ไชยยงค์ มณีพิลึก
การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา จากการซุ่มโจมตีด้วยการวางระเบิดรถยนต์ และยิงถล่มซ้ำด้วยอาวุธสงคราม ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน ขณะที่นำกำลังออกปฏิบัติการ กดดัน แนวร่วมขบวนการ เพราะ “สายข่าว” แจ้งให้ทราบว่า “แนวร่วม” ชุดของ “ไอ้หน้าเหลี่ยม” หรือ ยูกีมือรี เจะดีแม แกนนำคนสำคัญ ที่เคลื่อนไหวอยู่ใน 2 อำเภอ คือ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มีกำลังอยู่ 8 นาย มีหมายจับคดีความมั่นคงกว่า 10 คดี และคดีสำคัญ คือ ฆ่าถลกหนัง นายมะและ มงกาเด็ง อดีตผู้ใหญ่บ้าน และพวก 3 คน ที่ อ.บันนังสตา ซึ่งทั้งหมดเป็นคนของ พ.ต.อ.สมเพียร เมื่อปลายปี 51 นำกำลังเข้ามาในพื้นที่ เพื่อก่อเหตุร้ายในช่วงที่ จะมีเหตุวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร
และนั่นคือปฏิบัติการ “สุดท้าย”ของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือ “จ่าเพียร ขาเหล็ก” ที่เป็นสมญานามของ พ.ต.อ.สมเพียร ที่ได้ทำหน้าที่ ปกป้องประเทศชาติ และประชาชน ด้วย “ชีวิต” ปิดฉากชีวิตของ นักรบ นักสู้ แห่งเทือกเขาบูโด อันลื่อลั่นกว่า 40 ปี
พ.ต.อ.สมเพียร เป็น นรต.รุ่นที่ 15 ร.ร.ตำรวจภูธรภาค 9 ยะลา เมื่อปี 2513 หลังจากจบการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็น ผบ.หมู่ ป.สภ.บันนังสตามาตลอด โดยเฉพาะช่วงที่พวก ขจก.หรือขบวนการโจรก่อการร้าย ได้ปะทุทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ได้ติดตาม พ.ต.ท.สนิท เพียรทอง สวญ.สภ.บันนังสตา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ออกปราบปราม ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) มาตลอด สามารถวิสามัญคนร้ายได้ร่วม 100 ศพ จนเป็นที่หวาดเกรงของพวกคนร้าย และ ราวปี 2519 จ.ส.ต.สมเพียร เอกสมญา ได้ปะทะกับคนร้ายกลุ่มของ นายลาเต๊ะ เจาะบันตัง หมู่ที่ 4 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา พลาดท่าไปเหยียบกับระเบิดคนร้ายจนขาซ้ายหวิดขาด จากความเด็ดเดี่ยว และ ประสบความสำเร็จในการปราบปรามกลุ่มคนร้ายอย่างจริงจัง จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญมาลาเข้มกล้า จนทางกรมตำรวจได้ให้เข้าศึกษาหลักสูตรนายตำรวจเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องสอบ หลังจากจบมาแล้วได้โอนไปสังกัด ตม.ประจำอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา ระยะหนึ่ง แต่ต้องขอย้ายกลับ รับราชการวนเวียนอยู่ในภาคใต้ตอนล่างมาตลอด แต่ไม่วายถูกร้องเรียนจนต้องย้ายออกจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไประยะหนึ่ง ต่อมาหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ถูกเรียกตัวกลับมาปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ.บันนังสตา ในตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตา ปี 2550 โดยได้ใช้ประสบการณ์ และ ความคุ้นเคยในพื้นที่แห่งนี้มาก่อน นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นจับกุมคนร้ายจนสามารถวิสามัญคนร้ายไปแล้วรวม 22 ราย แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามวางแผนลอบทำร้ายมาโดยตลอด โดยแกนนำขบวนการได้ปนะกาศตั้งค่าหัว พ.ต.อ.สมเพียร 1 ล้านบาท และ แพะ 40 ตัว ให้กับผู้ที่ ปลิดชีพของเขาได้
นอกจากนี้ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ยังได้รับพระราชทาน และ ประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกมากมาย 1.ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นสอง ประเภทหนึ่ง 2. ได้รับประกาศนียบัตร ” ผู้มีผลงานสู้รบดีเด่น” จากกระทรวงมหาดไทย 3.ได้รับเข็มรักษาดินแดนสดุดี จากกระทรวงมหาดไทย 4.ได้รับมอบเกียรติบัตรผู้ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติด้วยความเสียสละ จากองค์การทหารผ่านศึก 5.ได้รับประกาศผู้มีผลงานดีเด่นด้านการปราบปราม จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 6.ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ดีเด่น 7.ได้รับหนังสือสำคัญ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต ) ยกย่องเชิดชู เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน และรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ด้วยความเข้มแข็งเสียสละ ฯลฯ ซึ่งหลังจากทำงานในพื้นที่มาอย่างโชคโชน และ อย่างยาวนาน ทำให้ทางครอบครัวเกิดความวิตกพร้อมทั้งขอให้เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น"ภูวพงษ์พิทักษ์" เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ พ.ต.อ.สมเพียร ได้ขอกลับมาใช้นามสกุลเดิม ส่วนนามสกุล”ภูวพิทักษ์พงษ์”นั้น ภรรยาและบุตรใช้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับผลงานของ พ.ต.อ.สมเพียร นับตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้มาเป็น ผกก.สภ.บันนังสตา ที่สำคัญๆมีดังนี้
1. วันที่ 1 สิงหาคม 2550 พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า กลุ่มโจรก่อการร้าย นำโดย นายสุริมิง เปาะสา กับพวกประมาณ 8-10 คน ได้ปรากฏตัว และประชุมกันที่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ของ นายอิสมาน บราเฮง เพื่อวางแผนก่อเหตุร้ายในพื้นที่ จงได้เรียกกำลังประชุมวางแผน เพื่อทำการจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว เนื่องจากบ้านเป้าหมายอยู่ภายในหมู่บ้าน ถนนดินแคบ และเส้นทางเข้าออกถูกโอบล้อมด้วยบ้านของชาวบ้าน ซึ่งอาจเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วย มีความเสี่ยงที่จะถูกลอบทำร้ายได้โดยง่าย ฉะนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรวดเร็ว ว่องไว ทำงานเป็นทีม และปฏิบัติการตามยุทธวิธีโดยเร็วที่สุด ผลจากการปฏิบัติการสามารถสังหารสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 5 ราย ยึดอาวุธได้จำนวน 5 กระบอก และยุทธภัณฑ็ได้จำนวนมาก ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความปลอดภัย
2. วันที่ 18 สิงหาคม 2550 เวลาประมาณ 06.00 น. ได้สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายในพื้นที่หมู่บ้านตะโล๊ะซูแม อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้ยิงปะทะกลับกลุ่มโจรก่อการร้ายนานประมาณ 5 นาที คนร้ายเสียชีวิต 1 คน ยึดอาวุธปืนพกขนาด 11 มม. 1 กระบอก ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปลอดภัย
3. วันที่ 30 ตุลาคม 2550 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการติดตามจับกุมกลุ่มตนร้าย ที่หมู่ 2 บ้านกือลอง ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ตามแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ และเกิดการปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้ายประมาณ 20 นาที ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 2 ราย ยึดอาวุธปืนพกได้ 1 กระบอก พร้อมยุทธภัณฑ์จำนวนหนึ่ง
