เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม เนื่องจากประชากรโลกราว 20 เปอร์เซ็น (มากกว่า 1.5 พันล้านคน) ได้หยุดบริโภคอาหารและน้ำในช่วงตอนกลางวันติดต่อกันเป็นเวลากว่า 30 วัน และมีการปฏิบัติศาสนกิจที่เข้มข้นตลอดทั้งเดือน ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงเวลาของการทบทวนตัวเอง การขอบคุณ การขอภัยโทษ และการอุทิศตนเองเพื่อสังคม อีกทั้งเป็นช่วงเวลาของความเชื่อมโยงตัวเองกับพระผู้เป็นเจ้าและระหว่างผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างคำสัญญาแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม และความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ กระนั้นความรุนแรงทางเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศต่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังเช่นในตะวันออกกลางอย่าง อียิปต์ ซีเรีย และอิรัก ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าในช่วงเดือนรอมฎอนจะสามารถนำสันติภาพมาสู่ตะวันออกกลางและประเทศอื่นๆ ที่เกิดความขัดแย้งได้หรือไม่อย่างไร มีความพยามใดบ้างที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณดังกล่าว
รอมฎอนกับสันติภาพ: ความหมายในเชิงศาสนา
สันติภาพที่หลายคนคาดหวัง คือ การไม่เห็นความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง แม้แต่องค์การสหประชาชาติได้ขอร้องเป็นประจำทุกปีให้ทุกประเทศหยุดความรุนแรงในช่วงของเดือนรอมฎอน อย่างไรก็ตามความรุนแรงในเดือนรอมฎอนยังคงเกิดขึ้น จากการศึกษาของนักวิชาการหลายท่านค้นพบว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการสร้างแรงผลักดันและแรงบันดาลใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับเราว่าจะใช้วิธีการแบบไหนในการสร้างสันติภาพและสงคราม เจมส์ เกววิน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัย UCLA สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในความเป็นจริง ตามหลักการของศาสนาอิสลาม มีเพียงสี่เดือน เท่านั้น ไม่รวมเดือนรอมฎอนที่การต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องห้าม การต่อสู้ในเดือนรอมฎอนถือเป็นความชอบธรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อป้องกันความวุ่นวายจากการที่หลักการของศาสนาไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติในเดือนนี้
ส่วนศาสตราจารย์ จอห์น เอสโปซิโต อาจารย์ประจำสาขาวิชาศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอิสลามศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อกล่าวถึงเดือนรอมฎอน หากจะพูดถึงความรุนแรงก็คงจะเหมือนกับช่วงเทศกาลคริสต์มาสในไอร์แลนด์ ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดความรุนแรง อันที่จริง ข้อเรียกร้องในการยุติความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากว่า 20 ปีมาแล้ว แต่ในความเชื่อของศาสนาอิสลาม การต่อสู้สามารถเกิดขึ้นหากผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ภายใต้การคุกคาม การต่อสู้ไม่ใช่สิทธิตามหลักการศาสนาเท่านั้น แต่ในบางบริบทมันเป็นข้อบังคับสำหรับชาวมุสลิมด้วย
ด้าน นีซาร์ อัลเซยาด ประธานศูนย์ตะวันออกกลางศึกษา มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย เบิร์กเลย์ กล่าวว่า ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม สงครามใหญ่ครั้งต่างๆเกิดขึ้นในเดือนนี้ แม้ว่าการต่อสู้จะไม่ได้เป็นข้อห้ามในเดือนรอมฎอนแต่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้สนับสนุนให้ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน เช่น หากว่าเราแสดงความเอื้อเฟื้อกับเพื่อนบ้านในช่วงเริ่มต้นของเดือนรอมฎอน แต่หากเขาปฏิเสธ เราอาจไม่ใส่ใจคำปฏิเสธของเขาก็ได้ แต่สำหรับเดือนรอมฎอน มีข้อเรียกร้องสำหรับเราในการพยายามใช้หลักการศาสนาเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งนั้น
ความพยายามยับยั้งความรุนแรงในเดือนรอมฎอน
ตะวันออกกลาง
ที่ซีเรีย ในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์อาหรับสปริง ในปี 2011 เป็นต้นมา เกิดสงครามกลางเมืองในช่วงเดือนรอมฎอนในซีเรียระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดี บาห์ชาร์ อัล-อัสซาด กับประชาชน และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม กระนั้น มีความพยายามจากหลายฝ่ายในการผลักดันกระบวนการสันติภาพตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา สำหรับเดือนรอมฎอน ปี 2013 ในช่วงสัปดาห์แรกของการถือศีลอด ประชาชนถูกสังหาร ไปกว่า 5,000 คน มีรายงานว่า ในปีนั้นเดือนรอมฎอน ถือเป็นจังหวะที่ทำให้ทุกฝ่ายกลับเข้าไปในมุมของตนเอง 30 วัน โดยที่กลุ่ม Free Syrian Army ได้เสนอข้อตกลงหยุดยิงต่อประธานาธิบดีอัล-อัสซาด ที่จังหวัด Homs
ที่จังหวัด Homs ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2013 หลังจากข้อตกลงหยุดยิง ชาวซีเรียได้ออกมาสำรวจเศษซากบ้านเรือนที่เสียหายจาก การโจมตีจากฝั่งกองทัพของรัฐบาล
ด้านเอกอัครราชทูตซีเรียประจำสหประชาชาติได้เสนอว่า รัฐบาลซีเรียต้องการยุติความรุนแรงเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่เพียงระงับไว้เท่านั้น อีกทั้งยังเรียกร้องกลุ่มต่อต้านให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ความพยายามดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในวันทางศาสนาอิสลามอื่นๆด้วย เช่น ในปี 2012 นาย ลักดาร์ บราฮิมี ตัวแทนจากสหประชาชาติและสันนิบาตอาหรับเพื่อซีเรีย ได้เรียกร้องให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านในวันตรุษอีดิ้ลอัลฮา ทั้งสองฝ่ายตอบตกลงทันที แม้ความสงบจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ
ปี 2013 ช่วงเดือนรอมฎอน นายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารละศีลอดและใช้โอกาสนี้ในการเริ่มต้นเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์รอบใหม่หลังจากที่หยุดไปเมื่อปี 2010 โดยการพบปะกันครั้งนี้เป็นการกำหนดกรอบการเจรจารอบใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้น เป็นเวลา 9 เดือนก่อนที่จะมีข้อตกลงสันติภาพกลางปี 2014
ผู้เข้าร่วมการพูดคุยในครั้งนั้นล้วนเคยมีประสบการณ์ในการเจรจาที่ต่างล้มเหลวมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ทางฟากฟั่งอิสราเอลนำโดย นางซีปิ ลีฟนี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และนาย ยิสฮัก โมลโช ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเคยมีบทบาทต่อการเจรจาสันติภาพในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยปัจจุบันถึงสองครั้ง ด้านปาเลสไตน์ นำโดยนาย ซาเอบ อีรากัต หัวหน้าผู้เจรจาฝั่งปาเลสไตน์ และนายโมฮัมหมัด ชเตย์เยห์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส พวกเขามีบทบาทในการเจรจามาตั้งแต่ปี 1991 ผลที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยระหว่างงานเลี้ยงละศีลอด คือ ทุกฝ่ายต่างตกลงร่วมกันใน “กรอบระยะเวลา” กระนั้น ความพยายามในการผลักดันให้เกิดข้อตกลงสันติภาพกลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในปีเวลาต่อมา ตามมาด้วยความรุนแรงระรอกใหม่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2014 อิสราเอลได้โจมตีผลเรือนในฉนวนกาซา ในปฏิบัติการ Operation Protective Edge เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวอ้างที่ว่าสมาชิกของกลุ่มฮามาส 2 คน ได้ลักพาตัวและสังหารชาววัยรุ่นชาวอิสราเอล
ปี 2015 ชาวปาเลสไตน์ 90,000 คนจากฝั่งตะวันออกของเยลูซาเลมและเขตเวสแบงค์ ร่วมละหมาดในวันศุกร์แรกของเดือนรอมฎอนที่มัสยิดอัล อักซอ แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์จากฉนวนกาซา พวกเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางมาที่มัสยิดแห่งนี้เพียง 500 คน
ที่มา: http://www.timesofisrael.com/over-90000-at-temple-mount-on-first-friday-of-ramadan/
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ใช้โอกาสที่เดือนรอมฎอนเวียนมาถึงในการเรียกร้องสันติภาพที่ฉนวนกาซาและอิสราเอล เช่น ชาวยิวในอังกฤษและชาวมุสลิมได้ร่วมกันถือศีลอดและละร่วมกัน พวกเขาใช้ชื่อการรณรงค์นี้ว่า ‘Hungry for Peace’ (หิวโหยเพื่อสันติภาพ) การรณรงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องจากกิจกรรมของชาวยิวและมุสลิมรวมตัวกันเพื่อเยี่ยมครอบครัวของวัยรุ่นชาวอิสราเอล นายนัฟตาลิ เฟรนเกล ที่เชื่อว่าถูกสังหารโดยชาวปาเลสไตน์
นอกจากนี้ รอมฎอนยังเป็นช่วงเวลาของการผ่อนคลายความตึงเครียดของผู้คนจากภาวะสงคราม ในปี 2015 นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ชาวปาเลสไตน์กว่าหนึ่งแสนคนจากเวสแบงค์และอีกส่วนหนึ่งจากฉนวนกาซา ‘ได้รับอนุญาต’ จากกองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอล (Israel Defense Forces- IDF) ให้เดินทางโดยรถบัสเข้าไปในเยรูซาเล็มเพื่อละศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดอัล อักซอ โอกาสนี้ชาวปาเลสไตน์ที่ฉนวนกาซาจะได้มีโอกาสพบกับครอบครัวที่เขตเวสแบงค์อีกด้วย
ที่เยเมน การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายต่างๆ เริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมาที่สวิตเซอร์แลนด์ ในการนี้ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้กองกำลังของรัฐบาลและกบฏหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมอย่างน้อยเป็นเวลาสองสัปดาห์ระหว่างเดือนรอมฎอน เขากล่าวว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนควรจะเป็นเวลาแห่งสันติภาพ การทบทวนตัวเอง และการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว เขาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างไม่มีเงื่อนไขและหวังว่าการพบกันจะเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติในเยเมน
ทั้งนี้ เยเมนเป็นประเทศที่มีความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ปี 2011 เมื่อผู้ประท้วงได้ขับไล่ประธานาธิบดีอับดุลลาห์ ซาเลห์ ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดกลุ่มสองกลุ่มที่ต่อสู้กันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเยเมน การต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังแบ่งแยกดินแดนทางใต้ที่สนับสนุนรัฐบาลอับดุล รับบัน มันซูร ฮาดิ และ กองกำลังของ โมฮัมหมัด อาลี อัล ฮูธิ ประธานาธิดีคนปัจจุบัน ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเก่าของอับดุลลาห์ ซาเลห์ สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนขึ้นในเยเมนเมื่อ กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ISIS เกี่ยวข้องความรุนแรงทางการเมืองดังกล่าวด้วย อีกทั้งตามมาด้วยการโจมตีทางอากาศจากพันธมิตรซาอุดิอาระเบียเพื่อช่วยรัฐบาลฮาดิ
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 ผ่ายกลุ่มต่างๆ ในเยเมนได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงแล้วในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นเวลา 5 วัน เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชน โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤติความขัดแย้งในเยเมน มีผู้เสียชีวิตในเยเมนมากกว่า 1,400 คน บาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน และชาวบ้านอีกกว่า 3 แสนคน ไร้ที่อยู่อาศัย
วันที่ 15 มิถุนายน 2015 นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ กำลังกล่าวกับ นาย ริยาด ยัสซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยเมน (ซ้าย) ถึงแผนการเปิดการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้น ในการนี้ใกล้เดือนรอมฎอน และเรียกร้องให้มีการหยุดการต่อสู้เป็นเวลาสองสัปดาห์เพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรม
ที่มา: http://gulfnews.com/news/gulf/yemen/ban-calls-for-immediate-ramadan-truce-in-yemen-1.1535332
แอฟริกา
