Skip to main content

 

รอฮานี จือนารา

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ จัดสานเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนในชุมชนพหุวัฒนธรรม (พุทธ-มลายูมุสลิม)ที่ยุโป โดยเวทีสานเสวนาครั้งที่ 1 ของกลุ่มชาวพุทธ  สะท้อนผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองศาสนาไม่เหมือนเดิม  ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในสิทธิและโอกาสที่ได้รับอย่างไรก็ตาม  ก็อยากให้มีการสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพุทธมุสลิมให้ดีเหมือนเดิม   โดยทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้  มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ร่วมกับแกนนำผู้หญิงชุมชนบ้านยุโป และเทศบาลยุโป  ได้จัดกิจกรรมสานเสวนา เพื่อศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ที่ตำบลยุโป ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงเพื่อการสานเสวนาที่เป็นประชาธิปไตยชายแดนใต้ โดยมี องค์กร The United Nations Democracy Fund –UNDEF เป็นผู้สนับสนุนโครงการ  กิจกรรมนี้มุ่งให้คนในชุมชนที่มีความเห็น และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ใช้เครื่องมือสานเสวนา เพื่อพูดคุยรับฟังกันให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน  และหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบที่ได้รับ

ก่อนจะเริ่มดำเนินการสานเสวนา คุณโซรยา จามจุรี นักวิชาการจากสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี และ ผู้แทนของโครงการฯ ได้กล่าวถึง เป้าหมายของกิจกรรมนี้ว่า  “ กิจกรรมครั้งนี้มุ่งหวังให้ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยพุทธมุสลิมได้พูดคุยเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม  จะได้ร่วมกันหาทางออกในอนาคต  ที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจกัน และประสานความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนไว้ได้  โดยครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยเฉพาะกลุ่มไทยพุทธ  ส่วนครั้งหน้าจะเป็นการพูดคุยเฉพาะกลุ่มมลายูมุสลิม และสุดท้ายจะให้ตัวแทนทั้งสองกลุ่มได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”

โซรยา จามจุรี ได้อธิบายหลักการของการสานเสวนาให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจว่า “สานเสวนามีความแตกต่างกับการทำเวทีประชาคม หรือการอภิปรายทั่วไปที่คนในชุมชนอาจจะคุ้นเคยกว่า เพราะการสานเสวนา คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยน และเน้น ‘การฟัง’ มากที่สุด ซึ่งหลักการการเสวนา ประกอบด้วย การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเปิดใจกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่าง  การไม่ด่วนสรุป ไม่ตัดสินถูกผิด การแสดงจุดยืนและความต้องการที่แม้จะแตกต่างกัน แต่แสดงด้วยท่าทีที่ดี  และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น”

แบ่งกลุ่มย่อยให้ชุมชนสะท้อนปัญหา ก่อน-หลัง สถานการณ์ความไม่สงบ

ในกิจกรรมได้แบ่งกลุ่มย่อยเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้นำ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มสตรีและเยาวชน เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้สะท้อนปัญหาวิถีชีวิตก่อนและหลังเหตุการณ์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ผู้นำชุมชนคนหนึ่งในวงสานเสวนา ได้สรุปการพูดคุยว่า “ก่อนเกิดเหตุการณ์ในตำบลยุโปมีความปลอดภัย สามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่หลังเหตุการณ์ การเดินทางไม่ค่อยปลอดภัย ต้องเสี่ยงอันตราย”

เขายังได้สะท้อนความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของชุมชนพุทธว่า “ชาวพุทธในพื้นที่รู้สึกได้รับสิทธิเสรีภาพไม่เท่าเทียมกัน   มีการให้โควตาพิเศษหลายเรื่องเฉพาะกับพี่น้องมุสลิม ”