4. วันที่ 29 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 06.00 น. ได้สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายทหาร ละฝ่ายปกครอง จัดกำลังเข้าไปติดตามจับกุมคนร้ายในพื้นที่หมู่บ้านบูกาซาแก่ หมู่ 1 ต.บเจาะ อ.บาเจาะ จ.ยะลา เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย เป็นเหตุให้ จ.ส.ต.ศรศักดิ์ รักนาย ผบ.หมู่ (ป.) สภ.บันนังสตา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต และฝ่ายคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายสุไลมาน อภิบาลแบ เป็นผู้ต้องหาสำคัญตามหมายจับของสาลจังหวัดยะลาหลายคดี
5. วันที่ 19 เมายน 2551 โดยในวันที่ 18 เมษายน 2551 ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มของ นายหะยีสการียา หะยีสาเมาะ แกนนำสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบ กับพวกประมาณ 13 คน ได้ปรากฏตัว และหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ บ้านตือระ หมู่ที่ 8 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงได้สนธิกำลัง 3 ฝ่าย เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งการเข้าไปปฏิบัติการกระทำได้ยากลำบาก เนื่องจากมีแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่เต็มพื้นที่ และรอบๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี โดยขนย้ายกำลังข้ามแม่น้ำปัตตานี ซึ่งอยู่ตรงข้ามเป้าหมาย เพื่อตัดโอกาสแจ้งข่าว จึงได้ลำเลียงกำลังพลข้ามแม่น้ำปัตตานี โดยใช้แพยางลอยคอเกาะกลุ่มกันไปท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง จากการยิงปะทะกับต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสถานการณ์ที่ไม่ได้เปรียบกับฝ่ายตรงข้าม สามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายเพาซี อาลีเมาะ แนวร่วมคนสำคัญที่ก่อเหตุมาหลายครั้งในพื้นที่
6. วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เวลาประมาณ 06.30 น. ได้สนธิกำลังเข้าไปติดตามจับกุมคนร้ายในพื้นที่บ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และเกิดการยิงปะทะต่อสู้กัน เป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายมะ แวดอนิ อายุ 24 ปี สามารถยึดอาวุธปืนพกสั้น ขนาด 9 มม. ได้จำนวน 1 กระบอก และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 นาย
7. วันที่ 23 มิถุนายน 2551 ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ได้ก่อเหตุซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ชุดพลร่ม วึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจำนวน 1 นาย และบาดเจ็บจำนวน 5 นาย ได้หลบซ่อนตัวอยู่หลังหมู่บ้านบางกลาง หมู่ที่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส. เข้าติกตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยจัดกำลังชุดปฏิบัติการ 4 ชุด ต่อมาเมื่อเวลา 16.05 น. ชุดปฏิบัติการที่ 3 ได้ยิงปะทะสู้กับกลุ่มของคนร้าย เป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ นายมะรอมลี อัตราช เวลา 07.00 น. ชุดปฏิบัติการที่ 2 ยิงปะทะต่อสู้กับกลุ่มคนร้าย เป็นเหตุให้ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตอีก 1 ราย ทราบชื่อ นายกอเซ้ง อภิบาลแบ การยิงปะทะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลา 12.00 น. จึงได้ขอสนับสนุนกำลังจากหน่วยใกล้เคียง และสามารสังหารกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย ทราชื่อ นายมูฮามัดสะกี กาโงะ , นายอิสมาแอ อาลีมามะ , นายแวอาลี สะมะแอ และ นายดอรี ดาลอ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
