Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

 

หมายเหตุ: บันทึกการถอดเทปรายการฝ่าวิกฤตการเมืองไทยที่กำลังจะเผยแพร่ทางทีวีไทยเร็วๆ นี้ โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ อ.ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะหา จังหวัดยะลา ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) อ.อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และคุณละม้าย มานะการ ตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี อ.ฮาฟิส สาและ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทางกองบรรณาธิการ deepsoutwatch.org เห็นว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองในขณะนี้ที่สามารถสะท้อนบทเรียนความขัดแย้งกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างน่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่เพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง

 

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ความรุนแรง ความตึงเครียดที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่าง 2 กลุ่ม ไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับ นปช. แต่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่ม นปช.ที่ออกมาต่อต้านปรากฏการณ์นี้ ทำให้เกิดความกังวล จะนำไปสู้ความขัดแย้งในระดับหนึ่ง นั่นก็คือสงครามกลางเมือง ซึ่งไม่อยากไปถึงจุดนี้ เวทีของเราในวันนี้จะพูดในประเด็นทางออกของประเทศไทย โดยอาศัยบทเรียนจากภาคใต้ ซึ่งผู้ที่มารายการของเราในวันนี้เป็นผู้ที่ผ่านการทำงานความขัดแย้งในสถานการณ์ภาคใต้หลาย ๆ ประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเสนอทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้

 

 

พิธีกร : คำถามแรกนะครับผมอยากถามท่าน อ. ศรีสมภพ ในฐานะที่เป็น ผอ.สถานวิจัยความขัดแย้งสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ทั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้นะครับ อยากให้อาจารย์ช่วยเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ภาคใต้กับกรุงเทพฯ

 

อ.ศรีสมภพ : ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในภาคใต้ที่เปรียบเทียบกับในกรุงเทพฯ น่าจะเป็นเรื่องของความชอบธรรมของรัฐและประชาธิปไตย ปัญหาการมีส่วนร่วม อันนี้เป็นตัวที่สำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประเด็นในความชอบธรรมของรัฐในแง่ของการจัดการปัญหา ความพิเศษแตกต่างทางวัฒนธรรม เรื่องศาสนา เรื่องประวัติศาสตร์ ที่เป็นจุดเด่นของสังคมภาคใต้ การจัดการของรัฐที่ยังไม่สอดคล้องกับความชอบธรรม การยอมรับอำนาจของรัฐในเรื่องการจัดการปัญหา ทำให้เกิดการต่อสู้ มีการกดดัน มีการทำลายอัตลักษณ์พิเศษ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่ที่มีการรบต่อรัฐ และประชาธิปไตรก็ยังมีการนำมาใช้อย่างไม่เต็มที่ การที่มีส่วนร่วมหรือสิทธิของประชาชนในแง่ที่จะสามารถแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชน  

 

ทีนี้ประเด็นนี้ถ้าเราเชื่อมโยงไปทางกรุงเทพในระดับประเทศมันก็จะมีปัญหาในเรื่องของว่า รูปแบบการปกครองของรัฐธรรมนูญในปี 40 หรือ 50 รัฐประหารที่เกิดขึ้น และในเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลา 5 ปี 6 ปีที่ผ่านมา มันก็ทำให้เกิดการไม่ยอมรับ สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ระบบของรัฐบาลในแง่ของการจัดการในขณะนี้อาจจะมีการท้าทายว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม บวกกับปัญหาที่สะสมมาอีกของปัญหาสังคม ของปัญหาความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้รู้สึกต่างๆมันบอกรวมกันเข้าไป  

 

ปัญหาไม่ใช่เป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อรัฐบาลแต่เป็นปัญหาของชนชั้น ปัญหาของความชอบธรรมของการเมือง ระบบการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรให้มีประชาธิปไตยจริงๆ มีความชอบธรรมความยุติธรรม ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเคลื่อนไหวการต่อสู้ ความชอบธรรมในการตีความ ความถูกต้องของรัฐบาลมันอยู่ที่ว่าชอบธรรมแล้วดีแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่ชอบธรรมไม่ถูกต้อง จึงมีการต่อสู้ การใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม หากใช้ความรุนแรงแล้วก็จะมีการขยายความเกลียดชังจนทำให้เกิดการไม่ยอมรับกัน ไม่พอใจกัน เกลียดชังกันก็จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายที่ชุมนุมต่อต้าน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการชุมนุม ฝ่ายของรัฐหรือฝ่ายของรัฐบาลเองก็ตาม

 

พิธีกร : เหมือนว่าปัญหาของภาคใต้รากของปัญหาจะเป็นไปในเรื่องของอัตลักษณ์ เรื่องประวัติศาสตร์ แต่ว่าในส่วนของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลางถ้าดูต้นเหตุจะพบว่าเป็นปัญหาทางโครงสร้าง

 

อ.อัฮหมัดสมบูรณ์:  ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ ดร. ศรีสมภพ ที่ได้วางพื้นฐาน เพราะเรามองโมเดลของปัญหาภาคใต้ก็ถือความล้มเหลวของปัญหาทางกรุงเทพด้วย ที่ผมมองความล้มเหลวของภาคใต้ เพราะ 5-6 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลบอกว่าเดินมาถูกทางแต่กระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านไปไกลแล้ว ในเรื่องของการต่อสู้ของกลุ่มบางกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ อย่างกรณีไม่กี่วันที่เกิดขึ้นของการบอมบ์ใกล้ตำรวจ ผมมองว่านี่คือการมองข้ามความรุนแรงที่มีอยู่ในกรุงเทพ อย่างหนึ่งที่คนในกรุงเทพอาจยังไม่เคยเห็น แต่ชายแดนภาคใต้เห็นเป็นประจำคือ สิ่งที่รัฐเข้าไปแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ถูกทาง และเฉกเช่นเดียวกันที่เกิดปัญหาในกรุงเทพ คนในถนนสีลมก็ไม่ชอบที่จะเห็นทหาร ที่ไม่ชอบเห็นเพราะทหารคือสัญญาลักษณ์ของความรุนแรงเช่นเดียวกับคนภาคใต้  

 

ความชินชาก็เป็นส่วนหนึ่งพื้นทำให้เกิดมองว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิด ถ้าแก้ไขไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่เป็นประชาชนส่วนหนึ่งออกมาต่อต้านกลุ่มที่ประท้วงก่อนหน้านั้น ทำให้มองเห็นความกดดันของคนในกรุงเทพ ไม่ต่างอะไรจากคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พยายามจะสื่อกับรัฐว่า รัฐล้มเหลวแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นทางเลือกและทางออกน่าจะมี สิ่งที่คนภาคใต้พูดเสมอว่า แนวทางที่จะแก้ปัญหาก็คือทางเลือกที่เป็นทางอันน่าจะมาทำเช่น เรื่องของการพูดคุยในครั้งของการเสวนาหาความสันติร่วมกันมันก็น่าจะทำแต่รัฐเข้ามาพอมาเป็นรัฐบาล รัฐเลยไม่ทำ ละเลยมาเป็นปี 

 

เฉกเช่นในกรุงเทพผมเชื่อว่ารัฐบาลเข้าใจว่า มันจะต้องเกิดขึ้นอีก เกิดขึ้นแน่ แต่รัฐก็ละเลยที่จะสร้างความเข้าใจกับคนในประเทศ หรือสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า ถ้ามันเกิดขึ้นในสิ่งที่ทุกคนคาดหวังให้เกิดความเสียหาย เกิดสูญเสีย แต่รัฐไม่ได้นำมาแก้ไขเฉพาะหน้า แล้วใช้กระบวนทัศน์แบบเดิมๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้วคืออะไรก็ได้ที่โยนให้แทนที่จะใช้คำว่า คอมมิวนิสต์ แต่กลับโยนให้ใช้คำว่าผู้ก่อการร้าย เฉกเช่นเดียวกัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐก็ถือว่าเป็นกบฏ ถือว่าเป็นกระบวนการแบ่งแยกดินแดน ความรู้สึกเหล่านี้คนภาคใต้รู้สึกมาเยอะแล้ว รู้สึกมานานและเจ็บปวดมานานแล้วคนในกรุงเทพต้องเข้าใจว่ากระบวนการอย่างนี้มันเกิดขึ้นมานานแล้วภาคใต้ แล้วในกรุงเทพก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า แนวทางการแก้ไขอย่างนี้ไม่สามารถจบลงด้วยความสันติสุขได้ นี่คือสิ่งที่เรากังวล

 

พิธีกร : ปัญหาภาคใต้กับปัญหาทางส่วนกลางที่มีความขัดแย้งในครั้งนี้ เป็นปัญหาวาระแห่งชาติก็ว่าได้ ถามว่ารัฐบาลได้เรียนรู้อะไรจากปัญหาภาคใต้และทางส่วนกลางนี้บ้างครับ?

 

อ.ประสิทธิ์: ตามความเห็นของผมนะครับ ผมว่าทางรัฐบาลอ่อนแอในเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางการเมือง ผมมองว่ารัฐบาลน่าจะมีบทเรียนในด้านของการแก้ปัญหาทางภาคใต้ และใช้ในการแก้ปัญหาในส่วนกลางได้บ้าง แต่น่าจะเจาะลึกลงไปให้ชัดเจนก็เหมือนเดิมคือ รัฐบาลจะมองถึงแค่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปรากฏขึ้น ไม่ได้เชื่อมโยงปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้มองปัญหาประวัติศาสตร์ของปัตตานีในอตีด หรือปัญหาในส่วนกลางขณะนี้ เป็นปัญหาต้นตอจากพฤษภาทมิฬ แล้วเราก็มาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญปี 40 เราหวังว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นประชาธิปไตยที่สุดนี้จะได้พัฒนาการเมืองไทยให้มีความเข้มแข็ง พอผลจากการใช้รัฐธรรมนูญทำให้พรรคการเมืองโตขึ้น การเมืองเข้มแข็งขึ้น กลุ่มที่เสียประโยชน์ก็คือกลุ่มที่ครอบงำอยู่เป็นระยะเวลาหลายร้อยปีก็ยุให้เกิดรัฐประหารและก็ตั้งข้อหาให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ตนเองไม่ชอบ เป็นข้อหาฉกรรจ์

