Skip to main content

เลขา เกลี้ยงเกลา

 

++

“ขอให้กำลังใจว่าอย่าท้อถอย อย่าคิดว่าเป็นคนกลุ่มน้อย มาเพื่อให้กำลังใจกันและกัน และเข้าใจถึงความสูญเสีย หากเป็นครอบครัวเราก็คงเสียใจมาก ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ให้มองคนเป็นคน แล้วจะรู้ว่าความทุกข์ยากเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันจริงๆ ทั้งพุทธและมุสลิม ช่วยเหลือดูแลกันและกัน เพื่อให้ได้สันติภาพที่เราต้องการ” คำนึง ชำนาญกิจ   หรือ “ก๊ะวัน”  จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ บอกกับ “กานต์ เกษลึกซึ้ง” ในวันที่ไปเยี่ยมครอบครัว หลังจากที่กานต์ต้องสูญเสียพ่อและแม่ โดยโดนยิงเสียชีวิตในคราวเดียวกัน ระหว่างทางบนถนนสายบ่อทอง–ยะรัง ท้องที่หมู่ 7 บ้านค่าย ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก  จ.ปัตตานี ขณะเดินทางออกไปขายหมูในตลาด  เมื่อ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

“ดีใจมากและรู้สึกดีที่มีเพื่อนมุสลิมมาให้กำลังใจ มีน้ำใจแก่กันในยามที่มีเหตุเช่นนี้” กานต์กล่าวตอบรับกลุ่มผู้หญิงที่มาเยี่ยมจากองค์กรประชาสังคมต่างๆ  ซึ่งวันนี้ นอกจากมีผู้หญิงจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯแล้ว ก็ยังมีผู้หญิงจากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ และเครือข่ายสตรีชายแดนใต้ด้วย

“ทำได้อย่างเดียวคือ ทำใจ เพราะทำอะไรไม่ได้ อย่าให้เกิดกับใครอีกเลย ภาวนาขอให้หมดเรื่องร้ายๆ ใจเสียทุกครั้งเมื่อได้ยินข่าวการสูญเสียทั้งพุทธและมุสลิม”

ในยามที่สถานการณ์ชายแดนใต้ร้อนแรง มีเหตุร้ายเกิดขึ้นแทบทุกวัน ผู้สูญเสีย มีทั้งชาวพุทธ และชาวมลายูมุสลิม การทำงานด้านมนุษยธรรม การเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ยิ่งทวีความสำคัญ โดยเฉพาะการเยียวยาข้ามวัฒนธรรม อย่างน้อยให้คนทั้งสองศาสนาได้เยี่ยมแสดงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันหลัง เกิดเหตุ   จะช่วยสมานรอยร้าวทางความสัมพันธ์ ลดอคติ และการเหมารวม  ที่จะขยายเป็นความโกรธเกลียดทางชาติพันธุ์ และศาสนาของคนในพื้นที่ให้เบาบางลงไปได้ บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็นทางกายภาพระหว่างผู้คน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง นับวันจะร้าวลึกอย่างเงียบๆ และขยายวงกว้างได้ หากสถานการณ์ทวีความเข้มข้น  และความจริงที่เกี่ยวกับการฆ่ากันตายในแต่ละเหตุการณ์ไม่ปรากฏ 

เฉพาะในระหว่างวันที่ 6 - 8  ต.ค. 2558 มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่เป็นสามีภรรยา รวมแล้ว 4 คู่ด้วยกัน เป็นชาวพุทธ 1 คู่ และเป็นชาวมุสลิมอีก 3 คู่  ที่ จ.ปัตตานี และยะลา สำหรับครอบครัวกานต์ อาจจะบอกได้ว่าแย่ที่สุด  เพราะเขาต้องเสียพ่อเลี้ยง คือ นายซุ่ยบี้ ชูช่วยคำ อายุ 69 ปี และแม่ คือนางนวลศรี ณ ตะกั่วป่า อายุ 65 ปี ไปพร้อมๆกัน โดยคนทั้งสองโดนยิง สภาพศพดูอเนจอนาถมาก

“พอได้รับแจ้งเหตุผมก็รีบขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน ขี่ไปอีกทางที่ไกลกว่าเพราะใจไม่อยู่กับตัว ไปถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ก็กั้นพื้นที่แล้ว เขายิงมาจากด้านหน้ารถ สมองกระจายเต็มหลังคา เบรกมือ  ยิงแม่แล้วลากลงมาจากรถ เอากระเป๋าคาดเอวที่มีเงิน โทรศัพท์ กุญแจตู้ไปหมด แล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าพ่อกับปืนพกของพ่อไปด้วย”

กานต์เล่าว่า เขาเป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ที่อยู่ต่างจังหวัดและปัตตานี เขาทำงานเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนหรือ อส.ที่ อ.หนองจิก วันทำงานที่เป็นเวรติดกันเป็นอาทิตย์  ทำให้เขาต้องไปเช่าบ้านอยู่ที่ต.ตุยง อ.หนองจิก เพื่อความสะดวกในการทำงานและส่งลูกเรียนหนังสือในตัวเมืองปัตตานี  เขากลับมาบ้านแม่เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์  ส่วนนายซุ่ยบี้ เป็นพ่อเลี้ยงที่เป็นอดีตข้าราชการการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ซ่อมทางรถไฟ เกษียณอายุมาเกือบสิบปี อยู่กับแม่ของเขามาเกือบสิบปีเช่นเดียวกัน มีสุขภาพไม่ค่อยสู้ดี เป็นโรคเส้นเลือดตีบ เดินเหมือนจะล้มตลอด