ด้วยการที่รู้ตัวดีว่า อายุที่มากขึ้น คือ อุปสรรคในการต่อสู้กับ แนวร่วม ในพื้นที่ การเดินลาดตระเวนด้วย 2 เท้า ที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม พ.ต.อ.สมเพียร จึงต้องการที่จะย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการปรารภ กับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สบ.10 ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ ก็เห็นด้วย และให้การสนับสนุน โดยได้กล่าวกับ พ.ต.อ.สเมเพียร ว่า “ ผมก็อยากเห็นคุณเกษียณอายุโดยมีสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ใช่นั่งรถเข็น” พร้อมทั้งถามว่า จะย้ายไปลงที่ไหน ซึ่ง พ.ต.อ.สมเพียร กล่าวว่า ต้องการไปเป็น ผกก. ที่ สภ.กันตัง จ.ตรัง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. เป็นบ้านของภรรยา 2. พ.ต.อ.เติม อินทะสะระ ผกก.สภ.กันตัง จ.ตรัง อดีต ผกก.สภ. กาบัง และ สภ.สุไหงโก-ลก เกษียณอายุ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ ได้มีบันทึกถึง พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผบช. ภ.9 ซึ่งรับผิดชอบ จ.ตรัง และมีบันทึกถึง พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชษฏ์ เพื่อถามความเห็น โดย พล.ต.ท.วีระยุทธ ได้มีบันทึกตอบว่า ไม่ขัดข้องในการที่จะย้าย พ.ต.อ.สมเพียร จาก ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้าย พล.ต.อ.อดุลย์ จึงได้มีบันทึกถึง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. ตามลำดับ และก่อนที่โผโยกย้ายจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ มีชื่อของ พ.ต.อ.สมเพียร ปรากฏเป็นข่าวทาง สื่อมวลชน ว่า ได้ไปเป็น ผกก.สภ.เมือง ตรัง ซึ่งเป็น สภ.ที่ไม่มี ผกก. มานานกว่า 9 เดือน เนื่องจาก พ.ต.อ.นุกูล ไกรทอง ผกก.สภ.เมือง จ.ตรัง ย้ายไปเป็น รอง ผบก.ภ.จว.ตรัง และ รักษาการ ผกก. ด้วย แต่เมื่อมีการประกาศบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเป็นทางการ กลับไม่ปรากฏชื่อของ พ.ต.อ.สมเพียร แต่อย่างใด
และนี่คือประเด็นที่สร้างความ น้อยเนื้อ ต่ำใจ ให้กับ พ.ต.อ.สมเพียร จนถึงขั้นเดินทางเข้าไปขอความเป็นธรรมจาก นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. พร้อมทั้งนำเอาโล่และประกาศเกียรติคุณต่างๆ ที่ได้รับมอบ ไปแสดงต่อสื่อมวลชน จนเป็นข่าวครึกโครมมาแล้ว และหลังจากนั้น พ.ต.อ.สมเพียร ก็เดินทางกลับมาทำหน้าที่ ตำรวจของประชาชน ที่ สภ.บันนังสตา จนเสียชีวิตในที่สุด
ก่อนที่ พ.ต.อ.สมเพียร จะใช้ เลือด เนื้อ ทาแผ่นดิน สละชีพ ต่อหน้าที่ พ.ต.อ.สมเพียร ได้พูดกับผู้เขียน ถึงความในใจว่า ตนเองมีความเชื่อว่า ตำรวจที่มีเส้น ต้องได้อยู่ในที่ที่ดี ตำรวจที่มีเงิน ต้องได้ตำแหน่งดี และตำรวจที่ทำดี ก็ต้องได้อยู่ในที่ที่ดีด้วย และตนเองเชื่อว่าตนต้องได้อยู่ในที่ที่ดี เพราะทำดีมาตลอดชีวิตของการเป็นตำรวจ แต่เมื่อไม่มีชื่อตนอยู่ในบัญชีโยกย้าย จึงทำให้อัดอั้นตันใจ และน้อยใจ โดย พ.ต.อ.สมเพียร ได้เปิดเผยว่า “นาย” ที่ตนให้ความเคารพ และเป็นผู้ที่ช่วยเหลือตนเองในเรื่องการย้ายออกจากพื้นที่ครั้งนี้ได้กล่าวว่า “ผมเสียใจ ผมพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ “นาย บางคน เขาต้องการเงิน เขาไม่ต้องการคนมี “ฝีมือ”