 

รัฐประหารปี 49 เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง เพราะเราฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกกติกาทิ้ง แต่สังคมไทยไม่พูดปัญหานี้ให้จริงจัง เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ จุดนี้ ก็คือ ปัญหาประชาธิปไตยได้เปรียบเทียบว่า ส่วนกลางขอสภายังยากขนาดนี้ ภาคใต้จะขอเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษ โดยใช้กฏหมายเฉพาะกฏหมายอิสลามจะยากแค่ไหน มันมีคำถาม คำถามที่ว่า ถ้าล่างมันเป็นแบบนี้ ปัญหาส่วนกลางยังหลีกไปหลีกมา ยังพูดไม่ตรงประเด็น เบียดกับพื้นที่ให้กับฝ่ายตรงข้าม ปิดหูปิดตาประชาชน ปิดหูปิดตาสังคม นำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียวเหมือนภาคใต้

 

คนที่อยู่กับปัญหาจริงคือ คนที่อยู่มลายูกับปัตตานี ยากที่จะมีพื้นที่ๆ จะพูดจะทำกิจกรรม รวมกลุ่มกันเป็นแนวคิดจากภาคประชาสังคม มันก็เลยทำให้ประเด็นที่ทางรัฐตั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมาพูดในประเด็นที่รัฐบาลต้องการ คือ ตั้งตรงไว้ก่อน เพราะฉะนั้นความขัดแย้งที่มันเกิดจากเรื่องแบบนี้มันสมานฉันท์ไม่ได้ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ความขัดแย้งที่ประนีประนอมได้ และอีกประเภทหนึ่งคือประนีประนอมไม่ได้ อันที่ประนีประนอมไม่ได้ เป็นประเภทเชิงหลักการ กับประชาธิปไตยยังไงก็พูดกันไม่ได้

 

ทีนี้เมื่อการเมืองการปกครองถึงทางตัน ความรุนแรงจะต้องเกิด ผมคิดว่าความรุนแรงห้ามยาก เพราะถ้าไม่ให้เกิดความรุนแรงเราต้องให้การเมืองเดินไปตลอดรอดฝั่ง ก็เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 เดินมา พอเดินเข้ามาฝ่ายที่ไม่พอใจ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เห็นว่าเป็นภัยต่อประโยชน์ส่วนตน ก็เกิดรัฐประหาร พอเกิดรัฐประหาร ก็ตั้งกลุ่ม ตั้งนั้นตั้งนี้ขึ้นมา เป็นฝ่ายตรงข้ามต่อการเมืองทั้งสิ้น ไอ้ความรู้สึกของฝ่ายการเมืองเดิม พวกการเมืองพวกไทยรักไทย พวกคนกลุ่มทักษิณ ถูกเกมศัตรูทางการเมืองมาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบทักษิณ มาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการตัดสินถึงแม้จะยุติธรรม แต่ความรู้สึกมันเสียแล้ว เอาฝ่ายตรงข้ามมาเป็นคู่กรณี มาเป็นตุลาการ ยอมรับไม่ได้ครับ

 

เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมเชื่อว่าต้องมองให้ชัด รัฐบาลต้องให้ชัดว่าความขัดแย้งที่แท้จริงคืออะไรก่อน เหมือนภาคใต้ ความขัดแย้งจริง ๆ ประชาชนมลายู ปัตตานีก็ต้องการ 1.อัตลักษณ์  2.ศาสนาซึ่งเป็นวิถีทางของเขา  2 ประเด็นนี้รัฐบาลไม่ฟังเลย ไม่กล้านำมาอธิบายในเวที กลัวว่าจะเป็นจริง เพราะฉะนั้นตรงนี้รัฐบาลต้องทำให้เด่นชัด ผมเชื่อว่าปัญหาส่วนกลางก็คือ ถ้าเรามองในปัญหาของโครงสร้าง ระหว่างกลุ่มทุนเดิม ซึ่งได้เปรียบในทางสังคมมาหลายปีพอมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 40 กลุ่มทุนใหม่ ซึ่งนำโดยคุณทักษิณกับคณะได้พัฒนาเป็นนายทุนของชาติขึ้นมา

 

