สันติภาพศึกษา: บทบาท และกระบวนการมีส่วนร่วมในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง
Peace Education: Roles and Activities on Conflict transformation
กษมา จิตร์ภิรมย์ศรี
ตีพิมพ์ในวารสารนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2558, หน้า 53-76
การสอดแทรกสันติศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา หรือ มัธยมศึกษา เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน เพื่อเสริมสร้างทักษะให้เยาวชนรู้จักการเห็นอกเห็นใจ และ เข้าใจในความแตกต่างระหว่างกันของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงเรียนรู้ทักษะการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเคารพความแตกต่างในสังคมพหุวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพในกรณีสถานศึกษาอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง บทความฉบับนี้เป็นการตั้งคำถามถึงบทบาทในการเรียนการสอนสันติภาพศึกษา (Peace Education) ในการมีส่วนในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง โดยเริ่มศึกษากระบวนการของทฤษฎีการเรียนการสอนสันติภาพศึกษาศึกษา รวมไปถึงการศึกษาประสบการณ์ในการเรียนการสอนสันติภาพศึกษาศึกษาจากกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่มีความขัดแย้ง อาทิ นากอร์โน-การาบาฮ์ ของอาร์มีเนีย และ อินเดีย พร้อมกับนำประสบการณ์จากต่างประเทศ มาปรับใช้กับหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทย เพื่อการแปรเปลี่ยนสภาพความขัดแย้งของประเทศไทยในที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ทั้งความขัดแย้งในทางอุดมการณ์ทางการเมืองในส่วนกลาง และ ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้นการเรียนการสอนสันติภาพศึกษา (Peace Education) จึงกลายเป็นบทบาทสำคัญในการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของสันติภาพให้เจริญงอกงามภายในพร้อมกับการเจริญเติบโตของเยาวชน ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าว ยังเป็นการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีเมื่อเยาวชนต้องเผชิญความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับตนเอง และ เป็นการเสริมสร้างการเตรียมพร้อมในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างกันสูงในอนาคต
บทนำ
สันติศึกษา (Peace Studies) เป็นการศึกษาแขนงใหม่มีรูปแบบสหวิทยาการ เป็นการเชื่อมโยงความรู้ทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และ สาขาอื่นๆ เข้ามาร่วมในการวิเคราะห์เพื่อหาต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเน้นการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง เน้นกระบวนการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างตัวละครที่มีความขัดแย้งระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และ เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากการเผชิญหน้าเป็นศัตรูกันเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยเคารพในความแตกต่างระหว่างกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นความความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในรัฐ มากกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ อาทิ การเรียกร้องเป็นรัฐอิสรภาพจากดินแดนที่ชนกลุ่มน้อยภายในรัฐเป็นเสียงส่วนใหญ่ เช่น กรณีจังหวัดมินดาเนา ของประเทศฟิลิปปินส์ หรือ เหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของ ประเทศไทย ความขัดแย้งเนื่องจากการแตกต่างกันของอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น กรณีปะทะกันของมวลชนเสื้อเหลือง และ เสื้อแดง ในประเทศไทย หรือ กรณีกบฏลัทธิเหมา ของ ประเทศเนปาล ความขัดแย้งของชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์สิงหลกับชาติพันธุ์ทมิฬที่นำโดยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) ในประเทศศรีลังกา และ ความขัดแย้งเนื่องจากความแตกต่างกันทางศาสนา เช่น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโคโซโว การแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เริ่มใช้กระบวนการสันติภาพเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีบางความขัดแย้ง ที่แก้ปัญหาสำเร็จด้วยวิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น ความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา ที่ใช้วิธีการทางการทหารปราบพยัคฆ์ทมิฬอีแลม จนราบคาบ แต่การปราบปรามอย่างเด็ดขาดไม่ได้การันตีสันติภาพที่เกิดขึ้นในศรีลังกาจะเป็นสันติภาพอย่างยั่งยืน (อภิญญา ดิสสสะมาน, 2552)[1] ดังนั้นการแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนการสันติภาพจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน และ อีกทั้งเป็นการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
กระบวนการสันติภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เป็นทางเลือกใหม่ที่พยายามคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ภาพรวมของขั้นตอนก่อนกระบวนการสันติภาพมีดังนี้ (Fisas, 2014)
