ฐปนีย์ เอียดศรีไชย
การเปิดตัวของกลุ่ม มารา ปาตานี ที่ร่วมพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย ทำให้มีการตั้งคำถามถึงคำว่า ปาตานี หมายถึงอะไร ภาคีภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจัดเวทีเสวนาเรื่อง ปาตานี นามนั้นสำคัญไฉน โดยมีผู้เกี่ยวข้องมี มุมมองที่แตกต่างกัน สำหรับคนในพื้นที่เห็นว่าคำนี้ไม่มีปัญหา แต่หากสังคมส่วนใหญ่เกิดความไม่เข้าใจจะต้องร่วมกันหาคำนิยามเพราะมีคำที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอีกหลายคำ
นายนญีบ บิน อะหมัด ชาวอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส นักวัฒนธรรมท้องถิ่นมลายู เริ่มต้นแลกเปลี่ยนความเห็นต่อคำว่า ปาตานี นามนั้นสำคัญไฉน เขามองว่า ไม่ได้สำคัญที่ นาม แต่สำคัญที่ความหมาย โดยคำว่า ปาตานี เริ่มพบเห็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มกิจกรรม เช่น ปาตานีฟอรั่ม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและนักเรียน ปาตานี หรือ Permas และล่าสุดคือการรวมตัวของกลุ่มผู้คิดต่างเป็นกลุ่ม มารา ปาตานี จึงทำให้คำว่า ปาตานี ถูกตีความไปในความหมายของการต่อสู้ของขบวนการ การเมือง และการแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆที่ในความรู้สึกของคนในพื้นที่ มองคำนี้ในความหมายของ คน ไม่ใช่ดินแดน และส่วนตัวเขามองว่า ปาตานี มาจากคำว่า ออแฆตานิง หรือ ชาวตานิง ก็คือชาวปาตานี ในภาษามลายู
นางแอน อิศดุลย์ ชาว อ.เมือง จ.ยะลา ในฐานะชาวบ้านมองคำว่า ปาตานี ไม่ใช่คำที่เกี่ยวกับคน แต่มองเป็นเรื่อง มาตุภูมิ ถิ่นกำเนิดในประวัติศาสตร์ของคนที่เกิดใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เหมือนชาวล้านนาที่เกิดในจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะชาวพุทธและมีเชื้อสายจีนจึงไม่กังวลกับคำนี้ เพราะในที่สุดคนในพื้นที่จะต้องมาหาคำตอบร่วมกันจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
นายรักชาติ สุวรรณ ชาว จ.ยะลา ในฐานะเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ยอมรับว่าในกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่มองว่า ปาตานี เป็นคำปกติ แต่ในมุมของชาวพุทธ ชาวจีนในพื้นที่อาจตั้งคำถามได้ว่าพวกเขา คือชาวปาตานี ด้วยหรือไม่ และอาจไม่ยอมรับเพราะทุกคนเป็นชาวไทยพุทธ ดังนั้นจึงจำเป็นที่กลุ่มมารา ปาตานี รวมถึงรัฐไทยจะต้องหานิยามที่ชัดเจนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน แต่ส่วนตัวเห็นว่า ปาตานี จะหมายรวมถึงคนทุกกลุ่มในดินแดนมลายูเดิมที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเขาก็อาจเรียกตัวเองได้ว่า มลายูพุทธ
นายรอมฏอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้หรือ ดีฟเซาท์วอซ์ นำเสนอผลการศึกษาต่อคำว่า ปาตานี เริ่มปรากฏในการต่อสู้หลังเหตุรุนแรงเมื่อปี 2547 ที่มีการเขียนข้อความ หรือป้ายสี เป็นสัญลักษณ์ให้ตัวที หายไปจากชื่อ ปัตตานี จึงน่าสนใจว่ากลุ่มขบวนการต่อสู้หรือกลุ่มคิดต่างต้องการสื่อสารอะไร คำว่าปาตานีจึงถูกตีความในทางการเมือง แต่ในเชิงภาษาอาหรับ และประวัติศาสตร์จะเรียกว่าพื้นที่นี้ว่า ฟาฏอนี ดังที่ปรากฏผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 2,000 คนของสถาวิจัยความขัดแย้งและหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานีพบว่าประชาชนร้อยละ 63.3 เรียกพื้นที่นี้ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 15 เรียกว่า ฟาฏอนี ร้อยละ 11.4 เรียกว่า ปาตานี ร้อยละ 7.3 เรียกว่า ลังกาสุกา และร้อยละ 3 เรียกอื่นๆเช่นดินแดนปลายด้ามขวาน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจถึงความหลากหลายทางความคิดในพื้นที่ ดังนั้นจึงอยู่ที่จะนิยามว่าจะใช้คำว่า ปาตานี ในบริบทใด
เวทีเสวนา ปาตานี นามนั้นสำคัญไฉน จัดขึ้นหลังมีการเปิดตัวของกลุ่มมารา ปาตานี ภาคประชาชนจึงต้องการคำนิยามที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพูดคุยตามแนวทางสันติวิธี