Skip to main content

 

กก.กลางอิสลาม-จังหวัดร่วม2,800 มัสยิดชายแดนใต้จับมือจุฬาลงกรณ์และราชภัฏยะลาดันเศรษฐกิจฮาลาลแก้ปัญหาชายแดนใต้

          คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอจ.ใต้) จับมือศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดงาน “เทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้” หรือ “Southern Border Halal International Fair” (SHIF 2015) เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลในระดับอาเซียนและนานาชาติ พร้อมผลักดันเศรษฐกิจฮาลาลให้เป็นปัจจัยความสำเร็จในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้โดยกำหนดจัดแถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 28สิงหาคม 2558 ณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1

พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการกอท.กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อมานานสร้างความสูญเสียแก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมหาศาลเห็นควรร่วมกันแก้ไขปัญหาจึงร่วมกับ กอจ.ใต้และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด 2,800 แห่งทั่วพื้นที่จัดสัมมนาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศอาเซียนเข้าร่วม พร้อมจับมือศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจัดงานเทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้หรือ SHIF 2015 เพื่อใช้เศรษฐกิจฮาลาลเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ โดยจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2558 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมสันติสุขและความสงบในพื้นที่ พร้อมพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจฮาลาลนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลสร้างค่านิยมในเครื่องหมายฮาลาลประเทศไทยว่าเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลของโลกทั้งพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวฮาลาลระดับนานาชาติ ตอกย้ำความเป็นผู้นำของแบรนด์ฮาลาลประเทศไทยในระดับอาเซียนและนานาชาติ

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลกล่าวเสริมว่าภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล, นิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล, การสัมมนาอิหม่าม2,800 มัสยิด การแสดงสินค้าฮาลาลและผลิตภัณฑ์ชายแดนใต้กว่า 150 ร้านค้า และการเสวนาพิเศษ เรื่อง “ทางออกปัญหาชายแดนใต้”

การจัดงานในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าตลอด 3 วันจะมีผู้ร่วมงานกว่าสองหมื่นคน นอกเหนือจากการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนแล้วยังนำไปสู่ความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของประเทศตามแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” พร้อมทั้งความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างผู้ประกอบการฮาลาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ผ่านกิจกรรมด้านธุรกิจภิวัตน์โดยคาดว่าจะสามารถขยายการเติบโตของกิจการฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถึง 15-20 %