เหตุที่กลุ่มเหนือ อีสาน ตะวันออก ที่ชอบทักษิณก็เพราะว่ามีนโยบายที่จับต้องได้ เขาเลยรู้สึกว่าได้รับผลประโยชน์ ผมเชื่อว่าคนที่มานอนกลางถนนเป็นเดือนๆ มันต้องมีอะไรมากกว่าที่รองนายกฯ สุเทพบอก ยกตัวอย่างง่ายๆ คนภาคใต้ในตอนนี้คนตายไปเกือบ 5,000 และคนเจ็บเกือบ 20,000 เรียกว่าผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่กรุงเทพฯ ตายไป 24 คน เรียกว่าผู้ก่อการร้าย รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ตนเองออกมาก่อนก่อนพูด อันนี้พอเห็นปรากฏการณ์แล้วก็พูดเลย พวกนี้ผู้ก่อการร้าย พวกนี้สะสมกำลังอาวุธ พวกนี้ไปไกลถึงล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าพูดแบบนี้ยิ่งทำให้คนแตกแยกมากขึ้น เป็นบาดแผลมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้นทางออกเป็นยังไง รัฐบาลต้องตั้งสติ สิ่งไหนพิสูจน์ได้ ไม่ได้ สิ่งไหนที่ไม่พร้อม หลักฐานยังไม่ชัดอย่าพูด สอง เราต้องมองผู้ชุมนุมเป็นคนไทย ให้พื้นที่เพื่อแสดงเหตุแสดงผล แสดงบทบาทของเขาให้ประชาชนสาธารณะตัดสิน ไม่ใช่ปิดหมดแบบนี้ ผมไม่ใช่เข้าข้างเสื้อแดงนะ ผมดูแล้วความยุติธรรมมันไม่มี เราต้องยืนอยู่ที่ความเป็นธรรม สาม เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาสังคมทุกกลุ่มให้เข้าประชุมกันเองก่อน แล้วมีตัวแทนมาพูดมาคุยเพื่อหาทางออกให้กับสังคม อย่าไปปิดกั้นเอาเฉพาะกลุ่มตัวเองมันไม่ใช่ สี่ เราต้องเจรจา ยังไงก็ต้องเจรจา ในขณะที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดขอเวลา 9 เดือน กลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอาจมองว่า 1.เรื่องงบประมาณให้ผ่านไปก่อนจะได้หาเสียงได้ 2.จะได้ตั้งผู้มีอำนาจคลุมกองทัพบก เอา ผบ.ทบ. ขึ้น เพื่อจะได้เชียร์พรรคประชาธิปปัตย์ ทีนี้ถ้าไม่ผ่านสองอันนี้ไม่ยุบ มันกลายเป็นว่าผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางความคิด เห็นว่านี่คือทำเพื่อผลประโยชน์ ถึงแม้นายกจะอ้างว่า วางกฎกติกาให้พร้อม เพื่อที่จะให้คนทุกกลุ่มมีความพอใจ แล้วจะได้ก้าวต่อไปทางการเมือง ผมว่ารัฐบาลต้องกว้างกว่านี้ จะต้องให้เกียรติคนอื่นมากกว่านี้    

 

พิธีกร : และข้อเสนอของกลุ่ม นปช.ที่ให้ยุบสภาก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยใช่ไหมครับ?

 

อ.ประสิทธิ์ : ผมมองว่าเชื่อว่าคนไทยทุกคนมีเหตุผล มีความหวังดีต่อบ้านเมือง ต้องดูเหตุผลก่อนว่าถ้ายุบสภาทันทีจะทำอย่างไร อะไรจะดีขึ้น ข้อเสียอยู่ตรงไหน ถ้าข้อดีมากกว่านายกฯ ประกาศพร้อมยุบตลอดเวลา ผมคิดว่าเราควรจะฟังทุกฝ่าย แต่ฝ่ายที่ฟังบอกว่าเราจะต้องสมานฉันท์ยุติความรุนแรง แต่ไม่เสนอทางออกต้องฟังไว้ทีหลัง พวกนี้มีแต่ขอเสนอทางออกไม่มีให้ ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราต้องฟังในสิ่งที่แสดงถึงปัญหาอย่างชัดเจน แล้วก็ให้เกียรติทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมมองทางออกที่เป็นไปได้จริง เพื่อประโยชน์ของทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเราฝ่ายเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ แก้ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของภาคใต้หรือส่วนกลาง

 

พิธีกร:หลายฝ่ายมองว่าการยุบสภาเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น คุณละม้าย มองยังไงครับ เพราะมีปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่ได้แก้

 