ความตั้งใจของ พ.ต.อ.สมเพียร ที่ได้เปิดเผยก่อนที่จะจบชีวิตผู้กล้ากลางสนามรบ คือ ต้องการใช้ชีวิตในราชการที่เหลืออยู่ 20 เดือน นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานอย่างสบายๆ ไม่ต้องเครียด และระมัดระวังตัวทุกฝีก้าว การย้ายไปอยู่พื้นที่ จ.ตรัง ไม่ใช่ต้องการไปอยู่ที่สบาย เพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ แต่ต้องการให้เป็น “ของขวัญ” กับภรรยา ที่ตลอดชีวิตการแต่งงาน “จ่าเพียร” ทำแต่งานจริงๆ เพราะไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เหมือนกับคู่แต่งงานอื่นๆ และความฝันอีกอย่างของ “จ่าเพียร” คือ หลังเกษียณอายุราชการ จะได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ คือ “กินน้ำชา นินทาเพื่อน” หรือการใช้ชีวิตสบายๆ แบบชาวบ้านทั่วไป นั่นเอง
พ.ต.อ.สมเพียร ในความรู้สึกของภรรยาคู่ร่วมชีวิตอย่าง นางพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เห็นการทำงานแบบทุ่มเท ชีวิตทั้งชีวิต เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด และก็ทำใจมาโดยตลอดว่าวันหนึ่งที่อาจจะเกิดความผิดพลาดจากการทำหน้าที่ แต่ พ.ต.อ.สมเพียร ก็สามาถผ่านมาได้ถึง 40 กว่าปี เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามี และเสียใจกับสิ่งที่สามีไม่ได้รับความเห็นใจในการโยกย้ายจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นความสำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างทิ้งขว้างเหมือนเป็นลูกเมียน้อย 3 ปีกว่าที่ บันนังสตา พ.ต.อ.สมเพียร ไม่เคยได้หยุดพักในวันหยุด ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันสำคัญอื่นๆ เช่นเดียวกับตำรวจอีกมากมาย ที่มี่วันหยุดอย่าง พ.ต.อ.สมเพียร ก่อนที่จะจบชีวิต หลังรู้ว่าไม่ได้ย้ายตามที่ต้องการ พ.ต.อ.สมเพียร เคยบ่นกว่า “เขาคงต้องการติดยศ พล.ต.อ.ให้ตอนตาย” และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ในขณะที่ ร.ต.ท.ทาม ลอยเสทื้อน รอง สวป. หน.ชุด นปพ. สภ.บันนังสตา ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ พ.ต.อ.สมเพียร ได้กล่าวถึง พ.ต.อ.สมเพียร ว่า ผู้กำกับ เป็นแบบอย่างที่ดีของตำรวจทุกคน มีความกล้าหาญ เด็ดขาด รอบคอบ รักลูกน้อง และไม่เคยอยู่ข้างหลังลูกน้อง ทำงานมากกว่า เสี่ยงตายมากกว่า ผู้กำกับเป็นทุกอย่างของ สภ.บันนังสตา และเป็นขวัญกำลังใจของลูกน้องทุกคน ไม่เคยคิดว่า คนอย่าง ผกก.สมเพียร จะจากไปในลักษณะนี้ และ นับแต่นี้ไป ตำรวจ สภ.บันนังสตา ทุกนาย ต้องมีภาระหนัก เมื่อไม่มี “นาย” ที่ดีอย่าง พ.ต.อ.สมเพียร
จ.อ.ปรเมศร์ จันทร์แสง ปลัดป้องกัน อ.บันนังสตา กล่าวถึง การทำงานร่วมกับ ผกก.สมเพียร ว่า เคยได้ยินแกบนมาโดยตลอดเกี่ยวกับการดูแลของบังคับบัญชา โดยเฉพาะ คำที่ว่า จะให้ยศพลเอก ก่อนเกษียณราชการหรือไง ซึ่งฟังแล้ว แกเรียกร้องน้อยมาก ถ้าเทียบกับการทำงานของแกมาตลอดชีวิตราชการ แกบ่นว่าตั้งแต่รับราชการไม่เคยอยู่ใกล้ชิดกับลูกเมีย แต่แกเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่ถ้าหากว่าต้องย้ายไป กลัวว่าการทำงานของหัวหน้าคนใหม่ไม่เหมือนแก โดยเฉพาะการทำงานที่ปฏิบัติกับลูกน้องที่แบ่งพรรคแบ่งพวกว่า เป็นเด็กคนโน่นคนนี้ ซึ่งจะทำให้เด็กที่ทำงานหมดกำลังใจ สำหรับเขานั้น เขาต้องการให้ผู้บังคับบัญชามาดูแลในขณะที่มีชีวิตอยู่ ถ้าตายแล้วไม่ต้องมาดูแลแล้ว
