Skip to main content

https://www.youtube.com/watch?v=_83TMwXJFWM 

จากเหตุการณ์สะเทือนใจกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดล้อมและวิสามัญเยาวชน 4 คน และควบคุมตัวชายฉกรรจ์ 22 คน ที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 มี.ค. 2558 ต่อเนื่องด้วยกรณีนักศึกษาและนักกิจกรรมใน จ.นราธิวาส เกือบ 20 คน ถูกบุกล้อม และควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา หลังคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ให้ใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกเพียงวันเดียว

 โต๊ะข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ (อับดุลกอฮาร์ บิน ฮาญีอับดุลอาวัง) ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะผู้ที่ทำงานช่วยเหลือคดีความมั่นคงในพื้นที่มายาวนานนับตั้งแต่คดีตากใบ ต่อภาพรวมสถานการณ์ที่เกิดเกิดขึ้นและข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้งที่เวียนมาอีกระลอก ท่ามกลางกระแสลมอ่อนๆ ของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ล่าสุดเขาเพิ่งเผยแพร่บทความ "คดีวิสามัญต้องไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล" ชี้ชัดว่า ปลายทางของกฎหมายในคดีวิสามัญ ก็คือหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ใช่ไต่สวนให้ได้ตามรูปแบบและพิธีทางกฎหมายเท่านั้น 

00000

อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ทุ่งยางแดงนั้นคือเหตุการณ์ที่ชาวบ้านรับไม่ได้จริงๆ ถ้าดูตามความรู้สึก และการวิสามัญฆาตกรรมจะมีปัญหามาโดยตลอดในเรื่องของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่จะพยายามอธิบายว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่คนในพื้นที่จะมีข้อมูลอีกด้านหนึ่ง 

“ผมมองว่าวิธีการในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ดี ในการชี้แจงความกระจ่าง สุดท้ายเราต้องถามว่าปลายทางของกฎหมายมันไปตรงไหน เพราะว่าผมกำลังมองในมุมที่ว่าหลายๆ เคสที่เกิดขึ้นในกรณีวิสามัญฆาตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ปูโล๊ะบูโย ที่น้ำดำ หรือที่ทุ่งยางแดงจะเห็นได้ว่า พอมาขึ้นศาลในกรณีไต่สวนการตาย สุดท้ายก็คือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทั่วๆ ไป เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด” 

ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวด้วยว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิพิเศษบางอย่าง ทั้งที่ควรมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมายในพื้นที่ ส่วนตัวคิดว่าประเด็นเหล่านี้ทำให้คนในพื้นที่มีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่เอง ในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายว่าต้องระวังความไม่ปลอดภัยจากฝ่ายขบวนการ แต่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ไม่อาจรับประกันความปลอดภัยได้เช่นเดียวกัน ในประเด็นนี้ฝ่ายความมั่นคงต้องมองให้ละเอียดและรอบด้าน เพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่มากยิ่งขึ้น 

ในส่วนการตรวจค้นและคุมตัวนักศึกษา ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมให้ความเห็นว่า กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นนักเคลื่อนไหว เวลามีเหตุการณ์ที่ไหน นักศึกษาก็จะไปลงพื้นที่ ไปเก็บข้อมูล ในขณะที่ทางฝ่ายความมั่นคงเองพยายามที่จะจัดระบบ เช่นใช้วิธีตั้งกรรมการสอบสวน คืออยากให้เข้าสู่ระบบราชการ แต่ในส่วนของในพื้นที่เองอยากยกระดับการเคลื่อนไหว เช่น ผลต่อเรื่องการเรียกร้องสิทธิ์ อยากให้ชาวบ้านมีศักยภาพในการเรียกร้องสิทธิ์ด้วยตนเอง ความต้องการตรงนี้ไปกันคนละด้าน