พี่ละม้าย: จริงๆ แล้วความคิดเห็นส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา ตอนก่อนเหตุการณ์วันที่ 10 เมษา ทางกลุ่มเครือข่ายของพวกเราที่ผลักดันกฎหมายหลายตัว เช่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม อยากรอจังหวะที่เหลืออยู่ของรัฐบาลปีกว่า ที่จะผลักกฎหมายบางตัวเรื่องมาบตาพุดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เราทำงานอยู่ด้วย แต่พอหลังวันนั้นเรายังไม่ได้คิดชัดเจนว่าอยากให้ยุบหรือไม่ยุบ สิ่งที่เราคิดว่า ต้องทำคือรัฐบาลต้องตั้งใจฟัง ตระหนักที่จะฟังทุกฝ่าย โดยพื้นฐานตนที่มาชุมนุมเค้าเดือดร้อนจริงๆ เพราะเราก็ไปชุมนุมกับชาวบ้านหลายครั้ง รัฐบาลต้องใจกว้างที่จะฟัง

 

ที่ผ่านมาเราไม่ได้แค่โทษรัฐบาลแต่เราโทษสื่อ โทษอะไรหลายอย่าง แกนนำเสื้อแดงเองเราก็ไม่เคยได้ยินว่านำปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ในที่ชุมนุมมาพูดบนเวที สื่อเองก็เสนอเพียงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ตายกี่ศพ แต่ไม่เคยบอกเลยว่าคนที่มาชุมนุมเสื้อแดงต้องการอะไรบ้าง เพราะเราเชื่อว่า เสื้อแดงก็มีอยู่หลายเฉด กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยก็มีความต้องการที่แตกต่าง เพียงแต่มาใช้กลุ่มเสื้อแดงในการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง เราต้องการใช้เวทีของเสื้อเหลืองในการประกาศ สิ่งที่พี่น้องชาวนาชาวไร่ ชาวประมงต้องการ ในส่วนนี้เราไม่หยุดเลย เราเคลื่อนไหวมาหลายเดือน

 

แท้จริงชาวบ้านไม่ได้สนใจว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่เขาควรจะได้มีศักดิ์ศรีในสิ่งที่เขาคิดอยากทำ อย่างที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมา แล้วมีคนบอกว่าให้รัฐบาลทุ่มเทเงินมาฟื้นฟูพวกเรา เราไม่ต้องการเงินฟื้นฟู แต่เราเดือดร้อนก็ต้องมาจัดการให้เรา ในส่วนพี่น้องที่อยู่กรุงเทพ ก็ไม่เคยได้ยินรัฐบาลพูดถึงการเยียวยา การดูแล เราคิดว่าถ้าจะให้มีความเป็นธรรมเบื้องต้นก็คือว่าให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยา อย่างน้องใช้พื้นฐานการเยียวยา ที่ออกมาเป็นกฎแล้ว อันนี้เป็นขั้นตอนต้นเรื่องที่จะพูดถึงก่อน

 

พิธีกร : หมายความว่า กลุ่มที่มาชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงมีวาระของแต่ละกลุ่ม การยุบสภาจะตอบโจทย์ของพวกเขาเหล่านั้นได้หรือไม่?

 

คุณละม้าย :   คิดว่ายังไม่สมควร จริงๆ การยุบสภาก็ไม่ใช่ทางออก ควรจะคุยกันเรื่องอื่นๆ ตามที่ อ.ประสิทธิ์ว่า เขาต้องการอะไร มีแนวโน้มจะทำอะไรได้บ้าง

 

พิธีกร   : สถานการณ์ที่ผ่านมามีความรุนแรงมาก ยุบสภาเป็นส่วนหนึ่งที่ปลดล๊อคเพื่อปัญหารึเปล่า?

 

อ.ศรีสมภพ : ผมคิดว่า เงื่อนไขของการยุบสภาไม่ใช่ทางออก เพราะเงื่อนไขการพูดคุยไม่ใช่การพูดคุยถึงความเดือดร้อนของประชาชน ภาพของการประท้วงยังไม่ชัดเจน ถึงความเดือดร้อนของสังคมรากหญ้ามากนัก ถ้าต้องการไปช่วยเหลือคนที่สีลม โดยปราศจากความเข้าใจ ก็ไม่ต่างจากคนภาคใต้ที่เห็นใจมาโดยตลอด การแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะไม่เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร รากเหง้าของอำนาจที่อยู่ในกรุงเทพที่ค่อนข้างจะมากเกินไป ทำให้อำนาจของประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งก็คือประชาชน ไม่สามารถใช้อำนาจของตัวเองได้ แต่การประท้วงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เหตุผลของการยุบสภาไม่ใช้ทางออก แต่ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา แต่ต้องพูดคุยกันและต้องสื่อสารให้ชัดเจน รัฐต้องกล้าพอที่จะประกาศนโยบายหรือแนวทางว่าต่อไปข้างหน้าจะต้องแก้ไขปัญหาในแนวทางนี้ในระยะยาว อย่าแก้แต่กลไกของ รัฐต้องแก้ที่ประชาชนด้วย รัฐจะต้องกล้าพอในการเขียนนโยบาย แผนงานมีมาตรการก่อนยุบสภา ผมเห็นว่าการเจรจาทั้งสองฝ่ายจะชนใจประชาชนมากกว่านี้

 

พิธีกร: ในเรื่องของปัญหาเฉพาะหน้าปัญหาระยะยาวมันก็ยังเหลื่อมล้ำกันอยู่และไม่ลงเอยซักทีว่าจะเอาอย่างไร?

 

อ.ศรีสมภพ: ในแง่ทางการเมืองเป็นปัญหาเร่งด่วน ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม ผมว่า หนึ่ง ปัญหาทางการเมืองเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การต่อรองในการยุบสภาต้องพูดคุยกัน เป็นอย่างหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการทำร้ายกันจะส่งผลกระทบอย่างหนึ่งต่อจิตใจ เพราะฉะนั้น อยู่ที่จังหวะของการยุบสภาจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างไร ผมคิดว่าอย่างไรก็ต้องน้อยกว่าเก้าเดือน

 

สอง ปัญหาสังคม ความรู้สึกของประชาชน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทรัพยากร จะทำอย่างไรให้มันสอดคล้องกับการแก้ปัญหาระยะยาว สาม กติกาเมื่อเกิดการยุบสภา ต้องมีกติกาทางการเมืองให้ยอมรับกันทุกฝ่ายว่า ให้ยอมรับซึ่งกันและกันในการเลือกตั้ง โดยใช้การมีส่วร่วมของทุกฝ่าย ไม่มีการใช้ความรุนแรง

 

มันมีทั้งปัญหาระยะยาวและปัญหาระยะสั้นที่เราต้องแก้ไปพร้อมๆ กัน คนไทยทุกคนต้องยอมรับว่า ปัญหามีความซับซ้อน ต้องคิดถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องมีการพูดคุยให้ชัด เหมือนภาคใต้ ที่สงครามนี้เป็นสงครามความรู้สึก ซึ่งยังไงต้องพยายามยับยั้งความรู้สึกเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยใช้เหตุผล

 

พิธีกร: พี่ละม้ายครับในฐานะที่เคยเข้าร่วมเรียกร้องกับกลุ่มเกษตรกร ถ้าเราวิเคราะห์การเมืองในขณะนี้ เรามีช่วงเวลาจากวันนี้จนถึงช่วงวันที่จะยุบสภาที่มีหลายๆ ปัจจัยที่เร่งเร้าให้เกิดการเผชิญหน้า เรามีเวลาพอไหม?

 

ละม้าย : จริ ๆ แล้วไม่ได้คาดหวังว่าเวลาจะพอไหมนะ สำหรับภาคประชาชนที่เราทำมานาน เราคิดว่าเราทำมันสม่ำเสมอและทำมันต่อไป เราไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยรอให้มันเบ่งบานนะ เราต้องช่วยกันสร้าง แล้วก็ในเรื่องการมีส่วนร่วมเราคิดว่าไม่ว่าจะรัฐบาลสมัยไหน เรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งหลายก็ไม่สนคนข้างล่าง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะรอให้เขาสนใจ ทำอะไรได้เราก็ทำ รู้ว่ามีอะไรเข้ามาแล้วไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส ไม่เหมาะสมเราต้องส่งเสียง ชาวบ้านคนเล็กๆ น้อยๆ ถ้าไม่มีเพื่อนส่งเสียงเขาจะกล้าส่งเสียงไหม แค่เขาอยากจะบอกสื่อสักรายเขาก็ไม่รู้ว่าจะบอกยังไง เพราะฉะนั้นเราคิดว่าในช่วงเหตุการณ์แบบนี้ เราเครือข่ายภาคใต้เราไม่เคยรอ เราทำอะไรก็ทำไปได้ ความดีเหล่านี้เราก็ต้องช่วยกันสร้าง ประชาธิปไตยเหล่านี้ก็ไม่ต้องรอรัฐบาลยากมาก ในขณะที่คุณเป็นรัฐบาล เราเป็นพลเมืองคุณต้องตอบสนองในสิ่งที่พวกเราต้องการอย่างเหมาะสม เราก็คิดก็เชื่อว่าเราไม่ได้ต้องการอะไรที่มันมากมายเกินกำลังของรัฐที่จะทำได้ แต่รัฐใจแคบ ยอมฟังเรื่องประชาธิปไตยก็ยากมาก ยิ่งหลายชั้นเข้าไปอีก

 

พิธีกร : ประเด็นหนึ่งที่ว่าระยะเวลาจำกัดเป็นปัจจัยเร่งเร้าไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น จะทำอย่างไรกันในสิ่งที่จำกัดนี้?

 

อ.อัฮหมัดสมบูรณ์ : อย่างน้อยระยะสั้น ๆ จะต้องสร้างความเข้าใจ เพราะความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอ จะหมดไปก็เมื่อตายไปแล้ว ก็เหมือนกับว่าความขัดแย้งไม่เกิดขึ้นในสุสาน ความขัดแย้งมันมีวิทยปัญญาในการแก้ปัญหา นี่คือวิทยปัญญาที่จะต้องมาร่วมกันแก้ หรือจะใช้อารมณ์เป็นตัวทำลายล้างมองคนที่ไม่ใช่คนเหมือนที่มองในภาคใต้ ในภาคใต้มีคนตายมากกว่าในกรุงเทพเยอะ แต่นี่คือบทเรียนของคนกรุงเทพที่ถอดแบบมาจากภาคใต้ที่ต้องรีบแก้ ภาคประชาสังคมอย่าหวังอะไรต่อรัฐบาลมากนัก ดังนั้น ท่านจะต้องเดินหน้า ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม

 

พิธีกร: บทบาทของภาครัฐในการจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้น มองพัฒนาการเป็นอย่างไร?

 

อ.ประสิทธิ์: คือผมมองมาตรการตรงนี้ในแง่บวกหน่อย คือวันนี้เรามองว่ามันลบสุด ๆ ผมมองว่ามันเป็นบวก บวกเพราะว่า หนึ่ง ภาคประชาชนกล้าที่จะแสดงออกถึงความต้องการ แนวทางประชาธิปไตย ผมว่าถ้าในสมัยก่อนคนตาย 20 คน ก็น่าจะสลายตัวแล้ว แต่ว่าพอเราไปสัมผัส น่าแปลกที่ทุกคนก็พร้อมที่จะทุ่มเท สอง เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะ ทหารและตำรวจผมต้องชื่นชมว่ามีความอดทนอดกลั้นสูง คือถ้าเป็นสมัยก่อนต้องลุยกันเละไปข้างหนึ่ง ท่าน ผบ.ทบ. ยังต้องพูดว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ท่านนายกฯ ทั้งคณะจะเข้าใจการเมืองแค่ไหน สาม สันติวิธีเพิ่มมากขึ้น สันติวิธี คือ การลดอารมณ์และเพิ่มเหตุผลนั่นเอง ถ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม ความรู้สึกลงตัวด้านความรู้สึกก็จะเกิด ความสมานฉันท์ก็จะเกิดขึ้น ผมเห็นว่าสังคมไทยยังมีทางออก ให้ทุกฝ่ายใช้เหตุใช้ผล อย่าเอาความรู้สึกของกลุ่มตัวเองเป็นที่ตั้ง อยากให้นายกฯ ใช้ความมีเหตุผลของท่านมาแก้ไข

 

พิธีกร : ทีนี้เรามามองบทบาทของภาคใต้สื่อที่ออกมาแตกต่างในปัจจุบัน และในส่วนกลางอาจารย์มองว่ายังไง?

 

อ. ศรีสมภพ: สื่อมีบทบาทมากในการสร้างอารมณ์ ความรู้สึก ปัญหาของความรู้สึกเป็นปัญหาของสื่อที่ไม่ให้เหตุผล ให้อารมณ์ความรู้สึก สื่อกระแสหลักต้องชั่งน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองด้าน ตอนเหตุการณ์ภาคใต้ตอนปี 47 สื่อนำเสนอแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ช่วงหลังเกิดสื่อทางเลือกขึ้นมา เพื่อเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของคนภาคใต้ขึ้นมา ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ผ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาทะเลอะกันแค่นั้น ทุกคนมีเหตุผล ทุกฝ่ายมีเหตุผล ยอมรับกันได้ไหม โดยที่ไม่ต้องยอมรับทั้งหมดก็ได้ สื่อเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดความรู้สึกในแง่ดี

 

อ.อัฮหมัดสมบูรณ์: ผมว่าความน่ากลัวของสื่อโทรทัศน์ รากเหง้าของปัญหาน่าจะถูกนำเสนอมากกว่าปรากฏการณ์ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ปรากฏการณ์นี้น้อยลง

 

อ. ประสิทธ์: ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมบูรณ์ที่บอกว่าสื่อต้องยกระดับ อย่านำเสนอแต่ปรากฏการณ์ ต้องเสนอในแง่ของเชิงบวกเชิงลบ ต้องเสนอวงเสวนาแนวทางที่จะแก้มากกว่า สำหรับในด้านเนื้อหาแก่นแท้ของปัญหาต้องเสนอให้เพื่อยกระดับทางปัญญา เราต้องฟังทุกกลุ่ม ทางนักวิชาการก็ควรที่จะเกิดการระดมสมองกันเพื่อแก้ไขปัญหา หาทางออกร่วมกัน

 

พิธีกร : เมื่อ 5 ปีภาคใต้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการที่จะมีพื้นที่อยู่ ในตอนนี้ก็มีพื้นที่มากขึ้น และในส่วนกลาง

 

อ.อัฮหมัดสมบูรณ์: ผมว่าในกรุงเทพฯ เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าอยู่ แต่อย่างน้อยก็ให้กำลังใจแม้จะทำในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ในพื้นที่ที่ไม่มีความขัดแย้งก็ต้องสร้างองค์ความรู้ ที่สำคัญคือคนที่อยู่ในอำนาจของรัฐไม่สร้างองค์ความรู้มากเท่าที่ควร ในเมื่อข้อยุติคือ ความสงบสุขของบ้านเมือง ผมกลัวคำพูดที่ว่า ไม่ใช่พ่อผม ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ไขโดยด่วน

 

พิธีกร : คุณละม้ายครับสันติวิธีจะมีในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ไหมครับ?

