ฐปนีย์ เอียดศรีไชย
http://goo.gl/wnRrSC
การติดตามปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกระบวนการสร้างสันติภาพ ล่าสุดวันนี้ (25 ส.ค.) มีพัฒนาการในการพูดคุยระหว่าง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย กับ กลุ่มมารา ปาตานี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยืนยันว่า การรวมตัวของมารา ปาตานี สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้คิดต่าง เดินหน้าพูดคุยตามแนวทางสันติวิธีกับรัฐบาลไทย และผลการพูดคุย 2 ครั้งที่ผ่านมาส่งผลให้ความรุนแรง ในเดือนรอมฎอนลดลง ขณะที่วันนี้ฝ่ายไทยได้เสนอ 3 ข้อ ต่อกลุ่มมารา ปาตานี โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ส่วน มารา ปาตานี ก็เสนอ 3 ข้อ ก่อนจะเปิดตัวกับสื่อมวลชนครั้งแรก ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้
พลเอก อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย เปิดเผยผลการพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย
พลเอกอักษรา ยอมรับว่า การพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานี วันนี้เป็นการพูดคุยกันครั้งที่ 3 หลังกลุ่มผู้คิดต่าง 6 กลุ่ม รวมตัวเป็นองค์กรร่ม ในชื่อ Mara patani ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้คิดต่างทุกกลุ่มที่มีอยู่จริงในพื้นที่ การรวมตัวกันได้เป็นผลสำเร็จสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้คิดต่าง เห็นด้วยและร่วมเดินหน้าพูดคุยตามแนวทางสันติวิธีกับรัฐบาลไทย ตรงกับเป้าหมายที่คณะพูดคุยต้องการ เพราะเป็นผลดีกับประชาชน
ประเด็นที่ 2 คือการลดความรุนแรงในพื้นที่ ที่สะท้อนผ่านเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา ก็เป็นผลจากการพูดคุยในครั้งที่ 2 กับกลุ่ม มารา ปาตานี ที่มีข้อตกลงร่วมกันก่อนเดือนรอมฏอนว่าจะ ไม่ให้มีเหตุรุนแรง ซึ่งเห็นชัดว่าความรุนแรงในเดือนรอมฏอนปีนี้ลดลงมากที่สุดใน รอบ 10 ปี แม้จะเกิดเหตุบ้างในช่วง 10 วันสุดท้าย แต่ มารา ปาตานี ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ ส่วนจะเป็นใครทำ จะต้องพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนของกฏหมาย
การพบกันครั้งนี้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย จึงขอบคุณฝ่าย มารา ปาตานี ที่แสดงความจริงใจในการลดเหตุรุนแรง
ขณะที่ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ให้ มารา ปาตานี นำไปพิจารณา คือ
1. การสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safty Zone ที่มารา ปาตานี จะเสนอรูปแบบมากำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับ รัฐ และประชาชน
2.การพัฒนา ตามที่ประชาชนต้องการ Development
3.กระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงได้ Justice
ซึ่งฝ่ายไทยจะมีคณะทำงาน หรือ Working Group มาร่วมกำหนดแนวทางด้วย โดย 3 ข้อนี้ได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว
สำหรับกลุ่มมารา ปาตานี ได้เสนอ 3 ข้อต่อคณะพูดคุยฝ่ายไทย คือ
1.ให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ
2.ให้รัฐไทย ยอมรับ องค์กร มารา ปาตานี และ 3.ให้คุ้มครองทางกฏหมายกับกลุ่ม มารา ปาตานี Immunity
ซึ่งทั้ง 3 ข้อ รัฐไทยสามารถอธิบายได้ เช่นการกำหนดวาระแห่งชาติก็เป็นสิ่ง ที่รัฐบาลทำแล้ว ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230 ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง ส่วนการยอมรับ มารา ปาตานี ทางรัฐไทยก็ไม่ขัดข้อง ที่ มารา ปาตานี จะเปิดตัวกับสื่อมวลชนในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ รวมถึงการคุ้มครองตามการหมาย จะต้องเป็นไปตามกฏหมายไทย
กลุ่ม มารา ปาตานี หรือชื่อเต็มว่า MAJLIS SYURA PATANI หรือ
สภาชูรอแห่งปาตานี ประกอบด้วย
1.กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN
2.กลุ่มแนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี หรือ BIPP
3.องค์การปลดปล่อยสหปาตานี PULO-P4 4.องค์การปลดปล่อยสหปาตานี PULO-Dspp
5.องค์การปลดปล่อยสหปาตานี PULO -Mkp
6.ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี หรือ GMIP