ภาพประกอบที่1: แบบจำลองขั้นตอนในกระบวนการสันติภาพ
ดังนั้นก่อนถึงขั้นกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการต้องผ่านขั้นตอนการติดต่อ การจัดเตรียมข้อมูล การพูดคุย และ การเจรจา อย่างไม่เป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการ โดยขั้นตอนตามแบบจำลองทั้งหมดในภาพประกอบที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งในระบวนการสันติภาพด้วยเช่นกัน กระบวนการสันติภาพสามารถกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินสูงมาก อีกทั้งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสำเร็จไม่ได้ในเวลาอันสั้น โดยขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดคือการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ[2] ในการเจรจาสันติภาพระดับทางการส่วนใหญ่ จะเป็นกระบวนการที่ตัวแสดงที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝ่ายเจรจาต่อรองเพื่อหาข้อสรุปในจุดร่วมระหว่างกัน และ ข้อสรุปจากการเจรจาจะกลายเป็นข้อตกลงสันติภาพที่ทั้งคู่ขัดแย้งต้องปฏิบัติตามหลังจากลงนามยอมรับในข้อตกลงแล้ว (Jeong, 2000)
หลังการลงนามในข้อตกลงสันติภาพแล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่า เมื่อกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นขึ้น การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ (Peace Support) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต้นที่จะช่วยประคับประคองกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการไม่ให้ล้มลงไป การเสริมสร้างขีดความสามารถในความรู้ และความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพของเยาวชน และ ประชาชนทั่วไป ด้วยการเรียนการสอนสันติภาพศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการหนุนเสริมสันติภาพ (Berghof foundaion, 2012) การเรียนการสอนสันติภาพศึกษามีวัตถุประสงค์ที่ลดการใช้ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง หนุนเสริมการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งโดยสันติวิธี และ เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของ บุคคล กลุ่มเคลื่อนไหว สังคม สถาบันต่างๆ ในความเข้าใจเรื่องกระบวนการสันติภาพ รวมไปถึงการพัฒนาทักษะ ค่านิยม และ ความรู้ในการเสริมสร้างสังคม และวัฒนธรรมที่เป็นสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ [3]
การเรียนการสอนสันติภาพศึกษาในหลักสูตรการเรียนในระดับโรงเรียน หรือ สถาบันอุดมศึกษา เป็นวิธีการที่จะสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน เพื่อเสริมสร้างทักษะให้เยาวชนรู้จักการเห็นอกเห็นใจ และ เข้าใจในความแตกต่างระหว่างกันของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงรู้จักทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยการเคารพความแตกต่างในสังคมพหุวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพในกรณีสถานศึกษาอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง ดังนั้นในบทความฉบับนี้เป็นการตั้งคำถามถึงบทบาทในการเรียนการสอนสันติภาพศึกษา (Peace Education) ในการมีส่วนในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งของพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยเริ่มศึกษาสาขาของทฤษฎีการเรียนการสอนสันติภาพศึกษา รวมไปถึงการนำประสบการณ์ในการเรียนการสอนสันติภาพศึกษาจากกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่มีความขัดแย้ง อาทิ อาร์เมเนีย และ อินเดีย ที่สามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างการเรียนการสอนสันติภาพในประเทศไทย และ บทสุดท้ายของบทความจะกล่าวถึงทำไมการเรียนการสอนสันติภาพศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญของการเรียนการสอนในประเทศไทย
[1] อภิญญา ดิสสะมาน (สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า) ได้ให้เหตุผลว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลศรีลังกาโดยการนำของประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษาสามารถปราบปรามหัวหน้ากลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬได้สำเร็จในเดือน พฤษภาคม 2552 ด้วยการสังหาร นายเวฬุพิลัย ประภาการัน ผู้นำกลุ่มกบฏ และ นายชาเรด แอนโธนี บุตรชายวัย 24 ปี เป็นการยุติการสู้รบที่ยาวนานกว่า 25 ปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60,000 คน แต่ชาวทมิฬไม่ได้มีเพียงแค่ในศรีลังกาเท่านั้น แต่ยังมีชาวทมิฬอพยพอยู่ที่ต่างๆทั่วโลก ดังนั้นประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษาควรเร่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติเพื่อเป็นการเยี่ยวยา และ ไม่ให้ชาติพันธ์ทมิฬกลับมาทำสงครามหวนคืน
[2] อ้างแล้ว (Fisas, 2014 : 7)
[3] อ้างแล้ว (Berghof foundaion, 2012 : 76)
อ้างอิงบทความโปรดใช้
กษมา จิตร์ภิรมย์ศรี. 2558. "สันติภาพศึกษา: บทบาท และกระบวนการมีส่วนร่วม ในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง." วารสารนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 53-76.