 

ละม้าย : แน่นอนค่ะ เราเคยคิดเล่นๆ เหมือนกันนะว่าเหตุการณ์ปี 47 ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ถ้าเกิดขึ้นที่อื่นคงจะร้ายแรงกว่านี้ แต่เพราะคนที่นี่มีศาสนาที่เข้มงวด หลักการที่ใช้หลักของความให้อภัยจะก่อให้เกิดความสันติภาพ แต่เราต้องส่งเสียงด้วยว่าความไม่ถูกต้องคืออะไร ในคนกรุงเทพฯก็ดีนะที่คนเสื้อหลากสีออกมาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

 

พิธีกร : จะเห็นว่าตอนนี้รัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาได้ ในฐานะที่อาจารย์ดูแลทางภาคใต้อาจารย์คิดว่าน่าจะการจัดการคุ้มครองอย่างไร?

 

อ.ศรีสมภพ: ผมยังเห็นว่ารัฐสภา ประชาธิปไตยยังเป็นทางออกที่ดีที่สุด มันมีประเด็นในเรื่องของการไม่ลงรอยกันในบางเหตุผล และการใช้อารมณ์ แต่อย่างน้อยที่ดีที่ยังได้ต่อสู้กันอย่างเปิดเผย อีกทั้งยังมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางหลากหลาย ส่วนนี้จะเป็นน้ำหนักถ่วงดุลที่จะตีกรอบรัฐสภาให้ถ่วงดุลยิ่งขึ้น โดยไม่ใช้ความรุนแรง และอารมณ์เป็นหลัก

 

พิธีกร: การมีส่วนร่วมในรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น หลายฝ่ายมองว่าเป็นพัฒนาการประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องก้าวพ้นให้ได้

 

อ.ประสิทธิ์: การที่ทุกกลุ่มออกมาแข็งก้าว เราต้องดูว่าความกดดันมีมากแค่ไหน อย่างเช่นภาคใต้มีความขัดแย้งมาแล้ว 100 กว่าปีจะให้มาเรียบร้อยเลยก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเรามองความขัดแย้งของสังคมไทย มองในด้านการได้เปรียบเสียเปรียบนั้นมีมานานแล้ว เพราะฉะนั้นการที่มีความกดดันในเรื่องสังคมประชาธิปไตย สังคมก็รู้แล้วนะว่า ปัญหามีหลายร้อยปัญหา แต่ประชาธิปไตยเป็นปัญหาหลัก หากเราปลดปล่อยประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาอื่นก็จะค่อยๆ แก้ได้ เพราะปัญหาเล็กๆ ก็มีประชาธิปไตยร่วมอยู่ ถ้าแก้สิ่งที่ใหญ่ได้ สิ่งอื่นๆ ก็จะแก้ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีทางสายกลางที่จะเดินไปได้ เราต้องยอมรับพัฒนาการของประชาธิปไตย เราต้องช่วยกันประคับประคอง สันติวิธีเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

พิธีกร: ตอนนี้เรามีตัวแสดงหลากหลายที่เข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหานี้ อยากให้ทั้ง 4 ท่านพูดเตือนสติถึงคนทุกกลุ่มควรจะวางตัวยังไง

 

อ.อัฮหมัดสมบูรณ์: อย่างน้อยต้องใช้ปัญญา ใช้ความอดทน ใช้คุณธรรม ไม่ใช่เอาปรัชญาที่ว่ารู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ไม่ได้ดูต่อไปว่าผู้ปกครองต้องใช้คุณธรรม คุณธรรมตรงนี้ผมว่ามีทุกคน เพียงแต่เวทีที่จะเอามาใช้ให้เต็มที่ เป็นสิ่งที่พวกเราต้องคิดให้หนักในประชาธิปไตย

 

ละม้าย : คิดว่าตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต้องการชนะ ไม่สนใจว่าประเทศกำลังจะแพ้ ถ้าประเทศแพ้ก็จะเกิดการย่อยยับ ต้องอย่ามองว่าตัวเองต้องชนะอย่างเดียว

 

อ.ประสิทธิ์: อยากให้ทุฝ่ายที่ออกมา หนึ่ง ต้องสกัดข้อมูลที่หลากหลายท้วมสังคมหาแก่นความจริงให้ได้ สอง ต้องใช้ปัญญา วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้ดี สาม เราต้องร่วมกันหาทางออกที่กระทบกับประเทศชาติน้อยที่สุด และสี่ เราต้องคิดในเชิงบวกว่าเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเลวร้าย ย่อมมีสิ่งดีอยู่