“แม่กับพ่อจะไปขายหมูที่ตลาดโคกโพธิ์ทุกวัน เว้นวันพระ ออกจากบ้านกันแต่เช้าด้วยรถมิร่า ขากลับไม่แน่นอนว่าขายได้แค่ไหน เขาจะคิดกันทุกวันว่าจะไปทางไหน กลับทางไหน ไม่ให้ซ้ำกับทางเดิม จะเปลี่ยนเส้นทางตลอด และระมัดระวังกัน เพราะพ่อเคยถูกลอบยิงมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2554 เลยจากที่เกิดเหตุนี้ไปราว  200 เมตร และพ่อจะพกปืนเป็นประจำเพื่อป้องกันตัว”

ก่อนวันเกิดเหตุเขาเพิ่งซ่อมรถมิร่าให้เพื่อแม่จะได้ใช้งานได้สะดวก

"ทั้งแม่และพ่อก็อายุมาก ไม่เคยคิดร้ายกับใคร ทำแต่งาน ยังมาทำอย่างนี้กันอีก”

กานต์มีหน้าที่หลักคือดูแลกล้องวงจรปิด เมื่อเกิดเหตุร้ายกับแม่ของเขา มีรายงานมาว่ามีคนถูกยิง ขับรถเล็กๆ สีเขียว เขารู้ทันทีว่าเป็นแม่และพ่อของเขา กานต์บอกว่าช่วงเกิดเหตุตรงนั้นไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ถึงจะมีก็ดูไม่ได้ เพราะคนก่อเหตุจะทำลายกล้องเสียก่อน

ด้านญาติของกานต์ ที่นั่งอยู่ด้วยกันบอกว่า อยากให้มุสลิมช่วยดูแลชาวพุทธที่อยู่อาศัยเหมือนเป็นไข่แดงเพราะรู้สึกไม่ ค่อยปลอดภัย และชาวพุทธไม่เคยคิดทำร้ายใคร

ลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ที่ได้ไปให้กำลังใจกานต์และครอบครัวด้วยกล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ขอความร่วมมือจากพี่น้องมุสลิมที่อยู่รอบด้านให้ช่วย ดูแลชาวพุทธ ที่เป็นเพื่อนบ้านในพื้นที่ด้วย

“เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยเหลือกันทั้งพุทธและมุสลิม เพียงแต่ในพื้นที่ที่มีชาวพุทธอยู่ตรงกลาง ขอให้พี่น้องมุสลิมช่วยดูแลด้วย คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้น คนในพื้นที่ไม่ใช่คนก่อเหตุ ส่วนใหญ่มาจากคนภายนอก เกิดจากความอ่อนแอของชุมชนที่ไม่ได้ระวังตัว ซึ่งในความจริงต้องระวังตัวทุกสถานการณ์เพราะทุกคนอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง ที่ไม่ปกติ ต้องไม่ประมาทและช่วยกันดูแล”

“ไม่รู้จะป้องกันอย่างไร หลังเกิดเหตุทุกครั้งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหมดไปเสียที ไม่แน่ใจว่าคนที่ทำอยู่เป็นฝ่ายขบวนการหรือฝ่ายแทรกแซง ไม่เคยมีใครออกมารับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นสักเหตุการณ์ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเต็มพื้นที่ แต่ในการสืบสวนไม่เคยเจอผู้ก่อเหตุ จับตัวไม่ได้ ทำให้ความหรือเหตุการณ์แบบนี้มันเป็นเงา เมื่อเป็นเงา ประชาชนขัดแย้ง ไม่ไว้วางใจกัน”

ในฐานะประชาชนธรรมดา ลม้าย ขอเรียกร้องรัฐในการปกป้องดูแล  การสอบสวนให้ได้ความจริง โดยต้องสอบสวนให้เร็วที่สุด หาคนผิดมาลงโทษ ดูแลครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และให้กำลังใจกันและกัน

“อย่าไปมองว่าพุทธหรือมุสลิมที่ทำให้แตกแยก อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ปู่ย่าตายายของเราไม่เคยแบ่งแยกกัน ในชุมชนพุทธและมุสลิม เราอยู่ด้วยกันอย่างปกติ ไม่เคยทะเลาะกัน ปรึกษาหารือกันมาจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ” กานต์ กล่าวในตอนท้าย เขาบอกด้วยว่า เมื่อเพื่อนๆที่เรียนแม่โจ้ด้วยกันทราบว่า พ่อแม่เขาเสียชีวิต ต่างก็มาเยี่ยมให้กำลังใจกัน  โดยเฉพาะเพื่อนๆที่เป็นมุสลิมมาเยี่ยมกันหลายคน

ความเข้มแข็ง มีสติ และมั่นคงของกานต์  ทำให้เรายังรู้สึกได้ถึงความหวังว่า วันนี้ ความรุนแรงพรากได้แค่เพียงชีวิตคน แต่ยังไม่อาจพรากสายสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างศาสนา ต่างชาติพันธ์ ที่ร่วมชายคาและชะตากรรมเดียวกันได้

เรายังไม่สิ้นหวังในสันติภาพที่ชายแดนใต้...

หมายเหตุ : บทความขิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ ประชาไท