ที่อียิปต์ ช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2014 พันธมิตรชนกลุ่มน้อยในอียิปต์ (The Egyptian Alliance for Minorities) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2012 ประกอบไปด้วย ชาวอาหรับ ชาวยิว คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์และการเมือง ได้จัดเลี้ยงอาหารละศีลอดร่วมกับชาวมุสลิมในเดือนรอมฎอน ณ กรุงไคโร เพื่อส่งสัญญาณสันติภาพและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อยในประเทศที่มีความแตกต่าง ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ กองทัพอิสราเอลได้ปฏิบัติการทางทหาร Operation Protective Edge ที่ฉนวนกาซาติดกับพรมแดนของอียิปต์ มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปกว่า 2,000 คน กิจกรรมเลี้ยงละศีลอดครั้งนี้ต้องการส่งสัญญาณแห่งสันติภาพนี้ไปยังอิสราเอลเช่นเดียวกัน
อนึ่ง พันธมิตรชนกลุ่มน้อยในอียิปต์รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2012 เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับการปฏิบัติของผู้คนที่แตกต่างภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยพวกเขาจัดกิจกรรมละศีลอดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีนักโทษการเมืองการเมืองประมาณ 36,000 คน ที่ถูกจำคุก
เดือนกรกฎาคม ปี 2014 พันธมิตรชนกลุ่มน้อยในอียิปต์ เลี้ยงละศีลอดให้กับชาวมุสลิมในอียิปต์ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างผู้คนในช่วงเวลาที่สภาพการเมืองและสังคมของประเทศมีความเปราะบางและแตกแยก
ที่มา: http://egyptianstreets.com/2014/07/10/jewish-synagogue-hosts-ramadan-iftar-in-cairo/
ปี 2014 ที่ไนจีเรีย กลุ่มทูตเพื่อการเปลี่ยนผ่าน Transformation Ambassadors of Nigeria (TAN) ได้เรียกร้องให้กลุ่มกบฏโบกาฮารามคำนึงถึงสันติภาพในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอดนี้ หลังจากได้ประณามการระเบิดที่ห้าง EMAB Plaza ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 20 คน หลายคนได้รับบาดเจ็บ
นายอูเดนทา โอ อูเดนทา ผู้อำนวยการงานสื่อสารสาธารณะและยุทธศาสตร์ของกลุ่ม TAN กล่าวว่า ในอดีต ช่วงเดือนรอมฎอน เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มกบฏในไนจีเรียได้ตกลงเข้ามานั่งพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อบรรลุสันติภาพ ด้านนาย กู๊ดลัค โจนาธาน ประธานาธิดีไนจีเรีย ได้ร้องขอต่อชาวมุสลิมขอพรต่อพระเจ้าเพื่อสันติและความมั่นคงของชาติ โดยใช้โอกาสการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนสร้างความเชื่อให้กับรัฐบาลของสหพันธรัฐต่างๆ ในการทำงานเพื่อกำจัดความไม่สงบ การก่อการร้ายและอาชญากรรม ที่บั่นทอนความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้ ประเทศไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ทางตะวันตกของประเทศกว่า 50 % ในอดีตไนจีเรียประสบปัญหาความรุนแรงทางการเมืองและการแบ่งแยกหลายครั้ง จนกระทั่งตั้งแต่ปี 2002 ไนจีเรียต้องประสบปัญหาความรุนแรงทางการเมืองหลายรูปแบบจากกลุ่มโบโกฮาราม ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศ
ปี 2014 ประธานาธิบดี กู๊กลัค โจนาธาน ผู้นำชาวคริสเตียนและลามิโด้ ซานุซซี่ ผู้นำมุสลิมแห่งรัฐ Kano ละศีลอดร่วมกัน
ที่มา: http://saharareporters.com/2014/07/23/finally-emir-kano-lamido-sanusi-meets-president-jonathan
เอเชีย
ปี 2014 เป็นปีทีรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เซ็นข้อตกลงสันติภาพกับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามบังซาโมโร หรือ MILF โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติความรุนแรงและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมหลายร้อยคนต่างรวมกันที่มัสยิดสีฟ้า (Blue mosque) กรุงมะนิลา เพื่อฟังธรรมและละหมาดขอพรต่อพระเจ้าเพื่อความสันติในประเทศ นายอฮัยรุดดีน อุสมาน อับดุลลาซิส นักวิชาการมุสลิมคนหนึ่ง กล่าวว่า “เราขอบคุณสำหรับทุกสิ่ง ขอบคุณอัลเลาะห์ สำหรับเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึงนี้ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความสุขของชาวมุสลิม” ไอยัน จาอาฟาร์ ชาวมุสลิม กล่าวว่า “เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการทบทวนตนเองและการแสดงความเอื้อเฟื้อแก่ผู้คนที่กำลังทนทุกข์อยู่ เราหวังว่าคำขอพรของพวกเขานั้นจะได้รับคำตอบ เราขอพรต่ออัลเลาะห์ พระเจ้าหนึ่งเดียวที่แท้จริงของเราซึ่งจะให้ความสันติสุขแก่ทุกคน โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความรุนแรง เราจะขอพรให้กับทุกๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิมที่กำลังทนทุกข์ในหลายประเทศ”
ปี 2015 เป็นปีที่กระบวนการสันติภาพมินดาเนาเดินทางถึงช่วงเวลาร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (The Proposed Bangsamoro Basic Law - BBL) กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยสมาชิกรัฐสภาของฟิลิปปินส์ หลังจากที่ต้นปีที่ผ่านมากระบวนการสันติภาพต้องสั่นคลอนจากเหตุการณ์ปะทะที่เมืองมามาซาโปโน จังหวัดมากินดาเนา ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ปีนี้ MILF ได้ส่งสารก่อนเข้าเดือนรอมฎอนซึ่งเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางกระบวนการสันติภาพครั้งใหม่ โดยพวกเขาได้จัดพิธีการส่งมอบอาวุธและปลดนักรบ ขั้นตอนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการดำเนินการกลับสู่สภาวะปกติตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุม (Normalization of the Comprehensive Agreement on the Bangsamoro -CAB)
นายโมฮาการ์ อีกบาล ประธานเวทีสันติภาพของ MILF กล่าวว่าการปลดอาวุธ ถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของ MILF แต่เพื่อสันติภาพที่แท้จริงในมินดาเนาและเพื่อความต้องการของประชาชนและเหล่านักรบที่ต้องการชีวิตปกติ โดยอาวุธต่างๆ ที่ส่งคืน ได้แก่ อาวุธอานุภาพสูง 55 ชิ้นและอาวุธคุ้มกัน 20 ชิ้น และนักรบ 145 คนที่ถูกปลดประจำการ ในการนี้ ทางฟากฝั่งรัฐบาล ประธานาธิบดี เบนนิกโน อากิโน ตัวแทนจากสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาและองค์กรระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าวด้วย
ประธานาธิบดีเบนนิกโน อากีโน ที่ 3 และ ฮัจญี มูรัด อิบราเฮม ประธานคณะกรรมการกลาง MILF เข้าร่วมเป็นสักขีพยานกระบวนการส่งมอบอาวุธและปลดนักรบปีกการทหารของ MILF (Bangsamoro Islamic Armed Forces) ที่หมู่บ้าน ซิมวย เมืองสุลตาน กุดารัต จังหวัดมากินดาเนา เมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่มา: http://www.gmanetwork.com/news/photo/138882/pnoy-witnesses-milf-decommissioning-in-maguindanao
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย หรือปาตานี มีข้อมูลสถิติวิเคราะห์โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวคือ ช่วงในเดือนรอมฎอนปี 2013 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการปะทุขึ้นของความรุนแรงในรอบเก้าปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลไทยโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติและฝ่ายบีอาร์เอ็นได้มีตกลงที่จะริเริ่มการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556
อย่างไรก็ตาม การหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนเป็นเวลา 40 วัน ตามข้อตกลงระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติกับบีอาร์เอ็นไม่ถึงกับประสบความสำเร็จทั้งหมดในการยุติความรุนแรง เพราะความรุนแรงได้ขยายตัวต่อมาในระหว่างเดือนสิงหาคมหรือช่วงท้ายๆ ของกรอบเวลาดังกล่าว อีกทั้งการขาดผู้เฝ้าระวังติดตามผลจากภายนอกและไม่มีกระบวนการจัดการข้อพิพาท
