ตูแวดานียา ตูแวแมแง
ช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเริ่มได้เห็นการตอบโต้ด้วยกิจกรรมทางอาวุธจากฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มีระเบิดที่หนักๆแบบรวดเดียวหลายๆพื้นที่เหมือนกับที่หลายๆกูรูปัญหาชายแดนใต้/ปาตานีวิเคราะห์กัน มีเพียงการลอบยิงเจ้าหน้าที่กับการลอบเผากล้องวงจรปิดกับเผาเสาไฟฟ้าและระเบิดเพียงบางจุดควบคู่กับเหตุการณ์ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีหมายจับป.วิอาญาเป็นหลักนั้นถูกปราบปรามชนิดพิฆาตศัตรูอย่างเข้มข้นและเด็ดขาดตามๆกันหลายเหตุการณ์
เห็นได้ชัดเจนว่าในห้วงเวลานับจากหลังน้ำท่วมลดนั้น ปฏิบัติการกิจกรรมทางอาวุธจากฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชทำท่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้บางคนก็รู้สึกดีใจที่บรรยากาศของคำว่าสันติสุขกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว แต่สำหรับบางคนก็คิดมากจนไม่กล้าแสดงอาการดีใจออกมาเพราะโดยประสบการณ์ทางตรงของตัวเองจากการเกาะติดสถานการณ์การใช้กิจกรรมทางอาวุธตอบโต้กันไปมาของทั้งสองฝ่ายทั้งภาครัฐและทางขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เป็นเรื่องปกติที่มีช่วงสถิติของเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นและลดลงเหมือนเส้นกราฟ
ด้วยความที่สถิติการลดลงของเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสสูงของการรณรงค์และดำเนินการกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขโดยภาครัฐ จึงไม่แปลกว่าได้มีหลายภาคส่วนที่มีความรู้สึกดีใจกับการลดลงของความรุนแรงที่มาจากฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช เหมือนประมาณว่าทางขบวนการฯได้ตกลงจะลดเหตุรุนแรงกับทางภาครัฐเรียบร้อยไปแล้ว บางคนถึงขั้นมองโลกในแง่ดีว่าทางฝ่ายขบวนการฯอาจจะตัดสินใจหยุดยิงไปแล้วอย่างเงียบๆและลับๆ
แต่กระนั้นหลายมุมมองที่มาจากบุคลากรด้านฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็วิเคราะห์ว่า ที่เหตุการณ์ความรุนแรงดูเหมือนลดลงในเชิงปริมาณและคุณภาพในห้วง2เดือนที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เพราะมีนัยว่าทางขบวนการฯกำลังอ่อนแอหรือได้ตัดสินใจตกลงหยุดยิงไปแล้วในทางลับ แต่อาจจะมาจากการพยายามหาจังหวะการก่อเหตุหนักๆและใหญ่ๆและสมเหตุสมผลกับการพยายามสื่อสารข้อความทางการเมืองไปสู่สาธารณะยังไม่ลงตัวก็เป็นได้ อย่างเช่นช่วงการพูดคุยเพื่อสันติภาพยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าการกระหน่ำด้วยกิจกรรมทางอาวุธทั้งลอบยิงและกดระเบิดนั้น ค่อนข้างเข้มข้นและหนักหน่วงอย่างมีนัยตรงๆว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจกับเงื่อนไขหรือรูปแบบของกระบวนการพูดคุยที่ได้ดำเนินการขึ้นมา แต่ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะยังไม่มีความชัดเจนของสิ่งที่เป็นเงื่อนไขหรือรูปแบบของการพูดคุยที่ทำให้ฝ่ายขบวนการฯไม่พอใจก็เป็นได้
“สรุปคือถ้ามีความชัดเจนในสิ่งที่เป็นเงื่อนไขหรือรูปแบบการพูดคุยที่ฝ่ายขบวนการไม่พอใจเมื่อไหร่ เมื่อนั้นกิจกรรมทางอาวุธจากทางฝ่ายขบวนการฯก็จะมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะมีการตอบโต้ออกมาอย่างหนักหน่วงและเข้มข้นอีกครั้ง”
อย่างไรก็ตามถ้ายอมรับว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดมาในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีคือสภาพของสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างสองอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งมีใจกลางความขัดแย้งอยู่ที่ปัญหาการล่าอาณานิคม ก็จะเป็นเรื่องปกติทั่วไป ที่จะมีช่วงกิจกรรมทางอาวุธที่หนักหน่วงบ้างและเบาบางบ้าง โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบในลักษณะการรบแบบกองโจรยิ่งแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างไม่ต้องสงสัย