นอกจากนี้เขายังบอกว่าคนปกติธรรมดาด้วยกันในชุมชน ก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งพุทธ มุสลิม  แต่กับคนที่เห็นต่าง อยากให้ขยายพื้นที่การพูดคุย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ก่อเหตุความรุนแรง เพราะเชื่อว่าหากเราพูดคุยเจรจากับกลุ่มนี้แล้ว ชีวิตของชาวบ้านก็จะปลอดภัย เดินทางปลอดภัยมากขึ้น มีความไว้วางใจกันมากขึ้น

และสุดท้ายผู้นำชุมคนนี้ได้ยกคำพูดที่เขารู้สึกประทับใจของอาจารย์ท่านหนึ่งจากม.อ.ปัตตานี ที่ได้บรรยายให้คนในชุมชนฟังถึงการใช้คำเรียกกลุ่มคนศาสนาต่างๆ ที่เป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่  ที่ทำให้คนไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่มีความสามัคคี รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นว่า “คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดั้งเดิม ทั้งที่เป็นพุทธมุสลิม และคริสต์ ต่างมาจากเชื้อสายมลายู ดังนั้นเราควรนิยามพวกเราว่า มลายูมุสลิม มลายูพุทธ และมลายูคริสต์”

ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “ก่อนเกิดเหตุการณ์ชุมชนมีความสงบ ปลอดภัยไปมาหาสู่กันได้ โล่งใจ แต่หลังจากเหตุการณ์ ชาวบ้านมีความหวาดกลัว หวาดระแวงว่าจะเกิดอันตรายทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาในชุมชน และมีเด็กกำพร้ามากขึ้น”

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบยังสะท้อนอีกว่า “หลังจากเหตุการณ์ ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมีความแตกแยกเพราะแก่งแย่งเงินเยียวยา”

และสุดท้ายมีตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนได้สรุปประเด็นที่คล้ายคลึงกับกลุ่มอื่น แต่มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า  “อยากให้ผู้นำชุมชนจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์เช่น กีฬาสานสัมพันธ์ หรือ ค่ายอนุรักษ์ป่า ระหว่างพุทธมุสลิมให้มากขึ้น เพื่อให้ทั้งสองกลุ่มได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และทำความเข้าใจกันมากขึ้น”

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เครือข่ายผู้หญิงฯ ยอมรับว่า เครือข่ายผู้หญิงฯเป็นแค่ผู้อำนวยการจัดกิจกรรม  รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้ โดยให้แกนนำผู้หญิงชุมชนบ้านยุโปที่ผ่านการอบรมการเป็นวิทยากรกระบวนการสานเสวนา หรือเป็นผู้ดำเนินการสานเสวนาด้วยตัวเอง และเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ทั้งนี้เพื่อให้แกนนำผู้หญิงดังกล่าวฝึกฝนทักษะการจัดสานเสวนาให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น สามารถจัดกิจกรรมสานเสวนาในครั้งต่อไปได้  รวมทั้งสามารถใช้การสานเสวนาเป็นเครื่องมือ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องอื่นๆอีกในชุมชน

ด้านผู้นำชุมชนอีกคน เผยว่า “การสานเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบของชาวบ้านครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่มีการคุยกันในเวที นับว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่ง”

คุณนวรัตน์ เพ็ชรเรือนทอง ปลัดเทศบาลยุโปกล่าวว่า “ สาเหตุที่ชาวบ้านกล้าพูดวันนี้  เนื่องจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วบ้าง การสร้างบรรยากาศและการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูด ทำให้พวกเขามีความสบายใจและอยากจะสะท้อนปัญหามากขึ้น”

ในการสานเสวนากับชาวมุสลิมในชุมชนรอบต่อไป ชุมชนชาวพุทธ ยังอยากจะพูดคุยในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่พวกเขาได้รับหลังเกิดสถานการณ์ ซึ่งก็ไม่ต่างกับที่ชุมชนมุสลิมได้รับ ทั้งนี้เพื่อลดความเข้าใจผิดและหวาดระแวงที่มีต่อกัน และร่วมกันหาแนวทางในการเยียวยาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

 

  อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Civic Women อบรมผู้หญิงเป็น Facilitator พร้อมลงพื้นที่สร้างสันติภาพในชุมชน