ตัวอย่างทั้งหมดคือ ความพยายามระงับความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนจากหลายภูมิภาค หลังจากมีความตึงเครียดทางการเมืองต่อเนื่องมาได้ระยะหนึ่ง เดือนรอมฎอนถือเป็นช่วงเวลาแห่งสัญญาณสันติภาพที่หลายฝ่ายพยายามในการดำเนินกระบวนการสันติภาพให้มีความหมายในช่วงเดือนนี้ เพื่อผ่อนคลายความขัดแย้งและถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทบทวนแนวทางใหม่ๆ เนื่องจากประชาชนได้ทนทุกข์ มาอย่างยาวนาน จากนโยบายทางการเมืองของรัฐและการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มต่างๆ เดือนเรอมฎอนจึงเป็นช่วงเวลาของทุกฝ่ายในการทบทวนนโยบายต่างๆ ที่ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับคุณค่าของอิสลามและคุณค่าของความหลากหลาย อีกทั้งเป็นช่วงเวลาของการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมและผู้คนทั้งหมด
อ้างอิง
ภาษาอังกฤษ
Dabanga. Darfur peace talks to resume Sunday after Ramadan break [Online]. 2014 .Available from: https://www.dabangasudan.org/en/all-news/article/darfur-peace-talks-to-resume-sunday-after-ramadan-break
CNNPhilippines. MILF decommissioning reflects message of Ramadan – professor [Online]. 2015 . Available from: http://cnnphilippines.com/news/2015/06/18/milf-decommissioning-reflects-message-of-ramadan.html
Huff Post Religion. Fighting During Ramadan Likely To Continue In Middle East, Despite Calls For Peace [Online]. 2013. Available from: http://www.huffingtonpost.com/2013/07/09/fighting-during-ramadan-_n_3566707.html
Jewish news online. British Jews go ‘hungry for peace’ during Ramadan [Online]. 2014. Available from:http://www.jewishnews.co.uk/british-jews-go-hungry-peace-ramadan/
OPAPP: MILF starts decommissioning of weapons, combatants despite delay in BBL [Online]. 2015 . Available from: http://www.opapp.gov.ph/milf/news/milf-starts-decommissioning-weapons-combatants-despite-delay-bbl
Peoples Daily. Embrace peace at Ramadan, group urges Boko Haram. 2014 . Available from: http://www.peoplesdailyng.com/embrace-peace-at-ramadan-group-urges-boko-haram
Positive news. Islamic and Jewish groups share Ramadan meal at Cairo synagogue [Online]. 2014. Available from: http://positivenews.org.uk/2014/community/16111/islamic-jewish-groups-share-ramadan-meal-cairo-synagogue/
PremiumTimes.Ramadan: Jonathan urges Nigerian Muslims to pray for peace, security 2014 . Available from: http://www.premiumtimesng.com/news/164038-ramadan-jonathan-urges-nigerian-muslims-to-pray-for-peace-security.html
The times of Israel. Familiar cast as US launches new Mideast peace bid [Online]. 2013. Available from: http://www.timesofisrael.com/familiar-cast-as-us-launches-new-mideast-peace-bid/
Voice of America. UN Chief Urges Ramadan Cease-fire for Yemen [Online]. 2015 .Available from:http://www.voanews.com/content/yemen-sides-set-for-un-led-peace-talks/2822006.html
Wikipedia. Syrian Civil War peace process [Online]. 2015. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Syrian_Civil_War_peace_process
Wikipedia . 2014Israel–Gazaconflict [Online]. 2015. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/2014_Israel%E2%80%93Gaza_conflic
Wikipedia. Mohammed Ali al-Houthi [Online]. 2015. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Mohammed_Ali_al-Houthi
Wikipedia.Islam in Nigeria. [Online] 2015. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Islam_in_Nigeria
Wikipedia. Yemeni Civil War (2015) [Online].2015. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Yemeni_Civil_War_(2015)
ภาษาไทย
หนังสือพิมพ์แนวหน้า เริ่มหยุดยิงเยเมน ยูเอนเรียกร้อง เคารพข้อตกลง [ ออนไลน์]. 2015. ที่มา :http://www.naewna.com/inter/157946
สันติภาพที่มีความหมาย: การประเมินผลการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอน [ออนไลน์]. 2013.ที่มา http://www.deepsouthwatch.org/node/4719