หากชุดการวิเคราะห์ของบุคลากรฝ่ายความมั่นคงของรัฐข้างต้นคือความจริง น่าสนใจว่าการพยายามให้มีการพูดคุยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชภายใต้กรอบของคำว่า"สันติสุข" ซึ่งในสายตาของรัฐนั้นขบวนการฯคือ “คนไทยที่คิดเห็นต่างและทำผิดกฎหมาย” แน่นอนว่าถ้าขบวนการฯโดยเฉพาะBRNนั้น ยังยึดเงื่อนไข5ข้อเดิมที่มีนัยสำคัญหมายถึงการเรียกร้องให้รัฐไทยยอมรับในสถานะทางการเมืองของขบวนการฯว่า “ไม่ใช่อาชญากรและไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแต่เป็นขบวนการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยปาตานีจากนักล่าอาณานิคมสยาม” ก็จะส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขซึ่งกำลังมีสัญญาณว่าจะมีการเปิดตัวคณะหรือบุคคลที่เป็นตัวแทนขบวนการฯในเร็วๆนี้ อาจจะไม่มีคนที่มาจากBRNซึ่งได้รับฉันทานุมัติอย่างชอบธรรมจากสภาองค์กรนำ(DPP-Dewan Pimpinan Party)ก็เป็นได้
ทว่าในจุดยืนของฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช พวกเขาคือคนปาตานีที่ต่อสู้กับนักล่าอาณานิคมสยามซึ่งมีแรงผลักจากประวัติศาสตร์ แต่เมื่อรัฐบาลไทยตัดสินใจเปลี่ยนคำว่า "สันติภาพ" ที่เคยใช้มาในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาใช้คำว่า "สันติสุข" แทนในยุคของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกันภายในประเทศ ย่อมถือเป็นการเข้าใจความขัดแย้งที่ผิดไปจากความเป็นจริงหรือพยายามจะไม่เข้าใจความเป็นจริงหรือไม่
“ท่าทีและจุดยืนของรัฐบาลปัจจุบันในมุมของBRNนั้น ได้ส่งผลเสียต่อโต๊ะการพูดคุยมากกว่าผลดีแน่นอนและยากที่จะยกระดับการพูดคุยสู่การเจรจาสันติภาพเพราะฝ่ายขบวนการฯรู้สึกว่ากำลังถูกลดระดับสถานะทางการเมือง”
โดยความหมายของคำว่าสันติสุขแล้ว “อีกฝ่ายไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐ เพียงแค่เห็นแย้งพูดคุยกันได้”ในขณะที่ขบวนการฯไม่ได้คิดเช่นนั้นเพราะหากเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องมารบกันและไม่ต้องจัดตั้งเป็นขบวนการติดอาวุธ ที่สำคัญพวกเขาคือตัวละครที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะสามารถมีข้อตกลงสันติภาพผ่านการเจรจาสันติภาพที่มีผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่เป็นคนกลาง
หากวิเคราะห์จากจุดยืนของBRNโดยผ่านการแสดงจุดยืนของฮาซัน ตอยิบ ครั้งล่าสุดที่ได้อ่านแถลงการณ์ทางยูทูบเมื่อวันที่1ธันวาคม2556 แน่นอนหากเงื่อนไข5ข้อไม่ได้รับการปฏิบัติจากภาครัฐก็จะไม่มีการพูดคุยจากBRNและเมื่อเทียบกับจุดยืนของผู้นำรัฐบาลยุคปัจจุบันต่อการพูดคุยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช
“จะเป็นไปไม่ได้เลยที่BRNจะยอมพูดคุยโดยสมัครใจ หากมาเลเซียไม่บีบเหมือนกอ.รมน.ภาค4บีบผู้ที่มีหมายจับป.วิอาญาเชื่อเลยว่าBRNจะไม่พูดคุย”
สืบเนื่องจากการประมวลและสังเคราะห์บทเรียนของกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงในต่างประเทศและโดยเฉพาะบทเรียนจากความล้มเหลวของความพยายามพูดคุยเพื่อสันติภาพในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมา มีปัจจัยที่สำคัญอย่างเรียงลำดับเหมือนขั้นบันไดสำหรับการพูดคุยของคู่ขัดแย้งหลักที่เป็นศัตรูกันในทางอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งสามารถยกระดับไปสู่ขั้นตอนของการมีข้อยุติความขัดแย้งหรือข้อตกลงสันติภาพโดยผ่านการเจรจานั้นมี 3 ขั้นบันไดด้วยกัน
1.ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยได้รับการยอมรับสถานะทางการเมือง
2.ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยตัดสินใจพูดคุยด้วยความสมัครใจ ไม่ถูกบังคับด้วยวิธีการใดๆ
3.การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการพูดคุย
ทั้ง3ขั้นบันไดนี้ต้องเดินไปด้วยกันและต้องเริ่มด้วยขั้นบันไดที่ว่าด้วยการยอมรับสถานะทางการเมืองของขบวนการปลดปล่อยในฐานะคู่ขัดแย้งหลักของความเป็นรัฐเสมอ เพราะถ้าไม่เริ่มด้วยการยอมรับสถานะทางการเมืองก็จะส่งผลให้บันไดขั้นที่2ซึ่งว่าด้วยความสมัครใจของขบวนการฯนั้นไม่เกิดผล อีกทั้งบันไดขั้นที่3ซึ่งว่าด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการพูดคุยก็จะไม่เกิดผลบนพื้นฐานที่สอดคล้องกับสถานะซึ่งภาคประชาสังคมนั้นไม่ใช่คู่ขัดแย้งหลักที่มีจุดยืนเป็นศัตรูกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองของทั้งขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชและรัฐไทย แต่ถ้าเกิดผลก็เกิดบนพื้นฐานการมองรัฐหรือขบวนการฯเป็นศัตรู ขึ้นอยู่กับว่าภาคประชาสังคมจะเลือกพูดคุยและไม่พูดคุยกับใครระหว่างรัฐกับขบวนการปลดปล่อย
“เพราะการที่บันไดขึ้นที่1และ2ไม่เกิดผลนั้น ทำให้สถานะของภาคประชาสังคมกลายเป็นคู่ขัดแย้งหลักโดยปริยาย”
ดังกรณีที่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่สนใจบันไดขั้นที่1และขั้นที่2 แต่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสนใจและคาดหวังมากที่สุดคือบันไดขั้นที่3ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
“การสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมต่อกระบวนการพูดคุยของคู่ขัดแย้งหลักซึ่งภาครัฐไม่ยอมรับสถานะทางการเมืองของขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับความพยายามที่จะให้ความขัดแย้งอย่างรุนแรงจบลงที่โต๊ะเจรจาสันติภาพ แต่ถ้ารัฐไม่ให้ความสำคัญกับสถานะทางการเมืองของตัวละครหลักของสถานการณ์การสู้รบแบบกองโจรซึ่งในบริบทสถานการณ์ชายแดนใต้ปัจจุบันก็คือBRN การพูดคุยที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขแบบสมานฉันท์ระหว่างคนไทยด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์ความพยายามยุติการสู้รบด้วยการเจรจาของคู่ขัดแย้งหลักที่มีสถานะของความเป็นศัตรูกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ “กระบวนการสร้างสันติภาพหรือการพูดคุยที่นำไปสู่การมีข้อยุติความขัดแย้งหรือข้อตกลงสันติภาพบนโต๊ะเจรจานั้นจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเสียก่อน และต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
“แต่ในทางปฏิบัติของรัฐบาลชุดนี้นั้น ไม่เพียงแต่ไม่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเท่านั้น หนำซ้ำยังไม่เปิดพื้นที่สำหรับการได้มีจุดริเริ่มของกระบวนสร้างสันติภาพเพราะรัฐบาลปัจจุบันประกาศชัดเจนว่าจะสร้างสันติสุขไม่ใช่สร้างสันติภาพ”
น่าสนใจว่าหากถึงวันเปิดตัวคณะบุคคลที่มีหน้าที่ทำการพูดคุยเพื่อสันติสุขซึ่งเป็นตัวแทนของขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการนั้นจะยังคงเป็นฮาซัน ตอยิบ หรือไม่ที่ได้รับฉันทานุมัติเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยหรือถ้าไม่มี ฮาซัน ตอยิบ ก็ยิ่งน่าสนใจว่าจะมีบุคคลที่ได้รับฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำของBRNหรือไม่?
“เพราะถ้ามีและมาจากความสมัครใจแบบไม่ถูกบังคับก็แสดงว่ามีแนวโน้มสูงว่าจะไม่มีการตอบโต้ด้วยกิจกรรมทางอาวุธอย่างหนักหน่วงจากBRN แต่ถ้าไม่มีหรือมีแบบถูกบังคับให้สมัครใจก็แสดงว่าอาจมีการตอบโต้ด้วยกิจกรรมทางอาวุธอย่างหนักหน่วง”
เพราะการที่รัฐไม่ยอมรับสถานะทางการเมืองของขบวนการปลดปล่อย แต่กลับสร้างกระแสสูงของการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับภาคประชาสังคมนั้น มันคือนัยสำคัญที่จะตีความไปเป็นอื่นไม่ได้ นอกเสียจากมันคือสัญญาณจากรัฐต่อขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชอย่างเฉพาะเจาะจงว่า
ถ้าไม่มาคุยเพื่อสันติสุขก็จงรับสภาพจากการปราบปรามอย่างหนักและเด็ดขาด...
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.pataniforum.com/single.php?id=476