"ถ้าฝ่ายความมั่นคงยังคิดว่ากรณีเหตุการณ์ต่างๆ สามารถคลี่คลายได้ด้วยตัวระบบของกลไกราชการ ในขณะที่สังคมในพื้นที่มันมีการพัฒนา มันมีการยกระดับ มันมีกลุ่มของนักเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวด้วยอาวุธ ก็คือเป็นการเคลื่อนไหวด้วยความรู้ และด้วยประสบการณ์จากที่ได้บ่มเพาะความรู้ในพื้นที่ อันนี้ระดับของความเข้าใจจะไม่เท่ากันแล้ว และมันจะมีปัญหาตามมามากมาย เพราะว่าสังคมพยายามที่จะพยายามยกระดับของตัวเอง แต่ว่าเจ้าหน้าที่พยายามที่จะให้สังคมอยู่กับที่” อับดุลกอฮาร์ ชี้ให้เห็นสภาพการณ์ในพื้นที่ 

ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ต้องเข้าใจว่า ในพื้นที่ 10 ปี ที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย แม้แต่ในส่วนของกลุ่มนักกิจกรรมหรือว่านักเคลื่อนไหว หรือคนเอ็นจีโอ เวลาเขามองปัญหาในพื้นที่ เขาอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และวิธีการสร้างความเป็นธรรมนั่นก็คือกระบวนการสันติภาพอย่างหนึ่ง และจำเป็นที่ต้องให้สังคมในพื้นที่มีการตื่นตัว มีการแอคชั่นในพื้นที่ เพราะเป็นธรรมชาติของมัน 

แต่ว่าถ้า (รัฐ) ยังมีวิธีคิดแบบเดิม อับดุลกอฮาร์ มองว่านั่นจะเป็นความขัดแย้งของในพื้นที่เอง แทนที่จะเป็นความขัดแย้งกับกลุ่มขบวนการ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ฝ่ายความมั่นคงต้องทำความเข้าใจให้มากเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่

อับดุลกอฮาร์  กล่าวด้วยว่า กรณีทุ่งยางแดง ศูนย์ทนายความไม่ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ศูนย์ทนายความฯ ก็ได้เข้าร่วมไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายกรณีที่ผ่านมา โดยพยายามให้กลไกของกระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมกับผู้ตายหรือญาติของผู้ตายจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้ พอเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ถูกกล่าวหา ถูกใส่ร้ายต่อสังคมว่าเป็นแนวร่วม เป็นกลุ่มขบวนการ ก่อเหตุรุนแรง แต่เมื่อมาดูข้อเท็จจริง จริงๆ ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ทีนี้เราจะชดเชย เยียวยาความเสียหายต่อเขาอย่างไร มันไม่ใช่เยียวยาที่เป็นตัวเงิน แต่ว่ามันซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอเหตุการณ์เกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นสื่อนำเสนอเลย ซึ่งสิ่งที่สื่อนำเสนอนั้นก็ออกมาจากรายงานข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ในพื้นที่มุมมองที่สะท้อนมาอีกแบบหนึ่ง

สิ่งที่ศูนย์ทนายความมุสลิมมองก็คือกลไกของกฎหมายต้องทำหน้าที่ได้ในประเด็นอย่างนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง มันจะต้องยิ่งทำงานให้หนักในเรื่องนี้ เพราะว่าเราต้องการสร้างความมั่นใจในกลไกของรัฐเอง แต่ที่ผ่านมาเราเห็นว่ากลไกของรัฐไม่สามารถเดินได้ในกระบวนการของการหาตัวคนกระทำผิดมาลงโทษ

“เราคิดว่า อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นในทุ่งยางแดงที่ผ่านมาเป็นบทเรียน แล้วก็สามารถนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้จริงๆ” อับดุลกอฮาร์ กล่าวถึงสิ่งที่ศูนย์ทนายความมุสลิมคาดหวัง

ส่วนกรณีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งถูกนำมาใช้แทนกฎอัยการศึกในทั่วประเทศนั้น อับดุลกอฮาร์ ให้ความเห็นว่า ไม่ได้แตกต่างจากกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อแตกต่างที่จากเมื่อก่อนในการดำเนินกระบวนการทางกฎหมายจะให้พนักงานสอบสวนคือตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ แต่พอดูตามกฎหมายนี้กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจในการสอบสวนร่วมด้วย ซึ่งเห็นว่าอาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญให้ไปรายงานตัว หรือผู้ที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับอำนาจตามกฎหมายของ คสช. อย่างคดีหมิ่นก็ต้องขึ้นศาลทหาร กระบวนการกลายเป็นว่าตั้งแต่ต้นทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ไปจนถึงกระบวนการตุลาการทหารก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย 

