ยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล
ในช่วงนี้ อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจกับประเด็นอุยกูร์เติร์กในไทยหลังจากที่เงียบหายไปนับตั้งแต่หนึ่งปีที่ผ่านมา เมื่อได้พบกลุ่มชาวอุยกูร์เติร์กจำนวนหนึ่งอยู่ในป่า และกลุ่มเหล่านี้ก็ได้ถูกกักกันตัว เพื่อพิสูจน์สัญชาติ ที่พวกเขาต่างอ้างว่าเป็นชาวตุรกี
หากตั้งคำถามเบื้องต้นที่หลายคนสงสัย ก็คงจะเป็นอุยกูร์เติร์กนี่คือใครกัน?
ชาวอุยกูร์เติร์ก เป็นมุสลิมเชื้อสายเติร์ก ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับชาวตุรกีในปัจจุบัน หากแต่ว่าชาวอุยกูร์เติร์กนี้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซินเจียงของจีน ที่ซึ่งพวกเขาเองเรียกว่าเป็น เตอร์กิสถานตะวันออก ด้วยความต่างที่มี แต่ถูกผนวกรวมเข้ากับจีน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์เติร์กกับจีนจึงเกิดขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาปกครองประเทศ และใช้นโยบายผสมกลมกลืน รวมถึงกดทับ อัตลักษณ์เดิมที่มีความต่างจากจีนโดยทั่วไปเป็นทุนเดิมของชาวอุยกูร์เติร์ก โดยพยายามที่จะยัดเหยียดความเป็นจีนให้กับคนเหล่านี้ และปิดกั้นเสรีภาพในเรื่องการประกอบศาสนกิจ ภายใต้แรงกดเช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวที่ต้องการปลดแอกพื้นที่นี้ให้เป็นอิสระเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้นและเห็นชัด จนเกิดการปะทะกันเป็นความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งที่เป็นความรุนแรงเด่นชัด คือ ในปี 2009 ก็เกิดการปะทะครั้งใหญ่ขึ้นที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงระลอกใหม่ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[1] ขณะเดียวกันนับตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 9-11 ขึ้นก็ทำให้มีการอ้างว่ากลุ่มเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์เติร์กในจีนนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะหฺ จนทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัวเพิ่มขึ้นแก่สังคมจีน
ด้วยภาวะเช่นนี้ โดยเฉพาะการถูกห้ามจากการประกอบศาสนกิจ ทำให้ชาวอุยกูร์เติร์กหลายคนเริ่มแสวงหาที่พักพิงแห่งใหม่ให้กับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นปากีสถานที่เป็นประเทศใกล้เคียง รวมไปถึงประเทศในแทบเอเชียกลาง หรือ ตะวันออกกลาง แน่นอนว่าประเทศหนึ่งที่เป็นเป้าหมายก็คือ ตุรกี ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ชาวอุยกูร์เติร์กได้ย้ายถิ่นไปนับตั้งแต่ปี 1965 ซึ่งตุรกีได้ส่งเครื่องบินไปรับชาวอุยกูร์เติร์กมาจากอัฟกานิสถานที่พวกเขาเดินเท้าอพยพออกมา จำนวนกว่า 200 คน แม้ว่าก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1933-34 ตุรกีจะรับ Isa Yusuf Alptekin หัวหน้าของเตอร์กิสถานที่อพยพเข้ามาก่อนแล้ว นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการอพยพของชาวอุยกูร์เติร์กมาสู่ตุรกีตลอดมา[2] สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันที่ทำให้ตุรกียอมรับก็เนื่องจากความเป็นเชื้อสายเติร์กที่มีอยู่เหมือนกัน และยิ่งชัดเจนขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลปี 2009 ที่จำนวนผู้อพยพเริ่มสูงขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่พรรครัฐบาลสายอิสลามได้บริหารประเทศ ซึ่งได้ประกาศจุดยืนชัดเจนในการประณามจีนในเวลานั้น ประกอบกับรัฐบาลพรรคอัคมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศมุสลิมและประเทศยากไร้เป็นทุนหนุนเสริมที่ทำให้ตุรกีกลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นของชาวอุยกูร์เติร์กที่ต้องการอพยพ และด้วยประเด็นนี้ทำให้ตุรกีกับจีนเองแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ด้วยดี แต่ก็ยังคงเรียกร้องพร้อมประณามรัฐบาลจีนทุกครั้งหากมีการกดขี่ต่อชาวอุยกูร์เติร์กเกิดขึ้น
แล้วเหตุใดไทยจึงมาเกี่ยวข้อง?
