า แต่ก่อนที่เราจะทำงานเพื่อสังคม เราจะต้องเรียนรู้สังคมก่อน วัยหนุ่มสาวบางครั้งไฟแรงจนเลยเถิดไปถึงการสั่งสอนชาวบ้าน นอกจากนั้นแล้วตนมองว่าวัยหนุ่มสาวมีปัญหาบางอย่างในการทำงาน โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ทำงานอย่างมียุทธศาสตร์และมีคุณภาพ
มูฮำหมัดอาลาดี สะท้อนว่า จากประสบการณ์ในอดีตทำให้รู้ว่าความรู้ส่วนใหญ่เกิดนอกห้องเรียน ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอย่างผู้มีอำนาจต้องการให้เราเรียนอยู่ในระบบเท่านั้น ถึงขนาดที่บางสถาบันจัดการเรียนการสอนจนไม่มีเวลาไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ดังนั้นเราต้องอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ แต่อ่านทุกอย่าง เช่น อ่านสถานการณ์ เป็นต้น
ทักษะและความรู้เป็นตัวกำหนดทิศทางการทำงาน
บาดารีย๊ะหรือน้องอิลฮัม กล่าวว่า เราจะดูว่าชุมชนไหนพัฒนาหรือไม่ให้ดูที่เยาวชนว่ามีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน ชุมชนไหนที่มีเยาวชนติดยามากแสดงว่าคนในชุมชนนั้นยังไม่ตระหนักหรือไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหา และอาจมองได้ว่าไม่พัฒนา
อิลฮัม กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์ดูว่าช่วงวัยไหนที่คนมีความคิดและพละกำลังมากที่สุด พบว่าเป็นวัยหนุ่มสาว ดังนั้นวัยหนุ่มสาวจึงสำคัญ หนุ่มสาวบางคนมีใจที่อยากช่วยเหลือสังคม แต่เท่านั้นยังไม่พอจะต้องมีทักษะมีความรู้ด้วย มีความรู้ก็เพื่อที่จะสามารถต่อรองหรือกำหนดทิศทางการทำงานได้
อิลฮัม สะท้อนว่า คนหนุ่มสาวจะต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ เช่น เก่งด้าน IT เราต้องมาคิดว่าจะพัฒนาหรือเพิ่มความรู้และนำไปขับเคลื่อนเพื่อเป็นแรงหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างไร เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วเราสามารถเรียนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต อยู่ที่ว่าเราจะอยากเรียนรู้หรือเปล่า และที่สำคัญเราควรมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาและเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราย่ำอยู่กับที่
อิลฮัม ฝากถึงัผู้หญิงทุกคนว่า ในสถาการณ์ปกติผู้หญิงอาจะอยู่ทำงานแค่ในบ้าน แต่วันนี้ผู้จะต้องออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคม และผู้หญิงและผู้ชายจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางเพื่อค้นหาทางออกให้กับสังคมเพื่อไม่ให้ย่ำอยู่กับที่