“ความเป็นธรรมตรงนี้มันน่าเป็นห่วงว่าการใช้กฎหมายตัวนี้  สิทธิของคนที่ถูกกล่าวหาหรือว่าถูกดำเนินคดีจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่” อับดุลกอฮาร์ กล่าว

ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ให้ข้อมูลด้วยว่า กฎอัยการศึกเป็นกฎหายที่ให้อำนาจในการที่จะเรียกผู้ที่ต้องสงสัย หรือควบคุมตัว จับกุมได้ แต่ว่าจุดมุ่งหมายคือการซักถาม ไม่ใช่มุ่งหมายในการดำเนินคดี นั่นก็คือเมื่อสงสัยใครก็เอาไปควบคุมตัว แล้วก็ไปซักถาม ซักถามได้ข้อมูลแล้วถ้าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดก็ปล่อยตัวไป หรือถ้าเห็นว่าการซักถาม 7 วัน ไม่แล้วเสร็จ ตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็จะออกเป็นหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยขอหมายศาลให้ควบคุมตัวต่อตาม พ.ร.ก. ซึ่งก็ควบคุมได้ครั้งละ 7 วันเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจในกระบวนการของตุลาการ แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เอาตัวมาเพื่อสืบสวน ขยายผล หาข้อมูลต่างๆ แม้ในทางปฏิบัติบางคนอาจมีการฟ้องว่าถูกทำร้ายร่างกายแต่สุดท้ายแล้วคดีเหล่านี้มันก็ขึ้นไปสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ได้ขึ้นศาลทหาร

อย่างไรก็ตาม คิดว่าในส่วนของกฎอัยการศึกที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรา 44 เพราะคิดว่ามาตรา 44 มุ่งที่จะใช้ในทางการเมือง ในพื้นที่ในส่วนกลาง มากกว่าการนำมาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด และการยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศไม่ได้คลุมถึง 3 จังหวัด เพราะ 3 จังหวัด มีการประกาศกฎอัยการศึกก่อนการประกาศคณะปฏิวัติอยู่แล้ว ตรงนี้จึงคิดว่าในส่วนของพื้นที่ก็ยังคงใช้กฎอัยการศึกตามปกติ เพียงแต่ว่าที่อื่นอาจมีความเปลี่ยนแปลง โดยอาจเป็นเรื่องของการเมือง หรือภาพลักษณ์ที่ถูกมองจากต่างประเทศมาเกี่ยวข้องด้วย แต่หากดูเนื้อหาของกฎหมายแล้วไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด และมีการใช้กฎอัยการศึก ทหารก็ถูกดิสเครดิตมาโดยตลอดในเรื่องของสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งประเด็นใน 3 จังหวัด เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเรื่องการแบ่งแยกดินแดนซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะกระทบต่อประชาคมโลกโดยทั่วไป

ต่อคำถาม ถึงสถานการณ์หากประกาศ 44 ในพื้นที่ ส่วนตัวคิดว่ามันอาจดูแปลกๆ ในแง่ของระบบกฎหมาย เพราะจะเห็นได้ว่า มาตร 44 ออกมาหลังการประกาศคณะปฏิวัติ ในขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัด มีเหตุการณ์ความไม่สงบก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติ ดังนั้นคงมีความสับสนในการใช้กฎหมาย และประชาชนคงสับสนมากว่าในแต่ละเหตุการณ์ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไร 

“ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันระหว่าง กฎอัยการศึก กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจเลยว่าเขาถูกควบคุมตัวตามกฎหมายอะไร ถ้ามีกฎหมายตัวนี้มาบังคับใช้ผมคิดว่าคงปวดหัวแน่นอนสำหรับคนในพื้นที่” ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมให้ความเห็น