Skip to main content

 ฟารีดา ปันจอร์

 สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

 

           งานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาเกี่ยวกับนักโทษการเมือง/นักโทษทางความคิดที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง แต่มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ศึกษา บทบาทของนักโทษการเมืองต่อกระบวนการสันติภาพ  บทความชิ้นนี้ต้องการสรุปการศึกษาของญะซิร อะลัชกัร (Yaser Alashqar) นักวิชาการชาวปาเลสไตน์ซึ่งพำนักอยู่ที่ไอร์แลนด์เหนือ  เรื่อง “Political Prisoners in Peacemaking Process: The Case of Northern Irelands” (นักโทษทางการเมืองในกระบวนการสันติภาพ:กรณีศึกษาจากไอร์แลนด์เหนือ) ที่ปรากฏอยู่ในเวบไซต์ของสถาบัน Glencree Centre for Peace and Reconciliation (http://www.glencree.ie/index.html)  ประเทศไอร์แลนด์ โดยในช่วงท้ายได้มีการสะท้อนกรณีการปล่อยตัว “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” นักโทษคดีความมั่นคง อดีตแกนนำขบวนการพูโล  ซึ่งมีนัยยะต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขของรัฐบาลในปัจจุบัน

กรอบแนวคิด: สันติภาพและนักโทษทางการเมือง

            งานศึกษาต้องการอธิบายถึงการมีส่วนร่วมของนักโทษการเมืองในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่จำเป็นต้องครอบคลุมทุกฝ่าย  โดยใช้กรณีศึกษาบทบาทนักโทษการเมืองในไอร์แลนด์เหนือต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพจนนำไปสู่การเกิดข้อตกลง Good Fridays   หรือ Belfast  Agreement ในปี 1998 กรอบที่ใช้ในการศึกษาจากแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Conflict resolutions)  คือ การสร้างสันติภาพ (Peace making) ซึ่งโดยทั่วไป แนวทางดังกล่าวคือการใช้ความพยายามทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อทำให้คู่ปรปักษ์เข้ามาสู่กระบวนการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งและเกิดข้อตกลงเพื่อลดหรือยุติความรุนแรง  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายที่สาม (Third party) เช่น องค์กรระหว่างประเทศ  และจำเป็นต้องให้ความสำคัญฝ่ายอื่นๆ ในระดับรากหญ้าเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อร่วมกันส่งเสียงให้เห็นรากเหง้าของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนักโทษการเมือง ภาคประชาสังคม พรรคการเมืองขนาดเล็ก  หรือแม้แต่องค์กรติดอาวุธ

         ความหมายของนักโทษการเมืองในงานศึกษาชิ้นนี้  ได้แก่ กลุ่มปัจเจกบุคคลที่ใช้ความรุนแรง มีการใช้อาวุธ เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง และเป็นผู้ที่ได้รับโทษจำคุกระยะยาว ในบริบทของไอร์แลนด์เหนือ  โดยความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนอังกฤษ  (loyalists) และฝ่ายที่ต้องการเป็นเอกราช(รีพับลิกัน)  กองกำลังติดอาวุธ IRA หรือ Irish Republican Army  ได้ใช้การต่อสู้ทางอาวุธ เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ  ในช่วงแรก รัฐบาลอังกฤษไม่ยอมให้สถานะทางการเมืองแก่นักโทษการเมือง เพราะเห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นอาชญากรหรือกลุ่มก่อการร้าย  กระนั้น พวกเขาได้ใช้ความพยายามในการแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า พวกเขามีเหตุผลที่จะทำให้รัฐบาลยอมรับว่าพวกเขาเป็นนักโทษสงครามหรือเป็นนักโทษการเมืองที่การต่อสู้นั้นเกิดขึ้นจากเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลของอาชญากรรมทั่วไป

การต่อสู้เพื่อสถานะทางการเมือง

        สมาชิกกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับโทษจำคุก ภายใต้กฎหมายการก่อการร้ายของไอร์แลนด์เหนือ  (Emergency Provisions of  1973) มีทั้งฝ่ายรีพับลิกัน (รีพับลิกัน, กลุ่มคาทอลิคที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ)  และฝ่ายลอยัลลิสต์ (Loyalists, กลุ่มโปรแตสแตนท์ที่ไม่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระและยังยืนยันจะอยู่ร่วมกับสหราชอาณาจักร) ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับข้อกล่าวหาก่อการร้าย  ฝ่ายลอยัลลิสต์มองว่าการใช้กำลังอาวุธเป็นไปเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนฝ่ายรีพับลิกันมองว่าการใช้กำลังอาวุธเพื่อต่อสู้ระบอบอาณานิคมอังกฤษ  ในช่วงแรกฝ่ายรีพับลิกันท้าทายและต่อต้านกฎหมายของรัฐเพื่อให้ได้รับการยอมรับสถานะทางการเมือง  เช่น การปฏิเสธไม่ใช่ชุดนักโทษ แต่คลุมตนเองด้วยผ้าห่ม ไม่ให้ความร่วมมือทำความสะอาดคุก  ซึ่งนำมาสู่ชื่อเรียกของการประท้วงว่า Dirty Protest (การประท้วงที่สกปรก)

      ช่วงปี 1980-1981  ฝ่ายรีพับลิกันได้ปรึกษากับผู้นำพรรคการเมืองซินเฟน (Sinn Fein) ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองของขบวนการ IRA  ที่อยู่ภายนอก พวกเขามีความพยายามต่างๆ เพื่อได้รับการยอมรับสถานะเป็นนักโทษการเมือง โดยวิธีอดอาหารประท้วงทีละคน  จนกว่าจะได้รับการยอมรับสถานะ และบรรลุถึงเป้าหมายทางการเมือง  บ็อบบี แซนด์ (Bobby Sands)  เป็นคนแรกที่อดอาหารประท้วง ต่อมาพรรคการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวหรือพรรคซินเฟนได้เสนอชื่อเขาในการเลือกตั้งและได้รับชัยชนะจากคะแนนเสียง 30,000 คะแนน แต่ถึงอย่างนั้น แซนด์ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังจากอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 66 วัน และในเวลาต่อมา อาสาสมัคร IRA อีก 6 คน ก็เสียชีวิตตามเขาไปจากอาหารประท้วง  การตายของแซนด์และเพื่อนของเขาสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวไอริช และได้รับการยอมรับการเคลื่อนไหวจากประชาคมระหว่างประเทศ จนกระทั่งนางมากาเร็ต แธ็ตเชอร์  นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษยอมรับสถานะนักโทษการเมือง ให้แก่ทั้งกลุ่มรีพับลิกัน และกลุ่มลอยัลลิสต์

       ญะซิรวิเคราะห์ว่าวิธีการทั้งสองรูปแบบ คือทั้งการประท้วงและการอดอาหารนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและท้าทายคุณค่าของการต่อสู้  สำหรับฝ่ายรีพับลิกัน คุกเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเป็นสถานที่ของการต่อสู้และการต่อต้านระบบอาณานิคม  โดยพวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับผู้นำภายนอก อีกทั้งคุกยังเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านในระดับปัจเจกบุคคล เนื่องจากระหว่างถูกจำคุก สมาชิกของทั้งฝ่ายรีพับลิกันและฝ่ายลอยัลลิสต์ก็ได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกัน ผลคือทำให้การเป็นศัตรูนั้นน้อยลง

อนุสรณ์รำลึก บ็อบบี แซนด์ นักโทษการเมืองที่เสียสละชีวิตจากการอดอาหารประท้วงต่อต้านรัฐบาล ณ เมืองเบลฟาตส์ไอร์แลนด์เหนือ

บทบาทของนักโทษทางการเมืองต่อกระบวนการสันติภาพ

        นักโทษการเมืองมีผลต่อการผลักดันกระบวนการสันติภาพ  นักโทษการเมืองฝ่ายรีพับลิกันหันไปสนับสนุนผู้นำในปีกการเมืองและมีบทบาทในการผลักให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง ที่นำไปสู่ข้อตกลง Good Fridays ในปี 1998    ระหว่างในคุก พวกเขาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกับก้าวย่างทางการเมืองเพื่อการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและนำเสนอเอกสารที่เป็นข้อเสนอให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายรีพับลิกันเพื่อที่จะให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยเอกสารดังกล่าวมีผลต่อข้อตกลงหยุดยิงในปี 1994 ซึ่งนำมาสู่เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเจรจา อย่างไรก็ตาม ก็มีการละเมิดการหยุดยิงในปี 1996 เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษล้มเหลวในการจัดการปล่อยนักโทษทางการเมือง  ซึ่งเป็นสิ่งกองกำลังติดอาวุธฝ่ายรีพับลิกันคาดหวังอย่างจริงจัง

        จากการสัมภาษณ์นักโทษที่ประท้วงโดยการอดอาหาร ลอเรนส์ แม็คคีโอน (Laurence McKeown) ได้อธิบายเกี่ยวกับการปล่อยตัวนักโทษว่า  นักโทษการเมืองฝ่าย รีพับลิกัน ไม่ยอมรับการปล่อยตัวโดยรัฐบาลอังกฤษเพื่อใช้เป็นข้อต่อรอง  แต่พวกเขายอมรับการปล่อยตัวซึ่งไปเป็นตามเงื่อนไขของข้อตกลงของการปล่อยตัวในเวลาต่อมา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับฝ่ายกลุ่มลอยัลลิสต์ เมื่อนักโทษการเมืองส่วนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของกองกำลังติดอาวุธ Ulster Defence Association  (UDA) และ Ulster Freedom Fighters (UFF) ไม่สนับสนุนการเจรจาสันติภาพในปี 1998  แต่เมื่อตัวแทนของรัฐเข้าไปพูดคุยเกี่ยวกับความต้องการและการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ฝ่ายกลุ่มลอยัลลิสต์ก็เข้ามาสนับสนุนการเจรจาสันติภาพอีกครั้ง    

ข้อสรุปจากวิเคราะห์บทบาทของนักโทษการเมืองต่อกระบวนการสันติภาพ

  1. ความเข้าใจที่ว่านักโทษการเมืองที่นักต่อสู้ในอดีตและไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอีกต่อไป เป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เนื่องจากกลุ่มหรือปัจเจกบุคคลผู้นั้นยังคงเกี่ยวข้องกับใจกลางของความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ กรณีนี้ การที่ตัวแทนจากพรรคซินเฟนและขบวนการติดอาวุธได้เข้าปรึกษานักโทษฝ่ายรีพับลิกันในคุกได้ผลักดันให้กระบวนการทางการเมืองเป็นไปได้
  2. นักโทษการเมืองทั้งฝ่ายกลุ่มลอยัลลิสต์และกลุ่มรีพับลิกันได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่สนับสนุนพวกเขาทั้งสองฝ่าย เนื่องจากพวกเขามีจุดยืนในการปกป้องสิทธิและความเท่าเทียมของประชาชนของพวกเขาโดยใช้ช่องทางที่ปฏิเสธความรุนแรง ดังที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้ช่องทางในการดำเนินการปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มของนักโทษทางการเมือง

   3.ความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของนักโทษการเมืองอาจไม่ประสบความสำเร็จหากไม่มีผู้สนับสนุนท้องถิ่น (local players) ที่อยู่ภายนอก เช่น ผู้นำทางการเมือง  ประชาชนที่สนับสนุนพวกเขา

   4. การแก้ปัญหาที่ใช้การเมืองนำทำให้กลุ่มติดอาวุธของทั้งสองฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่จำเป็นต้องครอบคลุมถึงกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง

   5. นักโทษการเมืองทั้งสองฝ่าย เมื่อได้ปรับการต่อสู้โดยเน้นกระบวนการทางการเมืองถือเป็นว่าได้สร้างมาตรการความเชื่อมั่น  หรือ Confidence Building Measure  (CBM ) ที่กระตุ้นให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาพูดคุยกันมากกว่าการใช้ความรุนแรง

 

                                                                                     

                                                                                 โปสเตอร์สนับสนุน การเรียกร้องสถานะนักโทษการเมืองของฝ่ายรีพับลิกัน

ข้อสังเกตและบทสะท้อนต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ประเด็นนักโทษการเมืองยังมีข้อถกเถียงเสมอ  เหยื่อและญาติในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในไอร์แลนด์ปฏิเสธบทบาททางการเมืองของนักโทษการเมืองในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะเป็นอาชญากรรมที่เหยื่อและญาติรับไม่ได้ ผู้ก่อความรุนแรงสมควรได้รับโทษในคุกเป็นเวลานานนาน ไม่ว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองจะดำเนินไปอย่างไร  อย่างไรก็ตาม ญะซิรได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่าการกีดกันนักโทษการเมืองออกไปจากกระบวนการทางการเมือง ทำไม่เกิดการยอมรับรากเหง้าของปัญหาและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในอดีต  นอกจากนี้เขายังได้เทียบเคียงประสบการณ์ดังกล่าวจากไอร์แลนด์เหนือ ต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยผู้นำของ PLO –Fatah จากแวสแบงค์ ในเวลานั้น ได้ร่วมมือกับผู้นำและกลุ่มนักโทษทางการเมืองปาเลสไตน์ ซึ่งนำไปสู่การเจรจาทางการเมืองระหว่างผู้นำอิสราเอลและปาเลสไตน์  ซึ่งไปสู่การเกิดข้อตกลงหยุดยิงในปี 2003

            กรณีศึกษาดังกล่าว อาจนำมาช่วยทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ เพราะหลายๆ องค์ประกอบของบทบาทนักโทษการเมืองจากไอร์แลนด์ต่อกระบวนการสันติภาพ แม้ไม่ใช่ทั้งหมด สามารถนำมาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจต่อกรณีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและกระบวนการสันติภาพ/สันติสุขที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้  แม้ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนิยามของนักโทษการเมืองเอาไว้เป็นพิเศษ แต่การพักโทษหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ  หรือ นายมะแอ สะอะ นักโทษคดีความมั่นคง อดีตแกนนำขบวนการพูโลที่ถูกจำคุกมากกว่า  18 ปีใน 4 เรือน จากข้อหาการก่อการร้ายเมื่อปี 2540  นั้นก็มีความหมายต่อกระบวนการสันติภาพ 

            หะยีสะมะแอถูกปล่อยตัวในวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม  เมื่อวันที่  17 กรกฎาคม 2558  ที่ผ่านมา การพักโทษของนักโทษคดีความมั่นคงเป็นไปตามนโยบายของรัฐและมีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายสันติสุขของรัฐบาลปัจจุบัน  กรณีศึกษาจากไอร์แลนด์ของญะซิร อะลัชกัร และ จากบทสัมภาษณ์พิเศษ : “กระบวนการสันติภาพ” ของ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ”  โดยโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าแม้จะถูกจำคุก แต่เขาก็ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสมอมา ตัวเขาเองยังมีบทบาทในการเป็นข้อต่อการพูดคุยสันติภาพให้กับหลายรัฐบาลในอดีต

             นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญของเขาต่อกระบวนการสันติภาพที่แท้จริง คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของคนในพื้นที่ (local players )  มากกว่าจบลงจากคณะเจรจา และแม้ตัวเขาในฐานะนักโทษการเมือง จะไม่ได้มีข้อเสนอโดยตรงจากตนเอง ต่อกระบวนการสันติภาพ แต่ในบทสัมภาษณ์ เราได้เห็นถึงการหยิบยกข้อเสนอจากทั้งฝ่ายขบวนการและฝ่ายรัฐบาลในการพบปะพูดคุยของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะสนับสนุนข้อเสนอจากทั้งสองฝ่าย  เพราะในความเห็นของเขา สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความไม่สงบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือการพูดคุยหาข้อยุติระหว่างคู่ขัดแย้ง

              ในขณะนี้ หะยีสะมะแอมีฐานะเป็นอดีตนักโทษคดีความมั่นคง ต่อจากนี้จึงเป็นที่น่าจับต่อไปว่าเขาและนักโทษคดีความมั่นคงคนอื่นๆ ที่ถูกปล่อยตัวออกมา จะมีบทบาทอย่างไรต่อไปในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

 

ที่มา:  

Alashqar, Y. Political prisonners in peacemaking  process: the case of Northern Ireland, 2012 [Online]: Available from http://www.glencree.ie/site/documents/Political_Prisoners_Peacemaking.pdf, 2012.

            https://en.wikipedia.org/wiki/Bobby_Sands#/media/File:Bobby_sands_mural_in_belfast320.jpg

            https://en.wikipedia.org/wiki/Blanket_protest#/media/File:Victory_To_the_Prisoners_Poster.JPG

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้. สัมภาษณ์พิเศษ : “กระบวนการสันติภาพ” ของ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ[ออนไลน์ ]  http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7452, 2015

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้. ปล่อยตัวหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโล ประยุทธ์ให้เป็นของขวัญวันฮารีรายอ [ออนไลน์ http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7448, 2015

 

หมายเหตุ: Yaser  Alashqar เกิดและเติบโตในปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นดินแดนที่เขาเผชิญกับความขัดแย้งมาตั้งแต่เด็กและได้สูญเสียสมาชิกครอบครัว  Yaser เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Azhar  ในฉนวนกาซา และเขาได้รับปริญญาโทด้านการจัดการความขัดแย้งและสันติศึกษาจากมหาวิทยาลัย Coventry ประเทศอังกฤษ ต่อมาในปี 2005 เขาได้ทำงานที่ Glencree Centre for Peace and Reconciliation ประเทศไอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการศึกษาด้านตะวันออกกลางที่นั่น