สืบเนื่องจากเมื่อปีที่แล้วที่มีข่าวว่าพบกลุ่มคนไม่ทราบสัญชาติเดินทางเข้าเมืองไทยมาในขณะที่กำลังค้นหากลุ่มอพยพชาวโรฮิงญา เมื่อได้มีการกักกันตัวไว้ แล้วสอบสวน กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้อ้างตัวว่าเป็นชาวตุรกี ที่ต้องการเดินทางไปยังตุรกี และหลังจากนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นชาวอุยกูร์เติร์ก ภายหลังจากนั้น ไทยก็กักตัวกลุ่มเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป โดยตุรกีได้ออกรับว่าตุรกีเองพร้อมที่จะรับกลุ่มนี้เข้าสู่ตุรกี แต่ทางการจีนก็ได้ยื่นข้อเสนอว่าขอให้ไทยส่งตัวกลับ กระบวนการเจรจาต่อรองเป็นไปด้วยระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งเมื่อวันที่2 กรกฎาคม 58 ไทยได้ส่งชาวอุยกูร์เติร์กจำนวน 173 คนไปยังตุรกี โดยที่ส่วนมากเป็นเด็กและผู้หญิง ซึ่งได้สร้างความประทับใจและความสบายใจมากขึ้น ที่เหตุการณ์กำลังดำเนินไปด้วยดี ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ผู้อพยพมีสิทธิร้องขอไปยังประเทศที่สามได้ หากมองว่าการกลับคืนสู่ประเทศเดิมนั้นจะเกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่เมื่อกลางดึกของวันที่ 8 กรกฎาคม 58 ก็มีข่าวการประท้วงของชาวอุยกูร์เติร์กในตุรกีหน้าสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ในอิสตันบูล เนื่องจากความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยได้ส่งคนจำนวนกว่า 109 คน ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ชาย กลับไปจีนอย่างลับๆ ด้วยเครื่องบินของกองทัพ ในวันต่อมา ก็ได้เกิดเป็นประเด็นขึ้นจนรัฐบาลไทยออกมาระบุว่าได้ส่งกลับประเทศจีน เนื่องจากผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วว่ากลุ่มนี้เป็นชาวจีน ในขณะที่กลุ่มก่อนหน้านี้นั้นเป็นกลุ่มที่ไม่มีความผิดใดๆ ตามกฎหมายและประสงค์เดินทางไปตุรกี ซึ่งการประท้วงจึงขยายไปสู่สถานทูตไทยในตุรกี แม้ว่าจะไม่ได้มีความรุนแรงเฉกเช่นที่เกิดขึ้นที่สถานกงสุลก็ตาม[3]
ผลจากการส่งกลับครั้งนี้เป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าตัวละครต่างๆ ต่างก็มีผลสะท้อนที่ต่างกันไป เริ่มจากไทยเองที่ยืนยันว่าการส่งตัวผู้อพยพกลับจีนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติออกมาเป็นเช่นนี้ และระบุว่าจีนจะรับรองความปลอดภัย ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นที่วิพากษ์ว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไทยเองต้องการที่จะเอาใจจีนมากขึ้น เพราะต้องการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้น ซึ่งหากส่งตัวทั้งหมดไปยังตุรกีก็อาจทำให้จีนเองไม่พอใจ
ท่าทีของฝ่ายจีน แม้จะเรียกร้องว่ากลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ทางจีนต้องการตัว แต่หลังจากการส่งตัวกลับก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดจากจีน นอกจากการรับรองความปลอดภัยกับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดและยินดีที่จะให้มีผู้แทนในการติดตามผล
ส่วนท่าทีของตุรกี กระทรวงต่างประเทศของตุรกีได้ออกประณามการกระทำของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ โดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่แม้ทราบว่าการส่งคนกลับไปจะเป็นอันตรายต่อชีวิต แม้ตุรกีจะยินดีรับไว้แล้วก็ตามและจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด[4] แต่ขณะเดียวกันประธานาธิบดีแอร์โดอานเองก็ออกมาระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการบุกรุกสถานกงสุลของไทยและทุกคนคือแขกของประเทศ[5] เอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทยก็ยืนยันที่จะรักษาความปลอดภัยให้กับชาวไทยในตุรกี[6] อย่างไรดี