ถือศีลอดก่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
ดร.วินัย ดะห์ลัน
การกำเนิดอิสลามสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอย่างแยกไม่ออก มุสลิมซึ่งยึดอัลกุรอ่านเป็นหลักสำคัญถือว่าคัมภีร์เล่มนี้ถูกประทานจากพระผู้เป็นเจ้าลงมาสู่โลกในเดือนรอมฎอน ซึ่งเรื่องนี้มีที่มา ก่อนหน้า ค.ศ.610 ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ซึ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจการค้าอย่างมากแล้วใช้โอกาสจาริกไปยังถ้ำหิรออ์ทุกเดือนรอมฎอน ถ้ำหิรออ์เป็นถ้ำขนาดเล็กอยู่บนภูเขาห่างจากบ้านของท่านในเมืองมักกะฮ์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือสามกิโลเมตร ท่านอดอาหารนั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่ที่นั้นนานหลายวัน
ค่ำวันหนึ่งของเดือนรอมฎอนตรงกับวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.610 ขณะที่ท่านนบีนั่งสมาธิหลังการละ ศีลอด ท่านได้รับวิวรณ์ หรือวะห์ยูแรกจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นถ้อยคำว่า “จงอ่านด้วยพระนามของพระผู้ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด ผู้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนในสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้” ค่ำนั้นท่านนบีได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้าให้สอนคนอาหรับซึ่งน่าแปลกเนื่องจากท่านนบีอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อย่างไรก็ตามท่านได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะและความอดทนอย่างสูงนานถึง 23 ปีจึงทำการจนสำเร็จเกินกว่าที่คาดไว้
ก่อนการกำเนิดอิสลาม การถือศีลอดไม่แตะต้องอาหารและน้ำตลอดจนไม่เสพกามในเดือนรอมฎอนเป็นสิ่งที่คนยิวและคริสต์บางกลุ่มปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่มิได้กำหนดไว้เป็นหลักศรัทธาสำคัญเช่นเดียวกับอิสลามเท่านั้น ในส่วนของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ก่อนเข้ารับอิสลามท่านยึดถือนิกาย “ฮานิฟ” ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาคริสต์หัวอนุรักษ์กลุ่มเนสโทเรียน (Nestorian) นับถือพระเจ้าองค์เดียวคืออัลลอฮ์ที่แปลว่าพระเจ้า เหตุนี้ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) จึงรู้จักบรรดาศาสดาในศาสนาคริสต์หลายคนทั้งๆที่ไม่เคยร่ำเรียนมาก่อนเลย
ในปัจจุบันแม้ยังพอเห็นคนยิวและคริสต์บางส่วนถือศีลอดอยู่บ้าง ทั้งยังพอเห็นคนทั่วไปบางกลุ่มอดอาหารคล้ายการถือศีลอด แต่มุสลิมดูจะเป็นชนกลุ่มเดียวที่ถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอนอย่างมีแบบแผนและจริงจัง ทั้งนี้เนื่องจากการถือศีลอดตลอดช่วงเวลาสามสิบวันในเดือนรอมฎอนเป็นข้อบังคับในอิสลามให้บุคคลที่มีอายุถึงเกณฑ์ตามศาสนบัญญัติ มีสุขภาพดีไม่ป่วยไข้หรือไม่ใช่ผู้ที่เดินทางต้องถือปฏิบัติ
สำหรับสตรีการถือศีลอดละเว้นเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการยกเว้นเหล่านั้นใช้วิธีถือศีลอดทดแทนได้หลังจากนั้นและหรือทำทานตามที่กำหนด การถือศีลอดจึงนับเป็นหลักศรัทธาที่มุสลิมยึดถือ ผลพลอยได้ของการถือศีลอดคือความอดทน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หิวโหย และสิ่งสำคัญซึ่งท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กล่าวไว้คือการถือศีลอดนั้นเป็นไปเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ประโยชน์อย่างหลังนี้มีงานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากยืนยันไว้ชัดเจนแล้ว