ปลัดป้องกัน อ.บันนังสตา กล่าวว่า การทำงานของ พ.ต.อ.สมเพียร นั้น แกทำงานด้วยใจเกินร้อย ไม่มีผลประโยชน์มาแอบแฝง ทำให้การทำงานที่ผ่านมาในพื้นที่ มีชาวบ้านกลับมาให้ความร่วมมือเป็นฝ่าย จนท.มากขึ้น เพราะทุกคนอยากมาเป็นมือขวา มือซ้ายของ ผกก. แล้วนับประสาอะไรกับ จนท.ด้วยกัน การทำงานของ ผกก.ตนยังเห็นใจ เพราะทราบว่า ผกก.มีโรคความดันสูง เป็นโรคประจำตัว ในระหว่างออกไปทำงานร่วมกัน ผกก.ต้องพกยาติดตัวไปตลอด บางครั้งโรคกำเริบ แกต้องหยุดพักการลาดตระเวน สักพักหนึ่ง พออาการหายก็เดินลาดตระเวนต่อ ส่วนการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง นั้น ผกก.แกเขาใจในบทบาทการทำงานของ อส.มาก เพราะแกเคยเล่าให้ฟังว่า แกทำงานร่วมกับ อส.มาตั้งแต่ยังเป็นชั้นประทวน
จ.อ.ปรเมศร์ ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของตนเองในฐานะที่ต้องดูแลความมั่นคง ร่วมกับ ตำรวจ ทหาร เมื่อเจอเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้ มีความรู้สึกท้อเหมือนกัน แต่เมื่อมานึกถึงหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก็ต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดีที่สุด ตนต้องยอมรับว่าการทำงานยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของ ผกก.สมเพียร แต่ก็ค่อยดูมาตลอดว่าผู้งบังคับบัญชาจะดูแลให้ขวัญกำลังใจมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ปลอบใจตัวเองเสมอว่า ผู้บังคับบัญชาคงจะดูแลคนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีทีสุด
กับความรู้สึกของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สบ.10 ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเสีย ผู้กำกับสมเพียร เป็นอย่างสูญเสียของประเทศชาติ และของวงการตำรวจ ผมทำงนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี พบว่า ตำรวจอย่าง พ.ต.อ.สมเพียร มีน้อย เพราะเป็นตำรวจที่เสียสละความสุขทั้งมวล เพื่อหน้าที่ เป็นผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งในการคิดหาวิธีแก้ปัญหา และในการป้องกัน ปราบปรามจับกุม เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ทำงานท่ามกลางความขาดแคลนทุกอย่าง อย่างไม่ยอมจำนน ผมเสียใจ ผมได้พยายามเต็มที่แล้ว ในการทำหน้าที่ เพื่อให้เขาได้ย้ายออกจาก สภ.บันนังสตา แต่ผมทำไม่สำเร็จ ผมเสียใจกับวงการตำรวจ เสียใจต่อครอบครัวของผู้กำกับสมเพียร และเสียใจต่อชาวบันนังสตา ต่อการจากไปของ พ.ต .อ.สมเพียร
วันนี้ พ.ต.อ.สมเพียร ได้พลีชีพในสนามรบ ตามปนิธานของตนเองที่ยึดมั่นว่า “สุขเถิดประชาข้าจะคุ้มภัย” เป็นนายตำรวจนักรบ ที่จบชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี ทิ้งไว้เพียงคำถามต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ทำไม พ.ต.อ.สมเพียร จึงโยกย้ายจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ ในเมื่อบัญชีการโยกย้าย แต่งตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งลงนามโดย พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผบช.ภ.9 นั้น มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ายมาเอาตำแหน่งในภาค 9 และภาค 8 กว่า 20 นาย ทำไม่คนอื่นๆ จึงได้รับโอกาสดีๆ ทั้งที่หลายคน ไม่มีผลงานที่โดดเด่น แต่ทำไม พ.ต.อ.สมเพียร จึงไม่ได้รับโอกาสดังกล่าว ตรงนี้ต้องมีคำตอบให้กับประชาชน และเพื่อนๆ ตำรวจของ พ.ต.อ.สมเพียร ได้รับรู้ เพื่อที่ วิญญาณของ ตำรวจผู้กล้าอย่าง “จ่าเพียร ขาเหล็ก” จะได้นอนหลับอย่างไร้กังวล เพราะหากตอบไม่ได้ จะกลายเป็น “ตราบาป” ที่ติดตัวของผู้เป็น “นาย” ไปจนกว่า แผ่นดินจะกลบหน้า