ความหดหู่ที่เกิดจากภาวะสงครามในพื้นที่ปาตานีซึ่งได้แก่( ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสี่อำเภอของสงขลา) ทำให้หลากหลายคนต่าง ตั้งคำถามว่า เหตุใดถึงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่หยุดไม่หย่อนกันเสียที ทั้งที่หลายหน่วยงานเหลือเกินที่ประโคมใส่ความห่วงใยในพื้นที่มากมาย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้างก็ต้องผ่านช่องทีวีบ้างก็ถูกปิดข่าว แต่เมื่อข่าวนั้นออกทีวีเมื่อไร แน่นอนคนทั่วประเทศต้องรับรู้ ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามลอยในอากาศเต็มไปหมด ไม่เพียงเฉพาะพี่น้องในพื้นที่ที่ตั้งคำถาม เชื่อว่า พี่น้องพื้นที่อื่นก็มีความขับข้องใจเหมือนกัน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่หนุ่มสาวจากปาตานีไปอาศัยหรือไปทำงานในต่างพื้นที่ ก็จะถูกถามคำถามเดียวกันนี้
(เพราะอะไร ทำไม แล้วใคร เป็นคนทำ) เป็นคำถามยอดฮิตเลยก็ว่าได้
แต่สุดท้ายต้องอ้ำอึ้ง อยู่แต่ในลำคอ อาจจะด้วยสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หากอธิบายโดยไม่มีหลักฐาน ก็กลัวจะโดน มะเหงกเอา เลยจำต้องยิ้มแล้วตอบเพียงว่า หากเขารู้ว่าใครเป็นคนทำเขาจับไปนานแล้ว หรือ อีกคำตอบคือ หลากหลายแนวคิดเหลือเกิน หรือ ต้องถามกลับไปว่า แล้ว น้า ลุง ป้า คิดว่าอย่างไรละ ถึงจะได้ความคิดเห็นจากเขาเหล่านั้น แต่ล่าสุดเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกความทรงจำกลับคืนมาอีกครั้ง คือ เหตุการณ์วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อปีที่แล้วได้เกิดเหตุการณ์ที่เขย่าความรู้สึกของคนในพื้นที่และต่างพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เป็นวันครบรอบ ๑ ปีเหตุการณ์การสังหารโหดครอบครัวมะมันในคืนวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นผลให้ นายเจ๊ะมุ มะมัน บิดา ได้รับบาดเจ็บ น.ส.พาดีละห์แมยู มารดาซึ่งตั้งท้องได้ ๔เดือนได้รับบาดเจ็บสาหัส ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ ๑๑ ปี ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ ๙ ปี และ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ ๖ ปี ส่งผลให้เด็กๆ สามพี่น้องเสียชีวิตทันที ทำให้ ทาง สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ไว้ดังนี้
แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS)
เรื่อง : การละเมิดหลักมนุษยธรรมสากลในพื้นที่สงคราม
เนื่องด้วยวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เป็นวันครบรอบ ๑ ปีเหตุการณ์การสังหารโหดครอบครัวมะมันในคืนวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นผลให้ นายเจ๊ะมุ มะมัน บิดา ได้รับบาดเจ็บ น.ส.พาดีละห์แมยู มารดาซึ่งตั้งท้องได้ ๔เดือนได้รับบาดเจ็บสาหัส ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ ๑๑ ปี ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ ๙ ปี และ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ ๖ ปี ส่งผลให้เด็กๆ สามพี่น้องเสียชีวิตทันที เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักการมนุษยธรรมสากลอย่างร้ายแรง อีกทั้งกิจกรรมทางอาวุธที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนายเจ๊ะมุ มะมัน ครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ว่าพลเรือนปาตานีทุกเชื้อชาติและศาสนาทุกครัวเรือนกำลังอยู่ในภาวะที่ขาดซึ่งหลักประกันความปลอดภัยจากกิจกรรมการใช้อาวุธของคู่สงครามอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเป็นบทเรียนที่ควรตระหนักแก่ทุกฝ่ายและให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิพลเรือนจากภัยคุกคามของกิจกรรมทางอาวุธของคู่สงครามระหว่างรัฐไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMASซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสันติภาพปาตานี โดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ขอประกาศให้วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมนุษยธรรมปาตานี และในการนี้ทาง PerMASขอเสนอข้อเรียกร้องเพื่อนำมาซึ่งสันติภาพปาตานีดังต่อไปนี้
๑. ขอให้คู่สงครามทำสงครามภายใต้กฎกติกาสากลและคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล (International Humanitarian Law)
๒. ทุกๆเหตุการณ์ที่มีการละเมิดหลักมนุษยธรรมหรือละเมิดกฎกติกาสงคราม ให้ยกระดับกระบวนการตรวจสอบโดยการมีส่วนร่วมของกลไกระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมที่มาจากการเห็นร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อบรรยากาศของกระบวนการสร้างสันติภาพที่ประชาชนไว้ใจและสามารถให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อได้อย่างแท้จริง
๓. ขอให้ประชาชน ภาคประชาสังคมทั้งในและระหว่างประเทศร่วมกันผลักดันให้กระบวนการสร้างสันติภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งคู่ขัดแย้งหลักระหว่างรัฐและขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชต้องยึดเจตจำนงประชาชนปาตานีในฐานะเจ้าของชะตากรรมอย่างแท้จริงเป็นศูนย์กลางของข้อยุติความขัดแย้งหรือข้อตกลงสันติภาพได้เกิดขึ้นโดยเร็ววัน
๔.ขอเรียกร้องให้สื่อทุกประเภทให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแก่สังคมสาธารณะได้รับรู้เพื่อจะได้กำหนดบทบาทการมีหุ้นส่วนสร้างสันติภาพบนความเข้าใจและรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเพราะเราเชื่อความจริงคือรากฐานสำคัญของความยุติธรรมและความยุติธรรมที่เป็นธรรมคือหลักประกันความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืน
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์การ กางร่มทั่วแผ่นดิน นับว่าเป็นแคมเปญ การกางร่ม เกือบทุกจังหวัดเลยก็ว่าได้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ธนบุรี กรุงเทพ หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช อยุธยา นนทบุรี รวมถึง นอกประเทศ อาทิ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศอินโด ประเทศมาเลเซีย และในพื้นที่ของอาเจะห์ ซึ่งจากการสอบถาม เกี่ยวกับแคมเปญนี้ได้ความว่า
เหตุที่ใช้ "ร่ม" เป็นสัญลักษณ์ ปกป้องพลเรือนนั้น เพราะร่มสามารถป้องกันฝนและปกป้องความเปียกได้ ซึ่งฝนนั้นสามารถเปรียบเปรยเป็นกระสุนที่เกิดจากคู่สงคราม แต่ความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้หมายถึงกระสุนเพียงอย่างเดียว ร่วมถึงความรุนแรงต่างๆและความไม่เป็นธรรม ที่เกิดจากคู่สมครามที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน เราจึงของเรียกร้องคู่สงครามทำสงครามภายใต้กฎกติกาสากลและคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล (International Humanitarian Law)