ผู้ที่ถือศีลอดเคร่งครัด โดยไม่มีปัญหาเรื่องการกินมากเกินไปในเวลากลางคืน พักผ่อนร่างกายอย่างเพียงพอ จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ในที่นี้ขอสรุปไว้สี่ด้าน ได้แก่ ประโยชน์แรกคือการถือศีลอดช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดี ทำให้เกิดความสงบสันติ ทั้งนี้เนื่องจากแนวปฏิบัติสำคัญในเดือนรอมฎอนนอกจากอดอาหารและน้ำทุกประเภทตลอดจนงดเว้นการเสพกามช่วงเวลากลางวันแล้ว อิสลามยังกำหนดให้ผู้ถือศีลอดสงบจิตใจ ไม่นินทาว่าร้าย ทำบุญสุนทานต่อศาสนาและผู้อื่น อ่านท่องคัมภีร์อัลกุรอ่าน และละหมาดเพิ่มเติมในช่วงค่ำ
การปฏิบัติทางด้านจิตใจ ไม่โลภโกรธหลงเช่นนี้ช่วยให้จิตเกิดความสุขสงบ มีรายงานทางการแพทย์จำนวนมากยืนยันว่าความสุขสงบในจิตใจและจิตวิญญาณสร้างผลดีต่อสุขภาพอย่างมาก โรคร้ายจำนวนไม่น้อยบรรเทาหรือทุเลาลงจากการทำสมาธิหรือการสร้างความสงบทางจิตใจ นอกจากนี้ยังช่วยยืดอายุขัย ช่วยให้กายมีสุขภาพที่ดีเป็นระยะเวลานาน ไม่กลายเป็นคนสูงวัยที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคภัยอย่างที่เห็นกันบ่อยๆกับผู้คนยุคหลัง
ประโยชน์ต่อสุขภาพประการที่สองคือการถือศีลอดอย่างถูกต้องช่วยให้ไขมันในเลือดอยู่ในภาวะที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ รายงานทางการแพทย์ตีพิมพ์ในวารสาร the Annals of Nutrition Metabolism ค.ศ.1997 ให้ข้อสรุปว่าการถือศีลอดช่วยลดคอเลสเตอรอลตัวเลวในเลือดหรือแอลดีแอลอย่างน้อย 8% ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่น้อยกว่า 30% ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลตัวดีหรือเอชดีแอลได้ 14% ส่งผลให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น การถือศีลอดจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
การละศีลอดยามเย็นร่วมกับครอบครัว ญาติพี่น้อง มิตรสหายยังช่วยให้สภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้นได้อีก ชนิดของอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ดังเช่น การได้รับอาหารประเภทซุป ผักผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง อินผลาลัม ช่วยเสริมโภชนาการให้หลากหลายจากที่เคยรับประทานเป็นปกติ ปริมาณอาหารหากจำกัดไว้ได้ไม่รับประทานมากเกินไปหรือดีกว่านั้นคือลดปริมาณลงจะช่วยเสริมสุขภาพกายให้ยิ่งดีมากขึ้น
ประโยชน์ประการที่สามคือช่วยแก้หรือลดปัญหาเสพติด เห็นชัดที่สุดคือการลดละเลิกบุหรี่ ตามปกติมุสลิมที่ดีไม่ดื่มสุราหรือเสพยาอยู่แล้ว ปัญหาเสพติดเดียวที่พบในมุสลิมที่ดีที่ว่านั้นคือเรื่องของบุหรี่ ในระหว่างเวลาถือศีลอดทั้งวัน มีการห้ามการเสพบุหรี่ด้วย คนที่หวังจะเลิกบุหรี่จึงมักทำสำเร็จในช่วงถือศีลอดนี่เอง แต่ทั้งนี้ต้องอดใจไว้ให้ได้ว่าช่วงละศีลอดตอนเย็นต้องไม่หันกลับไปสูบบุหรี่อีก จึงน่าเสียดายที่หลายคนอดบุหรี่ได้ทั้งวัน แต่เมื่อละศีลอดแล้วกลับไปตั้งต้นสูบใหม่ คิดจะใช้เดือนรอมฎอนเลิกบุหรี่จึงต้องอดทนเพื่อหาทางเลิกบุหรี่ให้ได้
ประโยชน์ประการที่สี่ซึ่งหลายองค์กรที่ไม่ใช่มุสลิมนำไปใช้กันมากคือการลดน้ำหนักตัว รู้ๆกันอยู่ว่าวิธีการลดน้ำหนักตัวที่ดีที่สุดคือการลดพลังงานที่ได้รับจากอาหาร ช่วงถือศีลอดเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการลดพลังงานจากอาหาร เมื่อละศีลอดช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกแล้วควรหาทางลดปริมาณอาหารลงอย่าเผลอรับประทานเพิ่มเติมยามดึก อาหารที่รับประทานก่อนเช้าและหลังดวงอาทิตย์ตกต้องลดปริมาณลงให้ได้ ทำเช่นนี้ตลอดเดือน น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างแน่นอน
นี่เป็นเพียงประโยชน์สี่ประการสั้นๆ ยังมีอีกมากมายหลายประการที่ผู้ถือศีลอดอย่างถูกต้องจะได้รับต้องตรงกับสิ่งที่นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กล่าวไว้เมื่อ 1,400 ปีมาแล้วนั่นคือการถือศีลอดเพื่อการมีสุขภาพที่ดี สัจธรรมนี้ถูกพิสูจน์มาแล้วทั้งในอดีต ปัจจุบัน และจะอยู่ยืนยงต่อไปในอนาคต