ท่าทีของตุรกีในครั้งนี้ก็อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองที่กำลังเป็นไปในประเทศไม่น้อย เมื่อกลุ่มขบวนการชาตินิยมตุรกีเองก็มีการเข้าร่วมสนับสนุนประท้วงจีนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่นานมานี้ และการช่วยเหลือชาวอุยกูร์เติร์กในก่อนหน้านี้ก็ทำให้กลุ่มชาตินิยมที่เป็นอีกกลุ่มซึ่งพรรคอัคเล็งว่าจะดึงเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลผสมพอใจไม่น้อย แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของตุรกีเองก็ตาม อย่างไรก็ตามในแง่ความสัมพันธ์ไทยตุรกีในประเด็นอื่นนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบอันใด
นอกจากนี้แล้วยังมีท่าทีที่ออกมาจากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น UNHCR, Human Rights Watch[7] และสภาอุยกูร์เติร์กโลก[8] ที่ออกมาแสดงความกังวลและมองว่าไทยกำลังทำสิ่งที่ขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาเองที่ออกมาแสดงความกังวลนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่เนรเทศเชิงบังคับผลักไสชาวอุยกูร์เติร์กเหล่านั้นออกนอกประเทศอีก[9] ท่าทีของสหรัฐฯในครั้งนี้ออกมาเพื่อที่จะแสดงจุดยืนที่ค้านต่อจีนด้วยเช่นกัน แม้ว่าสหรัฐเองก็ไม่ได้มีท่าทีที่เป็นมิตรนักต่อตุรกีก็ตาม
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือว่าทำให้ภาพลักษณ์ของไทยนั้นเสียหายไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สิ่งที่ไทยต้องพิสูจน์หากจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมา นั่นคือ กระบวนการติดตามผลที่จีนได้เสนอไปนั้นไทยจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดการต่อส่วนที่เหลือในประเทศให้เป็นไปตามกรอบสิทธิมนุษยชนสากล
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของคนไทยในตุรกีนั้นก็อาจไม่น่าเป็นห่วงมากนักแม้ว่าจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดก็ตาม แต่เมื่อมีกระบวนการตกลงตลอดจนการแถลงจุดยืนในการต้อนรับแขกอย่างให้เกียรติของประธานาธิบดีแล้วก็เป็นเสมือนการแสดงท่าทีของตุรกีในเรื่องของความปลอดภัยในตุรกีเช่นกัน ขณะเดียวกันนอกจากการประณามแล้ว ก็ยังไม่มีสถานการณ์ที่ชัดเจนของตุรกีนักต่อไทย เพราะไทยเองในสถานการณ์นี้ก็เปรียบเสมือนกับคนกลาง แต่หากไทยยังคงดำเนินการที่ซ้ำรอยในอนาคตก็อาจสร้างความไม่พอใจได้มากขึ้น
[1] http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/39802-history.html
[2] http://blogs.wsj.com/briefly/2015/01/30/5-things-to-know-about-turkey-and-the-chinese-uighurs/
[3] http://www.aljazeera.com/news/2015/07/thailand-returns-uighurs-china-150709080144676.html,http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/58151-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B9%88.html#
[4] http://www.mfa.gov.tr/no_-199_-9-temmuz-2015_-uygur-turku-soydaslarimizin-tayland_dan-gonderilmesi-hk_.tr.mfa
[5] http://www.trthaber.com/haber/gundem/dais-rejimin-destekledigi-bir-teror-orgutudur-193532.html
[6] http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/58147
[7] http://www.bangkokpost.com/news/general/618384/thailand-on-defensive-as-activists-slam-uighur-deportation
[8] http://www.thairath.co.th/content/510507
[9] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1436461116